8 ช่องทางความสุข, การฟื้นคืน (Resilience), ความกรุณาต่อตัวเอง

การฟื้นคืนของพนักงานสำคัญแค่ไหน

การฟื้นคืน (Resilience) เป็นทักษะที่เรามีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ความสำคัญ เหมือนกับเรามีของที่มีค่าอยู่ในตัวแต่เราไม่ใส่ใจ การฝึกฝนสิ่งที่เรามีอยู่จะเรียกว่าเป็นการลับอาวุธให้คม หรือเจียระไนเพชรพลอยในตัวเองให้มันเปล่งประกายมากขึ้นก็ได้ เป็นทักษะที่จะทำให้เราพักเป็น หยุดเป็น มีแรง มีกำลังใจในวันใหม่ทุกๆ วัน

.

คุณฟาง ธัญญารัตน์ คันธวงค์ เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมอาวุโส (Senior Training Officer) ได้เข้าร่วมอบรมการฝึกทักษะการฟื้นคืน (resilience skills) ซึ่งจัดโดยโครงการความสุขประเทศไทยและธนาคารจิตอาสาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามผลการอบรม และผู้จัดฯ เห็นว่า บทสัมภาษณ์นี้ให้มุมมองบางอย่างที่เป็นประโยชน์สำหรับสาธารณะจึงได้นำมาเผยแพร่ และได้ขออนุญาตผู้ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว


ขอถามคุณฟางก่อนว่าความสนใจของฟางต่อหลักสูตรนี้เป็นอย่างไร
ฟางเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานนี้ในไลน์กลุ่มของบริษัทค่ะ เป็นกิจกรรมฝึกอบรมที่เจาะจงเลยว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล มันทำให้ฟางรู้สึกว่ามันน่าจะสำคัญสำหรับคนในสายงานนี้จริงๆ ตัวฟางอยากรู้ความหมายของคำว่า resilience พยายาม search แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี — พอคุยกับหัวหน้า หัวหน้าบอกว่าก็น่าจะมาเรียน เผื่อจะได้มีเครื่องมือ มีทักษะเอามาปรับใช้ในองค์กรของเรา ก็เลยได้มาอบรมค่ะ องค์กรของเรามากัน 2 คน จะได้ช่วยกัน


พอได้เรียนครั้งแรกก็เข้าใจมากขึ้นทันที (การอบรมนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ อบรมในห้องอบรม 3 ครั้ง และมีแบบฝึกหัดเพื่อฝึกในชีวิตประจำวัน) เพราะมันเป็นทักษะที่เรามีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ความสำคัญ ไม่ได้ฝึกจริงจัง เหมือนกับเรามีของที่มีค่าอยู่ในตัวแต่เราไม่ใส่ใจ การมาเรียนก็เป็นการกลับมาค้นหา ทบทวนชีวิต ค้นพบ แล้วเราก็ค่อยๆ ฝึก ฝึกฝนสิ่งที่เรามีอยู่ จะเรียกว่าเป็นการลับอาวุธให้คม หรือเจียระไนเพชรพลอยในตัวเองให้มันเปล่งประกายมากขึ้นก็ได้ เป็นทักษะที่จะทำให้เราพักเป็น หยุดเป็น มีแรงมีกำลังใจในวันใหม่ทุกๆ วัน ถ้าเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ฟางรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกตัวเร็วขึ้น ฟื้นตัวได้ไวขึ้น


รู้สึกตัวเร็วเป็นอย่างไร
ฟางเป็นคนคิดเยอะ ขี้กังวล เรื่องในที่ทำงานก็เก็บไปคิดที่บ้าน เรื่องที่เกิดในบ้านก็เก็บเอาไปคิดในที่ทำงาน บางทีก็เอาเรื่องโน้นมาผสมเรื่องนี้ คิดมากก็นอนไม่หลับ บางทีก็เอาเรื่องหนึ่งไปพาลอีกเรื่องหนึ่ง (หัวเราะ)


