อาสาขั้นเทพ
ความมั่นคงทางทรัพย์จริงๆ นั้นไม่มี แต่ความมั่นคงภายในน่ะมี เราสร้างและทำมันได้ เช่น จิตใจไม่ระส่ำระสาย ถ้าเราอยู่ด้วยกันอย่างดี เดี๋ยวเราก็จะผ่านมันไปด้วยกัน เรื่องนี้สำคัญกว่าความมั่นคงภายนอกปัจจุบันนี้ แม้จะไม่ได้รวยอย่างที่หวัง แต่ชอบที่ได้ใช้ชีวิตอย่างนี้ พอใจกับชีวิตแบบนี้
.
- เชื่อไหมว่าการเจ็บป่วยและความตายได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสั่งสมพลังและการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตที่ดีให้แก่เหล่าจิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้าย
- งานอาสาเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายที่มีการออกแบบและจัดกระบวนการที่ดี จะส่งผลทั้งการเยียวยาจิตวิญญาณของผู้ป่วย ได้ดูแลใจญาติ และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในมิติจิตวิญญาณให้แก่ผู้เป็นจิตอาสา
- กิจกรรมจิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของจิตอาสาให้หันกลับมาสำรวจชีวิตประจำวัน เห็นความสำคัญของสุขที่เรียบง่ายได้อย่างน่าอัศจรรย์
I SEE U เป็นกลุ่มจิตอาสาเยียวยาใจผู้ป่วยระยะท้าย ทำกิจกรรมเยี่ยมผู้ป่วยทั้งที่บ้าน โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ทั้งของภาครัฐและเอกชน ก่อตั้งเมื่อปี 2557 นับมาถึงบัดนี้ก็เกือบสิบปีแล้ว การทำงานที่แนบชิดกับความตาย ใกล้ชิดผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้กำลังใจผู้สูญเสีย น่าจะเป็นงานที่สูบพลังแถมยังไม่มีเงินเป็นค่าตอบแทน แต่กิจกรรมนี้กลับเป็นสิ่งที่ทำให้อาสาสมัครรู้สึกว่าได้เติบโตอย่างมั่นคง มีความเข้มแข็งภายใน เป็นงานซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งพลังที่ไม่เหือดแห้ง ด้วยกระบวนการ 4 อย่าง
- เตรียมความพร้อมกาย-ใจ
- ฝึกสติอยู่กับปัจจุบัน
- สะท้อนบทเรียน
- เรียนรู้ชีวิตจากประสบการณ์ของผู้อื่น
สิ่งที่จิตอาสาเหล่านี้ได้เรียนรู้และพลังที่พวกเขาได้รับมีอะไรบ้างและการทำงานอาสาส่งผลต่อชีวิตเขาอย่างไร มาติดตามกัน
พี่เมี่ยง-วรรณี โล่ห์วนิชชัย , คุณปูเป้-ปวีณา แจ่มจันทร์ , คุณกุง-พัศชอรณ์ พรพิรานนท์
คุณปูเป้ – สิ่งที่ทำให้สนใจการเตรียมตัวตายและเป็นอาสาสมัครมี 2 ประเด็นหลัก เรื่องแรกคือสุขภาพส่วนตัว เรื่องที่สอง คือ จู่ๆ เช้าวันหนึ่งคุณพ่อก็ไม่ตื่นขึ้นมา วันนั้นดูไม่มีอะไรที่ผิดปกติไปจากวันอื่นๆ ยกเว้นอากาศในคืนก่อนเย็นกว่าที่เคย — เรารู้ว่าการจากไปมีหลายแบบแต่พอเจอกับตัวอย่างไม่คาดคิดทำให้อึ้งและย้อนกลับมานึกถึงตัวเอง
เป้อยู่กับทรัพย์ภายนอก มีความสุขแบบทางโลก มีการงานที่ประสบความเร็จ มีเงิน ได้การยอมรับ ฯลฯ แต่พอมองจริงๆ ก็รู้สึกว่าข้างในกลวง ขาดทรัพย์ภายใน ไหลไปตามอัตโนมัติของโลกและสังคม คำถามที่ทำให้ฉุกคิดก็คือ ถ้าจู่ๆ วันหนึ่งเราต้องจากไป ทรัพย์ภายในของเรามีพอหรือยัง แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องใช้เวลาตัดสินใจถึง 3 ปี กว่าจะลาออก เพราะเป็นคนชอบทำงานมาก
