8 ช่องทางความสุข

Zookeeper Volunteer

ที่นี่ เราอยากให้เป็นพื้นที่ของการปลูกจิตสำนึก การเลี้ยงสัตว์ 1 ตัว คือการรับผิดชอบชีวิต 1 ชีวิต ตลอดช่วงชีวิตของเขา ไม่ใช่เพียงแค่ให้อาหารและที่อยู่เท่านั้น แต่เมื่อเขาแก่ เจ็บป่วย เขาต้องการการรักษา ไม่ทอดทิ้ง เราคำนึงถึงบ้างหรือเปล่า — ถ้ารักสัตว์เราชวนมาเป็นเพื่อนกับสัตว์ ให้การดูแลโดยที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของก็ได้

.

  • การเลี้ยงสัตว์ 1 ตัว คือการรับผิดชอบชีวิต 1 ชีวิต ตลอดช่วงชีวิต — อาหาร สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เวลา การเอาใจใส่ และการดูแลรักษา มั่นใจไหม ? ถ้าไม่มั่นใจ ลองมาเป็นอาสาดูแลสัตว์ เป็นเพื่อนสัตว์โดยที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของ
  • เวลาไปตลาดสัตว์เลี้ยงหรืองานแสดงสัตว์ มันง่ายมากที่จะซื้อสัตว์กลับมาเลี้ยงที่บ้าน แต่ไม่ทันได้นึกว่าเราพร้อมจริงๆ ใช่ไหมที่จะรับผิดชอบไปตลอดชีวิต — มีเงินซื้ออาหาร แล้วมีที่ทางที่เหมาะสมหรือเปล่า พร้อมที่จะดูแลรักษายามเจ็บป่วยไหม หลายครั้ง ค่ารักษาสัตว์แพงกว่าค่ารักษาคน เปลี่ยนมาเป็นจิตอาสา รักโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของดีกว่าไหม
  • องค์กรเปิดกิจกรรมจิตอาสาเพราะต้องการความช่วยเหลือ คนที่สมัครเป็นจิตอาสาก็เพราะอยากจะช่วย แต่บางครั้งกลับกลายเป็นว่า กิจกรรมจิตอาสากลายเป็นการเพิ่มภาระงาน ตัวจิตอาสาก็เสียเวลาแต่ไม่ได้ประสบการณ์ จะ win-win กันได้อย่างไร

.

สวนสัตว์เพื่อนเดรัจฉาน เป็นสวนสัตว์เอกชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่รามอินทราซอย 5 ที่นี่มีการทำงานแตกต่างจากสวนสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมรับจิตอาสาทำหน้าที่ zookeeper ความสุขประเทศไทยได้คุยกับ คุณหนุ่ม – สรภพ กลิ่นยี่สุ่น ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมฯ ถึงความเป็นมา แนวคิด และความมุ่งหมายในการทำงานนี้ — มาฟังกัน


ก่อนจะเป็นสวนสัตว์
เจ้าของสวนสัตว์นี้ชื่อ คุณพิสิษฐ์ ณ พัทลุง ประธานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ https://wildlifefund.or.th/ คุณพิสิษฐ์เป็นคนรักสัตว์ มีคนนำสัตว์มาให้อยู่เสมอ บางครั้งเพราะคนเลี้ยงเสียชีวิต หรือเพราะรับผิดชอบต่อไปไม่ไหว หรือคนเลี้ยงจะต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือมีคนพบเห็นว่าสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง เจ็บป่วย ต้องการการดูแล ก็เลยนำมาให้ — ในสวนสัตว์นี้ไม่มีสัตว์ตัวไหนเลยที่มาจากการซื้อ


สัตว์เดรัจฉาน คือสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนานกับพื้นโลก ส่วนมนุษย์เรามีกระดูกสันหลังตั้งตรงกับพื้นโลก ไม่เหมือนกัน แต่เราเป็นเพื่อนกันได้ เราเป็นเพื่อนของสัตว์ทุกชนิด “เพื่อนเดรัจฉาน”

.


