8 ช่องทางความสุข

ฟังคนนอก ฟังคนใน

เมื่อคนเราไม่ได้รับความสุขแท้ เช่น ความสุขจากความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน เราก็จะหาความสุขเทียมมาทดแทน เช่นการเสพติด แล้วก็เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพ ภาวะซึมเศร้า จิตเวช รวมถึงภาวะสมองเสื่อม —นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ ความสุขประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ทำงานทางสังคม บริษัทเอกชน โรงเรียน ฯลฯ จัดแคมเปญยกระดับการฟัง อยู่กับคนตรงหน้าเพื่อฟังจริงๆ ได้ยินเสียง ได้ยินความรู้สึกของกันและกัน แคมเปญนี้แถลงข่าวเปิดงานเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ในวันแถลงข่าวเปิดงานเดือนการฟังแห่งชาติ (National Month of Listening) นี้ คุณนที เอกวิจิตร หรือ คุณอุ๋ย บุดดาเบลส ได้ขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์ถึงความสำคัญของการฟังอย่างตั้งใจว่ามันจะช่วยเพื่อน ช่วยเราและช่วยชาติได้อย่างไรค่ะ

ในวันแถลงข่าวเปิดงานเดือนการฟังแห่งชาติ (National Month of Listening) นี้ คุณนที เอกวิจิตร หรือ คุณอุ๋ย บุดดาเบลส ได้ขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์ถึงความสำคัญของการฟังอย่างตั้งใจว่ามันจะช่วยเพื่อน ช่วยเราและช่วยชาติได้อย่างไรค่ะ

ฟังคนนอก ฟังคนใน
เวลาฟังคนนอกบ้าน ส่วนใหญ่พวกเราฟังได้ จดจ่อ อยากรู้ แล้วยังไงต่อ แล้วยังไงต่อ ฟังไปได้เรื่อยๆ แต่พอเป็นคนในบ้าน เป็นคนใกล้ตัว ภรรยาของเรา คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีปัญหา อยากเล่า อยากระบาย เรามักจะอดทนฟังจนจบไม่ไหว มันคันปากอยากจะเตือน อยากจะชี้แนะ เพราะเราตัดสินสิ่งที่ได้ยินไปเรียบร้อยแล้ว เราไม่เห็นด้วย เรารู้สึกว่าเขากำลังเดินผิดทาง ฯลฯ

ดังนั้นในการฟัง การได้ยินเสียงในหัวของตัวเราเอง เสียงที่คอยจะแย้ง คอยโต้กลับ ถ้าได้ยินเสีงเหล่านี้ในตัวของเรามันเป็นประโยชน์มากครับ เพราะเราจะเห็นชุดความคิดของตัวเรา ได้เห็นอคติ (bias) ได้เห็นว่าเรามักจะคอยไปตัดสินทุกๆ เรื่อง การเห็นนี้ทำให้เรารู้ทันใจตัวเอง

การฟังอย่างไม่ตัดสิน
หลายคนอาจจะมีคำถาม การฟังอย่างไม่ตัดสินจะเป็นไปได้จริงไหม ? ไม่ตัดสินแล้วดีอย่างไร — จะคบเพื่อนยังต้องเลือก คนไหนดี คนไหนไม่ดี จะทำอะไรสักอย่างก็ต้องเลือกว่ามันดีหรือไม่ดี

พวกเราเป็นคน click base หรือเปล่าครับ ? เวลาเห็นพาดหัวข่าวก็อยากจะตอบโต้ อยากแสดงความเห็น คลิกเข้าไปคอมเมนต์ — พาดหัวข่าวเป็นอย่างนั้น แต่เนื้อข่าวมันอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยก็ได้นะครับ ถ้าเผลอไปตัดสินเพียงแค่เห็นพาดหัวข่าว เราพลาดแล้ว

