พัฒนาจิตสุขภาวะทางปัญญาภาวนาดูแลตัวเองความสุขเรียบง่าย
8 ช่องทางความสุข

กินข้าว ภาวนาได้ไหม

เรามักรับรู้รสชาติจากความทรงจำ หรือไม่ก็เป็นภาพจำจากโฆษณา ถ้าคุณเลือกที่จะภาวนา คุณจะได้ทำความรู้จักอาหารนั้น คำนั้น ชิ้นนั้น แบบ real time และมันจะเป็นรสชาติอาหารที่เป็นหนึ่งเดียวสำหรับคุณ

.

หลายคนอยากภาวนา แต่ ‘เวลา’ คืออุปสรรคใหญ่ วันหนึ่งมีน้องถามว่า “เวลาที่เรากินข้าวจะภาวนาได้ไหม” คำตอบคือ “ได้” ลองเลือกทำสัก 3 ข้อ ใน 5 ขั้นตอนนี้ นะคะ — ถ้าชอบ จะลองทำทั้งหมดเลยก็ได้ค่ะ

.

1. มองอาหารก่อนกิน อาหารในจานนี้ ในมื้อนี้มีสีอะไรบ้าง ลองถามว่ามันมาจากไหนกันบ้างนะ
เมื่อมีจานอาหารวางอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าอาหารจานนั้นจะเป็นอะไร ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ บะหมี่หมูแดง ข้าวราดแกง ซูชิ ข้าวห่อสาหร่าย หรือแม้แต่ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ฯลฯ ไม่อาหารจะเป็นอะไร ขอให้ “มองอาหาร” ให้เรามองให้เห็นชัดๆ ว่า เรากำลังจะเอาอะไรเข้าปากของเรา มองให้เห็นสีของอาหาร เห็นปริมาณ และรู้ว่าเรากำลังจะนำอาหารนี้เข้าสู่ร่างกาย

ถ้ามีเวลา ลองถามอาหารจานนี้ว่า “เธอมาจากไหน” ข้าวอาจจะตอบอย่างหนึ่ง ไก่อาจจะตอบอีกอย่าง แตงกวาในจานก็ตอบด้วย … อาหารที่วางอยู่ตรงหน้า มาจากหลายที่ ด้วยความรักจากหลายๆ มือ

.

2. กินเงียบๆ สัก 5 คำ ถ้าไม่เหนื่อยจนเกินไป ท้าทายตัวเองเป็นมื้อละ 10 คำถ้าเรากินข้าวร่วมกับเพื่อน เราบอกกับเพื่อนว่า “ขอกินข้าวเงียบๆ 5 คำนะ เดี๋ยวกินเสร็จแล้วเราคุยด้วย” เราไม่ได้ห้ามเพื่อนคุย เราแค่ไม่คุยกับเพื่อนใน 5 คำแรก เท่านั้นเอง เรายังอยู่กับเพื่อน ได้ยินเพื่อน มองหน้าเพื่อน พร้อมๆ กับรับรู้ว่าเรากำลังกินอาหาร เคี้ยวอาหาร

ข้อนี้ไม่ยาก ถ้าเรานั่งกินอาหารตามลำพัง แต่ก็ท้าทายอยู่พอสมควรเลยล่ะ การกินเงียบๆ ตามลำพังในที่นี้ หมายถึง เราไม่เล่นโทรศัพท์ ไม่เปิดโทรทัศน์ ไม่อ่านหนังสือหรือทำงานไปกินไป ทำอย่างเดียวคือกินอาหารเงียบๆ สัก 5 คำ

.

