ฟื้นมนุษย์ สร้างองค์กร
บริษัทลูกที่มีวัฒนธรรมต่างกัน 3 แห่ง มีความคิดต่างกัน มีแบบแผนความเชื่อต่างกันแต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน ทำอย่างไรให้เขาเชื่อมเข้าหากันให้ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้เขาได้ยินกัน ทำให้หัวหน้าได้ยินลูกน้อง ทำให้เสียงของคนข้างล่างขึ้นไปถึงคนข้างบน ทำให้คนข้างบนได้ยินเสียงของคนข้างล่าง และเห็นว่าเสียงนั้นมีความหมาย
.
เมย์ – พัฒอนัญฌ์ เผือกสูงเนิน เคยทำงานเป็นนักจัดกระบวนกรในองค์กรขนาดใหญ่ มีประสบการณ์ทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาองค์กร เมย์เล่าว่าเธอไม่ได้ร่ำเรียนมาในสายงานบริหารโดยตรง จบปริญญาตรีในภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล พอเรียนจบก็เห็นชัดว่าเธอไม่ชอบทำงานในห้องแล็บจึงตัดสินใจเรียนต่อ HROD1 จากนั้นจึงเข้าสู่เส้นทางทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ทำงานในองค์กรนี้ 8 ปีเศษ ได้ทำหลายอย่างที่ตรงกับความสนใจโดยเฉพาะ การพัฒนาองค์กร ด้วยงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล
เริ่มต้นที่การฟัง
งานที่ทำมีหลายอย่างค่ะ แต่โดยทั่วไปก็คือ งานพัฒนาภาวะผู้นำ จัดกระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้นำ (Leader) ฟังลูกน้องให้เป็น จากนั้นจึงใช้การตั้งคำถามแบบโค้ชมาช่วยให้การทำงานเป็นทีมดำเนินไปได้ ถ้าหัวหน้าเป็นผู้สร้างสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Psychological Safety) ที่เอื้อต่อการทำงาน พนักงานก็จะเป็นนักเรียนรู้ เป็นผู้สร้างนวัตกรรม (innovator) ให้องค์กร
งาน OD – Organization Development เป็นเหมือนหมอที่เข้าไปวินิจฉัยโรค เพียงแต่โรคที่ว่านี้เป็นโรคที่เกิดกับองค์กร ต้องเข้าไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น — ปัญหาเกิดจากคน หรือ ระบบ หรือภาวะผู้นำ หรือปัญหาความสัมพันธ์ภายในทีม ฯลฯ มีหลากหลายมาก ถ้าวินิจฉัยได้ก็เริ่มออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เป้าหมายก็คือให้เขาเห็นปัญหาบนกระดานเดียวกัน ได้คุยกัน มองเป้าหมายร่วมกัน แล้ววางแผนเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งมันตอบโจทย์เยอะมาก แก้ปัญหา ad hoc2 ในโรงงานได้ แก้ปัญหาเรื่อง yield3 ได้ หรือช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ยุบรวมบริษัท ก็สร้างวัฒนธรรมใหม่ได้ (culture transform) —บริษัทลูกที่มีวัฒนธรรมต่างกัน 3 แห่ง มีความคิดต่างกัน มีแบบแผนความเชื่อต่างกันแต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน ทำอย่างไรให้เขาเชื่อมเข้าหากันให้ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้เขาได้ยินกัน