ถ้าเราฟังแล้วก็ตัดสินโดยที่เขายังไม่พูดไม่หมด บางครั้งอาจกลายเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง แต่ถ้าฟังให้จบ ฟังไปก่อน ฟังไปเรื่อยๆ เราไม่ได้เห็นด้วยหรอก แต่ขอให้ฟังก่อน — แล้วบางทีเราจะเริ่มเห็นที่มาที่ไปว่าทำไมเขาจึงคิดอย่างนี้ มันอาจจะเพราะเขาเติบโตมาแบบนี้ เขาเคยถูกกระทำแบบนี้ เขาจึงมีความคิดแบบนี้ การฟังจนจบไม่ได้แปลว่าสุดท้ายเราจะต้องเห็นด้วยกับเขา แต่อย่างน้อย ช่วงเวลานั้นคือเวลาที่เขาได้พูด ได้ระบาย ได้เล่าการฟังแบบนี้ในประสบการณ์ส่วนตัวของผม มันทำให้เห็นว่าชีวิตจริงของบางคนมันยิ่งกว่าละคร


การฟังคือการให้เกียรติ เราให้เกียรติเขาด้วยการฟังเขาพูด เขาให้เกียรติเราจึงยอมเล่าเรื่อง เล่ารายละเอียดบางอย่างให้เราฟัง บางเรื่องละเอียดอ่อนมากนะครับ แม้แต่พ่อแม่คนใกล้ชิดเขายังไม่เล่า แต่เขาเล่าให้เราฟัง เขาให้เกียรติเรามาก ผมรู้สึกซาบซึ้งใจมากเมื่อมีโอกาสได้ฟัง

Dead Air
พวกเราหลายคนกลัวความเงียบ กลัวเดดแอร์ กลัวอารมณ์บางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นเช่น การร้องไห้ สะอึกสะอื้น เราไม่รู้จะทำตัวอย่างไร ถ้าเราไม่ปลอบเขามันจะเป็นอะไรไหม มันจะกลายเป็นว่าเราไม่มีน้ำใจหรือเปล่า แต่ถ้าเราอยู่นิ่งๆ กับคนที่กำลังมีอารมณ์ท่วมท้นได้ อยู่กับเขาเงียบๆ นิ่งๆ แต่ไม่ได้เมินเฉย ไม่ได้เฉไฉ — การอยู่ของเราจะช่วยเขาให้รู้จักอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง แล้วอารมณ์นั้นก็จะจะค่อยๆ จางไป ผมคิดว่านี่คือการสอนให้คนไม่ปฏิเสธอารมณ์ โดยไม่ต้องใช้คำพูดเลย และหลายๆ ครั้ง การไม่พูดมีประโยชน์กว่าการพูดเสียอีก ขอแค่ฟังเฉยๆ ฟังจริงๆ


เดือนนี้มีพื้นที่พร้อมฟัง
คนบางคนโชคดีที่เติบโตมาโดยที่มีคนพร้อมฟัง มีเพื่อน มีคนในครอบครัว แต่ผมได้เจอคนอีกกลุ่มที่แม้แต่ในครอบครัวก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่พื้นที่ที่พร้อมจะฟัง เพื่อนในวัยเดียวกันก็พร้อมจะตัดสิน — “เพื่อนจะรังเกียจไหมถ้ารู้ว่าในใจของเรามีอะไรอยู่”

ผมว่าโครงการเดือนการฟังแห่งชาตินี้เป็นโอกาสดี เพราะมีพื้นที่พร้อมที่จะรับฟัง มันอาจจะดีที่คุณจะได้พูดอะไรก็ได้ให้ใครสักคนฟัง ผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่วิเศษมากเลยนะ


