8 ช่องทางความสุข

ฟื้นจิต ฟื้นใจ

หน้าที่ของเราคือฟัง ถ้าฟังดีๆ ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ เขาจะเปิดใจให้เรา การฟังเขาเป็นการเติมคุณค่าให้เขา เพราะมันหมายความว่า มีอย่างน้อยหนึ่งคนที่ยินดีฟังเขา ผู้ป่วยจิตเวชจำนวนหนึ่งที่รักษาจนหายแล้วแต่กลับไปป่วยอีก เพราะความรู้สึกว่า เขาไม่เป็นที่ต้องการ

.

  • ไม่กล้าเข้าใกล้ผู้ป่วยจิตเวช ไม่ได้รังเกียจ อยากช่วย แต่ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร ไม่รู้จะพูดอย่างไร จะสื่อสารกันอย่างไร จะรับมืออย่างไร
  • กุญแจสำคัญของการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชคือ กำลังใจจากคนรอบข้าง เชียร์ให้เขาสื่อสารโลกภายในของเขาออกมา เพราะนั่นแปลว่า เขากำลังขยับเข้าใกล้การกลับไปใช้ชีวิตปกติแล้ว
  • พวกเราอาจจะเก่งมากในการทำงานกับคนปกติ แต่พื้นที่ของผู้ป่วยจิตเวชจะต่างออกไป เราจะได้เห็นว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ท้าทายความคิดสร้างสรรค์ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ เพื่อจะ ‘รู้ได้อีก’

.

โดยทั่วไปเรารู้ว่า การเป็นจิตอาสานั้นให้ความสุขแน่ๆ แต่การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจิตเวชนั้นแตกต่าง มาลองฟังกันว่าการเป็นอาสาสมัครเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชให้ความสุขได้อย่างไร ผ่านบทสัมภาษณ์ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยจิตเวช 2 ท่าน คือ คุณศริฎา กัลยาณขาติ (พี่เอื้อง) ซึ่งเคยเป็นอาสาสมัครในสมาคมสายใยครอบครัว (โรงพยาบาลศรีธัญญา) นานเกือบ 20 ปี และเป็นกำลังสำคัญของการก่อตั้งศูนย์พัฒนาชีวิตผู้ป่วยจิตเวชบ้านสวนสายใย จ.ฉะเชิงเทรา และ พี่ส้ม วิทยากรจิตอาสา สมาคมสายใยครอบครัว และ ศูนย์บริการคนพิการลิฟวิ่ง

.

จุดเริ่มต้น
พี่มีน้องชายเป็นจิตรกร รับจ้างวาดภาพเหมือน (portrait) สีน้ำมัน แล้วต่อมาเขาก็ป่วย เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว — ช่วงที่น้องป่วย ครอบครัววุ่นวายไปหมด ทุกข์ทั้งครอบครัว ทะเลาะกันเละเทะ เพราะเราและเขา (ผู้ป่วยจิตเวช) เหมือนอยู่กันคนละโลก — ได้เห็นเลยว่าเมื่อมีคนป่วยจิตเวชหนึ่งคน มันส่งผลต่อคนรอบตัวมาก แล้วเราจะช่วยน้องได้อย่างไร ? จะช่วยครอบครัวอย่างไร ? นั่นคือจุดเริ่มต้น


ในตอนนั้นแพทย์บอกว่ายาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ต้องอาศัยการบำบัด แต่ก็ไม่ได้บอกชัดๆ ว่าต้องบำบัดอย่างไร ก็ต้องขวนขวายหาความรู้เอง ทดลอง ทำ เรียนรู้ จนน้องหาย กลับมาอยู่ในสังคมได้เป็นปกติ และเราพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการสอนโรงเรียนเลย ไม่มีใครบอก น้องเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อการเรียนรู้ และทำให้เราอยากจะส่งต่อ เผยแพร่ความรู้ชุดนี้ออกไปในสังคม


ประสบการณ์ตรงในการบำบัด-ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช
น้องเป็นศิลปิน เขามีอาชีพวาดภาพ ชอบเล่นไวโอลิน เป็นแชมป์จักรยานวิบาก เป็นคนแจ่มใส น่ารัก ไม่เคยคิดว่าน้องจะป่วยทางจิตเวชเลย