เป็นสวนสัตว์เอกชนแต่ไม่เก็บค่าผ่านประตู — ทำไปทำไมคะ ?
นั่นสิครับ ? — ฮากันครืน คุณพิสิษฐ์เป็นคนรักสัตว์ครับ ท่านเป็นประธานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ด้วย เบื้องต้นจึงอยากจะให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ สำหรับเยาวชน หรือใครก็ตามที่รักสัตว์ มาเป็นเพื่อนกับสัตว์โดยที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของ การเลี้ยงสัตว์ 1 ตัว คือการรับผิดชอบชีวิต ตลอดทั้งชีวิต — สัตว์ต้องการอาหาร ต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ต้องการความเอาใจใส่ ความเข้าใจ และการดูแลในยามเจ็บป่วย เมื่อเขาแก่ชราเขาก็ต้องการการรักษา ดูแล ไม่ทอดทิ้ง — สัตว์ก็ไม่ต่างจากคน


เมื่อเราไปเดินตลาดหรืองานแสดงสัตว์เลี้ยง มันง่ายมากที่เราจะควักกระเป๋าซื้อกลับบ้าน แต่ไม่ได้นึกว่าตัวเราพร้อมที่จะรับผิดชอบเขาตลอดชีวิตไหม — ซื้ออาหารเลี้ยงเขาได้ หาความรู้เรื่องวิธีเลี้ยง แล้วการรักษาล่ะ ? การดูแลรักษาเป็นเรื่องใหญ่และใช้เงิน เพราะโรคและยาของสัตว์ต่างจากคน ต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ หลายครั้ง การรักษาสัตว์แพงกว่าการรักษาคน พอถึงจุดหนึ่งที่ไม่ไหว ก็ทิ้งเขา ปล่อยสู่ธรรมชาติ ซึ่งเขาอยู่ไม่ได้


สัตว์เลี้ยงไม่ใช่สัตว์ในธรรมชาติ สัญชาตญาณเดิมของเขาไม่มีแล้ว ปล่อยก็ตายสถานเดียว — เรื่องแบบนี้เด็กๆ เยาวชน ผู้ปกครองควรจะรู้ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่พวกเราเปิดรับ จิตอาสา — จะว่าต้องการความช่วยเหลือ ต้องการการสนับสนุนก็ใช่ แต่เราก็อยากให้คนที่เข้ามาเกิดความเข้าใจด้วย

.

คุณพิสิษฐ์ ณ พัทลุง (เสื้อสีแดง)

จิตอาสา
ในระยะแรกๆ เราไม่มีกระบวนการหรอก อยากได้คนมาช่วย อยากได้การสนับสนุน แต่บอกตามตรงว่าพวกเราทำไม่เป็น — พวกเราเก่งมากจริงๆ ในการดูแลสัตว์ ทำอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ แต่การจัดงานอาสาที่จะต้องเตรียมคน จัดการคน จัดกระบวนการต่างๆ พวกเรานึกไม่ออกครับ (หัวเราะ)


สิ่งหนึ่งที่พวกเรากังวลก็คือสุขอนามัย เชื้อโรค เมื่อมีคนนอกเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะต้องจัดการเรื่องความสะอาดเพิ่มขึ้น งานจิตอาสาในอดีตที่เราให้ทำคือ การทำความสะอาดพื้น การซ่อมแซมกรงสัตว์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัตว์เลย และมันก็ไม่ค่อยดึงดูด


มีช่วงหนึ่งที่ชมรม หน่วยงานบางแห่งพากันมาทำ ‘จิตอาสา’ ที่นี่ แต่เราไม่รู้สึกว่าเราได้การช่วยเหลือ เมื่อมีคนนอกเข้ามาภาระงานของเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นนะครับ ทั้งการดูแลสุขอนามัย การให้ความรู้ ค่าใช้จ่ายบางส่วนเพิ่มขึ้น บางหน่วยงาน บางชมรมเข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสาแบบใช้สถานที่ของเราเพื่อทำงานของเขา บางที่ดูเหมือนหารายได้เข้าตัวเองด้วยซ้ำ แถมบางครั้งยังให้เจ้าหน้าที่ของเรา (ซึ่งภาระงานเต็มมือ) ไปช่วยโบกรถด้วย สิ่งเหล่านี้บั่นทอน ทำให้พวกเราต้องทบทวนกันจริงๆ จังๆ ว่า เรายังควรมีกิจกรรมจิตอาสาไหม ทำไปเพื่ออะไร


