8 ช่องทางความสุข

เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ

ทุกชีวิตต้องการความปลอดภัย เด็กทุกคนต้องการพ่อแม่ที่ปลอดภัย บ้านที่ปลอดภัย พ่อแม่จำนวนหนึ่งจึงพยายามเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิดมาก ปกป้องลูกจากทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจทำให้ลูกผิดหวัง หรือเจ็บตัว แต่นี่คือการเลี้ยงดูที่ช่วยให้ลูกแข็งแรงจริงหรือ

.

  • ถ้ามีโอกาสได้เป็นเป็นพ่อเป็นแม่ เชื่อว่าทุกคนย่อมอยากจะเป็นพ่อแม่ที่ดี — พ่อแม่จำนวนมากจึงทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อสร้างหลักประกันสำหรับอนาคตของลูก ผู้หญิงหลายคนลาออกจากงานเพื่อเป็น คุณแม่เต็มเวลา – Full-time mommy หลายคนอ่านตำราเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ ยังไม่นับสายมูที่ดูฤกษ์ยามวันคลอด ชื่อ ตัวอักษร และสีมงคล
  • ปัจจุบันมีการพูดถึงการเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parenting) มากขึ้น การเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์ เป็นรูปแบบการเลี้ยงดูที่ใกล้ชิดมากเกินไป ปกป้องลูกจากทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจทำให้ลูกเจ็บตัวหรือผิดหวัง พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุดสำหรับลูกและต้องการปกป้องลูกจากทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเอง
  • นอกจากนี้ การเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์ยังส่งผลให้พ่อแม่รู้สึกเครียดและเหนื่อยล้า จากการเฝ้าระวังตลอดเวลา หากพ่อแม่สังเกตได้ว่าตนเองกำลังเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเปิดโอกาสให้ตนเองและลูกได้เรียนรู้จากความเจ็บปวดบ้าง เพื่อความแข็งแรงในระยะยาว

.

Diana Baumrind นักจิตวิทยาชาวอเมริกันทำงานวิจัยและมีทฤษฎีการเลี้ยงดูเด็กออกเป็น 4 แบบ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการและบุคลิกภาพในอนาคต แต่ปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงการเลี้ยงดูแบบที่ 5 มากขึ้นเรื่อยๆ การเลี้ยงดูแบบที่ 5 นี้ อยู่นอกทฤษฎีของคุณ Diana Baumrind แต่กำลังเป็นที่พูดถึงและจับตา ลองมาดูกันค่ะ

.

1. การเลี้ยงดูแบบเข้มงวด (Authoritarian Parenting) พ่อแม่แบบนี้เชื่อในกฎเกณฑ์ ระเบียบ วินัย การใช้คำสั่ง การวางกติกา เช่น ทำการบ้านให้เสร็จก่อนกินขนม เข้านอนสามทุ่มตรง พ่อแม่เหล่านี้มักจะดุ มีการลงโทษ เป็นการเลี้ยงดูแบบโบราณ อาศัยคำสั่งและการลงโทษ แต่ไม่ค่อยอธิบายว่า กฎเกณฑ์เหล่านั้นทำเพื่อใคร เพื่ออะไร เด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบนี้ มักจะว่านอนสอนง่าย เรียบร้อย แต่อาจจะเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือกลายเป็นเด็กอีกคนเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อน มีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูง มีความกลัวและความวิตกกังวลมาก

.

2. การเลี้ยงดูแบบตามใจ (Permissive Parenting) เป็นการเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ให้ความรัก และการสนับสนุนลูกอย่างมาก ไม่มีขอบเขตของกฏ กติกาที่ชัดเจน ผู้ปกครองในกลุ่มนี้จะพยายามหาทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกต้องการมาให้โดยไม่มีข้อแม้ หรือเมื่อมีการพยายามตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา ก็มักจะบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่ได้เนื่องจากความใจอ่อน และความคุ้นเคยเดิมๆ พ่อแม่ประเภทนี้อาจจะเป็นพ่อแม่ที่มีบุตรยาก รอมานานกว่าจะได้ลูกคนนี้ หรือมีลูกเมื่ออายุมาก หรือพยายามชดเชยบางสิ่งที่ตนเองเคยพลาดในวัยเด็ก สิ่งที่ตามมาคือ เด็กๆ กลุ่มนี้มักจะขาดความรับผิดชอบ เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

.

3. การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting) พ่อแม่แบบนี้มักเป็นพ่อแม่สมัยใหม่ มีการศึกษา มีความรู้ เคารพความต้องการของลูกแต่มีกฏ กติกา มีขอบเขต เงื่อนไข ลูกจะไม่ได้ทุกสิ่งที่ลูกต้องการ แต่สามารถโต้เถียง โต้แย้ง และร่วมกันวางกติกาใหม่ได้เสมอ การเลี้ยงดูแบบนี้มีข้อดีหลายอย่าง และเป็นแบบอย่างของการเลี้ยงดูที่ดี ข้อจำกัดก็คือ พ่อแม่ที่เลี้ยงดูแบบนี้ควรหมั่นสังเกตตนเองว่า ความจดจ่อที่มีให้ลูกนั้นเหมาะสม หรือมากเกินไปหรือไม่ รวมทั้งหมั่นสังเกตุความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูกว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะพ่อแม่ประเภทนี้มักจะเอามาตรฐานของผู้ใหญ่ไปวัดกับเด็ก เช่น คาดหวังให้เด็กอายุ 3 ขวบ รู้จักควบคุมความโกรธ หรือคาดหวังให้เด็ก 2 ขวบ ไม่อิจฉาน้อง — ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ

.

4. การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (Uninvolved Parenting) พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะเป็นผู้ทำงานหนัก ไม่มีเวลา พ่อแม่บางส่วนอาจจะไม่ได้อยู่กับลูก หรือบางครั้งก็อาจจะอยู่ด้วยกันแต่ไม่มีความรู้สึกใกล้ชิด ผูกพัน “พ่อแม่มีหน้าที่ทำมาหากิน ลูกมีหน้าที่เรียนหนังสือ” พ่อแม่อาจจะไม่ค่อยได้ตอบคำถาม ข้อสงสัย หรือมีเวลาคุย-เล่น เด็กๆ กลุ่มนี้ค่อนข้างมีอิสระ ได้ทำอย่างที่ตัวเองต้องการ บางครั้งดูเหมือนมีอิสระเต็มที่ มีจินตนาการเปี่ยมล้น แต่ไม่มีคนร่วมยินดีในความสำเร็จ พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะแสดงความรักผ่านค่าขนม อุปกรณ์อำนวยความสะดวก วัตถุ แต่ไม่ได้ใช้เวลาร่วมกัน ผลที่ตามมาคือ เด็กมีไม่เห็นคุณค่าในตนเอง คุณค่าของตนมีค่าเท่ากับสิ่งของที่ได้ อาจจะเก็บกด หรือก้าวร้าว

.

5. การเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parenting) พ่อแม่ประเภทนี้มักจะขจัดอุปสรรคทุกอย่างให้ลูก (บางครั้งพ่อแม่ประเภทนี้ถูกเรียกว่า เครื่องไถหิมะ) พ่อแม่ที่อยู่เหนือศีรษะของลูก เฝ้ามอง สอดส่อง และจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูก ถ้าถูกเพื่อนแกล้งก็จะเข้าแทรกแซงจัดการ ถ้าโดนทำโทษพ่อแม่จะเข้าเจรจา เลือกทุกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดให้ลูก ฯลฯ พ่อแม่แบบนี้มักจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในความเป็นไปของลูก อำนวยความสะดวกและแผ้วถางเส้นทางให้ลูก เป็นความรักที่สร้างผลเสียในระยะยาว เด็กกลุ่มนี้มักจะรู้สึกขาดอิสระภาพ ขาดทักษะในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ไม่กล้าตัดสินใจ หรือไม่อยากตัดสินใจ ไม่ตระหนักในคุณค่าของตนเอง ผลที่ตามมาอาจเป็นได้ทั้งความก้าวร้าวรุนแรง หรือซึมเศร้า เก็บตัว

.