พอเข้าอบรม ก็เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่นการสังเกตร่างกาย สังเกตอารมณ์ เรื่องแบบนี้มันง่ายๆ เช่น บางวันเราเหนื่อยมากจริงๆ ล้า หงุดหงิด คิดแต่เรื่องลบๆ พอได้เห็นก็กลับมาตั้งหลัก สำรวจร่างกาย เห็นว่าร่างกายล้า ก็พักเลย บอกตัวเองว่า วันนี้เหนื่อย พักก่อน พรุ่งนี้เอาใหม่ มันง่ายๆ แค่นี้เอง แล้วพอพักได้ดี กินดี นอนดี วันรุ่งขึ้นก็มีแรง มีมุมมองใหม่ มันคือการยอมให้ตัวเองหยุดจากเรื่องที่มันเยอะแยะมากมาย แล้วค่อยๆ ไล่มาทีละเรื่อง ฟางทำตามที่วิทยากรสอนเลยค่ะ ว่าให้เริ่มจากการสังเกตเรื่องง่ายๆ ก่อน เช่นสังเกตร่างกาย สังเกตอารมณ์ — ฟางไม่ได้เริ่มจากเรื่องการคิด หรือมุมมอง ฟางว่ามันง่ายดี


แล้วเมื่อก่อนฟางรับมือกับความเครียด ความกังวลอย่างไร
ฟางรู้ว่าตัวเองเครียด กังวล แต่ไม่ยอมพัก เอาเรื่องงานกลับไปที่บ้าน แล้วก็เอาเรื่องในบ้านไปที่ทำงาน ทุกอย่างปนเป รู้สึกว่าหยุดไม่ได้ ทำงานก็เหนื่อยเพราะมันมีเรื่องบ้านเข้ามากวน หอบงานกลับไปทำที่บ้านก็เหนื่อย เพราะรู้สึกว่าอยู่บ้านก็ยังต้องทำงานอีก ไม่เหลือเวลาให้ตัวเองเลย ไม่อยากคุยกับใคร ไม่มีแรง ไม่อยากคิด เคยทำกับข้าวกินเองจะได้ healthy สักหน่อย ก็ไม่อยากทำ ไม่มีแรง การกินก็ไม่ดี วินัยประจำวันเละเทะ บางทีก็เงียบมากจนเพื่อนร่วมงานทัก


พอเข้าอบรม สังเกตตัวเองมากขึ้น สื่อสารกับตัวเองมากขึ้น มีการ์ดใบหนึ่งที่บอกว่าให้เราแบ่งงานให้เป็นชิ้นเล็กๆ — ค่อยๆ ทำไปทีละเรื่อง อันนี้ช่วยฟางมาก

คล้ายๆ กับว่าถ้าต้องรับผิดชอบเค้กชิ้นนี้ ฟางก็หอบเค้กก้อนนั้นไปไหนต่อไหนตลอดเวลา ทุกที่ แต่ตอนนี้ฟางรู้จัก แบ่งเค้กเป็นชิ้นเล็กๆ จัดการทีละส่วน ถ้าจะต้องหอบเค้กกลับบ้าน ก็หอบเฉพาะส่วนเล็กๆ นั้น ไม่ใช่ขนกลับทั้งหมดให้มันหนักเปล่าๆ

ฟางวางแผนมากขึ้น ชิ้นนี้จะเสร็จวันไหน เรื่องไหนเร่งด่วน เรื่องไหนสำคัญ พอรู้จักการจัดลำดับแบบนี้มันทำให้ enjoy ไปกับวันแต่ละวันได้มากขึ้น เรื่องดีๆ ก็แฮปปี้ไปกับมัน เรื่องไม่ดีก็ค่อยๆ ดู ปัญหาเกิดตรงไหน ค่อยๆ แก้ ให้กำลังใจตัวเอง บางทีก็มีเรื่องที่ fail ก็ต้องยอมรับ เริ่มใหม่ สิ่งที่ทำได้ดีจริงๆ ก็ยอมรับว่ามันดีจริงๆ ยิ้มรับ มีกำลังใจ — ก่อนหน้านี้ฟางรู้สึกว่ากว่าจะจบไปทีละเรื่องนานมาก มันปนกันไปหมด รู้สึกว่าทุกวันนี้รู้สึกว่าจบเป็นเรื่องๆ จัดการเร็วขึ้น รู้สึกดีขึ้น


Resilience ในองค์กร
บริษัทของเรามีการประชุมของฝ่ายบุคคลเดือนละครั้ง เราหยิบการ์ดที่พวกเราจะฝึกร่วมกันได้ง่ายๆ มาให้เพื่อนหยิบแล้วฝึกด้วยกันก่อนเริ่มประชุม เช่น การ์ดการขอบคุณตัวเอง การขอบคุณสิ่งเล็กๆ การทำแบบนี้มันก็ทำให้เราได้ connect กันมากขึ้นนิดหน่อย เติมพลังให้ตัวเองเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเริ่มประชุมค่ะ

.

