พัฒนาจิตสุขภาวะทางปัญญาการทำงานพัฒนาตัวเองเพิ่มทักษะการฟื้นคืน
8 ช่องทางความสุข, การฟื้นคืน (Resilience), ความกรุณาต่อตัวเอง

ทักษะสำหรับอนาคต

เริ่มจากความเข้าใจในตัวเอง ยอมรับสถานการณ์ที่กำลังประสบ และเห็นแนวทางในการปรับตัว เพื่อจะผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปให้ได้ เราเชื่อว่าทักษะการฟื้นคืนเป็นทุนที่ทุกคนมีอยู่ในตัวเอง

.

ในโลกที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมถึงกัน ความอ่อนไหวทางการเมืองประเทศหนึ่ง อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับโลก ผลของความแปรปรวนทางธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ คำถามสำคัญของผู้นำยุคใหม่ก็คือ อะไรคือทักษะที่สำคัญและจำเป็น ที่ต้องฝึกอย่างเร่งด่วน บทความนี้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่บริหารงานทรัพยากรบุคคลในบริษัทขนาดใหญ่ ที่เล่าถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรับกับสถานการณ์ในอนาคต

.

คุณอนุชาติ เจริญวงศ์มิตร (เจ) เป็นเจ้าหน้าที่ในสายงานทรัพยากรบุคคล (Human Resource Division) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (Muang Thai Life Assurance PCL: MTL) มีบทบาทเป็น HROD1 Specialist และเป็นส่วนหนึ่งของทีมวางแผนและจัดการหลักสูตร เพื่ออบรมให้แก่พนักงานในองค์กรโดยทำงานร่วมกับสายงานกลยุทธ์และบริหารงานฝึกอบรม ภายใต้ MTL Academy ทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กร พัฒนาบุคลากร แก้ปัญหาเฉพาะให้หน่วยงานย่อย และ การวางแผนเพื่อตอบโจทย์ขององค์กรในระยะยาว

คุณเจ และ คุณสกลพรรณ พรหมเจริญ (มาร์ค) ผู้ชำนาญงาน สังกัดฝ่ายกลยุทธ์และบริหารงานฝึกอบรม ของบริษัทฯ ได้เข้าอบรมในหลักสูตร Resilience Builder for HR & HRD ขณะนี้ได้นำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์นี้ไปร่วมกันบูรณาการกับชุดความรู้และทักษะอื่นๆ เพื่อจัดเป็นหลักสูตรการอบรมเฉพาะสำหรับบุคลากร เพื่อส่งเสริมการฝึกทักษะการลดความเครียดส่วนบุคคลและการฝึกทักษะร่วมเพื่อสร้างความก้าวหน้า


อยากฟังที่มาที่ไป ที่ทีมงานให้ความสนใจในทักษะการฟื้นคืน (Resilience skills)
ผมมีบทบาทเป็นผู้จัดเวิร์คช็อปภายในองค์กร เป็นเทรนเนอร์ วางหลักสูตร เตรียมเครื่องมือให้พนักงานเรียนรู้และพัฒนา ขณะนี้มี 2 หลักสูตรหลักที่ผมเป็นผู้ดูแลคือ Strength Based Development – การพัฒนาโดยใช้จุดแข็งเป็นฐาน ฝึกการใช้เครื่องมือ Strength Finder2 ซึ่งตัวผมผ่านการรับรองในการเป็นวิทยากรของหลักสูตร (Gallup Certified Strength Coach) อีกหลักสูตรหนึ่งที่ผมร่วมสอนคือ The 7 Habits of Highly Effective People3 นอกจากสองหลักสูตรหลักนี้ ผมจัดการฝึกอบรมตามโจทย์ขององค์กร เช่น การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) หรือการแก้ปัญหาบางอย่างในการทำงาน


