ทบทวนความสุข ตั้งหลักแล้วเริ่มใหม่
วันนี้คืออนาคตของเมื่อวาน และจะเป็นอดีตของพรุ่งนี้ — อนาคตที่ดีจึงเริ่มที่ปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ณ ขณะนี้ ลองหาเวลาทบทวนชีวิตของเราในแต่ละวัน เพื่อจะได้ตั้งต้น เริ่มใหม่ การทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เหมือนการเปิดกรุทรัพย์สมบัติที่เราใช้เวลาในชีวิตแลกมา บางสิ่งอาจจะเป็นบทเรียน บางสิ่งล้ำค่าควรแค่การชื่นชม บางสิ่งก็เรียกรอยยิ้มสร้างกำลังใจ
.
วันนี้คืออนาคตของเมื่อวาน และจะเป็นอดีตของอนาคต — อนาคตที่ดีจึงเริ่มที่ปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ณ ขณะนี้ และเป็นเรื่องที่ดีในวาระใกล้ปีใหม่ ชวนพวกเราทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเดือน ปี ที่ผ่านมา ในแต่ละวันลองหาเวลาทบทวนชีวิตของเราในแต่ละวัน เพื่อจะได้ตั้งต้น เริ่มใหม่ การใคร่ครวญและทบทวนเรื่องราวที่ผ่านไปในแต่ละวัน จะทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของเรา กับใจของเรามากขึ้นและมันมีประโยชน์มากมาย เพราะการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต การกลับไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เหมือนกับการเปิดกรุทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เราเก็บเอาไว้ สิ่งเหล่านี้เราใช้เวลาในชีวิตของเราแลกมา ลองเอาขึ้นมาพิจารณาบางสิ่งอาจจะเป็นบทเรียนเพื่อให้เราได้เรียนรู้ บางสิ่งล้ำค่าสมควรแค่การชื่นชม บางสิ่งก็เพื่อเรียกรอยยิ้มสร้างกำลังใจ
.
- การทบทวน ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติของตัวเอง เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ได้เห็นหลุมพรางที่เรามักตกบ่อยๆ เมื่อเราเห็นตัวเองชัดขึ้น เข้าใจตัวเองดียิ่งขึ้น มันก็ง่ายต่อการพัฒนาตัวของเรา เราจะเป็น ‘คนที่เราอยากจะเป็น’ ง่ายขึ้น
- การทบทวน ช่วยให้กำหนดเป้าหมายและวางแผนอนาคตได้ดียิ่งขึ้น การทบทวนอดีตทำให้เราได้เห็นความสำเร็จและความล้มเหลว เห็นความสุขและความทุกข์ เห็นสิ่งที่ทำให้ดีใจ เห็นสิ่งที่ทำให้เสียใจ เหล่านี้จะช่วยให้เรากำหนดเป้าหมายและวางแผนอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การทบทวน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและมีกำลังใจ ได้เห็นความทรงจำดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น เห็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรามีศรัทธาต่อชีวิตและผู้คน ซึ่งรวมถึงศรัทธาในตนเองทำให้มีแรงบันดาลใจและกำลังใจที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้
.
วิธีทบทวนชีวิตประจำวัน
- การบันทึก (journal) เหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นประจำวัน อาจจะเป็นเรื่องราวเล็กๆ ที่ได้เห็นและเกิดความประทับใจ เป็นความสุข หรือทำให้เกิดรอยยิ้ม หรืออาจจะเป็นเรื่องราวที่เรารู้สึกว่าได้เรียนรู้ ได้เห็นชีวิตในอีกแง่มุม หรืออาจจะเป็นเรื่องราวที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เจ็บปวดก็ได้เช่นกัน เพราะการเขียนเป็นการระบายความทุกข์วิธีหนึ่ง เช่นเดียวกับการปลดปล่อยของเสียออกจากตัวของเรา เมื่อครบหนึ่งเดือน หรือหนึ่งสัปดาห์ ค่อยกลับมาอ่านทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น เราอาจจะได้เห็นแง่มุมอื่นๆ เห็นเหตุการณ์ เห็นความเป็นตัวของเราเองมากขึ้น
- การทบทวน 10 เรื่องดี (10 good things) เป็นการบันทึกและทบทวนเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นจริงใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาของเรา เขียนเป็นข้อ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นสิ่งเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม เมื่อเขียนเสร็จ อ่านทวนทีละข้อ นึกถึงเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง แล้วอ่านข้อถัดไป เมื่อครบทั้งสิบข้อก็เสร็จสิ้น — บางทีทั้งวันเราจำแต่เรื่องไม่ดี การทบทวนเรื่องดีช่วยให้เราเห็นครบขึ้น
- หลักไนกัน (Naikan – 内観) ประเทศญี่ปุ่นมีคำว่า ไนกัน คือ การหยุดเพื่อทบทวนความคิดและจิตใจ ทบทวนตัวเองในแต่ละวัน เพื่อรู้จักและเข้าใจตนเอง เพื่อจะอยู่ในวันนี้และพรุ่งนี้ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น แม้จะมีวันที่แย่ พัง แต่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด ดาวน์โหลดปฏิทินความสุขได้ที่ https://www.happinessisthailand.com/2022/07/27/happiness-calendar/
.