มีประสบการณ์หนึ่งที่พวกเราอยากเล่าคือ ได้นำการ์ดนี้คุยกับน้องที่เป็นพนักงานฝึกหัด — ทีมของเราได้ข้อมูลมาว่าอยากให้ช่วยกับน้องคนหนึ่งซึ่งอยู่ในช่วงทดลองงาน คะแนนไม่ค่อยดี น้องไม่ค่อยสื่อสาร ไม่จดจ่อกับงานเท่าที่ควร พวกเรา (ฝ่ายบุคคล) นั่งคุยกันและคิดว่าน่าจะเอาการ์ดมาใช้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราใช้การ์ดกับพนักงานที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายบุคคล


การ์ดชุดนี้มี 6 หมวด 55 ใบ แต่เราตัดสินใจเลือกการ์ดออกมาใช้แค่จำนวนหนึ่ง ไม่ใช้การ์ดในหมวดจิตวิญญาณเลย เพราะคิดว่ายาก และไม่เหมาะกับสถานการณ์นี้ พวกเราชวนน้องเปิดการ์ดและชวนฝึกไปด้วยกัน


เราเริ่มจากการ์ดชุดพื้นฐาน ชวนหยุดและอยู่ด้วยกัน หายใจด้วยกัน จากนั้นก็ชวนหยิบการ์ดในหมวด การฟื้นคืนทางกายภาพ (physical resilience) การ์ดที่เปิดออกมาคือ การนอนหลับ ก็เลยได้คุยกัน น้องบอกว่าเขานอนไม่ค่อยหลับ ก็เลยได้คุยกัน ได้ถามว่าน้องเข้านอนกี่โมง ห้องพักของน้องเป็นอย่างไร ทำไมจึงนอนไม่หลับ —


น้องเล่าว่าพอนอนไม่ดีก็เพลียสิ่งที่ตามมาคือรู้สึกว่าโฟกัสเรื่องงานไม่ค่อยได้ เราก็เลยชวนน้องเขียน action สัก 3 อย่างที่เขาคิดว่าเขาทำได้เพื่อจะช่วยเรื่องการนอน น้องบอกว่าเขาจะปรับเวลาเข้านอน จะปรับปุ่ม snooze และจะลดการเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน

จากนั้นก็ให้น้องเลือกการ์ดที่เขาอยากฝึกใน 1 สัปดาห์ น้องเลือกการ์ด การรับรู้ความเบิกบาน การให้อภัยตัวเอง การเปิดการ์ดมันเป็นตัวช่วยให้เรามีเรื่องให้คุยกัน ได้ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา ทำไมเขาจึงเลือกการ์ดนี้ การได้ฟังเรื่องราวทำให้เข้าใจน้องมากขึ้น เข้าใจการคิดและการกระทำ ได้เห็นว่าน้องยังเป็นเด็กจริงๆ นะ เช่นน้องไม่กล้าถามทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ หรือการที่น้องไม่จดงานว่าต้องทำอะไร ต้องเสร็จเมื่อไร จัดลำดับความสำคัญไม่ได้ น้องจึงคุ้นเคยที่จะทำงานตามสั่ง — สั่งตอนนี้ก็ทำตอนนี้ ถ้าไม่สั่งหรือไม่ทวงก็ไม่ได้ทำ (เพราะลืม) ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นปัญหาในการทำงานแน่นอน อีกอย่างที่เราได้เห็นก็คือ น้องมีธรรมชาติที่จะโทษตัวเองด้วย มันทำให้พวกเรา (ฝ่ายบุคคล) เห็นวงจรที่เป็นปัญหา


