พักใจในสวน
Park ใจ เป็นกิจกรรมที่เปิดประสาทสัมผัส ให้เราอยู่กับสิ่งตรงหน้า ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย แต่มันอาจจะไม่มีอะไรเลยถ้าไม่เปิดใจ ถ้าคิดว่า รู้แล้ว เคยทำแล้ว อย่างนี้อีกแล้ว เหมือนเดิมนั่นแหละ การเปิดใจคือเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ
พักใจในสวน
• กิจกรรม Park ใจ เป็นการชวนคนในเมืองให้มาสัมผัสธรรมชาติใกล้ตัว โดยไม่ต้องไปไกลถึงป่า หรือทะเล เพียงแค่หาพื้นที่เล็กๆ ในบ้านหรือในสวน แล้วนั่งเงียบๆ อยู่กับตัวเอง อยู่กับสิ่งตรงหน้า สังเกตสิ่งรอบตัวผ่านผัสสะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ)
• กิจกรรมนี้มุ่งหวังให้ผู้คนได้ผ่อนคลาย เพิ่มสุขภาวะทางใจ (spiritual health) เพราะคนในเมืองมีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ วุ่นวาย การสัมผัสธรรมชาติจะช่วยชะลอความคิดและอารมณ์ที่วุ่นวายลงได้
• กิจกรรม Park ใจ อยู่บนแนวคิดที่ว่า มนุษย์ขาดธรรมชาติไม่ได้ การเชื่อมโยงกับธรรมชาติจะช่วยให้เรารู้สึกเต็มเปี่ยมและมีความสุข หากคุณกำลังมองหากิจกรรมที่จะช่วยให้ผ่อนคลาย เพิ่มสุขภาวะทางใจ กิจกรรม Park ใจ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียว
.
Park ใจ – พักใจ
ความสุขประเทศไทยได้คุยกับคุณต้น สุรศักดิ์ เทศขจร เจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี และผู้นำกระบวนการเรียนรู้ในการสัมผัสธรรมชาติเพื่อเพิ่มสุขภาวะทางใจ ซึ่งดำเนินงานมานานกว่า 6 ปีแล้ว
คุณต้นเล่าว่า Park คือสวนสาธารณะ ใจก็คือใจ ถ้าไปสวนสาธารณะก็ให้ไปทั้งกายทั้งใจ หรือ เสียงภาษาไทยของกิจกรรมนี้ก็คือ พักใจ
Sit Spot
Sit Spot คือการเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย เลือกพื้นที่มุมหนึ่งของบ้าน ในสวน หรือตรงไหนสักแห่งในสวนสาธารณะก็ได้ นั่งเงียบๆ อยู่กับตัวเอง เชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติรอบๆ ตัว ผ่านผัสสะทั้ง 6
ตา – มองแบบนกฮูก มองธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้า เห็นสี รูปทรง เห็นรายละเอียด เช่น มองใบไม้สักใบหนึ่ง มองท้องฟ้า หรือมองต้นไม้ทั้งต้น
หู – ฟังแบบกวาง ฟังเสียงที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ฟังเสียงที่อยู่ไกลๆ เสียงเมือง เสียงนก เสียงลม เพียงแค่เราเงียบ หยุดแล้วฟังก็จะได้ยินเสียงต่างๆ มากมาย
จมูก – ดมแบบสุนัข สังเกตว่าได้กลิ่นจากธรรมชาติบ้างไหม อาจจะมีกลิ่นดอกไม้ กลิ่นดิน ถ้านั่งจิบกาแฟก็ลองดมกลิ่นกาแฟ เราจะได้ลองสังเกตรายละเอียดรอบตัวมากขึ้น
ลิ้น – ลิ้มรสแบบหมู ลองชิมขนม หรือผลไม้ทีละนิด ลองกัดคำเล็กๆ เคี้ยวให้ละเอียดๆ ค่อยๆ กลืน ค่อยๆ รับรสชาติของอาหาร ลองให้เวลาเพื่อชีวิตที่ละเมียดละไม
ผิวกาย – รับสัมผัสแบบงู ลองหลับตาแล้วใช้มือสัมผัสใบไม้ หรือเปลือกของต้นไม้ หรือลองถอดรองเท้าเดินในสนาม ให้ฝ่าเท้าได้สัมผัสดิน เงยหน้าเพื่อรับลมหรือไอเย็นที่กระทบใบหน้า
ใจ – เปิดใจ กลับมาอยู่กับสิ่งตรงหน้าทั้ง 100% — สำคัญมาก
.
