8 ช่องทางความสุข

ความเครียด ท็อกซิก จิตเวช

มีคนมากมายที่เครียด แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเครียด ถ้ารู้ตัว เขาก็จะจัดการตัวเอง ดูแลความเครียด แต่ถ้าไม่รู้ตัว เขาก็อาจจะใช้ชีวิตแบบกระแทกคนอื่น เป็นมลพิษที่เรียกว่า ‘ท็อกซิก (toxic)’ แต่ไม่มีใครอยากเป็นแบบนี้หรอก เราทุกคนช่วยกันได้ ด้วยการดูแลความเครียดของเรา และดูแลเพื่อนไม่ให้บรรยากาศเครียดไปกว่านี้

.

  • MHPSS* worldwide อ้างอิงรายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลกกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต คน 350 ล้านคนทั่วโลก กำลังทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้า
  • ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าประมาณ 700,000 ราย (เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย 619,000)
  • การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับที่สี่ของการเสียชีวิตในกลุ่มคนอายุ 15 – 29 ปี โดยเฉพาะเพศหญิง
  • ประชากรในประเทศที่มีรายได้สูง 5 ใน 10 คน ที่ต้องการการดูแลด้านจิตใจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ส่วนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง อัตราการเข้าไม่ถึงการรักษาจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 คน ใน 10 คน

.

ความสุขประเทศไทยได้คุยกับ คุณศริฎา กัลยาณขาติ (พี่เอื้อง) เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของ ศูนย์พัฒนาชีวิตผู้ป่วยจิตเวชบ้านสวนสายใย ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ภารกิจหลักคือการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชเพื่อการกลับสู่สังคม พี่เอื้องทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยจิตเวชมายาวนาน เห็นแนวโน้มที่ผู้ป่วยกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกช่วงวัย ทำให้เห็นความสำคัญของการดูแลตัวเอง รักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ช่วยกันสร้างสุขภาวะในสังคม

.


ความเครียด-การเจ็บป่วย
พี่อยากจะบอกว่า ความเป็นโรค มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว แต่มันอาจจะยังไม่แสดงอาการ ถ้าชีวิตโดยรวมดีเราก็ไม่ป่วย แต่ถ้าเสียสมดุล เราก็ป่วย ไม่ว่าจะป่วยทางกายหรือป่วยทางจิต จึงอยากให้พวกเราสนใจสุขภาพโดยรวม หรือสนใจสุขภาพในหลายมิติ — ใส่ใจสุขภาพกาย ออกกำลังกาย พักให้พอ กินอาหารที่ดี และใส่ใจสุขภาวะด้านใน เช่น การดูแลอารมณ์ การดูแลความเครียด ทัศนคติในการมองโลก ฯลฯ


ภาวะท็อกซิก
มีคนมากมายที่เครียด แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเครียด มีภาวะเครียดสะสม รอบตัวของเรามีคนกลุ่มนี้เยอะมาก บางคนรู้ตัว แต่ส่วนมากไม่รู้ตัว ถ้ารู้ตัวเขาก็จะจัดการตัวเอง ดูแลความเครียด ฯลฯ แต่ถ้าไม่รู้ตัว เขาก็อาจจะใช้ชีวิตแบบกระแทกคนอื่น เป็นมลพิษ ที่สมัยนี้อาจจะเรียกว่า ‘ท็อกซิก (toxic)’

.

.


