8 ช่องทางความสุข

ความสุขที่ช่วยกันสร้าง

ถ้าอยากจะดูแลความเครียดได้ มีทัศนคติดี เป็นคนน่ารัก เราต้องใช้เวลาในที่ทำงานนี้แหละฝึกตัวเรา — เวลาในที่ทำงานคือเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่เราตื่น พวกเราทุกคนอยากได้บรรยากาศการทำงานที่ดี ซึ่งผมก็มักจะย้ำว่า “เราต้องช่วยกัน” เพราะบรรยากาศที่ดี ผมทำคนเดียวไม่ได้

.

  • การแก้ปัญหาในงานจริงๆ มันแก้ไม่ยาก แต่ปัญหาที่เกิดกับเพื่อนร่วมงานต่างหาก ที่ทำให้เราไม่อยากแก้ปัญหา — ถ้าแก้ปัญหางานแล้วทำให้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ก็ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นแหละ พอเป็นแบบนี้บ่อยๆ ก็ท้อ เหนื่อยหน่าย หมดแรง
  • เขาฟังแล้วจะรู้สึกยังไง จะเข้าใจอย่างที่เราอยากบอกไหม พูดออกไปแล้วจะกระทบกับใครหรือเปล่า เพราะแต่ละคนก็แตกต่างกัน พูดออกไปอีกฝ่ายกลับเข้าใจไปอีกอย่าง สุดท้ายก็ต้องกลับมาสังเกตและดูแลความรู้สึกของตัวเอง เราห้ามความคิดของคนอื่นไม่ได้
  • การทำงานมีความกดดันเรื่องตัวเลข ความอยู่รอด กำไร ประสิทธิภาพ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่พร้อมกันนั้น ชีวิตไม่ได้มีแค่ตัวเลข ชีวิตมีมิติอื่นๆ ด้วย ถ้าเราจะใช้ชีวิตในที่ทำงานคุยกันแต่เรื่องตัวเลข คงไม่ใช่


ทุกเช้า บริษัท ไทยประสิทธิ์เท็กซ์ไทล์ จำกัด จะจัดเวลาเพื่อให้พนักงานกลับมา ‘ตั้งหลัก’ 5 นาที เป็นวิธีการเล็กๆ เพื่อสร้างสุขภาวะในองค์กร— บทความนี้ประกอบด้วยมุมมองสองส่วน มุมมองของผู้บริหาร และ มุมมองของผู้ปฏิบัติงาน


‘สุขภาวะในองค์กร’
คืออะไร ความสุขประเทศไทยได้พูดคุยกับ คุณบุญช่วย ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายขายและฝ่ายจัดซื้อ บริษัท ไทยประสิทธิ์เท็กซ์ไทล์ จำกัด ถึงความมุ่งหมายที่จะสร้างภาวะที่เป็นสุขในองค์กร ให้ความสุขที่มีความหมายแก่พนักงาน


ภาวะที่เป็นสุขในองค์กร
บริษัทของเราสนใจเรื่องสุขภาวะในองค์กรมาพักใหญ่แล้ว เรามีทีมทำงาน MIO – Mindfulness In Organization ทำงานร่วมกับโครงการความสุขกำลัง https://www.facebook.com/HappyGrowth.th ซึ่งสนับสนุนโดย สสส.


ในปีที่ผ่านมาเราให้พนักงานทั้งองค์กร (ประมาณ 400 คน) ทำแบบวัดสุขภาวะทางปัญญา https://www.happinessisthailand.com/spiritualcheckup ซึ่งพบว่าพนักงานของเราไม่ค่อยมีความสุข รู้สึกหดหู่ เบิร์นเอาท์ — ตอนที่เห็นผลการสำรวจ จะว่าตกใจก็ไม่เชิงเพราะพอจะจับบรรยากาศได้ พอจะเห็นแนวโน้ม บางเรื่องก็พอจะรู้อยู่ แต่พร้อมกันนั้นผมก็รู้สึกว่า “มันเกิดอะไรขึ้น เรา(ผู้บริหาร) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้นหรือเปล่า”


