วิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูกวัยทีน ฉบับที่ไม่มีใครต้องเจ็บปวด
ความสัมพันธ์กับลูกของคุณในตอนนี้เป็นอย่างไร?
คุณแอบเผลอเอาความคาดหวังของตัวเองไปให้ลูกหรือเปล่า?
คำถามนี้ คนที่จะตอบได้ดี ก็คือ พ่อแม่ หรือคนในครอบครัว ซึ่งคือคนที่มีความปรารถนาดีต่อลูกอย่างสุดหัวใจ เพียงแต่อยากให้ลองทบทวนสักนิดว่า ความจริงเด็กทุกคนล้วนมีความสามารถแตกต่างกันออกไป ไม่มีใครเก่งไปหมดทุกเรื่อง ทุกๆ สิ่งฝึกฝนพัฒนาได้ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
.
อย่าลืมว่าเราเองก็ไม่สมบูรณ์แบบ เคยผิดพลาด จนอาจเผลอคาดหวังให้ใครสักคนมาทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ หรือเผลอใช้ชีวิตของลูกมากกว่าที่ลูกใช้ชีวิตตัวเอง ถ้าคุณกำลังเป็นอย่างนั้นอยู่ อยากให้ลองปรับ วิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูก ด้วยการเป็นโค้ชที่ดี (ไม่สั่ง ไม่คิดแทน) กันเถอะ
.
● สัมพันธภาพที่ดี เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันในครอบครัว ช่วยทำให้สุขภาพใจของทุกคนในบ้านแข็งแรง
● หนึ่งวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว คือ การไม่ตั้งธงว่าจะต้องไปเปลี่ยนลูก เปลี่ยนสามี หรือภรรยาตนเอง หรือไปสอนคนอื่น เพียงตั้งใจเรียนรู้ ลงมือทำ เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น
● พ่อแม่สามารถเป็นเหมือน “โค้ช” ให้ลูกได้ ผ่านการสื่อสาร รับฟัง วางแผน แก้ไข และติดตาม
.
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ไม่ยากอย่างที่คิด
ครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตทุกคน และพัฒนาการที่ดีของลูก ก็เป็นผลจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ซึ่งการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวนั้นมีหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การไม่ตั้งธงว่าจะต้องไปเปลี่ยนลูก แต่จงตั้งใจเรียนรู้ ลงมือทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น
และอีกเรื่องคือการเลี้ยงลูกหนึ่งคนจนเติบโตไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในโลกที่สับสนวุ่นวายในทุกวันนี้ เราทำได้ดีอยู่แล้วในฐานะพ่อแม่คนหนึ่ง ที่ทำให้ลูกเติบใหญ่มาทุกวันนี้ แน่นอนว่าอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่มีพ่อแม่คนไหน หรือมนุษย์คนไหนหรอกที่สมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง อยากขอให้ย้ำเตือนกับตัวเอง ชื่นชมตัวเอง และใจดีกับตัวเองให้มาก ในฐานะมนุษย์หนึ่งคนที่รักและเลี้ยงดูบุตรของตนได้ดีเท่าที่เราจะทำได้แล้วในวันนี้
.
.
.
.
.
.
หัวใจสำคัญของการเป็นโค้ชที่ดี
เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่หลายคนอาจรู้สึกเป็นห่วง กังวล จากที่ลูกเคยว่านอนสอนง่าย เริ่มโต้เถียง มีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของลูกวัยรุ่น รับฟังพวกเขาโดยไม่ตัดสิน รวมถึงเปิดช่องทางสื่อสารไว้เสมอ หรือสามารถเป็นเหมือน “โค้ช” ให้ลูกได้
.
จากข้อมูลของ International Coaching Federation, ICF องค์กรวิชาชีพโค้ชผู้ผ่านการฝึกฝน ซึ่งได้รับการยอมรับและมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้นิยามการโค้ชไว้ว่า “การโค้ชคือการพาร์ทเนอร์กัน”
.