ปัจจุบัน พวกเราได้ยินคำนี้บ่อย โดยไม่ได้ตระหนักว่าคำนี้เป็นการตีตรา — คนที่เป็นพิษ เป็นเพราะเขามีความเครียดสะสม มีความ ‘ไม่สุข’ ในตัวเองเยอะ จึงมองทุกสิ่งทุกอย่างลบไปหมด คิดลบ มีพลังด้านลบในตัวมา มันจึงแผ่ออกมาง่าย ลองนึกภาพว่า มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อยู่ในภาวะเครียดจัด เขาเครียดมาหลายเดือนแล้ว อาจจะสะสมเป็นปีหรือหลายปี และทุกอย่างก็ยิ่งรุมเร้าเข้ามาในวันนี้ เมื่อขับรถออกจากที่ทำงานในวันนั้น เขาอาจจะบีบแตร ปาดซ้าย ปาดขวา ด่าทอ และเมื่อถึงบ้านก็เป็นไปได้ที่จะเหวี่ยง วีน ใส่คนใกล้ตัว ในที่ทำงานเขาก็อาจจะเป็นอย่างนี้ด้วย — และเมื่อเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ ไม่มีใครคบ ขาดเพื่อน ก็ยิ่งโดดเดี่ยว เครียด แล้วก็ระเบิดซ้ำ — เป็นวงจร


ถาม: ถ้ามีเพื่อนร่วมงานเป็นแบบนี้ควรทำอย่างไร จะเตือนก็ไม่กล้า จะไปเป็นเพื่อนก็ไม่แน่ว่าจะไหว
เรากลับมาเตือนตัวเองก่อนว่า “ไม่มีใครอยากจะอยู่ในภาวะแบบนี้ ไม่มีใครอยากเป็นคนท็อกซิก” เพื่อนร่วมงานคนนี้คงกำลังเครียด เขาใกล้ระเบิด — บางครั้งการบอกว่า “เธอใกล้ระเบิดแล้วนะ” อาจจะช่วย มันเป็นการเตือนสติ แต่สำหรับหลายๆ คน ประโยคนี้ไม่ช่วย แถมอาจจะกลายเป็น ‘ประโยคจุดชนวน’


ทางเลือกหนึ่งก็คือ พูดในท่าที่ของการให้ความช่วยเหลือ เช่น “ช่วงนี้เกิดอะไรขึ้นกับเธอหรือเปล่า ดูหงุดหงิดง่ายนะ มีอะไรอยากเล่าไหม” มันดีกว่าที่จะบอกว่า “ฉันว่าเธอท็อกซิกจัง น่าจะไปหาหมอ”


สิ่งที่สำคัญที่สุดคือท่าทีของเรา การพูดด้วยอย่างจริงใจ เป็นมิตร สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ การพูดลอยๆ หรือการแซะ การแขวะ “มลพิษมาแล้ว ไปดีกว่า” ไม่พูดนินทาลับหลัง ไม่จับกลุ่มเม้าท์มอย — มันไม่ช่วยอะไรเลย สร้างบาดแผล ตีตรา สร้างความบาดหมางต่อกัน และตัวเรากำลังกลายเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมที่เป็นพิษด้วย


เราจะไม่กลายเป็นคนท็อกซิกได้อย่างไร
•สังเกตความเครียดในตัวเอง — โดยปกติร่างกายจะบอกเราอยู่เสมอ ลองฟังร่างกาย เช่น ช่วงนี้นอนไม่หลับ หลับไม่ดี ไม่มีสมาธิ ปวดหัว กินจุกจิก หรือ กินไม่ลง ฯลฯ นี่คือ เครียดแล้ว


•หาวิธีดูแลความเครียดที่เหมาะกับตัวเรา เช่น การได้อยู่ในธรรมชาติ ทำงานอดิเรก คุย พบปะเพื่อนฝูง ออกกำลังกาย ฯลฯ


จากประสบการณ์ของพี่เอื้อง การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกาย และการทำงานศิลปะ เป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ สำหรับการลดความเครียด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การตระหนักรู้ในตัวเอง เครียดก็รับรู้ว่าเครียดแล้วหาวิธีดูแลตัวเอง ดูแล-จัดการความเครียด และถ้ามีใครสักคนที่ยินดีรับฟัง ก็จะช่วยอย่างยิ่ง — การมีเพื่อน มีสมาชิกในครอบครัว มีคนรับฟัง เป็นการระบายความเครียดที่ลัดตรงที่สุด

.

.