คิดว่าตัวกระตุ้นที่สำคัญคือ ความเครียด เพราะในช่วงนั้นลูกค้าจากอเมริกาสั่งงานจำนวนมาก พอเครียดก็พักผ่อนน้อย พยามเค้นก็ยิ่งเครียด จนสุดท้ายคือ ทำอะไรไม่ได้เลย วาดภาพไม่ได้ เล่นไวโอลินไม่ได้ สิ่งที่ตัวเองรัก เคยทำได้ดี กลับทำไม่ได้ รู้สึกแย่กับตัวเอง และทุกอย่างก็ยิ่งแย่มาก


การรักษาอาการป่วยจิตเวชต้องมี 2 ส่วนคือ ยา และ การบำบัด ซึ่ง ณ ขณะนั้นไม่มีใครบอกว่าการบำบัดต้องทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไร


ศิลปะ การเคลื่อนไหว และกำลังใจ
เรารู้ว่าน้องชอบวาดรูปก็ชวนเขาทำแต่เขาทำไม่ได้ เขาบอกว่า “สั่งสีไม่ออก” คือสมองไม่ฟังก์ชั่น ความสามารถในการคิด การสร้างสรรค์ หยุดทั้งหมด


เขาชอบเล่นไวโอลิน แต่ก็เล่นไม่ได้ คีย์เพี้ยนทั้งหมด วิธีการในตอนนั้นก็คือ เกณฑ์ทุกคนในบ้านให้มาล้อมวงฟังน้องเล่นไวโอลิน ต่อให้ไม่เป็นเพลง ฟังไม่รู้เรื่องแต่ทุกคนจะนั่งล้อมวงฟังด้วยกัน ช่วยกันปรบมือ ทำทุกวัน ปรากฎว่าเริ่มเล่นเป็นเพลงในวันที่ 7 ทุกคนดีใจกันมาก ตัวน้องก็ดีใจมาก ถัดจากนั้น เขาก็เล่นได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่ม “สั่งสี” ได้ วาดรูปได้ เกณฑ์ทุกคนในบ้านมานั่งเป็นแบบให้น้องวาดรูป จริงเขาก็วาดไม่เป็นหน้าคนหรอกนะ แต่ก็ต้องพยายามชม “ดีขึ้นนะ” “ดีกว่าเมื่อวาน” “อันนี้สวยขึ้น”


จากประสบการณ์นี้ทำให้ตกผลึกว่า ดนตรี ศิลปะ และกำลังใจ ช่วยคนได้ ดังนั้นเมื่อทำงานอาสาสมัคร ก็พยายามใช้ศิลปะ ใช้ความสัมพันธ์เชิงสังคมช่วยกระตุ้น ต้องให้กำลังใจกัน เชียร์ ชม สำคัญมาก — ถ้าน้องฝึกเล่นไวโอลินทุกวัน แต่ทำคนเดียว ไม่มีใครสนใจ ไม่มี ‘สังคม’ สนับสนุน น้องก็คงไม่หาย ผู้ป่วยจิตเวชต้องการกำลังใจ

แพทย์บอกว่า การออกกำลังกายจะช่วยให้สารสื่อประสาททำงานดีขึ้น ก็เลยชวนให้น้องไปปั่นจักรยานเพราะเขาเคยเป็นแชมป์ปั่นจักรยานวิบาก เขาไปเราก็ต้องไปด้วย ทำด้วยกัน ได้เลือดหลายครั้ง (หัวเราะ) เพราะการสั่งงานในสมองของเขายังไม่ดี สั่งช้า สั่งผิด จักรยานล้มบ้าง เหาะบ้าง ถลอกปอกเปิก แต่ในที่สุดเขาก็ทำได้ — การออกกำลังกายจนเหงื่อออกได้ผลมาก จากที่เคยสื่อสารไม่ได้ พูดช้า พูดไม่รู้เรื่อง ทุกอย่างกลับมา มันทำให้ได้ข้อสรุปว่า ศิลปะ การสนับสนุนกันเชิงสังคม และ การออกกำลังกายจนเหงื่อออกสำคัญ


