8 ช่องทางความสุข

พลังของการอยู่เงียบๆ

ความเงียบเป็นสิ่งที่มาจากหัวใจของเธอ ไม่ได้มาจากภายนอก ความเงียบไม่ใช่การไม่พูด หรือการไม่ทำอะไร หากแต่หมายถึงสภาวะภายในของเธอไม่ถูกรบกวน ไม่มีการพูดจากภายใน บางขณะเธอคิดว่าเธอเงียบ และทุกสิ่งรอบตัวของเธอเงียบ แต่ยังมีการการพูดคุยอยู่ในหัวของเธอตลอดเวลา นั่นไม่ใช่ความเงียบ

.

  • การฝึกเพื่อสัมผัสความเงียบ เป็นการฝึกฝนในการรับรู้และอยู่กับเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัว ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย ไม่ต่อต้าน ไม่พยายามหยุดเสียงเหล่านั้น เพียงแค่รับรู้ว่ามีเสียงเกิดขึ้น แล้วกลับมาอยู่กับตัวเอง
  • การฝึกอยู่ในความเงียบสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ การฝึกในรูปแบบ (Formal practice) เช่น การฝึกในคอร์สปฏิบัติธรรม การตั้งเวลาเฉพาะ และการฝึกนอกรูปแบบ (Informal practice) ให้ผสานไปกับชีวิตประจำวัน
  • การฝึกอยู่ในความเงียบมีประโยชน์คือ ช่วยให้สงบลง ผ่อนคลายความเครียด อยู่กับปัจจุบันขณะ รู้จักตัวเองมากขึ้น


พวกเราหลายคนอยากอยู่เงียบๆ สักครู่เมื่อเสร็จสิ้นจากภารกิจในชีวิตประจำวัน หลายคนอยากภาวนา สนใจการนั่งสมาธิเพราะอยากจะอยู่นิ่งๆ ในความเงียบ เพราะพวกเราเชื่อว่า ความเงียบจะเยียวยาเราได้ ซึ่งความเงียบก็เยียวยาเราได้จริงๆ นั่นแหละ —- หลายคนสนใจภาวนา บางคนพบว่าทำไม่ได้เพราะไม่มี “ที่เงียบๆ” ส่วนบางคนมี “ที่เงียบๆ” แต่ก็ยังคงถูกรบกวนจากเสียงภายใน นั่งไม่ได้ อยู่ไม่ติด ยังคงรู้สึกว่า ถูกรบกวน ถูกรังควานอยู่นั่นเอง ถ้าเป็นอย่างนั้น เรามาความรู้จัก “ความเงียบ” กันก่อนไหม


ความเงียบคือ….
ท่านติช นัท ฮันห์ พระภิกษุชาวเวียดนาม กล่าวถึงความเงียบไว้ในหนังสือ your true home ว่า “ความเงียบเป็นสิ่งที่มาจากหัวใจของเธอ ไม่ได้มาจากภายนอก ความเงียบไม่ใช่การไม่พูด หรือการไม่ทำอะไร หากแต่หมายถึงสภาวะภายในของเธอไม่ถูกรบกวน ไม่มีการพูดจากภายใน บางขณะที่เธอคิดว่าเธอเงียบ และทุกสิ่งรอบตัวของเธอเงียบ แต่ยังมีการการพูดคุยอยู่ในหัวของเธอตลอดเวลา นั่นไม่ใช่ความเงียบ การฝึกปฏิบัติก็เพื่อจะพบความเงียบในทุกๆ กิจกรรมที่เธอทำ” — ถ้าพวกเราเคยเข้าป่า เราจะรู้ว่าป่าไม่เงียบ เวลาที่พวกเราอยู่ในวัด ในงานภาวนา แม้แต่งานภาวนาในความเงียบ “ปิดวาจา” เรามักจะพบว่า เราได้ยินสรรพเสียงชัดกว่าปกติ ไวกว่าปกติ … แสดงว่า แม้แต่ในงานภาวนาปิดวาจา ก็ยังมี “เสียง” และ “ไม่เงียบ” แต่ในความไม่เงียบนี้ เรากลับไม่รู้สึกว่าถูกรบกวน เพราะ ในความไม่เงียบนั้น มีความสงบเงียบที่ค่อยๆ เกิดขึ้นมาอย่างเบาๆ ในหัวใจของเรา

.

  • ท่าทีต่อเสียง


เสียงภายนอก เช่นเสียงเครื่องยนต์ เครื่องบิน เครื่องปรับอากาศ หมาเห่า นกร้อง เป็นธรรมชาติ เป็นปกติอย่างที่เป็น เสียงเหล่านี้ไม่มีเจตนาที่จะรบกวนความสงบของเรา


เสียงภายใน เช่น ความคิด เสียงพูดคุยในหัว เสียงวิจารณ์ตัวเอง เป็นความปกติของมนุษย์ที่ยังมีชีวิต — เราไม่ต้องสู้ ไม่ต้องพยายามหยุดเสียงนั้น ไม่พยายามให้เสียงเหล่านั้นเงียบลง


ทั้งเสียงภายนอกและเสียภายใน เปรียบเสมือเพื่อนร่วมงานของเรา เป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่กับเรา ขณะที่ฝึก เรารับรู้เสียงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ

.

