พลังความสำเร็จ ที่ไม่ว่างเปล่า
เราเกิดมาเพื่อพัฒนาตัวเองตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อเป็นคนที่ดีแบบพอดี ดีกับตัวเองและคนรอบข้าง ดีต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ การมีชีวิตคือการมอบคุณค่าและสิ่งดีดี เพื่อโลกที่เราได้เกิดมา ความเหนื่อยของเรามันมีคุณค่าความหมายกับคนปลายทาง และมีความหมายกับชีวิตของเรา
.
- ข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต1323 เดือน ม.ค. 2566 พบว่าวัยแรงงานอายุ 20-59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการกว่า 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย (สูงเป็นลำดับหนึ่ง) สะท้อนความต้องการวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต https://www.thaihealth.or.th/?p=334929
- ปี 2565 กรมสุขภาพจิตสำรวจพบว่านักศึกษาไทย “เครียด-ซึมเศร้า” พุ่ง 30% ในจำนวนนี้เคยคิดฆ่าตัวตาย 4% และ 1ส่วน 4ของประชากรโลกป่วยจิตเวช 450 ล้านคน https://www.thaipbs.or.th/news/content/338472
- การทำงานเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของชีวิต เราจะจัดสมดุลชีวิตกับการทำงานอย่างไร เพื่อไม่ให้งานเป็นภาวะจำยอมและกลืนกินชีวิตของเรา ทำอย่างไรให้การทำงานเป็นพื้นที่ของการใช้ศักยภาพของชีวิต เป็นพื้นที่ของการเติบโตทั้งภายนอกและภายใน
.
ทีมงานความสุขประเทศไทยได้คุยกับ เอิร์น – จิราภรณ์ กมลรังสรรค์ นักบริหารแผนงานชำนาญการ แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงมุมมองและประสบการณ์ในชีวิตการทำงานของเธอ ซึ่งพูดเต็มปากเต็มคำว่า “เอิร์นชอบทำงาน” พวกเราน่าจะได้แง่มุมดีๆ จากสาวน้อยนักทำงานคนนี้ค่ะ
งานเป็นพื้นที่ของความเครียด ยิ่งทำงานภาคสังคมน่าจะมีเรื่องให้เครียดเยอะ ทำไมเอิร์นสนุกล่ะ
เอิร์นสนใจประเด็นทางสังคมมาตั้งแต่เด็ก ทำกิจกรรม คลุกคลีกับพี่ๆ ที่ทำงานภาคสังคมมาตั้งแต่อายุน้อยๆ เคยช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ฯลฯ
การทำงานในสายงานนี้ก็สนุกมากค่ะ งานเยอะ (แทบไม่มีวันหยุดเลย) เหนื่อย แต่ได้อะไรเยอะ เอิร์นเป็นคนชอบทำงานค่ะ ทำได้ทุกวันเลย มีแค่การออกกำลังกายเท่านั้นที่ทำให้เบรกตัวเองจากงานได้ (หัวเราะ) หัวหน้ามักบอกว่า “เอิร์น ไปพัก ไปทำอย่างอื่นบ้าง” แต่เอิร์นชอบทำงานจริงๆ นะ ไม่รู้จะทำยังไง — (โถ…ฟังแล้วน่าเห็นใจ…)
งั้นเล่าหน่อยค่ะว่า การทำงานเยอะๆ ให้ความสุขได้อย่างไร
เอิร์นมีคำถามว่า “เราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร” ตั้งแต่ยังเด็กๆ เลยค่ะ ไม่รู้ว่าคำถามนี้มาจากไหน เคยถามพ่อแม่ แต่ก็ไม่มีคำตอบอะไรชัดๆ (คิด…)
เคยมีคนทักว่าเป็นเด็กแก่แดดบ้างไหม ? (เอิร์นหัวเราะเสียงดัง) แล้วตอนนี้ได้คำตอบหรือยัง