พอไปทำอาสาเยี่ยมผู้ป่วยบ่อยๆ เข้า เป้ให้ความสำคัญและเลือกจริงๆ ว่า ปีนี้จะทำอะไร ปีนี้จะไม่ทำอะไร เดือนนี้จะทำอะไร เดือนนี้จะไม่ทำอะไร วันนี้จะทำอะไร และวันนี้ไม่ทำอะไร เหล่านี้ไม่ได้หมายความถึง To do list แต่หมายถึงว่า ถ้าปีนี้เป็นปีสุดท้าย เราจะทำอะไร และไม่ทำอะไร ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย หรือ อีกไม่กี่วันที่เราจะตาย เราจะทำอะไร และไม่ทำอะไร เวลาไปเยี่ยม เราจะเห็นผู้ป่วย เห็นญาติของผู้ที่กำลังจะจากไป ได้เห็นไตรลักษณ์ผ่านชีวิตจริง มันเตือนสติมาก การเป็นจิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายทำให้เห็นจริงๆ ว่า การจะตายให้ดี ก็คือใช้ชีวิตให้ดี มันทำให้เรามั่นคงในทางที่กำลังเดินมากขึ้นๆ มั่นใจในการใช้ชีวิต
พี่เมี่ยง-ก่อนหน้าที่จะรู้จักกลุ่ม I SEE U พี่ไม่รู้จักการรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) เลย —พี่เป็นคนดูแลทั้งคุณแม่และคุณพ่อ คุณแม่ติดเตียงอยู่ 18 ปี เข้าออกห้องไอซียูจนนับครั้งไม่ถ้วน ไม่เคยคิดว่าการเข้าไอซียูครั้งนั้นของคุณแม่จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะคุณแม่เข้ามาหลายครั้งและออกมาได้ทุกที ตรงกันข้าม คุณพ่อเป็นคนแข็งแรง ดังนั้นเมื่อคุณพ่อป่วย เราจึงไม่เอะใจ เราให้การดูแลคุณพ่อแบบ “จัดเต็ม” ยืดเยื้อ ยื้อ ทำทุกอย่าง ซึ่งคุณพ่อน่าจะเจ็บปวดมากแต่เราไม่รู้และเต็มไปด้วยความหวัง แต่ปรากฎว่าคุณพ่อไปก่อนคุณแม่
จริงๆ แล้วพี่สนใจการเป็นจิตอาสานานแล้วที่เข้ามาเป็นจิตอาสา I SEE U รุ่น 1 เพราะเรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมามัน ผิดๆ ถูกๆ — ซึ่งส่วนใหญ่มันผิด ผิดเยอะ เราเสียใจ แต่ย้อนกลับไปแก้ไม่ได้ การเข้ามาเป็นจิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยนี้ก็เพื่อจะเตรียมตัวเอง อยากแก้ไข และได้บอกต่อคนอื่นว่าอย่าทำผิดอีกอย่างที่พี่เคยพลาดไปแล้ว I SEE U เขาจัดกระบวนการให้อาสาสมัครอย่างครบถ้วน เราได้เตรียมตัวเอง รู้กระบวนการ และการสะท้อนบทเรียน (reflection) ก็ช่วยให้เราเรียนรู้ชีวิตผู้อื่น — ชีวิตผู้ป่วยสอนเรา แง่มุมจากเพื่อนๆ จิตอาสาที่สะท้อนก็สอนเรา มากกว่านั้นคือความอบอุ่นใจจากกัลยาณมิตร(เพื่อนอาสาด้วยกัน)
กุง – รู้จักจิตอาสา I SEE U ช่วงที่คุณแม่ป่วย ตอนนั้นครอบครัวของเราเหมือนจะล้มครืน ตัวกุงเองรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว การที่อาสาสมัคร I SEE Uเข้ามาในครอบครัวของเรา ทำให้พวกเราได้คุยกัน ตัวเองก็รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ มีคนรับรู้ความรู้สึกของเรา
พอคุณแม่เสียกุงรู้สึกเคว้งจริงๆ — ตอนที่คุณพ่อจากไป เรารู้สึกว่าเรายังมีคุณแม่ แต่พอคุณแม่จากไปมันเหมือนกับว่าเราไม่เหลือใครอีกเลยจริงๆ จังหวะนั้นก็พอดี ishare ซึ่งเป็นกลุ่มงานย่อยของ I SEE U จัดงาน Lost and Found ให้กับผู้สูญเสีย กุงไปร่วมงานนั้นและรู้สึกว่าตัวเองได้รับการเยียวยา ได้คำตอบในการใช้ชีวิตข้างหน้า เห็นคุณค่าของตัวเอง กล้าที่จะเดินต่อ นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เข้ามาเป็นอาสาสมัคร —งานอาสาทำให้เราได้ทำประโยชน์ มีคุณค่า จากที่เขาป่วย ท้อแท้ กลับมีกำลังใจขึ้นมา กุงว่าการช่วยคนในมุมนี้ได้ประโยชน์มาก ทำให้กุงก้าวข้ามสิ่งที่เคยบล็อกเราไว้ ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