ความสุขของอาสาสมัครฟื้นฟูฯ
งานนี้เป็นงานท้าทาย อาศัยความต่อเนื่องจึงจะเห็นผล แต่เมื่อได้เห็นผลนั้น มันชื่นใจมาก — มีผู้ป่วยคนหนึ่งชื่อพล (นามสมมุติ) ประวัติเขาเกือบจะเป็นคนไร้บ้าน นอนข้างถนน ไม่อาบน้ำ แรกๆ เขาพูดน้อยมาก ถามคำตอบคำ เมื่อเขาทำกิจกรรมกับพวกเรามาเรื่อยๆ ตอนนี้เขาสื่อสารได้ พูดเก่งมาก สามารถบอกความรู้สึกได้ บางทีแทบจะเป็นผู้ช่วยทำกิจกรรมแล้ว — เห็นแบบนี้แล้วชื่นใจมาก มันคือการคืนชีวิตให้เขา เหมือนเราให้กำเนิดชีวิตใหม่ ยิ่งใหญ่มาก


การมาเป็นอาสาสมัครด้านนี้ต้องใจเย็น เพราะเป็นงานละเอียดอ่อน มันบังคับว่าเราใจร้อนไม่ได้ อยากให้เขาเข้าใจเร็วๆ ไม่ได้ มันทำให้เห็นธรรมชาติของตัวเราเอง มันทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเราใจร้อนและด่วนตัดสินมากขนาดไหน พ่อแม่ที่มีลูกป่วยส่วนใหญ่หงุดหงิดเพราะลูกไม่ได้ดั่งใจ — ปกติลูกๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจอยู่แล้ว แต่ถ้าป่วยจิตเวชจะไม่ได้ดั่งใจทวีคูณ — พูดง่ายๆ ก็คือ การเป็นอาสาสมัครฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชมันทำให้เราได้ขัดเกลาตนเอง บางคนบอกว่ามันเหมือนการปฏิบัติธรรม !


กิจกรรมสำหรับผู้ป่วยจิตเวชอาศัยความคิดสร้างสรรค์มาก สิ่งที่เคยทำกับคนปกติได้ดี บางทีก็เอามาใช้กับน้องๆ เหล่านี้ไม่ได้ บางทีก็ทำให้อาสาสมัครรู้สึกว่า ‘ยากจัง’ แต่พร้อมกันนั้นก็สนุกที่จะคิด ที่จะออกแบบการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือ มันทำให้เรา-ผู้สอน ต้องทบทวนตัวเองเสมอว่า เราสร้างประโยชน์ให้เขาได้จริงๆ ใช่ไหม เราได้ให้อะไรกับเขาจริงๆ ใช่ไหม เขาไม่ได้เสียเวลาไปเปล่าๆ ใช่ไหม — การได้ทบทวนแบบนี้ดีมากๆ เช่นกัน


ความสัมพันธ์คือแก่นของการฟื้นฟู

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ไม่รู้จะพูดหรือสื่อสารกับผู้ป่วยจิตเวชอย่างไร แต่ขอให้สบายใจว่า ผู้ป่วยจิตเวชเป็นผู้ที่ซื่อตรง ใสๆ เขาจะบอกเราอย่างตรงไปตรงมาเสมอ เช่น เขาไม่อยากเล่า เขาไม่อยากพูด เขาไม่ชอบคำนี้ เรื่องนี้มันทำให้เขาจี๊ด หรือ ฯลฯ — หน้าที่ของเราคือฟัง และถ้าฟังดีๆ สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ เขาก็จะเปิดใจให้เรา เขาจะบอกสิ่งที่เขาคิด เขารู้สึก และนั่นคือการช่วยเขาได้โดยตรง และมันเป็นการเติมคุณค่าให้เขาด้วย เพราะมันหมายความว่า มีอย่างน้อยหนึ่งคนที่ยินดีฟังเขา ผู้ป่วยจิตเวชจำนวนหนึ่งที่รักษาจนหายแล้วกลับไปป่วยใหม่เป็นเพราะความรู้สึกว่า เขาไม่เป็นที่ต้องการ เขาแปลกแยก เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น


กุญแจที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช คือ การสื่อสาร และความสัมพันธ์ ถ้าเขาสื่อสารกับพวกเราได้ ถ้าเขาสร้างความสัมพันธ์กับตัวเองใหม่ ก็แสดงว่าเขาพร้อมจะกลับสู่สังคมแล้ว


………………………………………………………………………………


สมาคมสายใยครอบครัว https://www.thaifamilylink.org/
ศูนย์พัฒนาชีวิตผู้ป่วยจิตเวชบ้านสวนสายใย https://www.bansuanrecovery.com/
ศูนย์บริการคนพิการลิฟวิ่ง https://livingth.org/

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save