พอโตขึ้นมาเรื่อยๆ คำตอบก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น —เอิร์นว่าเราเกิดมาเพื่อพัฒนาตัวเองตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อเป็นคนที่ดีแบบพอดี ดีกับตัวเองและคนรอบข้าง ดีต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ การมีชีวิตคือการมอบคุณค่าและสิ่งดีดี เพื่อโลกที่เราได้เกิดมา งานที่เอิร์นทำอยู่ตอบโจทย์คุณค่าในชีวิตของเอิร์น เป็นงานที่สร้างรายได้เพื่อดำรงชีพ และได้ทำเรื่องที่ดีเป็นประโยชน์ต่อสังคม อาจเพราะแบบนี้เลยทำให้เอิร์นชอบทำงาน สนุก บางครั้งอาจจะเหนื่อย แต่ไม่เคยเฉา เพราะเรารู้ว่าทุกความเหนื่อยของเรามันมีคุณค่าความหมายกับคนปลายทาง และมีความหมายกับชีวิตของเรา
แสดงว่าไม่เคยเจอภาวะหมดไฟ (burn out) เลยสิคะ
อืมมม (คิด) หมดไฟจากการทำงานไม่มีค่ะ แต่เคยมีภาวะเบิร์นเอาท์จากคน (ฮากันลั่น)
งานของเอิร์นเจอคนที่หลากหลาย เจอทั้งคนที่น่ารัก เจอทั้งคนที่ไม่น่ารัก — แต่เอิร์นว่าที่เบิร์นเอาท์มันเป็นเพราะความคาดหวังของตัวเราด้วยส่วนหนึ่ง — มันมักจะเกิดขึ้นเพราะว่า เอิร์นคิดว่าเขาน่าจะเป็นคนแบบนี้ หวังว่าเขาจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วพอไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เขายังทำแบบเดิม เป็นอย่างที่เป็น เราก็ผิดหวัง พอมันเกิดซ้ำๆ มันก็เกาะกินความรู้สึกเราไปเรื่อยๆ ก็เบิร์นเอาท์ มีภาวะแบบว่า …โอ๊ย..ไม่อยากตื่นไปทำงาน ไม่อยากทำงานนั้นเพราะต้องเจอเขา ซึ่งถ้ามองกันจริงๆ เขาก็เป็นเขานั่นแหละ แค่ไม่ใช่แบบที่เราคาดหวัง
แล้วเวลาที่มีภาวะแบบนี้ เอิร์นออกมาได้ยังไงคะ (เพราะเอิร์นไม่ได้ใช้การลาออก)
พอทำงานไปนานๆ ก็ได้เจอภาวะแบบนี้เป็นระยะ สังเกตตัวเอง ฝึกตัวเอง — เอิร์นไม่เคยเบื่อเนื้องาน มันมีหลายอย่างให้ได้เรียนรู้ สนุก อยากทำอีก แต่คนที่มากับงานเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
การทำงาน ‘สุขภาวะทางปัญญา – spiritual health’ ทำให้เอิร์นรู้จักสังเกตตัวเอง เห็นความคาดหวังของตัวอง รู้จักธรรมชาติของตัวเองซึ่งช่วยอย่างมาก
ยกตัวอย่างหน่อยสิคะ
เวลาเจอสถานการณ์หรือสภาวะที่ไม่ได้ดั่งใจ เอิร์นจะพาความรู้สึกของเราออกมาจากสภาวะนั้นก่อน พาตัวเองออกไปวิ่ง — การได้วิ่งไม่ได้ช่วยแค่ร่างกาย แต่เกิดกระบวนการคิดใหม่ ระหว่างที่วิ่งมันจะมีบทสนทนากับตัวเองใหม่ เห็นแง่มุมใหม่ๆ พอวิ่งเสร็จเคมีในร่างกายเปลี่ยน มีความสุข โปร่งขึ้น มุมมองก็เปลี่ยนไป ถ้าไม่พาตัวเองออกมาจากอารมณ์หรือสถานการณ์เดิม มุมมองใหม่นี้จะไม่เกิด
เอิร์นเคยวิ่งแล้วพบว่า เออ.. ที่เรื่องนั้นเป็นอย่างนั้น ก็เพราะตัวเรานั่นแหละ บางทีจะมีเสียงที่บ่นตัวเองแบบเอือมๆ ว่า ‘ไอ้เอิร์น มึงก็เหลือเกิ๊น..มึงนี่นะ’ — (ได้หัวเราะกันสนุก) พอได้เห็นอะไรแบบนี้ เอิร์นก็จะรู้ว่าต้องกลับไปทำอะไรบ้าง บางทีอาจจะต้องกลับไปขอโทษ บางทีก็ต้องกลับไปขอบคุณ หรือต้องมีท่าทีกับคนที่ทำงานด้วยอย่างไร เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น
