8 ช่องทางความสุข

5 วิธีจัดการความเหงา ภัยสุขภาพระดับโลก

• WHO องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ความเหงาเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก อันตรายเท่าการสูบบุหรี่ 15 มวน ต่อวัน
• ความเหงาเป็นปัญหาที่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกวัย และมีผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า ความเหงา การขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เสี่ยงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ
• คณะกรรมาธิการของ WHO กำลังทำงาน เพื่อการเชื่อมต่อทางสังคม โดยทำงานเป็นเวลา 3 ปี ด้วยการพัฒนาและดำเนินการกลยุทธ์ในการต่อสู้กับความเหงา

.

“เพราะเป็นคนเหงาจึงเจ็บปวด” คงไม่เกินเลยนักที่จะใช้ประโยคนี้เปิดบทความ เพราะ ความเหงา ไม่ได้มีผลกระทบเพียงทางจิตวิทยาเท่านั้น แต่ปัจจุบันกำลังเป็นประเด็นปัญหาทางการแพทย์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก อย่างล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศให้ความเหงาเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก
ความเหงา มากกว่าทำให้เราเศร้า สุขภาพจิตพัง ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบมากไปถึงร่างกายและเชื่อมโยงไปถึงชุมชนได้เลยทีเดียว เรามาหาวิธีจัดการความเหงากันเถอะ

.

ความเหงา เสี่ยงโรคหัวใจ ป่วยสมองเสื่อม
ความเหงา กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกวัย ซึ่งเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพเชิงลบหลายประการ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิด โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง ได้อีกด้วย ทั้งยังเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีและอาจนำไปสู่ความโดดเดี่ยวทางสังคม

.

ด้วยผลกระทบหลายประการนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหา “ความเหงา” ดำเนินการโดยศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา ดร.วิเวก เมอร์ธี และทูตเยาวชนของสหภาพแอฟริกา ชิโด เอ็มเปมบา ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดนี้ ตั้งขึ้นหลังสภาวะการระบาดของ โควิด 19 ที่มีผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่ซบเซา จนส่งผลทำให้คนทั่วโลก เพิ่มความเหงา และรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

.

ข้อมูลรายงานของ WHO จากการวิเคราะห์บทบาทการเชื่อมโยงทางสังคมในการปรับปรุงสุขภาพสำหรับคนทุกวัย พบว่าอัตราการโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาทั่วโลกที่สูง ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดสมอง วิตกกังวล ภาวะสมองเสื่อม ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายและอื่นๆ

.

ทั้งนี้นอกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ความเหงาเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาความเหงา ซึ่งจะดำเนินการเป็นเวลา 3 ปี โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและดำเนินการกลยุทธ์ในการต่อสู้กับความเหงา กลยุทธ์เหล่านี้อาจรวมถึง

.


• เพิ่มโอกาสในการเชื่อมโยงทางสังคม เช่น ผ่านศูนย์ชุมชนและแพลตฟอร์มออนไลน์
• ให้บริการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้ที่เหงา
• พัฒนานโยบายที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางสังคม

.

5 สิ่งที่คุณทำได้ เมื่อเผชิญความเหงา

1. ยอมรับและเข้าใจอารมณ์ตัวเอง ลองกลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมารับรู้ความสุขของเราที่อาจหลงลืมมันไป และนึกไว้เสมอว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องธรรมดา

.

2. ออกจาก Comfort Zone หากิจกรรมหลายๆ อย่าง ที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น ทำอาหาร เรียนภาษา บางทีการได้ทำสิ่งที่เราไม่เคยทำ หรืออยากลองทำมานาน ก็สามารถช่วยจัดการความเหงาให้เราได้

.

3. ลองออกไปทำอะไรเพื่อคนอื่น อย่าง เลือกงานอาสาแนวที่เราชอบ นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการเหงา ได้สังคมที่สนใจอะไรที่ใกล้เคียงกับเราแล้ว ยังได้ทำประโยชน์ให้แก่สาธารณะด้วย

.