แสดงว่ามีจุดเปลี่ยน
ครับ (ยิ้ม) วันหนึ่ง ทีมธนาคารจิตอาสา https://www.jitarsabank.com/ ติดต่อเข้ามา ชวนให้เราเป็น “องค์กรจัดงานอาสา” เราก็งง มะงุมมะงาหรา (หัวเราะ) — ก็อย่างที่บอก พวกเราเก่งในเรื่องการดูแลสัตว์แต่ไม่เก่งเรื่องการจัดการ การคิดกระบวนการ ทำไม่เป็น แต่ทีมธนาคารจิตอาสา – พี่แว่น พี่จิวร์ น้องก๊าต * บอกว่าเขาจะช่วย เขาจะทำให้พวกเราดู


งานอาสาที่มีกระบวนการเป็นอย่างไร
เขาชวนพวกเรา (ทีมเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ฯ) คุยก่อน เขาให้ความเห็นว่าเราอยากได้อะไรกันแน่ จากนั้นเขาก็แนะนำ เขาเห็นด้วยว่าที่สวนสัตว์ฯ ไม่เก็บเงินเป็นจุดแข็งที่ดีมาก เพราะเด็กๆ ที่อยากเป็นจิตอาสาก็ไม่มีสตางค์ แต่จะทำอย่างไรที่สวนสัตว์ฯ จะได้การสนับสนุน-การช่วยเหลือจริงๆ เขาชวนคุยว่ามีกิจกรรมอะไรไที่เราเห็นว่าจิตอาสาควรจะได้ทำ เพื่อให้คนที่เป็นจิตอาสาเกิดการเรียนรู้ในการเป็นอาสา ซึ่งกิจกรรมนั้นต้องไม่ยากหรือ sensitive จนเกินไป อยู่ในขอบข่ายที่ดูแลได้ — ก็เลยเป็นที่มาของการทำอาหารให้สัตว์


งานครั้งแรกน้องก๊าตช่วยดำเนินการให้ทุกอย่าง ตั้งแต่รับสมัคร คัดเลือกอาสา ช่วยจัดกระบวนการ จัดวงสะท้อนการเรียนรู้ของอาสาซึ่งทำให้เราได้ยินอาสาว่าเขาคิดอะไร ชอบอะไร เรียนรู้อะไร ถัดจากครั้งนั้น ก็ได้ทำต่อมาอีกเป็นระยะ ทีมของเราทำเองมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้เราดำเนินกระบวนการเองทั้งหมด ได้จิตอาสาที่เข้ามาช่วยงานเรื่อยๆ ระยะหลังนี้มีอินฟลูเอนเซอร์มาทำกิจกรรมแล้วช่วยโปรโมท มีดารา-คนดังเข้ามาทำกิจกรรม สวนสัตว์ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นครับ — ทั้งหมดนี้คือการสนับสนุน


กิจกรรม zookeeper (คนดูแลสวนสัตว์) ทำอะไรบ้าง
ช่วงแรกก็พูดคุยกันก่อน เขาสนใจอะไร อยากเรียนรู้เรื่องอะไร ทำไมจึงอยากมาร่วมกิจกรรม ต่อมาคือการเตรียมอาหารให้สัตว์ ซึ่งใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษๆ จากนั้นก็เอาอาหารที่ทำไปเลี้ยงสัตว์จริงๆ ซึ่งตรงนี้แหละที่จิตอาสาเกิดความเข้าใจต่อชีวิตของสัตว์มากขึ้น จิตอาสาทุกคนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เกือบทุกตัว เพราะระหว่างการเดินให้อาหารสัตว์ก็มีการพูดคุยไปด้วย ให้ข้อมูล บอกถิ่นที่อยู่ของสัตว์ตัวนั้น บอกนิสัย ความเป็นอยู่ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้จิตอาสารู้สึกได้ว่าเขากำลังทำหน้าที่ zookeeper คือเป็นผู้ดูแลสวนสัตว์จริงๆ


พอเสร็จก็ชวนจิตอาสามานั่งคุยกัน ทบทวนว่าวันนี้ได้ทำอะไรบ้าง รู้สึกยังไง ตอนไหน ได้ช่วยอะไร ใคร ตอนไหน ชอบไหม อยากทำอีกไหม ฯลฯ — ช่วงนี้ทำให้จิตอาสาแต่ละคนได้ยินกัน ได้ฟัง เพื่อนเก็ตตรงไหน ใครคิดยังไง ซึ่งก็ทำให้พวกเรา – เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ฯ ได้ยินและเข้าใจคนภายนอก (จิตอาสา) มากขึ้นด้วย