ในบ้านที่เป็นครอบครัวขยายไม่ได้มีเพียงการเลี้ยงดูแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น หรือแม้แต่ในครอบครัวเล็กๆ ก็เป็นไปได้ที่คุณพ่ออาจจะเข้มงวดมากแต่คุณแม่แอบตามใจ พ่อแม่เข้มงวดกับลูก แต่ปู่ย่าตามใจหลาน หรือ พ่อปล่อยให้แม่เป็นผู้เลี้ยงดูลูกแบบเบ็ดเสร็จ (คุณพ่อกลายเป็นปล่อยปละละเลย ?) หรือ เป็นการเลี้ยงดูตาม อารมณ์ที่แกว่งไปแกว่งมา? — แต่ไม่ว่าจะเลี้ยงดูแบบไหน คำถามพื้นฐานที่สำคัญก็คือ บ้านหลังนั้นเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ หรือเปล่า ในสังคมแวดล้อมที่เด็กอยู่ มีผู้ใหญ่ที่ปลอดภัยเพียงพอสมหรับเด็กๆ ให้เข้าหาบ้างไหม เป็นผู้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนหลุมหลบภัย เป็นแม่ไก่ที่ลูกยินดีซุกใต้ปีก — การเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์เป็นการสร้างความปลอดภัยให้เด็กๆ จริงหรือไม่ ?


ทีมงานความสุขประเทศไทยนำทฤษฎีนี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้พวกเราลองทบทวน ใคร่ครวญ สังเกตความโน้มเอียงในการเลี้ยงดูเด็กๆ ของเรา ขอให้ประสบการณ์สิ่งที่ผ่านมาได้กลายเป็นต้นทุนสำหรับการปรับเปลี่ยน ทำให้ดีขึ้น ในแต่ละครอบครัวอาจจะมีการเลี้ยงดูผสมอยู่หลายแบบ บางเรื่องอาจจะเป็นปัญหา แต่บางเรื่องอาจจะไม่ใช่ปัญหาก็ได้ สิ่งสำคัญของความเป็นบ้าน คือการเป็นพื้นที่สำหรับการได้พัก ได้เป็นตัวของตัวเอง มีความอบอุ่น ได้เยียวยา ถ้าที่นั่นปลอดภัย มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ เด็กๆ ก็จะเติบโตได้อย่างมั่นคง


โดยทั่วไป พ่อแม่มักจะเลี้ยงดูลูกแบบที่ตนเองเคยถูกเลี้ยงดูมา หรือ เลี้ยงดูลูกในทางตรงข้ามกับสิ่งที่เคยเป็นปมปัญหาของตนในวัยเด็ก ดังนั้น หน้าที่หนึ่งที่แสนสำคัญของพ่อแม่คือ ความสามารถที่จะทบทวนวัยเด็กของตนเอง และเยียวยาวัยเด็กของตน เพื่อจะเป็นพ่อแม่ที่มีความมั่นคงภายใน เปี่ยมด้วยความรักและความสุข


คุณทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล แห่งบ้านกาญจนา บอกถึงการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่พึ่งทฤษฎีเอาไว้อย่างน่าฟัง ป้ามลบอกว่า “พวกเราทุกคนล้วนผ่านวันคืนที่เคยเป็นเด็ก เรารู้ว่าตอนที่เป็นเด็กมีอะไรที่น่าหวาดกลัว มีหลายสิ่งที่เราไม่ชอบ— ลูกหลานก็เหมือนกันกับเรา — ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็ก ดังนั้นหากเราจะสื่อสาร สั่งสอน หรือลงโทษ ขอให้ตั้งหลักให้ดี”


อ่านบทสัมภาษณ์ คุณทิชา ณ นคร ได้ที่ https://www.happinessisthailand.com/2022/12/15/spiritual-relation-happiness-listening/

.

บทความที่เกี่ยวข้อง
วาดภาษารัก https://www.happinessisthailand.com/2023/02/27/spiritual-relation-listen-parenting/
คุณแม่ยุคดิจิตอล https://www.happinessisthailand.com/2023/01/23/spiritual-listen-family-game/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save