บางคนบอกผมว่า “เวลามีความทุกข์ก็อยากจะเก็บไว้ในใจ เพราะไม่อยากจะเอาความทุกข์ไปโยนให้ใคร” ผมถามกลับว่า “ถ้ามีใครสักคนที่คุณไม่ได้รู้จัก (หรืออาจจะรู้จักก็ได้) เขาเอาทุกข์มาเล่าให้คุณฟัง และคุณฟังเขาจนจบ แล้วมันทำให้เขารู้สึกดีขึ้น คุณคิดอย่างไร” ทุกคนจะตอบกลับมาว่า “เออ คงรู้สึกดีนะ เพราะเราช่วยเขาได้” — นั่นไง เห็นไหมครับว่า การที่คุณเล่า ระบายความทุกข์ มันอาจจะไม่ใช่การโยนความทุกข์ไปให้คนอื่น แต่มันอาจจะเป็นการมอบโอกาสให้ใครสักคนได้เป็นผู้ช่วยเหลือคุณ ให้เขาเป็นผู้แบ่งเบาความทุกข์ในใจของคุณ

.


ร่วมสุข ร่วมทุกข์
บางคนลังเลที่จะฟัง เพราะกลัวว่าความทุกข์ที่ได้ฟังมันจะติดตัว อินไปด้วย จมไปกับเขาแล้วเราจะแย่ — เมื่อเป็นอาสารับฟัง ผมไม่เคยเห็นว่าตัวเองเป็นถังขยะ มันอาจจะเป็นตะแกรงที่มีรูรั่ว มีบางสิ่งออกไป มีบางสิ่งตกค้าง หลายครั้งที่ฟัง ผมมีอารมณ์ร่วม เศร้าไปกับเขา แต่ผมไม่ได้อยู่กับอารมณ์นั้นนาน ข้อดีของการมีอารมณ์ร่วมก็คือ การเป็นคนร่วมทุกข์ เราสัมผัสประสบการณ์ร่วมกับเขา มันทำให้เราจะเข้าใจเขามากขึ้น เข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ ทำไมเขาจึงมีวิธีแก้ปัญหาแบบนี้ มันเป็นเพราะอารมณ์ที่ท่วมท้นแบบนี้

ถ้าเราได้ยินตัวเองบ่อยๆ ฟังตัวเองบ่อยๆ เราจะวางอารมณ์ต่างๆ ได้เร็ว ทำให้เราเห็นทางเลือกมากขึ้น ถ้าจะชวนเขาคิด ชวนเขาคุย ชวนให้เขาเห็นทางเลือก ซึ่งไม่ใช่การแนะนำ แต่อย่างไรก็ตาม แค่ฟังเฉยๆ ก็ช่วยได้มากแล้ว

ความเหงาและโดดเดี่ยว
การทำให้คนตรงหน้ากลายเป็นอากาศ ไม่มีตัวตน เป็นการลงโทษที่รุนแรงที่สุดคือ ลองนึกภาพที่เราพูดออกไปก็ไม่มีใครได้ยิน ไม่มีใครฟัง ไม่สนใจเรา — ใครก็ตามถ้าโดนแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน ในที่ทำงาน รับประกันได้เลยว่าทุกข์แน่ๆ


ผมเคยเจอเด็กๆ ที่ถูกทิ้งทางร่างกายและถูกทิ้งทางจิตใจ การทิ้งทางร่างกายคือพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดู เด็กอีกประเภทหนึ่งเป็นแบบพ่อแม่เลี้ยงดู อยู่ด้วยกัน แต่อยู่ก็เหมือนไม่อยู่ ลูกพูดแต่พ่อแม่ไม่ได้ฟัง หรือฟังแต่ไม่ได้ยิน มันเหมือนเขาอยู่ตัวคนเดียวในโลกนี้ บางครั้งเขามีเรื่องน่าดีใจที่อยากเล่า เขาสอบได้ เขามีสิ่งดีๆ ในชีวิต เขาอยากแชร์เรื่องดีๆ ในชีวิต แต่ไม่มีคนฟัง เขาต้องการใครสักคนฟัง — มันเหงามากนะครับ


