ความนัย ฟังยังไงถึงใช่อาสา
เราเป็นจิตอาสาในเนื้องานของเราได้ การเป็นจิตอาสาไม่ได้แปลว่า เราจะต้องเอาเวลาส่วนตัวของเราไปให้คนอื่นเสมอไป ไม่ได้หมายถึงการเอาวันหยุดที่จะใช้เวลากับลูกไปให้คนอื่น จิตอาสามีความเป็นไปได้มากกว่านั้น
.
- การเป็นจิตอาสาไม่ได้แปลว่า เราจะต้องเอาเวลาส่วนตัวของเราไปให้คนอื่นเสมอไป จิตอาสามีความเป็นไปได้มากกว่านั้น
- ถ้าบุคลากรได้เห็นช่องทางที่จะเป็นจิตอาสาในเนื้องานที่เขารับผิดชอบ จะทำให้ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่งานที่ต้องทำให้เสร็จ แต่มันเป็นงานที่กำลังทำประโยชน์ให้คนอื่นด้วย งานหลักก็ไม่เสียหายและได้ทำเพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวม ทำให้การเป็น “จิตอาสา” คือปกติของชีวิต
- ความวางใจกับความรู้สึกปลอดภัยนั้นใกล้เคียงกัน กับบางคนเราต้องคิดมาก แต่กับบางคนไม่ต้องคิดเยอะ — ถ้าพูดออกไปแล้วปัญหาเดิมก็แก้ไม่ได้ แถมยังมีเรื่องใหม่มาเป็นปัญหาอีก ก็คงไม่มีใครอยากพูด
.
คุณภคินัย ยิ้มเจริญ – คุณนัย สื่อมวลชนผลิตรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับ จิตอาสา เจ้าหน้าที่ธนาคารจิตอาสาบอกว่า ได้พบกับคุณนัยหลายครั้ง “ดูมีใจให้งานจิตอาสา” ทีมก็เลยขอสัมภาษณ์อยากฟังความเห็นสื่อมวลชน ^^ คุณนัยเล่าว่าได้ลองเป็นจิตอาสาช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด บริษัท (โปรดักชั่นเฮ้าส์) ไปช่วยกันทำอาหารแจกคนในชุมชน ทำสื่อนำเสนอเรื่องราวในชุมชนด้วย ต่อมาผู้บริหารของททบ.5 สนใจในแนวคิดนี้ จึงเกิดเป็นรายการเกี่ยวกับงานจิตอาสา ซึ่งนำเสนอมา 5 ปีแล้ว
.
“ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ผมก็เหมือนคนทั่วไป ไม่ได้สนใจงานจิตอาสามากนัก รู้ว่ามีแต่ไม่สนใจ แต่วิกฤติในครั้งนั้นทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของจิตอาสามากขึ้น ยิ่งเห็นงานจิตอาสามากขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วม ดินถล่ม กลไกจิตอาสาสำคัญมาก ผมจึงอยากให้สังคมเห็นความสำคัญของการมีจิตอาสา”
.
สื่อมวลชนน่าจะเป็นดวงตาของผู้เห็นภาพกว้าง งานจิตอาสาเป็นอย่างไรบ้างในสายตาสื่อ
ผมได้เห็นจริงๆ ว่าในขณะที่คนได้ทำกิจกรรมจิตอาสา เขาอยู่ในภาวะที่มีความสุข เขาได้ผลตอบแทนกลับมาที่ไม่ใช่เงิน — มันเป็นผลที่เกิดจาการสละเวลา ได้แบ่งปันบางสิ่งในตัวเขาให้กับสังคม
การเป็นจิตอาสาทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งที่เขาไม่เคยทำ ดังนั้น ‘เวลา’ ที่เขากำลังสละให้เพื่อคนอื่น อีกด้านหนึ่งมันคือเวลาเพื่อการฝึกฝนทักษะของตัวเขาเองด้วย ซึ่งการฝึกนี้มันเกิดประโยชน์ต่อคนอื่น (ได้ประโยชน์หลายสถานในกาลเดียวจริงๆ ^^)
ผมรู้สึกขอบคุณกระทรวงศึกษาฯ ที่มีนโยบายให้เด็กๆ ทำกิจกรรมจิตอาสาแล้วเป็นส่วนหนึ่งของแฟ้มผลงานส่วนตัว (portfolio) เป็นการปูพื้นฐานการเป็นจิตอาสาให้เด็กๆ เด็กบางคนอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่พาทำ แต่เด็กบางคนไม่มีความคิดแบบนี้เลย แต่เมื่อจะต้องมีผลงานเขาก็ต้องลองทำ เมื่อได้ลงมือทำ เขาก็ได้เรียนรู้ ผมเคยสัมภาษณ์เด็กนักเรียนที่เป็นจิตอาสาช่วยผู้ป่วยในโรงพยาบาล เขาบอกว่า “เขาได้เรียนรู้ความจริงของชีวิตมากกว่าในห้องเรียน” สมาชิกทุกคนในบ้านของเขาแข็งแรงดี เขาไม่เคยเห็นการเจ็บป่วย มีหน้าที่เรียนอย่างเดียว ไม่เคยต้องดูแลใคร แต่การมาเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาล ทำให้เขาได้เห็นความจริงของชีวิต เห็นความเจ็บป่วย ผู้สูงอายุบางคนมีคนดูแลแต่บางคนก็ไม่มี ได้รู้ว่าผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยต้องการอะไร ทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว ตระหนักถึงความจริงในอนาคตที่จะต้องเผชิญ
การมีจิตอาสาทำให้คนที่ลำบากรู้สึกว่าเขามีที่พึ่ง เขามีคนให้พึ่งพิงได้ คนที่อยู่ในชุมชนซึ่งเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ เมื่อมีจิตอาสาเข้าไปหา เข้าไปฟัง เข้าไปคุยด้วย มันทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่โดยลำพัง
.