ทำให้หัวหน้าได้ยินลูกน้อง ทำให้เสียงของคนข้างล่างขึ้นไปถึงคนข้างบน ทำให้คนข้างบนได้ยินเสียงของคนข้างล่าง และเห็นว่าเสียงนั้นมีความหมาย ถ้าหัวหน้าไม่เป็นหัวหน้าที่ Toxic กับลูกน้อง ถ้าลูกน้องรู้สึกได้ว่า ‘หัวหน้ารับฟัง’ เรื่องอื่นๆ ก็จะง่าย เครื่องมือต่างๆ เช่น KM4 Scrum & Agile5 Design Thinking6 ก็จะถูกนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะทำได้อาศัยรากฐานสำคัญคือ เชื่อในความเป็นมนุษย์ ฟังเป็น และได้ยินกัน
ความสนใจต่อประเด็นการฟื้นคืน (resilience)7
ปัจจุบัน เมย์ไม่ได้สังกัดองค์กรขนาดใหญ่นั้นแล้วนะคะ แต่เล่าย้อนกลับไปว่า ระหว่างการทำงานในองค์กรนั้น เมย์ก็ทำงานอาสาเกี่ยวกับการฟังด้วย ทั้งฟังผู้ป่วยจิตเวช และ เป็นอาสาสมัครในวงฟังความทุกข์ขององค์กรสาธารณกุศลแห่งหนึ่ง รู้สึกจริงๆ เลยว่า ปัญหาสุขภาพจิตมีเยอะขึ้นและเริ่มเห็นว่าทักษะของเราไม่พอจึงไปเรียนหลักสูตรจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ของคณะแพทย์ จุฬาฯ ซึ่งคำว่า Resilience ก็มีอยู่ในการเรียนนี้ด้วย
คำว่า Resilience ถูกใช้ทั้งในด้านจิตวิทยา และการบริหารองค์กร และมีความย้อนแย้งกันอยู่ คำนี้ในภาคธุรกิจ หมายถึง ความสามารถที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว (ล้มเร็ว ลุกเร็ว) แต่ในเชิงการบำบัด การทำงานกับมนุษย์ หรือการเยียวยา เราจะบอกว่า ล้มได้ แล้วค่อยๆ ลุก ไม่ต้องรีบ เพราะถ้าเอา mind set แบบธุรกิจมาใช้กับชีวิตคน มันจะพัง สมมติว่าเราเบิร์นเอาท์ หมดแรง แล้วก็มีเสียงภายในตัวเองที่คอยบอกว่า ‘ต้องมีแรง ต้องลุกเดี๋ยวนี้’ — มันไม่ได้ ยิ่งเคี่ยวกรำก็ยิ่งหมดแรง แล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น
ทักษะการฟื้นคืน (resilience skills) ที่ได้ลองใช้กับคนกลุ่มต่างๆ ที่เมย์ทำงานด้วยเป็นอย่างไรบ้าง
เมย์ได้ชุดการ์ดการฟื้นคืน (Resilience Deck) มาจากการอบรม การ์ดชุดนี้ practical มากๆ ค่ะ เราใช้เป็นเครื่องเตือนตัวเอง ได้ทบทวนตัวเอง ได้ถามตัวเองว่าเราฝึกเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า เราทำเรื่องนี้หรือยัง เมื่อเราฝึกทักษะนี้อย่างต่อเนื่อง เปิดการ์ดทุกวัน เราก็ยืดหยุ่นกับชีวิตมากขึ้นจริงๆ ทักษะหลายๆ อย่างง่ายมากๆ เลย อยู่ในชีวิตของเราอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ เรามองผ่านไป เช่น การหายใจ การยิ้ม การขอบคุณ
ในมิติของคนทำงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กร เมย์ให้ความสำคัญกับคนเป็นหัวหน้า (leader) เพราะถ้าหัวหน้าดี เป็นหัวหน้าที่ไม่ toxic เขาจะนำทีมได้ เขาจะเห็นความสำคัญของลูกน้อง บ่อยมากที่เมย์ใช้การ์ดนี้ในช่วงของการเช็คเอาท์หลังจบกระบวนการ เขาจะใช้การ์ดนี้ช่วยส่งเสริมให้เขาสำเร็จตามเป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้ได้อย่างไร จะขอบคุณทีมของเขาอย่างไร ครั้งหนึ่งที่ได้นำกระบวนการให้กับเจ้าหน้าที่กรมพินิจ ซึ่งคนเหล่านี้จะทำงานกับเยาวชน เมย์ใช้การ์ดชุดนี้ชวนให้เขาชื่นชมและขอบคุณตัวเอง และชวนว่าเขาจะขอบคุณคนตรงหน้าอย่างไร