คุณต้นบอกว่า การเปิดประสาทสัมผัสทั้งหมดที่กล่าวมา อาจจะไม่มีอะไรเลยถ้าเราไม่เปิดใจ ถ้าคิดว่ารู้แล้ว เคยทำแล้ว อย่างนี้อีกแล้ว เหมือนเดิมนั่นแหละ หรือคาดไปก่อนว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การเปิดใจคือเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ
ผลลัพธ์จาก Park ใจ
ชีวิตช้าลง – กิจกรรมนี้ใช้เวลาน้อย แต่ก่อให้เกิดการทบทวน ทำให้ชีวิตของเราช้าลง ทำให้ระบบในตัวเราช้าลง สิ่งที่ตามมาก็คือทำให้ เราเป็นคนรู้จักรอ รอเป็น เราจะเห็นว่าการอยู่เฉยๆ หรือการรอไม่ใช่ปัญหา คือโอกาสที่ตัวเราได้ว่างจากความคิด — ให้เห็น ให้ได้ยิน ได้ใช้ชีวิตแบบที่ละเอียดขึ้น ใจเย็นลง หงุดหงิดน้อยลง ผ่อนคลายมากขึ้น
ได้เยียวยา – คุณต้นบอกว่า เดี๋ยวนี้พวกเราเจ็บป่วยด้วยโรคที่คนในยุคก่อนไม่รู้จัก เช่น โรคขาดธรรมชาติ โรคสมาธิสั้น หรือแม้แต่โรคซึมเศร้า ซึ่งไม่ใช่โรคที่คนเมื่อสามสิบปีก่อนคุ้นเคย โลกเจริญขึ้นแต่มนุษย์ โดดเดี่ยวมากขึ้น การเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติตรงหน้าฟื้นพลังได้ ขอให้ลองทำแล้วสังเกตว่าสบายขึ้นไหม
โกรธน้อย ปล่อยไว – คุณต้นเล่าประสบการณ์ส่วนตัวอย่างสนุกสนานว่า “ผมเป็นวิทยากร Park ใจแต่ผมไม่ได้อารมณ์ดีตลอดเวลานะครับ เมื่อก่อนผมโกรธนาน มีความสามารถโกรธข้ามปีได้ด้วย (ฮา) แต่ปัจจุบันนี้ผมหายโกรธเร็วขึ้น เข้าใจผู้คนมากขึ้น เมื่อก่อนเวลาใครพูดจาไม่ดี ผมจะรู้สึกว่า ‘มึงเป็นบ้าอะไร’ เดี๋ยวนี้ พอได้ยินอะไรไม่ดี ผมจะคิดว่ามันต้องมีอะไรแน่ๆ ที่ทำให้เขาพูดแบบนี้ เมื่อก่อนผมไม่ได้พยายามเข้าใจ ก็ทำไมผมต้องเข้าใจเขาล่ะ ผมโต้ตอบ แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไป”
การไม่มีอะไรติดค้างอยู่ในใจทำให้ตัวเราไม่ซับซ้อน การอยู่กับธรรมชาติบ่อยๆ ทำให้เห็นว่าไม่มีใครหรืออะไรสมบูรณ์แบบหรอก ไม่มีต้นไม้ต้นไหนที่ไม่มีรอยตำหนิ ไม่มีต้นไม้ต้นไหนมีใบสวยสมบูรณ์ทุกใบ ไม่มี
พักใจในสถานศึกษา – ธรรมชาติสำหรับคนหนุ่มสาว
ที่ผ่านมาคุณต้นทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในสวนสาธารณะและเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย เพื่อถ่ายทอดกระบวนการ Park ใจ ให้คนหนุ่มสาว ซึ่งคุณต้นพบว่า คนหนุ่มสาวเผชิญความกดดันหลายเรื่องและในหลายๆ ครั้งความกดดันนั้นประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน ทำให้คนหนุ่มสาวยากที่จะรับมือ เช่นปัญหาภายในครอบครัว การเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ความรัก ฯลฯ ซึ่งไม่แปลกใจที่หลายครั้งสังคมจะได้ยินได้ฟังข่าวร้าย “ด้วยวัยเท่านั้นที่เจอความกดดันรอบตัว เขารับไม่ไหวหรอกครับ” การรู้จักเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ก็คือการให้เครื่องมือเพื่อให้รู้จักดูแลตัวเอง พักให้เป็น
“ผมว่ามันคล้ายๆ การให้ธรรมะนะครับ ไม่เหมือนกันเลยโดยรูปแบบ แต่ปลายทางสุดท้ายผมว่ามันเหมือนกัน” (ฮา)
เครื่องมือนี้ดีมากนะครับ นักศึกษาได้ประโยชน์ มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเพราะมีต้นไม้ มีพื้นดิน มีสิ่งรอบตัวให้เชื่อมโยงอยู่แล้ว ให้มหาวิทยาลัเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนและเป็นพื้นที่สำหรับการพักด้วย
พักใจในชีวิตประจำวัน
•เวลาเดิน ชวนให้รับรู้การเดิน เชื่อมโยงกับพื้นดิน
•หาต้นไม้เล็กๆ วางไว้บนโต๊ะทำงานสักต้นเช่นกระบองเพชร พลูด่าง เวลาพักเที่ยงลองมองต้นไม้นั้น เห็นสี เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ
•มองหาดอกไม้สักดอกก็ฟื้นความสดชื่นในตัวเราได้มาก ถ้ามีเวลานานขึ้น หรือทำได้ต่อเนื่อง ดอกไม้อาจจะมีแมลงมาเกาะ ผึ้งมาดูดน้ำหวาน เราเห็นการแบ่งปันในธรรมชาติ เห็นว่าดอกไม้ไม่หวงน้ำหวาน ถ้าเห็นต่อเนื่องนานๆ ก็จะเห็นว่าดอกไม้ดอกเก่าโรยไป แต่ก็มีดอกใหม่บานขึ้นมา อะไรอย่างนี้
ช่องทางร่วมกับ Park ใจ
เรามี FB กลุ่มปิด ครับ เข้าร่วมได้ ขอแค่ตอบคำถามนิดเดียวก็เข้ากลุ่มได้แล้ว ชวนเข้าไปคุยกัน https://www.facebook.com/groups/parkjai
ชวนให้ติดตามกิจกรรมที่เพจ Park ใจ หรือเพจนิตยสารสารคดีก็ได้ https://www.facebook.com/sarakadeemag
ชวนพวกเราลองทำด้วยตัวเองที่บ้าน ในที่ทำงาน หรือที่สวนที่ชอบ ทำแล้วเป็นอย่างไรมาคุยกันนะ
……………………………………………………………………
บทความแนะนำ
อาบป่า อาบใจ https://www.happinessisthailand.com/2023/01/13/spiritual-nature-healing-forestbathing/
อยู่ตรงนั้นกับธรรมชาติ https://www.happinessisthailand.com/2022/10/24/spiritual-nature-happiness-heal/