5 นาที เพื่อ reset ตัวเอง
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความเครียดของพนักงานพุ่งสูงขึ้นมาก โรงงานของเราอยู่ที่สมุทรสาครซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม พอสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น เราคิดกิจกรรมเล็กๆ ขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือ ทุกวัน ช่วงเวลา 7.00 -8.15 น. (ตามความเหมาะสมของแต่ละส่วนงาน) ให้ทุกคนกลับมาอยู่กับตัวเอง 5 นาที โดย 5 นาทีนั้นเป็นการกลับมาอยู่กับตัวเอง รับรู้อารมณ์-ความรู้สึกอย่างที่เป็น แล้วตั้งหลักใหม่เพื่อให้พร้อมสำหรับการเริ่มงาน ช่วงแรกๆ กิจกรรมนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ ผ่านมาสองปีกิจกรรมนี้กลายเป็นกิจวัตรธรรมดา (routine) ไปแล้ว — ผมคิดว่า 5 นาที มันไม่นาน ดูเหมือนสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่การให้เวลา 5 นาทีเพื่อ reset ตัวเองน่าจะมีความหมายสำหรับหลายๆ คน เพราะเราไม่รู้หรอกว่าก่อนที่พนักงานจะมาถึงสำนักงาน เขาผ่าน-เขาเจออะไรมา การให้กลับมานิ่ง ๆ 5 นาที ก่อนเข้าไลน์การผลิต ก่อนเริ่มหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาติดต่องาน น่าจะดี แล้วถ้าใครชอบกิจกรรมแบบนี้ก็ไปหาเวลาทำเพิ่มได้เอง

.


ความสุขกับความอยู่รอด
ใน 24 ชั่วโมงของวัน เรานอน 8 ชั่วโมง เหลืออีก 16 ชั่วโมงที่ตื่น ครึ่งหนึ่งนั้นเราใช้ในที่ทำงาน ถ้าระหว่างการทำงานนั้นคุณไม่มีความสุข ทนทำ พลังลบ มันยากมากเลยนะครับ โอเคเหรอ ? ดังนั้น มันจะดีไหมถ้าพวกเราช่วยกันทำให้บรรยากาศของการทำงานน่าอยู่ ผมมักจะบอกน้องๆ พนักงานว่า ถ้าเราอยากจะเป็นคนที่ดูแลความเครียดได้ อยากเป็นคนมีทัศนคติดี เป็นคนน่ารัก เราต้องใช้เวลาในที่ทำงานนี้แหละฝึกตัวเรา ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมา เพราะเวลาในที่ทำงานคือเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่เราตื่น ทุกคนอยากได้บรรยากาศการทำงานที่ดี ซึ่งผมมักจะย้ำว่า “เราต้องช่วยกัน” เพราะบรรยากาศที่ดี ผมทำคนเดียวไม่ได้ ผมคุยเรื่องแบบนี้บ่อยมาก เพราะมันเป็นทิศที่ผมอยากไป — ในฐานะผู้บริหาร ผมรู้ว่าการทำงานมีความกดดันเรื่องตัวเลข ความอยู่รอด กำไร ประสิทธิภาพ ฯลฯ แต่พร้อมกันนั้นผมก็รู้ว่าชีวิตไม่ได้มีแค่ตัวเลข ชีวิตมีมิติอื่นๆ ด้วย ถ้าเราจะใช้ชีวิตในที่ทำงานคุยกันแต่เรื่องตัวเลข — ผมว่าคงไม่ใช่


ความสุขที่มีส่วนร่วม
ผมอยากให้โรงงานมีบรรยากาศเหมือนสมัยที่ผมอยู่มหาวิทยาลัย มีชมรม ได้ทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกับเพื่อนๆ ดังนั้น ผมจึงบอกกับน้องๆ พนักงานว่า ถ้าอยากมีชมรม อยากรวมกลุ่มทำอะไรขอให้บอก จะพยายามจัดสรร ดูความเหมาะสมให้ ผมไม่อยากให้แค่มาทำงานแล้วก็หมดเวลา ตอนที่เป็นนักศึกษา เราไม่ได้ไปมหาวิทยาลัยไปเพื่อเรียนเท่านั้น แต่เราไปมหาวิทยาลัยเพราะเราได้เจอเพื่อน ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน มีชีวิตชีวา — ผมรู้ว่าชีวิตคนทำงานต่างจากชีวิตนักเรียน-นักศึกษา พร้อมกันนั้นผมก็เชื่อว่ามนุษย์ต้องการเพื่อน ถ้าเรามีกลุ่ม มีชมรมของคนที่มีความชอบเหมือนกัน แม้จะอยู่ต่างแผนกกัน มันก็ยังมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมกันได้ ไม่ต่างคนต่างอยู่ มันทำให้ชีวิตการทำงานของเรามีชีวิตชีวา มีมิติ

.

  • แปลงเกษตรเพื่อเยียวยาความคิดถึงบ้าน


ตอนนี้เรามีแปลงเกษตรอยู่ในโรงงาน เพราะพนักงานกลุ่มหนึ่งมาคุยกับผม เขาอยากทำแปลงเกษตรเพื่อลดความคิดถึงบ้าน คลายความเครียดจากการทำงาน เขาสุขที่ได้ทำ — ทำมาปีกว่าๆ แล้ว ถามว่าได้อะไรไหม ? ผมว่าเขามีความสุข ผักที่ได้เขาก็ขายเพื่อนพนักงานบ้าง กินกันเองบ้าง รายได้จากการขายผักไม่ได้เป็นกอบเป็นกำหรอกครับ แต่มันเป็นความสุขของพวกเขา

.