สิ่งที่ชื่นชมตัวเองเสมอก็คือ เอิร์นไม่เคอะเขินในการขอโทษหรือขอบคุณ เพราะเอิร์นเชื่อว่าช่วงเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ได้ทำงานด้วย การดูแลรักษาใจกันเป็นเรื่องสำคัญ การทำงานสุขภาวะทางปัญญาทำให้เอิร์นเปลี่ยนไปเยอะมากๆ และมันทำให้ ทุกๆ ความสำเร็จจากการทำงาน มันไม่ว่างเปล่า
ความสำเร็จที่ว่างเปล่าเป็นอย่างไร
ความสำเร็จที่ไม่ว่างเปล่า ไม่ได้หมายถึง การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่มันหมายถึงความสำเร็จที่สร้างคุณค่า ส่งผลดีต่อตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และให้อะไรบางอย่างกับโลกใบนี้ ที่คิดได้อย่างนี้มันมาจากบทเรียนในอดีตของเอิร์น
เอิร์นเป็นเด็กกิจกรรมและเป็นผู้นำด้วยค่ะ วางแผนเก่ง คิดเก่ง เป็นคนลุยไปข้างหน้า สนใจความสำเร็จ ไม่ค่อยได้นึกความสัมพันธ์ อาจจะเคยปะทะกับคนอื่นแต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะเรามองเป้าหมาย ไม่ได้สนใจว่าคนในทีมคิดอะไรอยู่ ทีมอยากทำอะไร เขาเห็นด้วยกับเราไหม — แล้วเอิร์นก็กลายเป็นผู้นำที่บาดเจ็บ มีเพื่อนน้อยทั้งที่งานสำเร็จมาก ได้ทำสิ่งที่ดีงามเยอะแยะ ผู้คนชื่นชม แต่ลึกๆ เราเสียใจ มันเป็นความสำเร็จที่ว่างเปล่า งานถึงเป้าหมายแต่พอหันกลับไปเพื่อนในทีมไม่ได้เดินมาด้วยกัน
ในวัยนั้น เอิร์นไม่เคยรู้จักกระบวนการหรือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น จึงเป็นผู้นำที่ทำร้ายความรู้สึกเพื่อน และเป็นผู้นำที่ไร้เพื่อน อย่างไรก็ตามบทเรียนที่บาดเจ็บนี้ ทำให้เอิร์นเติบโต และเข้าใจเรื่องต่างๆมากขึ้น — การทำงานเรื่องสุขภาวะทางปัญญา ช่วยให้เห็นตัวเองชัดขึ้น ทั้งในมุมที่ดีและแย่ รู้จักยอมรับตัวเอง และเมื่อกล้ายอมรับ ก็จะกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ผลที่ตามมาคือ เราจะไม่ตัดสินคนอื่น สุขภาวะทางปัญญาทำให้เราเป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น
อธิบายคำว่า สุขภาวะทางปัญญา ให้เป็นรูปธรรมได้ไหมคะ
จากประสบการณ์ของเอิร์น มิติสุขภาวะทางปัญญาทำให้เอิร์นรู้ว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง ความทุกข์ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต มันทำให้เรากลับมาที่รากของเรา — เอิร์นนึกถึงต้นไม้ที่ตอนแรกมันไม่รู้ว่าตัวมันมีราก เจอลมแรงมันก็ล้ม แต่ถ้ามันได้สังเกตแล้วมันเห็นว่า อ๋อรากของมันสั้นก็เลยล้ม มันจึงพยายามหยั่งรากลงไป— ทุกครั้งที่ได้เห็นข้อจำกัด รากก็จะโตขึ้น ทำให้มันมั่นคงมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีพายุ แต่มันไม่กลัวล้ม เอิร์นว่านี่แหละคือความมั่นคง เป็นสุขภาวะทางปัญญา — เอิร์นเข้าใจแบบนี้
.