  • อนุญาต


เมื่อเรารู้ว่าเสียงเป็นสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่ห้าม แต่เราอนุญาตให้เสียงเหล่านั้นมีอยู่ และอนุญาตให้ตัวเราอยู่ตรงนั้น เช่นเดียวกับที่ไม่ห้ามนกร้อง หมาเห่า ลมพัด ผีเสื้อบิน อนุญาตให้ความคิดผ่านมา อนุญาตมีความคิด (ความคิดจะผ่านไปหรือไม่ผ่านไปก็ช่างมัน) เราไม่ต้องทำอะไร

.

  • กลับมาที่ตัวของเรา


ในการภาวนา เราให้ความสนใจเพียง 1 อย่าง ณ ขณะนั้น เช่น ตามลมหายใจ การเคลื่อนไหวของมือ การก้าวเท้า การพอง-ยุบของท้อง อะไรก็ตามที่เป็น ‘เครื่องอยู่’ ของเรา เมื่อรับรู้เสียงรอบๆ ตัวสักครู่ ขอให้เรากลับมาอยู่กับตัวของเรา กับ ‘เครื่องอยู่’ ของเรา ปล่อยให้เสียงเป็นเพียงเสียง และเราอยู่กับตัวของเรา เบาๆ สบายๆ


การฝึกอยู่ในความเงียบ ในรูปแบบ (Formal practice)

.

  • ขั้นที่ 1 อยู่กับเสียง


ตั้งเวลาที่เราคิดว่าเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ถ้ามากเกินไปเราจะท้อและทำไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ถ้าน้อยเกินไปเราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ขอให้อยู่ในระยะ 8-20 นาที สำหรับผู้ฝึกใหม่


หาที่นั่งที่รู้สึกสบาย ในตอนแรกขอให้ลืมตา (ยังไม่หลับตา) พาใจกลับมาที่ตัวเอง แล้วเริ่มฟังเสียงที่ได้ยินรอบๆ ตัว — เสียงลม เสียงพัดลม เสียงเครื่องปรับอากาศ เสียงนก เสียงเด็กร้อง เสียงคนคุยกัน เสียงโทรทัศน์ ฯลฯ ค่อยๆ — ฟัง ได้ยินเสียง โดยไม่ต้องมีความคิดหรือมีท่าทีต่อเสียงเหล่านั้น แค่รับรู้จากเสียงหนึ่ง ไปอีกเสียงหนึ่ง เมื่อฝึกฟังแบบลืมตาสักครู่จึงค่อยๆ หลับตาลง แล้วฟังเสียงอีกครั้ง

ถ้าระหว่างที่ฝึกรู้สึกหงุดหงิดมาก รำคาญ หรือกลัวจนทนไม่ไหว ขอให้ลืมตาขึ้น กลับมาที่ลมหายใจ หายใจเข้าทางจมูก หายใจออกทางปาก (หรือหายใจเข้าทางปาก หายใจออกทางจมูก) สัก 3 ลมหายใจ แล้วค่อยๆ เริ่มใหม่ ถ้ารู้สึกว่า เหนื่อย ต้องสู้ ขอให้หยุด เปลี่ยนอิริยาบท เมื่อพร้อมแล้วค่อยเริ่มใหม่อีกครั้ง

.

  • ขั้นที่ 2 อยู่กับตัวเอง


เมื่อฟังเสียงที่เกิดขึ้นและอยู่ได้อย่างสบายดีแล้ว ค่อยๆ พาใจกลับมาที่ตัวของเราแล้วเริ่มอยู่กับตัวเอง เช่น อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก อยู่กับท้องที่พอง-ยุบ หรืออยู่กับมือที่ขยับ กำ-แบ หรือ พลิกคว่ำ-หงาย หรืออยู่กับร่างกาย เมื่อครบเวลา ก็ค่อยๆ ลืมตาขึ้น
*หากการฝึกแบบลืมตาช่วยให้อยู่กับตัวเองได้ง่ายกว่า ขอให้ฝึกแบบลืมตา


ในระหว่างการฝึกอยู่กับตัวเองนี้ การรับรู้เสียงก็อาจจะแทรกเข้ามาเป็นระยะๆ เป็นเรื่องปกติ ยังคงฝึกเช่นเดิมคือรับรู้ว่ามีเสียงเกิดขึ้น แล้วกลับมาอยู่กับตัวเองต่อไป ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านี้