ทักษะการฟื้นคืน (Resilience skills) เป็น 1 ใน 6 ของทักษะหลักสำหรับการสร้างผู้นำในอนาคต (Future skills) ขององค์กรของเราครับ ทักษะหลัก 6 อย่างนี้ HR และ MTL academy กำหนดขึ้นร่วมกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว — จริงๆ แล้วพวกเราศึกษากันมาระยะหนึ่งแล้วครับว่า พนักงานของเราควรจะฝึกทักษะด้านใดบ้างทั้งในแง่การทำงานและในด้านชีวิตส่วนตัว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสนับสนุนให้คนฝึกทักษะครั้งละ 30-40 ทักษะ เราจำเป็นต้องพิจารณาว่าจัดว่าทักษะไหนที่สำคัญสำหรับบุคลากรในองค์กรของเรา พอตกผลึกว่ามี 6 ทักษะที่จำเป็นมาก และทุกคนจะต้องฝึก ในปีนี้เราเริ่มต้นด้วยการสื่อสารทักษะเหล่านี้ให้เข้าใจมากขึ้น วางแนวทางให้พนักงานของเราได้รู้จัก ได้เรียนรู้ ลองฝึกและพัฒนาให้ทักษะเหล่านี้มีอยู่ในตัวเอง ทักษะ 6 อย่างที่พนักงานของเราควรจะรู้และฝึกก็คือ

  1. การสื่อสาร – Communication
  2. การวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ – Business Data Analytics
  3. การคิดเชิงวิจารณญาณ – Critical Thinking
  4. การตอบสนองอย่างฉับไว – Agility
  5. การฟื้นคืน – Resilience
  6. ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล – Digital Literacy

.

ทำไม Resilience skills จึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต
เราให้นิยาม การฟื้นคืน – Resilience ว่า เป็นทักษะด้านความคิดและจิตใจ ที่แสดงออกถึงความเข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญความยากลำบาก เมื่อเจออุปสรรคก็พร้อมที่จะฟื้นกลับมา ลุกขึ้นได้อีกครั้งแล้วเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้


การส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาทักษะนี้ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน โดยเริ่มจากความเข้าใจในตัวเอง ยอมรับสถานการณ์ที่กำลังประสบ และมองเห็นแนวทางในการปรับตัว เพื่อจะผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปให้ได้ เราเชื่อว่าทักษะการฟื้นคืนเป็นทุนที่ทุกคนมีอยู่ในตัวเอง สามารถเปิดใช้งานได้ถ้ารู้จักและได้ฝึกบ่อยๆ เพื่อช่วยเรากลับสู่สภาวะปกติได้ แล้วก้าวไปต่อทั้งในชีวิตตนเองและการทำงาน


Resilience skills เป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริหารและบุคลากรพูดถึงอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำนี้ก็อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไรนักในบริบทของตัวบุคคล แต่เราอาจจะได้เห็นกันมากในฝั่งของธุรกิจ การใช้การฟื้นคืนในบริบทของทรัพยากรมนุษย์กับการฟื้นคืนในบริบทของธุรกิจนั้นมีส่วนที่แตกต่างกันมากพอสมควร – การเติม ทักษะการฟื้นคืน (Resilience) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากๆ


การใช้ Resilience Deck4 เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในองค์กร
ผมทดลองใช้เครื่องมือฝึกทักษะ Resilience Deck ใน 2 -3 รูปแบบ ในช่วงทดลอง ผมใช้เครื่องมือนี้ใน setting เดียวกับที่ผมอบรมกับธนาคารจิตอาสา คือ ให้ผู้เข้าอบรมรู้จักความหมายและความแตกต่างของมิติการบริหารธุรกิจ (business resilience) และมิติของการฟื้นคืนของมนุษย์ (resilience skills) เมื่อเข้าใจความหมายของ resilience แล้วก็ลองฝึกใช้การ์ดเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการฝึก เปิดโอกาสให้เขาได้สำรวจตัวเอง ในภาวะที่เขาล้ม เขาลุกขึ้นมาอย่างไร เขาทำอะไรบ้าง ให้ลองดูทักษะที่เขาใช้ กับ ทักษะที่อยู่ในการ์ด บางอย่างอาจจะคุ้นเคย บางอย่างเป็นของใหม่ และบางอย่างก็อาจจะต่างกันแค่การเรียกชื่อ — ทั้งหมดนี้มันช่วยเปิดโลกการรับรู้ของเขา สิ่งที่สำคัญก็คือมันทำให้เขารู้ว่า มันมีวิธีที่จะสังเกตตัวเอง และมันมีตัวช่วยในการดูแลตัวเอง ในการฟื้นฟูตัวเอง