อยากชวนให้พวกเราลองกลับมาสำรวจตัวเอง มีเรื่องไหนที่เราชื่นชมตัวเองได้ เรื่องที่เราทำได้ดี แล้วมีเรื่องไหนบ้างที่เราควรปรับปรุง — ปัญหาใหญ่ของวันนี้คือ เรายอมรับด้านที่ไม่ดีของเราไม่ได้ แต่เอิร์นว่าเราควรจะหันกลับไปมอง ดูแล และยอมรับ — ในเว็บไซต์ความสุขประเทศไทยมีหลายอย่างให้ลองทำนะคะ เอิร์นพบว่าตัวเองชอบศิลปะมาก เวลาอยู่กับงานศิลปะ เอิร์นนิ่งกว่าตอนออกไปวิ่งอีก ประโยคที่บอกว่า “เข้าใจตัวเอง เพื่อจะเข้าใจผู้อื่น” มันจริงมากๆ
เอิร์นเห็นพี่ๆ หลายคนที่ทำงานในมิติสุขภาวะทางปัญญาพวกเขามีความสุข ทั้งที่ไม่เป็นที่รู้จักในสังคม แต่งานของเขาสร้างประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลง เวลาได้เห็นแบบนี้ เอิร์นมักจะรู้สึกว่า โหย..วันสุดท้ายในชีวิตของเขาต้องดีแน่ๆ เพราะเขาไม่มีอะไรติดค้างแล้ว เอิร์นอยากเป็นอย่างนั้นบ้าง (^^)
มิติสุขภาวะทางปัญญาส่งผลกับด้านอื่นๆ ของชีวิตที่ไม่ใช่การทำงานบ้างไหมคะ
สำหรับเอิร์น มิติสุขภาวะทางปัญญาส่งผลกับชีวิตมากๆ มันสร้างการเปลี่ยนแปลงข้างในเยอะมาก เปลี่ยนตัวเรา และเปลี่ยนคนรอบข้างของเราด้วย อธิบายยากค่ะ อยากให้ลองมีประสบการณ์ตรง
ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง — พี่ชายของเอิร์นเป็นครู เขาเจอปัญหาในโรงเรียนเยอะ มีจังหวะที่เขาท้อมากๆ แล้วเอิร์นก็ได้ฟังเขา และแชร์ความรู้สึก มันเป็นโมเม้นที่เราได้ฟังเขาจริงๆ ฟังอย่างลึกซึ้ง ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ ได้ชื่นชม และก็ได้ให้กำลังใจ แล้วพี่ชายก็ทักกลับมาว่า “นี่แกโตขึ้นมากเลย” ซึ่งมันทำให้เอิร์นดีใจนะคะ เมื่อคนใกล้ตัวเห็นว่าเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น นั่นคงเป็นการชวนที่มีพลังมากกว่าการชวนเฉยๆ
.
หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะให้พลังกับพวกเรา ได้เห็นว่าความสำเร็จ การเติบโต การหกล้ม ความบาดเจ็บ บทเรียนและความสุข ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกลายเป็นความงดงามได้ และมันเป็นไปได้ในเส้นทางการทำงานของเรา
…………………………………………….