  • ทำบุญเดือนเกิด


อีกกิจกรรมหนึ่งที่พนักงานช่วยกันคิดขึ้นมาและกลายเป็นกิจกรรมที่พนักงานชอบมาก ๆ คือกิจกรรมทำบุญเดือนเกิด — ทีมงานจะนิมนต์พระมารับสังฆทานจากคนที่มีวันเกิดในเดือนนั้นๆ พนักงานที่มาร่วมกิจกรรมได้ถวายสังฆทาน สวดมนต์ รับพร รับน้ำพระพุทธมนต์ และทีมงานก็เตรียมเค้กก้อนเล็กๆ ให้เจ้าของวันเกิด ปักเทียน ทุกคนที่อยู่ในห้องนั้นก็จะร่วมกันร้องเพลงอวยพรวันเกิด ให้เจ้าของวันเกิดอธิฐานและเป่าเทียนบนเค้กของตนเอง มันเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่พนักงานชอบมาก มันคงเหมาะกับบริบทของพวกเขา มีอยู่ครั้งหนึ่ง พนักงานเจ้าของวันเกิดเป็นชาวพม่า วันนั้นผมก็อยู่ในกิจกรรมด้วย พอเขาเป่าเทียนเสร็จ เจ้าของวันเกิดหันมาหาผมแล้วบอกว่า “เฮีย ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยได้เป่าเค้กเลย” — คำพูดซื่อๆ ของเขา ทำเอาพนักงานอื่นๆ อึ้งไปเลย ความรู้สึกของวันนั้นมันเต็มอิ่มมากๆ ทั้งเจ้าของวันเกิดและเพื่อนๆ พนักงาน


ในฐานะผู้บริหาร บางครั้งผมก็คิดกิจกรรม คิดวิธีการไม่ออก ผมแค่อยากสนับสนุนให้รวมกลุ่ม ให้เขาได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ให้มีเพื่อนที่พูดคุยกันได้ แต่บางทีก็มีเสียงสะท้อนว่า “ทำงานทุกวันก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ยังจะให้ไปทำอะไรกันอีก อยากพัก อยากนอน ไม่อยากได้กิจกรรม” ซึ่งผมก็เข้าใจ (ยิ้มอ่อน) ดังนั้นผมจึงเปิดกว้าง กิจกรรมควรมีความหลากหลายและเปิดกว้างอย่างสมัครใจ


ทักษะการฟื้นคืนสำหรับพนักงาน
              หลังจากที่เราทำแบบประเมินสุขภาวะของพนักงาน โครงการความสุขกำลังเติบโต (Happy growth) ก็เสนอกิจกรรมให้เลือกหลายอย่าง ซึ่งผมกับน้องๆ ช่วยกันเลือก พวกเราเลือกจัดอบรมทักษะการฟื้นคืน (resilience skill) – ล้มแล้วลุกเป็น เราเชื่อว่านี่เป็นทักษะที่จะเอาไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของการทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว ผมอยู่ในการอบรมด้วย ซึ่งผมไม่แปลกใจที่เขาชอบการกอดตัวเอง การชื่นชมกันและกัน การดูแลอารมณ์ การสื่อสาร ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องการ ผมดีใจและอยากให้มีการขยายผลมากขึ้น ๆ ครับ


หลังจากได้พูดคุยกับผู้บริหารแล้ว เรามีโอกาสได้คุยกับพนักงาน 3 ท่าน หลังจากจบการอบรมทักษะการฟื้นคืน (resilience skills) มาแล้ว 1 สัปดาห์ คุณอุไล ไพรบึง คุณณัฐวรรณ จงสมาน และ คุณดุสิต สระคง จะช่วยให้มุมมองว่า การดูแลสุขภาวะมีความหมายต่อชีวิต และการงานของพวกเขาอย่างไร

.