4. อยู่กับธรรมชาติ อาจจะเลือกเข้าสวนปลูกต้นไม้ แบกเป้เดินป่า หรือถ้าอยู่ในเมือง ลองสังเกตธรรมชาติใกล้ๆ ตัว ที่เราอาจมองข้ามไปเพราะความเร่งรีบ อย่างธรรมชาติในชุมชน ย่านพักอาศัยของเรา หรือการออกไปถ่ายรูปท้องฟ้า ก็ช่วยเยียวยาความเหงาได้

.

5. ไม่แยกตัวออกจากสังคม ความเหงา เป็นอารมณ์หนึ่งที่สร้างความทุกข์ และมักทำให้เราตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอก ฉะนั้นลองออกไปเชื่อมโยงผู้คน อาจจะเป็นคนที่เราไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว ครอบครัว เพื่อนสมัยมัธยม มหาวิทยาลัย หรือเพื่อนทำงานที่มีความชอบคล้ายๆ กัน จะทำให้เราต่อกันติดง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตที่น่าสนใจ ได้มีข้อแนะนำลดอาการ “เหงาเฉียบพลัน” ไว้ 4 วิธี คือ ให้นึกเสมอว่ามีคนรอคอยอยู่ที่บ้าน, ให้พูดคุย ติดต่อกับที่บ้าน ถามสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกัน, ใช้เวลาแห่งความสุขที่อยู่ร่วมกันอย่างรู้คุณค่า และมีกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ทุกวัย

.

.

.

วัยไหน ก็เหงาได้
ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมาก ระบุแล้วว่าความเหงาเพราะขาดการเชื่อมต่อทางสังคมนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดย นพ.วิเวก เมอร์ธี กล่าวถึงปัญหาความเหงาว่า “ความเหงากำลังกลายเป็นข้อกังวลด้านสาธารณสุขระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และการพัฒนาในทุกด้าน ซึ่งความเสี่ยงด้านสุขภาพนั้นแย่พอ ๆ กับการสูบบุหรี่มากถึง 15 มวนต่อวัน และมากกว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนและการไม่ออกกำลังกาย”

.

มากกว่านั้น ความเหงา เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกือบ 30% ส่วนผลเสียในระดับชุมชน อาจมาในรูปแบบของสุขภาพโดยรวมของประชากรที่แย่ลง และผลเสียทางเศรษฐกิจของชุมชน หากไม่มีการแบ่งปันข้อมูลเพื่อพัฒนา สังคมนั้นๆ ก็จะหยุดนิ่งชะงักได้

.

นอกจากนี้ข้อมูลของ WHO ยังพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ ความเหงาสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 50% ในการพัฒนาไปสู่ภาวะสมองเสื่อม และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 30% ส่วน 5-15% ความเหงายังบั่นทอนชีวิตของคนหนุ่มสาวอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม WHO ได้ระบุเพิ่มเติมว่า ตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะประเมินต่ำเกินไป

.

ดังนั้นถ้าวันนี้คุณรู้สึกเหงามากเกินไปแล้ว ลองจัดการความเหงาด้วยการพาตัวเองกลับไปอยู่ท่ามกลางคนที่คุณรู้สึกดี หรือออกไปพบปะเพื่อนฝูง รวมถึงหากิจกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และช่วยลดความเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยว ให้ได้กลับมามีชีวิตชีวา

.

แต่หากยังรู้สึกเหงา ลองหาตัวช่วยด้วยการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากยังปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความเหงานานเกินไปจะทำลายสุขภาพได้ในอนาคต

.

บทความที่เกี่ยวข้อง

  1. https://www.who.int/
  2. https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/e3edc619-bcfe-ed11-80ff-00155db45636?ReportReason=1
  3. https://www.happinessisthailand.com/category/activities/
  4. https://www.happinessisthailand.com/category/8ways/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save