หลังจากจบการอบรมนั้น และการอบรมในหลักสูตรของธนาคารจิตอาสาก็เสร็จสิ้นพอดี ตัวผมและทีมที่ผ่านการอบรมมาด้วยกันได้ช่วยกันจัดกระบวนการให้กับ trainer ของ MTL Academy — พวกเราอยากให้คนในองค์กรได้เรียนรู้เรื่องทักษะการฟื้นคืน และเห็นว่า เครื่องมือชุดนี้ทำให้มีความเข้าใจ และฝึกทักษะนี้ได้อย่างชัดเจน ตัวผมเองและกลุ่มวิทยากร 7 Habits ก็อยากจะนำสาระสำคัญของ 7 Habits มาเชื่อมกับการฟื้นคืน (resilience) เพราะเรามองว่ามันเชื่อมโยงกันได้ในหลายๆ ส่วน เราจึงจะลองเอาแนวคิดสำคัญมาพัฒนาหลักสูตรเฉพาะของเรา


หลักสูตรการอบรมนี้ชื่อ Proactive Resilience อยู่ในระหว่างพัฒนาหลักสูตรครับ อิงเนื้อหาและทักษะมาจากสองชุดความรู้ เราจะใช้สอนพนักงานและเจ้าหน้าที่ของทั้งองค์กร ตอนนี้อยู่ในช่วงของการทดลองใช้ (Demo) แล้วจากนั้นจึงจะนำไปถ่ายทอดให้กับวิทยากรภายใน (Train the Trainer) ซึ่งตัวเราจะช่วยกันออกแบบ แล้วจากนั้นก็จะกระจายการอบรมให้ทั่วทั้งองค์กร


ประสบการณ์ส่วนตัวในการฝึก resilience ในชีวิตประจำวัน
ผมชอบการฝึกหยุดเพื่ออยู่ในปัจจุบัน (pause to be presence) การหยุดสักนิดหนึ่ง นิ่งๆ สักนิดหนึ่ง ผ่อนคลายสักหน่อยนึงก่อนไปต่อ ช่วยได้มาก ผมชอบการฝึกนี้


ผมใช้การ์ดชุดนี้กับตัวเองอย่างละเอียดตอนที่เรียน เห็นความถนัดของตัวเองว่ามักจะใช้ทักษะในกลุ่มไหน ในระยะหลังมานี้ผมใช้ทักษะได้โดยไม่ได้เปิดการ์ด การ์ดที่จะเตือนผมบ่อยๆ และมันทำให้ผมอุ่นใจมากๆ คือ การ์ดทีมชีวิต มันทำให้ผมรู้สึกว่า เรามีคนอยู่ข้างๆ เรา เรามีคนที่เราขอความช่วยเหลือได้ ตัวผมไม่ได้เปิดการ์ดทุกวันนะครับ แต่ผมวางกล่องการ์ดไว้ในที่ซึ่งผมจะเห็นได้ มันเตือนผมว่า เมื่อถึงช่วงที่ยากลำบาก ผมยังมีตัวช่วยเสมอ


…………………………………………………………………..


1 HROD – Human Resource and Organization Development
2 Strength Finder – การค้นหาจุดแข็งในตนเอง
3 The 7 Habits of Highly Effective People – 7 อุปนิสัยสำหรับผู้มีประสิทธิผลสูง โดย Stephen R. Covey
4 Resilience Deck – ชุดการ์ดเพื่อฝึกทักษะการฟื้นคืน ประกอบด้วยคู่มือและการ์ดฝึกทักษะ 6 หมวด พัฒนาขึ้นโดยโครงการความสุขประเทศไทย และ ดร.เบนจามิน ไวน์สตีน

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save