  1. เคี้ยวนานๆ สัก 25-30 ครั้ง/คำ หรือ เคี้ยวจนเป็นน้ำก่อนกลืน ให้เลือกเองว่าจะทำสักกี่คำ (อย่างน้อยสัก 3-5 คำ นะ)
    ตักอาหารคำเล็กๆ แล้วตั้งใจเคี้ยวอาหารคำนั้นให้ละเอียด ลองนับว่า กว่าจะละเอียดเราเคี้ยวกี่ครั้ง — ลองเล่นดูก็ได้ คำแรกอาจจะเป็นพาสตา คำที่สองอาจจะเป็นแฮม คำที่สามอาจจะเป็นเห็ด คำที่สี่มีใบโหระพา และคำที่ห้าก็อาจจะเป็นพาสตาอีกที… อาหารแต่ละอย่างใช้เวลาในการบด การย่อยไม่เท่ากัน การเคี้ยวด้วยฟันเป็นการแสดงความรักต่อกระเพาะอาหารของเราเอง

.

  1. สังเกต texture ของอาหารที่กำลังอยู่ในปาก แข็ง นุ่ม กรอบ เหนียว
    เวลาที่ตักอาหารในแต่ละคำ ลองสังเกตว่า อาหารชนิดนั้นๆ ให้รสสัมผัสเป็นอย่างไร นุ่ม กรอบ นิ่ม ฟ่าม แข็ง เหนียว ฯลฯ มันสนุกดีนะ ที่เราใช้ตาในรับรู้อาหารในปากได้โดยไม่ต้องมอง ลองสังเกตว่า เวลากินอาหารนิ่ม ฟันของเรารู้สึกอย่างไร เวลากินอาหารแข็ง ฟันของเรารู้สึกอย่างไร ฯลฯ

.

  1. ทำความรู้จักอาหาร ที่อยู่ในจานบางชนิดในมื้อนั้นๆ เพื่อรับรู้กลิ่น รส ของมันจริงๆ
    โดยทั่วไป เราไม่ค่อยรู้รสชาติอาหารชนิดนั้นๆ ที่กำลังอยู่ในปากของเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น แครอท บล็อกโคลี่ ข้าว บะหมี่ ลูกชิ้น ไส้กรอก ฯลฯ เรามักรับรู้รสชาติจากความทรงจำ หรือไม่ก็เป็นภาพจำจากโฆษณา

ถ้าคุณเลือกที่จะภาวนาด้วยข้อนี้ คุณจะได้ทำความรู้จักอาหารนั้น ชิ้นนั้น แบบ real time และมันจะเป็นรสชาติของอาหารที่เป็นหนึ่งเดียวสำหรับคุณ เช่น คุณอาจจะเลือกลูกชิ้น — ในอาหารคำนั้นก็จะไม่มีอย่างอื่นนอกจากลูกชิ้น คุณค่อยๆ เคี้ยวมัน ลองนับว่า คุณต้องเคี้ยวกี่ครั้งก่อนกลืน ระหว่างที่เคี้ยวมันให้รสชาติอย่างไร ผิวสัมผัส กลิ่น ฯลฯ แล้วคุณจะรักข้าวหอมมะลิ รักผัก รักผลไม้ — ท่านติช นัท ฮันห์ บอกว่า เมื่อท่านเคี้ยวส้มเขียวหวาน ท่านรู้ว่าท่านกำลังรับประทานดวงอาทิตย์ — คุณก็อาจจะมีประสบการณ์แบบนี้ได้เช่นกัน

.


การภาวนานี้มีอานิสงส์

  1. คุณจะรู้สึกดี และมีความสุขได้ง่ายๆ เพราะรู้ว่าคุณมีอาหารอยู่ในจาน และยังมีฟันที่ใช้การได้ดี
  2. ถ้าทำต่อเนื่อง คุณจะไม่มีปัญหาเรื่องความอ้วน น้ำหนักเกิน
  3. คุณจะมีความสุขได้ง่าย เงินทองจะเหลือกิน เหลือใช้ เพราะกินอะไรก็อร่อย โดยไม่ต้องพึ่งมิชลินสตาร์

.

ลองดูนะคะ

การภาวนา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save