คิดอย่างไรกับคำบอกเล่าที่ว่า “เพราะโครงสร้างของรัฐไม่ดี จึงต้องมีจิตอาสา”
ผมว่าไม่จริงหรอกเพราะจิตอาสาไม่ได้เกิดเฉพาะเวลาที่มีวิกฤติ (เพียงแต่เมื่อเกิดวิกฤติ จิตอาสาจะสำคัญเป็นพิเศษ) — พวกเราทุกคนมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบหลักในชีวิต เป็นนักเรียน เป็นพนักงาน เป็นหมอ เป็นพยาบาล พร้อมกันนั้นเราเป็นจิตอาสาในเนื้องานของเราได้ การเป็นจิตอาสาไม่ได้แปลว่า เราจะต้องเอาเวลาส่วนตัวของเราไปให้คนอื่นเสมอไป ไม่ได้หมายถึงการเอาวันหยุดที่จะใช้เวลากับลูกไปให้คนอื่น จิตอาสามีความเป็นไปได้มากกว่านั้น
ตัวผมเองเป็นคนทำสื่อ โชคดีที่ได้ทำเรื่องจิตอาสาตรงๆ แต่ผมก็ไม่ได้ทำแค่ให้งานจบๆ ไป ผมตั้งใจที่จะใส่ความเป็นจิตอาสาในตัวผมด้วย ผมพบว่าบริษัทที่มีชั่วโมงจิตอาสาสำหรับพนักงาน พนักงานมีความสุขมากเลย ถ้าบุคลากรในหน่วยงานรัฐ ภาคบริการสังคม ได้เห็นช่องทางที่จะเป็นจิตอาสาในเนื้องานที่เขารับผิดชอบ มันจะทำให้เขาทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่แค่งานที่ต้องทำให้เสร็จ แต่มันเป็นงานที่เขากำลังทำประโยชน์ให้คนอื่นด้วย งานหลักก็ไม่เสียหายและได้ทำเพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวม ผมคิดว่าสิ่งนี้มีประโยชน์มาก มันทำให้การเป็น “จิตอาสา” คือปกติของชีวิต
ในฐานะสื่อมวลชน ผมอยากนำเสนอสื่อดีๆ ของการช่วยเหลือกัน ผมอยากชวนมาช่วยกันนำเสนอเรื่องราวดีๆ หลากหลายของจิตอาสา ให้เห็นว่าจิตอาสาเป็นช่องทางที่บันเทิงได้ เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ชวนมาช่วยกันผลิตน้ำดีผลักดันน้ำเสีย
ทราบว่าคุณนัยอยู่ในกิจกรรม ฟังสร้างสุข หลายครั้ง คุณนัยสนใจอะไรคะ
กิจกรรมนี้ค่อนข้างแอ๊บสแตรก (abstract) สำหรับตัวผม ผมอยากรู้ว่าการฟังมันเป็นงานอาสาได้อย่างไร อยากรู้ว่าการเป็นผู้ฟังให้ประโยชน์ได้อย่างไร อยากรู้ว่าคนที่ได้รับการฟังเขารู้สึกอย่างไร เหล่านี้ทำให้ผมต้องไปดู สังเกต เก็บรายละเอียดมากกว่าหนึ่งครั้ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ คนที่เข้าร่วมมีความหลากหลายมาก เรื่องราวชีวิตแตกต่างกันมาก ถ้าผมไปครั้งเดียวมันก็จะได้แค่รายงานกิจกรรม แต่ผมอยากเป็นสื่อที่รายงานผลลัพธ์ ผมจึงต้องไปดูซ้ำหลายครั้ง
.