การโค้ช คือการเป็น Growth Partner ทำงานร่วมกันระหว่างโค้ช ซึ่งเป็นเพื่อนชวนคิด หรือ สนับสนุนบางอย่างในตัวผู้รับการโค้ชได้เรียนรู้ ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และลงมือทำ ด้วยความคิด ความถนัด ของตัวผู้รับโค้ชเอง ผ่านการสื่อสารระหว่างกัน รับฟัง วางแผน แก้ไข และติดตาม รับฟีดแบ็ก
.
การโค้ชไม่ใช่การสอน ไม่ใช่การสั่ง ไม่คิดคำตอบแทน ด้วย Mindset ที่ไม่ใช่แค่เป็นโค้ชให้ลูก แต่มีไว้เพื่อใช้กับตัวเองด้วย และนี่เป็น 5 How to ที่สามารถนำไปใช้ได้
- ทุกคนมีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่ในตัวเอง
ทุกคนมีศักยภาพ ที่จะเลือกคิด ตัดสินใจ ตอบคำถาม เรียนรู้ เติบโตได้ด้วยตัวเอง และต้องอยู่กับผลลัพธ์ของการตัดสินใจนั้นด้วยตัวเอง - คนไม่ใช่พฤติกรรม และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้
ข้อนี้ฝึกให้เรามองแยก “พฤติกรรม” ออกจาก “ตัวตน” พ่อ แม่ ที่จะเป็นน้ำ เป็นปุ๋ย เป็นแสงแดด ในการบ่มเพาะเลี้ยงดู โดยต้องเชื่อก่อนว่าแก่นในของลูกๆ นั้นดีงาม และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้ และแสดงออกมาผ่านแววตา การกระทำ คำพูดของเรา ซึ่งก็จะส่งผลต่อการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของเด็กคนที่อยู่ตรงหน้า - ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว ณ ทรัพยากรที่เขามี (ตอนนั้น)
ไม่มีใครตื่นขึ้นมาแล้วตั้งใจว่าวันนี้จะทำให้พ่อแม่เดือดร้อน แต่ด้วยประสบการณ์ตอนนั้น ทำให้เขาหาทางออกที่ดีที่สุดได้เท่านั้น หากเราสามารถช่วยให้เขามีทรัพยากรที่มากขึ้น เช่น มีความรู้ มีสภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้น เขาก็จะสามารถพัฒนาไปได้อีก - คนเป็นได้มากกว่าที่เขาเคยเป็น ที่เขาเห็นตัวเอง และที่เราเห็นเขา
เราควรเชื่อในตัวลูก ว่าเขาจะเป็นได้มากกว่าอดีตที่เขาเคยเป็นมา หรือปัจจุบันที่เรามองเห็นเขาในวันนี้ - ไม่มีความล้มเหลว มีเพียงบทเรียน
ข้อสุดท้ายนี้ นอกจากใช้มองลูก ยังเป็นข้อที่เราควรใช้มองตัวเองด้วย เพราะในชีวิตของเรา การทำอะไรแล้วไม่ได้ผลอย่างใจนั้นเป็นเรื่องที่ปกติ ขึ้นอยู่กับเรามองว่า นี่คือ ความล้มเหลว เราไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ หากเรามองเช่นนี้ ไม่นาน เราคงหมดกำลังใจ หมดแรงในการลงมือทำ ในการไปต่อ
.
เพราะถ้าเราไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ ทำแต่สิ่งเดิมๆ เราก็คงไม่มีวันเติบโต ฉะนั้นรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูกแล้ว เราก็ต้องทบทวนทำความเข้าใจและยอมรับในตัวเอง แล้วค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขา เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และไม่มีใครต้องเจ็บปวด
.
อ่านบทความเพิ่มเติมจากโครงการ พ่อแม่ฟังใจลูก :
● วาดภาษารัก https://www.happinessisthailand.com/2023/02/27/spiritual-relation-listen-parenting/
● คุณแม่ยุคดิจิตอล https://www.happinessisthailand.com/2023/01/23/spiritual-listen-family-game/
.
อ่านบทความ “10 ขั้นตอนการฟัง เพื่อให้พ่อแม่และลูกที่เห็นต่าง เข้าใจกันมากขึ้น”
https://happychild.thaihealth.or.th/10-%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89-2/