ถาม: ปัจจุบันมักจะมีประเด็นว่า หัวหน้าไม่กล้าเตือนลูกน้อง ครูไม่กล้าเตือนลูกศิษย์ พ่อแม่ไม่กล้าเตือนลูก ทั้งหมดนี้เพราะกลัวว่าการพูดจะทำให้อีกฝ่ายสะเทือนใจ กระทบปม และนำไปสู่เรื่องเศร้า — แต่การไม่พูด การปล่อยเลยตามเลย ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา เราควรจะมีมุมมองหรือการปฏิบัติอย่างไร


ก่อนอื่น ขอให้แยกแยะระหว่างผู้ป่วยกับคนที่อยู่ในภาวะเครียดจัด หรือเครียดเรื้อรัง — ผู้ป่วยจิตเวชทํางานไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ได้ เพราะสมองทำงานไม่ปกติ และการจะรู้ได้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย


เมื่อเพื่อนของเรา คนในครอบครัวของเรามีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเงียบ เก็บตัว แยกตัว อย่าเพิ่งคิดไปเอง อย่าคิดเยอะ ลองถามเขาก่อนว่าเขามีอะไรอยากเล่าให้ฟังไหม เขาอยากคุยกับเราไหม — แล้วฟังเยอะๆ ฟังว่าเขาจะตอบอะไร หรือเขามีท่าทีอย่างไร — การฟังช่วยได้มากกว่าการคิด


เช็คพ้อยต์ เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช

  1. ฟังและสังเกตร่างกาย — เมื่อเครียด ร่างกายจะบอก ปวดหัว ปวดบ่า ปวดคอ กินไม่ลง นอนไม่หลับ ไม่เอ็นจอยกับชีวิต …อันนี้เครียดแล้ว ให้หาเวลาผ่อนคลายตัวเอง
  2. งานที่เคยทำได้ กลับทำไม่ได้ ขาดแรงจูงใจ หมดพลังในการทำงาน ไม่อยากตื่น ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากไปโรงเรียน
  3. มีปัญหาด้านสัมพันธภาพ เก็บตัว รู้สึกไม่ปลอดภัย มักจะได้ยินแต่คำที่ทิ่มแทงความรู้สึก
  4. ถ้ามีครบทั้ง 3 ข้อข้างต้น ขอให้ลองถามว่า “คิดว่าตัวเองเป็นคนป่วยทางจิตไหม” ถ้าคำตอบคือ “ไม่ ฉันปกติดี” —- ก็ค่อนข้างสรุปได้ว่า “ป่วยแล้ว” ไปพบแพทย์เถอะ

.

โดยทั่วไป เมื่อมีปรากฎการณ์ใน 3 ข้อข้างต้น คนปกติมักจะกังวล และรู้สึกว่า “ฉันผิดปกติ” แต่ถ้าเป็นผู้ป่วย คนรอบตัวจะเป็นฝ่ายที่เห็นความผิดปกติ แต่เจ้าตัวรู้สึกว่า “ฉันยังปกติดี” — ผู้ป่วยจำนวนมากไปหาหมอ เพราะญาติหรือเพื่อนพาไป — นี่คือเกณฑ์เบื้องต้นง่ายๆ แต่สุดท้ายผู้วินิจฉัยคือแพทย์
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ขอให้เราให้เวลาสำหรับตัวเอง สื่อสารกับตัวเองเสมอ ฟังว่าร่างกายบอกอะไร อารมณ์ของเราเป็นอย่างไร แล้วดูแลร่างกาย ดูแลอารมณ์ ดูแลความเครียด

  • MHPSS – Mental health and psychosocial support

.

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่

  1. ความเครียดและการฟื้นคืนทางอารมณ์
    https://www.happinessisthailand.com/2022/09/09/resilience-emotional-introduction-msc/
  2. การฟังและสื่อสารกับร่างกาย
    https://www.happinessisthailand.com/2022/10/07/spiritual-resilience-physical-health/
  3. ติดตามศูนย์ฟื้นฟูบ้านสวนสายใย https://www.bansuanrecovery.com/
  4. รายงานสถานการณ์สุขภาพจิตทั่วโลก MHPSS worldwide : https://www.government.nl/topics/mhpss/mhpss-worldwide-facts-and-figures

………………………………………………………..

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save