มักจะได้ยินเรื่อยๆ เรื่องจุดสมดุลของการทำงานเพื่อเลี้ยงปากท้อง และการเป็นจิตอาสาทำงานเพื่อส่วนรวม อาสาสมัคร I SEE U ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนเลยพี่จัดสมดุลกันอย่างไร
คุณปูเป้ ถ้ามองในแง่ของตัวเงิน ก็อาจจะพูดได้ว่า ต้นทุนของการเป็นจิตอาสานั้นมีอยู่ แต่มันบริหารจัดการได้ให้พอเหมาะกับตัวของเรา ถ้าพูดจากประสบการณ์ก็อยากบอกว่า อาสาสมัครดีต่อใจ มันคือพลังหล่อเลี้ยง ให้คุณค่าที่ออกดอกออกผล และพลังนั้นวนกลับมาหล่อเลี้ยงให้เรามีศักยภาพเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆฃ
พี่เมี่ยงในสมัยที่พี่อายุน้อย ลูกยังเล็ก พี่มุ่งมั่นในการทำมาหากิน อยากรวย อยากให้ลูกได้ดิบได้ดี แล้วพี่ก็พบว่าระหว่างทางที่เรามุ่งมั่นทำมาหากินนั้นมีหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ เวลาที่ได้ก็ดีไป เวลาที่เสียก็จิตตก เคยเผชิญคดีความ มีหนี้สิน เมื่อผ่านสิ่งต่างๆ มาจนถึงวันนี้ และมองย้อนกลับไป พี่พบว่าพี่ไม่ได้รวยอย่างที่หวัง และพี่ได้พบว่าความมั่นคงทางทรัพย์จริงๆ นั้นไม่มี แต่ความมั่นคงภายในน่ะมี เราสร้างและทำมันได้ ความมั่นคงที่ว่าก็เช่น จิตใจที่ไม่ระส่ำระสาย ถ้าเรายังอยู่ด้วยกันภายในครอบครัวอย่างเข้าใจ แล้วหากมีเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวเราก็จะผ่านมันไปด้วยกัน สำหรับพี่ เรื่องนี้สำคัญกว่าความมั่นคงภายนอกปัจจุบันนี้ พี่ไม่ได้รวยอย่างที่หวัง แต่ชอบที่ได้ใช้ชีวิตอย่างนี้ พอใจกับชีวิตแบบนี้
พี่ชัย-คุณอรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม
ผมตัดสินใจยุติบทบาทคนทำงาน ทิ้งธุรกิจ เพื่อดูแลพ่อใน 3 ปีสุดท้าย ผมไม่ได้รู้สึกว่ากล้าหาญหรือเสียสละ รู้แค่ว่า ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ เราจะเสียใจ จริงๆ แล้วในตอนนั้นงานที่ทำอยู่กำลังไปได้ดี แต่เวลาที่เหลืออยู่สำหรับคนที่เรารักมันน้อยแล้ว คล้ายๆ กับว่า เมื่อเราเห็นจริงๆ ว่าสิ่งที่อยู่ในมือตอนนี้ มีค่าน้อยกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เราก็พร้อมที่จะปล่อย เรื่องแบบนี้เราจะรู้สึกได้ด้วยตัวของเราเอง
ถ้ายังอายุน้อยๆ อยู่ในพื้นที่ของความคาดหวังของครอบครัว หรืออย่างน้อยเราควรจะดูแลตัวเองให้ได้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นน้ำหนักที่ต้องประเมิน สำหรับผมการย้ายมาที่งานทางจิตวิญญาณ มันทำให้ตัดค่าใช้จ่ายออกไปเยอะมาก
เวลาที่ต้องเลือกระหว่างการทำงานหาเงิน กับการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม แต่ละคนจะต้องหาคำตอบด้วยตนเอง คิดแทนกันไม่ได้ แต่มีคำถามที่ชวนให้หาคำตอบ เช่น “ถ้าเราไม่ทำสิ่งนี้ เราจะเสียใจไหม” คำตอบจะอยู่ที่ตัวเรา ผมเคารพเสียงข้างใน ผมแนะนำให้ฟังเสียงข้างใน — ดังนั้น คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ ต้องหาเอง ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป
………………………………………………………………..
ขอบคุณทีมอาสาสมัคร I SEE U
พี่ชัย-คุณอรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม, พี่เมี่ยง-วรรณี โล่ห์วนิชชัย, คุณปูเป้-ปวีณา แจ่มจันทร์ และคุณกุง-พัศชอรณ์ พรพิรานนท์