ผมคิดว่าสังคมของเราในวันนี้ โซเชียลมีเดีย เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นความเหงา ทุกคนอยากแสดงความเห็น อยากพูด ฟังไม่เป็น บางทีที่เราพูดมากเพราะเราฟังไม่เป็น — ถ้าอยากฟังเป็น ลองพูดน้อยลงก็ได้ครับ อย่ารีบตัดสิน ลองใช้โซเชียลมีเดียเพียงแค่รับรู้โลก ไม่ต้องคอมเม้นท์ ไม่ต้องวิจารณ์ ไม่ต้องให้ความเห็น


ดูโซเชียลมีเดียแล้วรู้อารมณ์ตัวเองด้วย รู้ว่ากำลังหงุดหงิด ไม่เห็นด้วย รู้ว่ากำลังเกลียด กำลังโกรธ หรือกำลังดีใจ การที่รู้ความคิดตัวเองบ่อยๆ รู้อารมณ์ตัวเองบ่อยๆ ก็จะรู้อารมณ์คนตรงหน้าได้ดี แล้วก็จะเป็นผู้ฟังที่ดี แม้ไม่ได้พูดอะไรแต่คนตรงหน้าก็รู้ได้ว่าเรากำลังรับรู้ความรู้สึกของเขา เรากำลังแชร์ความรู้สึกร่วมกัน — ปัญหาอาจจะยังแก้ไม่ได้ แต่การฟังทำให้อารมณ์เบาบางลงไป


ชีวิตของผมมีความสุขมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะว่า งานดีขึ้น ได้เงินมากขึ้น ตรงกันข้ามด้วยซ้ำเพราะผมเอาเวลาไปทำจิตอาสา — แต่งานจิตอาสาทำให้รู้ว่าชีวิตเรามีค่ากับโลกนี้—เกลียดเขา เราทุกข์ ถ้าเมตตาเขา เราสุข — สิ่งแบบนี้เกิดได้ทันที ทำปุ๊บ ได้ปั๊บ ไม่ต้องเชื่อผม แต่อยากให้ทดลอง ลองดูว่าพอรู้จักการฟังแล้วชีวิตเราเป็นอย่างไร


ฟังช่วยชาติ
ผมคิดว่าการฟังเป็นเส้นทางลัด ตัดตรง ง่าย และวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย — ในบ้านเรามีบุคลากรที่เป็นจิตอาสาเยอะมากแต่ก็ยังไม่พอ ผมเป็นจิตอาสาด้านการฟังและการบำบัด ผมรู้ว่าปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นทุกปี คิวล้น รอนาน ผมอยากชวนให้เราเป็นจิตอาสาฟังคนในครอบครัว ฟังคนใกล้ตัว

คนที่ตำหนิคนอื่น โทษคนอื่น เป็นเพราะเขามีความทุกข์ท่วมอยู่ในตัวเขา ถ้าเราช่วยให้ความทุกข์เขาลดลงได้ ให้เขาได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น นี่คือการช่วยสังคม สร้างสังคม และมันคือการสร้างสังคมในฝัน


ถ้าเราฝึกตัวของเราให้เป็นคนฟังเป็น ไม่ต้องรอคิวจิตแพทย์ นักจิตบำบัด หรือจิตอาสา ทำตัวของเราให้เป็นคนฟังได้ เริ่มจากฟังคนในครอบครัว นี่คือสิ่งที่วิเศษมาก ถ้าเราช่วยให้คนได้ชิมประสบการณ์ของการมีคนฟัง — สิ่งนี้มีประโยชน์มาก มันดีกว่าการพูดกว่า ‘การฟังดีอย่างไร’ แล้วเขาก็อาจจะมีแรงบันดาลใจไปเป็นผู้ฟังที่ดี


ผมชวนนะครับ เดือนนี้ลองมาฟังคนใกล้ตัว คนในครอบครัว เพื่อนในที่ทำงาน ฟังเพื่อนในโรงเรียน ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นผู้ฟังที่ดี และอย่าลืมฟังตัวเองด้วย เป็นผู้ฟังที่ดีของตัวเองด้วย ขอบคุณครับ

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save