8 ช่องทางความสุข

จัดความสำคัญ จัดสมดุล จัดใจ

ชีวิตของพวกเราทุกวันนี้ถูกรุมเร้าทั้งสถานการณ์ภายนอกและภายใน รู้สึกเครียดและปั่นป่วนได้ง่ายมาก การไปทำงานในสำนักงานต้องเผชิญรถติด หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทาง ครั้นต้องทำงานออนไลน์ก็รู้สึกว่าเสียพื้นที่ส่วนตัว คำว่า “สมดุล” จึงถูกนำมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ

Work Life Balance คือการทำงานที่สมดุลกับการใช้ชีวิต คำถามก็คือ อะไรคือการทำงาน และ อะไรคือการใช้ชีวิต การทำงานเป็นการใช้ชีวิตด้วยหรือเปล่า ? — พวกเราคนไทยมีนิสัยชอบเล่นคำจาก Work Life Balance ก็กลายเป็น เวิร์ค ไร้ บาลานซ์ การพูดเพื่อจิกกัดไม่ได้ช่วยอะไรนะคะ ยิ่งพูดยิ่งเหนื่อย


จัดลำดับความสำคัญ
ให้พวกเราลองจัดลำดับความสำคัญของ สิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องทำ (to do list) อาจจะเป็นงาน เป็นความรับผิดชอบ เป็นหมุดหมายที่อยู่ในใจ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะต้องทำในสำนักงาน ทำในบ้าน ทำในเวลางาน ทำนอกเวลางาน ทำในช่วง จันทร์-ศุกร์ หรือ ทำในช่วงสุดสัปดาห์ จัดให้อยู่ใน 4 กลุ่มนี้


สำคัญและเร่งด่วน – งานประเภทนี้ใช้พลังงานสูง ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก เพราะไม่คุ้มที่จะเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น


สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน – งานประเภทนี้อาศัยความรอบคอบ การใคร่ครวญ ความละเอียดลออ หรือการทำงานร่วม เช่นวางแผนกลยุทธ์ งานวิเคราะห์สถานการณ์ หรือการรับฟังคนในครอบครัว งานประเภทนี้ไม่เร่งด่วนจึงมักจะถูกผลักให้กลายเป็นงานที่ ‘รอได้’ ‘รอก่อน’ จนถูกละเลย หรืองานประเภทนี้กลายเป็นงานสำคัญและเร่งด่วนในอนาคต ดังนั้นควรจัดตารางเวลาและวางแผนที่จะทำงานนี้อย่างชัดเจน


เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ – มักจะเป็นงานที่ดึงเวลาและทำให้เราตกอยู่ในโหมดที่รู้สึกว่า ‘ต้องทำ ต้องทำ’ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่ต้องเป็น ‘เรา’ ที่ต้องทำก็ได้ อาจจะมอบหมาย หาคนทำแทน หรือรู้จักปฏิเสธ เช่นการนัดประชุมที่ไม่นัดหมายล่วงหน้า งานแทรก งานซ้อน


ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน — ควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณางานหรือประเภทนี้ออกจากเวลางาน เพื่อให้เรามีเวลาให้กับเรื่องสำคัญจริงๆ เพิ่มขึ้น เช่น การให้เวลาในโซเชียลมีเดีย การเกาะติดกระแส

.

จัดใจให้อยู่กับงาน
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
มักจะพูดเสมอว่า เวลาทำงานก็ขอให้อยู่กับงานวางเรื่องส่วนตัว เรื่องอื่นๆ เอาไว้ก่อน เอาใจมาอยู่ที่งาน ทำงาน และเมื่อเสร็จสิ้นเวลางาน ก็วางงาน ออกจากที่ทำงาน กลับบ้านเพื่อจะได้อยู่กับคนที่บ้าน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า “เวลาทำงานก็ถึงเรื่องที่บ้าน ทำงานไม่เต็มที่เพราะกังวล แต่พอถึงเวลาเลิกงานก็ปรากฎว่างานไม่เสร็จ ไม่เรียบร้อย กลับบ้านด้วยความรู้สึกผิด คั่งค้าง — อยู่บ้านก็นึกถึงงาน แต่พอทำงานก็นึกถึงเรื่องในบ้าน อย่างนี้ก็แย่” — ซึ่งการจะอยู่กับสิ่งตรงหน้า มีสมาธิจดจ่อ ก็เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ฝึกฝน และเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้


เคยมีโยมคนหนึ่งถามท่านติช นัท ฮันห์ ถึงการฝึกให้มีสมาธิจดจ่อ ไม่กระโดดคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ซึ่งท่านตอบคำถามนี้ไว้ในหนังสือ Answer from the Heart ว่า:


ถาม: เมื่อฉันทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ใจของฉันมักจะกระโดดไปยังเรื่องถัดไปหรือเรื่องที่เพิ่งผ่านมา ฉันจะหยุดการคิดแบบไม่ได้ตั้งใจอย่างนี้ได้อย่างไร