เมย์เคยใช้การ์ดชุดนี้ตอนเป็นอาสาทำงานกับผู้ป่วยจิตเวชในระยะฟื้นฟู (เมย์กำลังฝึกอยู่ ยังไม่เก่งนะคะ — ยิ้ม) มีพี่คนหนึ่งซึ่งเขาเคยพักอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชมานานมาก เขาหยิบได้การ์ด “ลิ้มรส ณ ขณะปัจจุบัน” แล้วเค้าบอกว่า “การรู้สึกได้ว่า เท้ากำลังเหยียบพื้นดิน มันดีมาก” นี่คือ ปัจจุบันขณะของเขา
เมย์ชอบการ์ด เข็มทิศแห่งคุณค่า ทุกคืนก่อนนอนเมย์ได้ใช้การ์ดนี้ทบทวนตนเองว่า วันนี้เราทำอะไรลงไปบ้าง มันตอบโจทย์ความมุ่งหมายของเราไหม บางทีเราเจอเรื่องแย่มาทั้งวัน ทำไมมันแย่ขนาดนี้ การ์ดช่วยให้เราได้ตั้งหลัก กลับมาทบทวนว่า ในความแย่เหล่านี้ มีอะไรที่ตอบโจทย์คุณค่าของเราบ้าง หรือมันเกี่ยวข้องกับคุณค่าที่เรายึดถืออย่างไร
เมย์เคยภาวนากับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ หลวงปู่สอนเรื่องการใช้ชีวิตเพื่อยังประโยชน์แก่สรรพชีวิต ความมุ่งหมายของเมย์คือ การดำเนินชีวิตเพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตอื่น คุณค่าหลัก 3 อย่าง ที่เมย์ใช้บ่อยๆ ในระยะนี้ คือ 1.) การระลึกบุญคุณ (gratitude) 2.)การเรียนรู้ (learning) และ 3.)ความเบิกบาน (joy) บางวันที่มันแย่มากๆ เมย์กลับมาถามกับคุณค่าที่เมย์ใช้เพื่อนำทางชีวิต
การ์ดมีตั้ง 55 ใบค่ะ บางทีเมย์ก็เปิดการ์ดดูไปเรื่อยว่าตอนนี้ เหนื่อยแบบนี้ น่าจะฝึกเรื่องอะไร ^^ ท้ายนี้เมย์รู้สึกขอบคุณมากที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ อยากให้พวกเรามีโอกาสได้ชาร์ตแบตในตัวเองเรื่อยๆ ถ้ามีโอกาสมากกว่านี้ พวกเราก็น่าจะได้มาเล่นการ์ด้วยกันค่ะ
*ติดตามการฟื้นคืนพลังในตัวเองได้ในลิงก์นี้นะคะ
https://www.happinessisthailand.com/category/resilience/
*หมายเหตุ
1 HROD – Human Resources for Organization Development การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กร
2 ad hoc – ปัญหาเฉพาะกิจ
3 yield – ผลผลิตต่อหน่วย เช่น กี่กิโลกรัมต่อไร่, กี่ชิ้นต่อชั่วโมง
4 KM – Knowledge Management การจัดการองค์ความรู้
5 Scrum & Agile การทำงานเพื่อประสิทธิภาพและรวดเร็ว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
6 Design Thinking กระบวนการคิดเชิงออกแบบ
7 Resilience –ความยืดหยุ่น หรือการฟื้นคืน เป็นคำที่ใช้ในหลากหลายมิติ การอบรม resilience โดยธนาคารจิตอาสาและความสุขประเทศไทยให้ความสำคัญต่อทักษะการฟื้นคืนสำหรับมนุษย์