  • ชอบที่ได้ทบทวนชีวิต ได้ฝึกการดูแลอารมณ์ เมื่อก่อนเรามักจะนั่งคิด ดูเหมือนเหม่อลอย แต่ในกิจกรรมนี้เขาสอนให้หยุด ให้กลับมาอยู่กับฝ่าเท้า บางทีก็ให้เอามือวางที่หัวใจ ให้ลองกอดตัวเอง ฟังตัวเอง สังเกตความรู้สึกของตัวเอง — ตอนทำในอบรมรู้สึกดี พอกลับบ้านก็ลองทำอีก รู้สึกชอบ มันช่วยให้เย็นลง ได้ทบทวนชีวิตบ่อยขึ้น แต่ไม่ใช่คิดอย่างเหม่อลอย
  • การแก้ปัญหาในงานจริงๆ มันไม่ยาก แต่ปัญหาที่เกิดกับเพื่อนร่วมงานต่างหาก ที่ทำให้เราไม่อยากแก้ปัญหา — บางทีก็เห็นอยู่ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้งานดีขึ้น แต่ถ้าทำแล้วจะมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานก็.. ‘ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นแหละ’ พอเป็นแบบนี้บ่อยๆ ก็ท้อ เหนื่อยหน่าย หลังจากการอบรมก็ทบทวนกับตัวเองอีก เห็นว่าการจัดการอารมณ์เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราจัดการอารมณ์ตัวเองได้ก็จะช่วยลดปัญหาได้มาก — ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปัญหาใหญ่ขนาดไหน ถ้าดูแลอารมณ์ได้ มันช่วยไปแล้วครึ่งหนึ่ง — ต่อให้คนอื่นควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แต่ถ้าเราดูแลอารมณ์ตัวเองได้ มันก็ช่วยอยู่ดี เพราะเราไม่ทิ่มแทงคนอื่น งานก็เดินต่อได้
  • ผมว่า ถ้าความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานดี งานก็ราบรื่น แม้จะมีปัญหา ขลุกขลัก ติดขัดแต่มันก็จะผ่านไปได้ ในการอบรมเราได้คุยกันหลายเรื่อง ได้ฟังกัน รู้จักกัน ผมว่านอกเวลางานพวกเราน่าจะคุยเรื่องชีวิตกันบ้าง คุยเรื่องที่ไม่ใช่งานบ้าง เพราะมันทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น
  • เวลาส่วนใหญ่ของพวกเรา-คนวัยทำงานก็คือการใช้ชีวิตในที่ทำงาน เราเจอคนในครอบครัวตอนเช้าก่อนมาทำงานและหลังจากทำงาน จากนั้นก็นอน เวลาที่ตื่นส่วนใหญ่เราใช้ในที่ทำงาน ดังนั้นถ้าอยากมีพลังดีๆ คิดบวก ก็ต้องทำให้สำนักงานมีพลังดีๆ ซึ่งก็ต้องเริ่มที่ตัวเรานี่แหละ เราอยากได้แบบไหนก็ต้องสร้างแบบนั้นขึ้นมา
  • พออบรมแล้วก็อยู่กับตัวเองได้มากขึ้น ยับยั้งชั่งใจ รู้ตัว ก่อนจะพูดก็ทบทวนก่อน พูดแล้วจะดีไหม จะเกิดอะไรตามมา จะกระทบกระเทือนใจใครหรือเปล่า อีกเรื่องก็คือใส่ใจตัวเองมากขึ้น รักตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเอง ชอบที่เขาบอกว่า “รับรู้ว่าคุณเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” — เรามีโรคประจำตัว มีปัญหาสุขภาพ บางทีก็ท้อ น้อยใจว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับเรา คำนี้มันช่วยกระตุกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว คนอื่นๆ ก็เจอเรื่องแบบนี้ ดังนั้นเราก็ดูแลตัวเอง เช่นเดียวกับที่คนอื่นๆ เขาก็ดูแลตัวเองเหมือนกัน
  • เดี๋ยวนี้เห็นความสำคัญของการสื่อสารมากขึ้น จะพูดอะไรหนูคิดเยอะกว่าเดิม —เขาฟังแล้วจะรู้สึกยังไง จะเข้าใจอย่างที่เราอยากบอกไหม พูดแล้วจะกระทบกับใครหรือเปล่า เพราะงานของเราเกี่ยวข้องกับหลายคน แต่ละคนก็แตกต่างกัน มีเหมือนกันที่พูดออกไปแล้วอีกฝ่ายเข้าใจไปอีกอย่าง สุดท้ายก็ต้องกลับมาทำใจ กลับมาสังเกตและดูแลความรู้สึกของตัวเอง เราห้ามความคิดของคนอื่นไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะโฟกัสการกระทำของเราได้ เตือนตัวเองให้ค่อยๆ ไปทีละก้าว ผ่อนคลาย กลับมาเข้าใจตัวเอง ให้อภัยตัวเอง รักตัวเอง ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี

.

.


ทีมงานความสุขประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้พวกเรา – คนวัยทำงาน ได้เห็นแนวทาง ช่องทาง ที่จะมีความสุขเล็กๆ ให้การงานของเราได้สร้างความหมายและมอบพลังชีวิตให้แก่ตัวของเรา สุดท้ายนี้ ทีมงานขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท ไทยประสิทธิ์เท็กซ์ไทล์ จำกัด และ โครงการความสุขกำลังเติบโตที่ทำให้เกิดบทความนี้


……………………………………………………..

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save