พอมาถึงครั้งที่ฟางจะได้หยิบการ์ด ฟางเลือก การ์ดทีมชีวิต อยากฟังว่าเวลาที่มีปัญหาน้องนึกถึงใคร ตอนที่ใช้การ์ดนี้ เราภาวนาเล็กๆ ด้วยกันเหมือนที่อยู่ในเวิร์คชอป ชวนให้นึกถึงคนที่หวังดีกับเรา คนที่จะให้กำลังใจเรา ปรากฎว่าในกิจกรรมนี้ น้องร้องไห้ แล้วขอตัวไปเข้าห้องน้ำ เราทุกคนก็พัก รอน้อง — ระหว่างที่รอ ฟางกังวลเยอะเหมือนกัน เป็นห่วง ไม่รู้ว่าความอยากช่วยของเรามันเป็นการทำร้ายเขาหรือเปล่า เราไปสะกิดอะไรหรือเปล่า


พอน้องออกมา ก็ชวนคุยนิดหน่อย น้องโอเคไหม แล้วชวนหยิบการ์ดใบสุดท้ายเพื่อจะบอกพวกเราปรากฎว่าน้องเลือกการ์ด ปรับมุมมอง — การหยิบการ์ดใบนี้เซอร์ไพร้ส์พวกเรา (เจ้าหน้าที่บุคคล) มากๆ — ไม่คิดเลยว่าน้องจะเลือกการ์ดใบนี้ ก็เลยได้คุยกันอีกพักหนึ่งว่า ในมุมมองของน้อง น้องเห็นสิ่งต่างๆ เป็นอย่างไร อยากให้มันเป็นอย่างไร อยากปรับอะไร และในมุมมองของพวกเราซึ่งเป็นพี่ๆ ในฝ่ายบุคคล พวกเราแต่ละคนมองอย่างไร และอยากปรับอะไร —


การได้คุยแบบนี้ดีมากจริงๆ ค่ะ พอได้เจอกันในสัปดาห์ต่อมาน้องเปลี่ยนไปมาก หน้าตาสดใสขึ้น เพื่อนๆ ในฝ่ายงานของน้องบอกว่าน้องพยายามปรับตัวมากขึ้นจริงๆ คุยและสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ตอบไลน์ จดงาน ทุกคนเห็นความพยายามของน้อง น้องบอกว่า เขากลับไปปรับเวลานอนจริงๆ นอนเร็วขึ้น ปรับปุ่ม snooze (ปลุกซ้ำ) ให้มันซ้ำน้อยลง เพราการปลุกซ้ำมันไม่ช่วย ตัวฟางเองรู้สึกภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะน้องไม่ได้เปลี่ยนเพราะฟางคือใครๆ สั่งหรือบอกให้เปลี่ยน น้องเปลี่ยนเพราะตัวน้องเอง น้องเลือกเอง ฝ่ายบุคคลและการ์ดเป็นตัวช่วย มันดีจริงๆ ค่ะ โดยส่วนตัวฟางรู้สึกว่าตัวการ์ดมันมีพลังบางอย่างนะคะ (ฮา)


น้องเล่าว่า วันหยุดที่ผ่านมาของเขานั้น เป็นครั้งแรกเขานั่งฟังเพลงเพลงหนึ่งอย่างเบิกบานและฟังจนจบเพลง ซึ่งเขาทำอย่างนี้ไม่ได้มานานแล้ว — บางอย่างน้องก็ไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่น้องมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ


ทิ้งท้ายบทบาทของฝ่ายบุคคล
การดูแลพนักงานเป็นหัวใจการทำงานมากๆ การลาออกของพนักงาน พนักงานไม่มีความสุข ทำงานไม่ได้ อยู่ในองค์กรไม่ได้เป็นความสูญเสียอย่างหนึ่ง เพราะกว่าที่เราจะได้พนักงานที่ทำงานเป็น เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ เข้าใจวัฒนธรรมขององค์กร มันเป็นการลงทุนลงแรงอย่างหนึ่ง ดังนั้น ถ้ามีความรู้ มีเครื่องมือให้พนักงานรู้จักดูแลตัวเองได้มันดีอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ฝ่ายบุคคลทุกคนอยากให้มีอยู่แล้วค่ะ


……………………………………………………………………….

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save