.
ตั้ง 2 หลัก เพื่อ เริ่มใหม่
1. หยุดตำหนิตัวเอง (self-criticism self-judgement)
เมื่อเกิดเหตุที่ไม่เป็นไปตามที่หวัง ไม่ประสบผลอย่างที่คาด ไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ก็ง่ายมากที่เราอาจจะตำหนิตัวเอง “ผมมันไม่ได้เรื่อง ผมมันแย่ ผมมันไม่ดี ผมเฮงซวย” ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี (อ.กล้า) อาจารย์และผู้ช่วยคณะบดีประจำภาควิชาจิตวิทยาคำปรึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แนะให้พวกเราลองสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจด้วยการมองให้รอบ ผ่าน 3 คำถามนี้
.
I am – ฉันเป็นใคร (ฉันอายุเท่าไร ฉันเป็นลูกของแม่ ฉันเป็นนักเรียน หรือเป็นนักศึกษา หรือเป็นอาจารย์ เป็นหมอ)
I have – ฉันมีอะไรบ้าง (ฉันมีแม่ ฉันมีน้อง ฉันมีเพื่อน ฉันมีหมา ฉันมีบ้าน ฉันมีโทรศัพท์)
I can – ฉันทำอะไรได้บ้าง (ฉันเดินได้ ฉันทำกับข้าวได้ ฉันสอนหนังสือได้ ฉันพูดได้ ฉันหายใจเองได้)
.
การตอบคำถาม 3 ข้อนี้ เพื่อให้เห็นความเป็นจริงของตัวเรา และเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวของเรา เพื่อให้เราเห็นและมีความสามารถที่จะปลอบประโลมตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง สนับสนุนตัวเองได้ รวมถึงเห็นตัวช่วยต่างๆ
.
2. เป็นมิตรกับตนเอง (To be your own ally)
ใจดีกับตนเอง เหมือนใจดีกับเพื่อนรัก – ลองจินตนาการถึงเพื่อนรักของเราคนหนึ่ง คนที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในชีวิตของเรา คนที่เราสนิทสนมรักใคร่ ลองนึกอย่างจริงจังว่า ถ้าเพื่อนคนนั้นมาหาเรา ขอคำปรึกษาเพื่อเริ่มต้นใหม่ เขาต้องการกำลังใจ ต้องการการสนับสนุน เราจะอยู่กับเขาอย่างไร เราจะชวนเขาไปคุยกันที่ไหน บรรยากาศแบบไหน พูดกับเขาอย่างไร ด้วยน้ำเสียงแบบไหน เพื่อให้เพื่อนคนนี้รู้สึกดีขึ้น สบายขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น และพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง — ให้ทำอย่างนั้นกับตัวของเราเอง อนุญาตให้ตัวของเราเป็นเพื่อนที่น่ารักสำหรับตนเอง
.
บทความที่เกี่ยวข้อง
การระบายสีอารมณ์ https://www.happinessisthailand.com/2023/10/16/spiritual-art-meditation-emotionalskill/
คลิปเสียงสนทนาของ คุณวิเศษ บำรุงวงศ์ กับ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี หัวข้อ New Year’s resolution อย่างไรไม่ให้บ้ง?
https://www.youtube.com/watch?v=5jM-ZVqwleg