หลังจากที่ได้ร่วมงานกับธนาคารจิตอาสา พวกเรามีกำลังใจมากขึ้น มีคนไม่น้อยที่ยินดีจะสนับสนุนเราในทางใดทางหนึ่ง กล่องรับบริจาคที่เคยว่างเปล่า ตอนนี้ก็เริ่มมีคนหยอดกล่องแล้ว — ไม่มากหรอกครับ ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย แต่มันมีความหมาย เป็นน้ำใจ และเป็นกำลังใจให้พวกเรามากๆ ตอนนี้ผมเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เห็นทิศทาง ของความยั่งยืนอยู่บ้างครับ



มีเหตุการณ์ประทับใจที่อยากเล่าให้ฟังบ้างไหมคะ
มีแม่กับลูกคู่หนึ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาร่วมกิจกรรมที่นี่ ลูกเรียนชั้นมัธยมปลายและดูเป็นเด็กที่ตั้งอกตั้งใจมาก ใส่ใจ กระตือรือล้น น่าจะเป็นเด็กเรียนดี พอทำกิจกรรมเสร็จ เจ้าหน้าที่มาสะกิดผมบอกว่า “น้องอยากเป็น zookeeper พี่หนุ่มมีอะไรจะแนะนำไหม” ผมก็เลยบอกว่าการเป็น zookeeper ก็ดี แต่ก็มีข้อจำกัด ดูแลได้แต่วินิจฉัยโรคไม่ได้ อาจจะมองหาอาชีพอื่นๆ ด้วย สัตวแพทย์ก็น่าสนใจ เพราะมีบทบาทสำคัญในการรักษา การกำหนดชะตาชีวิตของสัตว์ สัตวแพทย์ไม่ได้เป็นแค่คนเปิดคลินิค ขายยา ขายอาหารสัตว์เท่านั้น จากนั้นน้องก็ไปคุยกับแม่ของเขา แล้วแม่ก็มาขอบคุณผมใหญ่ — โมเม้นต์นั้นผมรู้สึกปลื้มใจเป็นพิเศษ อาจเพราะผมก็มีลูก ผมดีใจถ้ามีใครสักคนคุยและเปิดโลกของลูกกว้างขึ้นอีกนิด และมันเหมือนกับผมได้บอกสิ่งที่ผมอยากบอกกับลูกของผม


อีกเรื่องก็คือ มีวันหนึ่ง มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาที่นี่ อยากจะลองเป็น zookeeper สักวัน ผมก็คุยตามปกติ พอเสร็จงาน เขาถามผมว่า “ที่นี่ขาดอะไรบ้างไหม” ผมบอกว่า พวกเรากำลังหาวิตามินชนิดหนึ่งซึ่งกำลังขาดตลาด วันรุ่งขึ้นมีแมสเซ็นเจอร์ขับรถเอาวิตามินนั้นให้พวกเราครับ วิตามินที่เราต้องการ premium กว่าเดิมอีก เขาเขียนจดหมายน้อยแนบมาด้วยบอกว่า เขายินดีที่ได้สนับสนุนเรา ผมประทับใจมากทุกวันนี้ก็ยังเก็บถุงกระดาษที่ใส่วิตามินนั้นอยู่ ผมรู้สึกว่ามีเพื่อน เรื่องแบบนี้มันชื่นใจ


สุดท้ายนี้ผมก็อยากขอบคุณธนาคารจิตอาสา ที่มา “ช่วยเหลือ” ขอใช้คำนี้นะครับ ถ้าไม่ได้ธนาคารจิตอาสา พวกเราคงไม่ได้มาถึงวันนี้ เรามาไกล ผมดีใจที่เด็กๆ ได้ประโยชน์ ตอนแรกพวกเขามาเพราะต้องการโปรไฟล์ แต่แล้วก็เกิดความรัก อยากช่วยสัตว์ อยากช่วยเหลือ เราชื่นใจมากครับ คนรู้จักเรามากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ได้พัฒนาตัวเอง ขอบคุณครับ

.


……………………………………………………………………………..

.

*พี่แว่น – คุณไพโรจน์ วิสุทธิวงศ์รัตน์, พี่จิวร์ – คุณสุประวีณ์ หวังดุลยกิติ, น้องก๊าต – คุณบารอก๊าต มามะ
ทีมสนับสนุนองค์กรผู้จัดงานอาสา ธนาคารจิตอาสา ช่องทางการติดต่อ
line OA @JitArsaBank และอีเมล jitarsabank@gmail.com

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save