พอไปดูหลายๆ ครั้ง คุณนัยเห็นอะไร
ผมว่าการฟังอาศัยสมาธิ-ความจดจ่อมากๆ เลย บางครั้งท่าทีดูเหมือนฟัง แต่จริงๆ แล้วความจดจ่อของเขาอยู่ที่ภายนอก หรืออยู่ที่ความคิด ไม่ได้อยู่กับการฟัง ผมเห็นว่า ถ้าคนฟังมีการจดจ่อดี ต่อให้คนพูด พูดไม่เก่ง สื่อออกมาไม่ได้ทั้งหมด แต่คนฟังกลับรับรู้ได้ มันน่าสนใจมาก ตรงกันข้ามกับคนที่ดูเหมือนฟัง แต่ความจดจ่อของเขาอยู่ที่ความคิด ไม่ได้ฟังจริงๆ พอสะท้อนกลับ เขาสะท้อนได้ไม่ครบ หรือผิดประเด็นไปเลย เหมือนเก็บเปลือกไม้แต่ไม่ได้เนื้อไม้
ผมเป็นสื่อมวลชน บางครั้งต้องสัมภาษณ์ เห็นเลยว่าบางทีเราสัมภาษณ์เขาแต่ก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง ปล่อยให้เขาพูดไปเรื่อยๆ แล้วก็นำเสนอเป็นสื่อ จบ แต่เราไม่ได้นำเสนอสิ่งที่ลึกไปกว่านั้น
อยู่ในคอร์สการฟังหลายครั้ง แล้วการฟังอยู่ในชีวิตคุณนัยบ้างไหมคะ
คำบางคำในคลาส “ฟังสร้างสุข” มันมักจะป๊อปอัพขึ้นมาในหัวเวลาที่ผมอยู่กับภรรยา ปกติผมก็พยายามฟังเขานะครับ ปล่อยให้เขาพูดไปเรื่อยๆ ๆ แต่บางที จะมีคำขึ้นมาเตือนในหัวว่า “เฮ้ย..ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ฟังแบบนี้” ผมก็กลับมาตั้งใจฟังเขา (หัวเราะ) บางทีพอฟังบ่อยๆ ผมก็จะแบบว่า..ไม่อยากฟังแล้ว เบื่อแล้ว ก็จะมีเสียงเตือนในหัวว่า “เฮ้ย..ไม่ได้ ฟังก่อน” ผมก็จะสะดุดกลับมาฟังเขา (ผู้สัมภาษณ์ขำมากค่ะ) ผมคิดว่าคุณภาพการฟังของผมค่อยๆ ดีขึ้นนะครับ
.
มีฟีดแบ็กจากภรรยาบ้างไหมคะ หรือคุณนัยเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม
ผมว่าเขากล้าพูดมากขึ้น เล่าหลายๆ เรื่องให้ผมฟังมากกว่าเดิม เมื่อก่อนเขาไม่ค่อยเล่า คงเพราะพอเขาจะเล่าผมก็มีอาการเหมือนไม่อยากจะฟัง เดี๋ยวนี้เขากล้าเล่ามากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นโอกาสให้ผมฝึกฟังมากขึ้นด้วย เช่น สังเกตว่าเขารู้สึกอย่างไรนะ เขาอยากให้ผมทำอะไรให้เขาหรือเปล่า การฟังทำให้เราสนิทกันมากขึ้น ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้อยากให้ผมทำอะไรนะครับ เขาอยากให้ผมฟังนั่นแหละ (ฮา) ผมไม่ใช่ผู้ชายสายแอ๊คติ้ง ไม่ได้แสดงออกมาก แต่การฟังทำให้เขาวางใจในตัวผม ผมเองก็รับรู้ความเป็นเขามากขึ้น
การพูดคุยครั้งนี้เป็นการสัมภาษณ์ที่สนุกมากครั้งหนึ่งเลยค่ะ เป็นบทสัมภาษณ์ที่ยืนยันคำพูดของโค้ชณัฐที่บอกว่า “การฟังเป็นหน้าที่แรกของการรัก” https://www.happinessisthailand.com/2022/08/02/spiritual-listen-coach-happiness/
คุณนัยบอกว่า ความวางใจกับความรู้สึกปลอดภัยนั้นใกล้เคียงกันมาก “ลองสังเกตในที่ทำงานเถอะครับ กับบางคนเราต้องคิดมากเลยว่าจะพูดอะไร จะพูดยังไง พูดดีไหม พูดแล้วจะเกิดอะไรบ้าง ฯลฯ นี่แสดงว่าไม่วางใจ ไม่ปลอดภัย แต่กับบางคนเราไม่ต้องคิดเยอะ นั่งแล้วก็คุยกันได้เลย ปัญหาเป็นอย่างนี้ บางครั้งพูดแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้หรอกแต่สบายใจขึ้น ‘ปัญหาไม่ลดลง แต่ก็ไม่มีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมา’” ตรงกันข้าม ‘ถ้าพูดออกไปแล้วปัญหาเดิมก็แก้ไม่ได้ แถมยังมีเรื่องใหม่มาเป็นปัญหาอีก’ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากพูด อึมครึม ต่างคนต่างอยู่”
.
ดังนั้น ถ้าองค์ไหน ครอบครัวไหนอยากลดช่องว่าง ลองมาฟังกันให้มากขึ้นนะคะ ลองฟังดีๆ ฟังนานๆ ฟังนิ่งๆ ไม่เถียง ไม่แย้ง ไม่สอน ไม่สั่ง ลองฟังเพื่อฟัง แล้วช่องว่างจะหดแคบลงค่ะ
……………………………………………………….
.
.