ตอบ: เมื่อเธอได้รับจดหมายหลายฉบับ เธอต้องตัดสินใจว่าจะอ่านฉบับไหนเป็นฉบับแรก บางทีอาจจะมีจดหมายสองฉบับที่เธออยากอ่านมากและให้ความสำคัญพอๆ กัน แต่อย่างไรก็ตาม เธอต้องตัดสินใจเลือกสักฉบับหนึ่งขึ้นมาอ่านเป็นฉบับแรก เมื่อตัดสินใจแล้วจงอยู่กับสิ่งนั้น


เมื่อเธอกำลังจะข้ามสะพาน อย่าคิดถึงสะพานอื่นที่เธอไม่ได้ข้าม เพราะถึงอย่างไรเธอก็ต้องข้ามสะพานนี้ ควรจะข้ามสะพานนี้ให้ลุล่วงไปเสียก่อน นี่คือการฝึกปฏิบัติของเธอ


ทนายความควรจะคิดเรื่องของลูกความที่เขากำลังอยู่ด้วย ไม่ใช่คิดถึงลูกความคนที่กำลังจะมา แพทย์จะคิดแต่เรื่องของคนไข้ที่นั่งอยู่ตรงหน้าของเขา นี่คือสมาธิ สติ จิตที่จดจ่อ ถ้าเธอไม่ฝึกความสามารถที่จะนำความสนใจมาที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เธอก็จะฟุ้งซ่านและถูกรบกวนโดยง่าย เธอน่าจะดำรงอยู่ ณ ที่นี่ ในขณะนี้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์


3 เทคนิคเพื่อฝึกการจดจ่อระหว่างวันทำงาน
การเดิน
– กำหนดระยะทางที่คุณตั้งใจมั่นว่าในการเดินตรงพื้นที่นั้น เช่น ระยะทางจากห้องทำงานไปห้องประชุม หรือ จากลานจอดรถไปยังห้องทำงาน ระยะทางตรงนี้คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ส่วนตัวของคุณ ทุกครั้งที่คุณผ่านคุณจะ “เดิน” จริงๆ คือรับรู้ฝ่าเท้า รับรู้ว่าตัวเองกำลังเดิน ผ่อนคลาย ไม่เดินไปคิดไป ไม่เดินไปคุยไป หรือเดินไปเล่นโทรศัพท์ไป เดินเพื่อเดิน เท่านั้น


การกิน– อาหาร 10 คำแรกของมื้อกลางวัน ขอให้เป็นเวลาที่คุณได้ “กินอาหาร” จริงๆ แค่ 10 คำแรกเท่านั้น คุณมองจานอาหาร คุณรู้ว่าคุณกำลังกินอะไร รู้ว่าคุณกำลังนำอะไรเข้าสู่ร่างกาย เคี้ยว รับรู้รสชาติ ไม่คุย ไม่คิดเรื่องงาน ไม่เล่นโทรศัพท์ — แค่ 10 คำแรกเท่านั้น จากนั้นคุณกินตามปกติ แต่ถ้าชอบคุณจะกินเงียบๆ แบบรู้ตัวตลอดมื้ออาหาร ก็เยี่ยมไปเรย


ดื่มน้ำ – ทุกครั้งที่ดื่มน้ำ หรือดื่มเครื่องดื่มใดๆ ก็ตามระหว่างวัน ขอให้เอาใจมาอยู่ที่มือ วางมือจากคีย์บอร์ด วางมือถือ หยิบแก้วน้ำ (หรือแก้วเครื่องดื่ม แก้วกาแฟ) อย่างรู้ตัว ประคองแก้วทั้งสองมือ มองและรู้ว่ากำลังดื่มอะไร แล้วดื่มน้ำนั้น รับรู้ความเย็น (หรือความอุ่น) รับรู้กลิ่นหอมของชา กาแฟ เครื่องดื่มน้ำ รับรู้ความใส สะอาดของน้ำดื่ม ขอให้รับรู้ถึงความโชคดีที่มีน้ำดื่มอยู่ในมือของเรา


นี่คือ 3 เทคนิคเบื้องต้นที่เราแนะนำให้คุณลองทำ ขอให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าทำทั้ง 3 เทคนิค มันมากเกินไป เลือกที่คุณชอบและคิดว่าพอทำได้ และทำต่อเนื่องสัก 2 สัปดาห์ แล้วคุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง — ถ้าคุณสนุกเขียนกลับมาเล่าให้พวกเราฟังนะคะ ส่งมาที่อีเมล happinessisthailand@gmail.com ในชื่อเรื่อง “แบ่งปันประสบการณ์” เรามีของรางวัลเล็กน้อยๆ จะมอบให้ค่ะ

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save