การหลับตาอาจจะช่วยให้ได้ยินเสียงชัดเจนมากขึ้น ละเอียดขึ้น แต่เมื่อหลับตานานๆ (เกิน 2 นาที) ความคิดก็จะแทรกได้ง่ายกว่าและดึงเราออกไปจากตัวเองอย่างเนบเนียน ขอให้ทดลองฝึกและสังเกตด้วยตนเอง


การฝึกนอกรูปแบบ (Informal practice)

  • ขณะที่อยู่ในรถไฟฟ้า หรือขณะที่รอรถประจำทาง หรืออยู่บนรถประจำทาง ขอให้หยุดสักครู่ พาใจกลับมาที่ตัวเอง (จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้) ลองฟังเสียงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวอย่างตั้งใจ ฟังเฉยๆ ฟังทีละเสียง จากเสียงหนึ่งไปยังอีกเสียงหนึ่ง เสียงเครื่องยนต์ เสียงแอร์ เสียงพัดลม เสียงคนคุย เสียงก๊อกแก๊ก ฯลฯ ฟังโดยไม่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงเสียงเหล่านั้น ไม่ต้องรู้ว่าเสียงนั้นมาจากไหน ใครทำ แค่รับรู้ว่ามีเสียงเกิดขึ้น เสียงอยู่ตรงนั้น และตัวเราอยู่ตรงนี้ ไม่สู้ ไม่ต้องพยายามให้สิ่งต่างๆ เงียบ แค่รับรู้ว่ามีเสียง เมื่อฟังจนพอแล้ว พาใจกลับมาที่ตัวอีกครั้ง สังเกตว่าตัวเราก่อนหน้านี้กับขณะนี้เป็นอย่างไร ช้าลงบ้างหรือไม่ ยิ้มให้ตัวเอง แล้วกลับสู่ภาวะปกติ
  • เมื่ออยู่ที่โต๊ะทำงาน ก่อนเริ่มงาน หยุดสักครู่ในความเงียบ ฟังเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว เช่น เสียงคนคุยกัน เสียงเครื่องปรับอากาศ เสียงพัดลม เสียงอุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ — เวลาที่ได้อยู่ในความเงียบ (แม้จะเป็นการอยู่ท่ามกลางเสียง) เป็นการพักอย่างหนึ่ง
  • เราสามารถใช้การฝึกแบบนี้เพื่อการผ่อนคลายในธรรมชาติได้ ให้เวลาสัก 1-2 นาที ออกไปที่ระเบียง อยู่ในที่ที่เรารู้สึกว่าได้สัมผัสธรรมชาติ แล้วฟังเสียงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ถ้าเจอเสียงที่ชอบ (เสียงนก เสียงน้ำ เสียงลม เสียงเด็ก) ขออยู่กับเสียงนั้น ตามลมหายใจ และยิ้ม


เคล็ดลับของการฝึกนอกรูปแบบ
หยุดใช้ earphones ขณะที่ฝึก — หลายคนติด earphones เพราะด้านหนึ่งมันคือการสร้างโลกส่วนตัวเล็กๆ ท่ามกลางความอึกทึกวุ่นวาย เราเปิดเพลง ฟังข่าว ฟังเทศน์ ฟังเสียงสวดมนต์ ฯลฯ ตัดตัวเองออกจากโลกตรงหน้า — ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้ผิดใดๆ แต่ถ้าอยากฝึกฝนการอยู่ในความเงียบ และการอยู่ในปัจจุบันขณะ ขอเชิญชวนให้เราหยุดการใช้ earphones ในขณะที่ฝึก ในการฝึกฝนนี้ เราฝึกที่จะไม่หนีเสียง และไม่สู้กับเสียง ไม่ใช้เสียงกลบเสียง


อยากให้พวกเราลองฝึก ลองมีประสบการณ์ของการอยู่เงียบๆ ในรูปแบบ นอกรูปแบบ ลองฝึกดู หากทำได้ต่อเนื่องลองสังเกตตัวเองว่าเป็นอย่างไร มีท่าทีต่อเสียงอย่างไร เสียงที่เราชอบมักจะเป็นเสียงแบบไหน เสียงแบบไหนที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น เสียงแบบไหนที่เราอยากจะหนี — บางคนชอบฝึกขณะที่มีคนคุยกัน (เช่นอยู่ในร้านกาแฟ ในรถไฟฟ้า) เพราะรู้สึกอุ่นใจ ในขณะที่บางคนอาจจะชอบเสียงลม เสียงนก — ไม่มีถูกหรือผิด นี่คือคุณลักษณะหนึ่งของการเป็นตัวของเรา เป็นธรรมชาติของตัวเรา ขอให้มีความสุขที่ได้รู้จักตัวเองนะคะ


………………………………………………..

การภาวนา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save