สองมือแห่งศรัทธา
การมีความสามารถพิเศษไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พบความยากลำบากระหว่างทาง — เราทุกคนต้องเจอปัญหา แต่เราจะมองปัญหานั้นอย่างไร คนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้มีปัญหาน้อยกว่า อุปสรรคเป็นรั้วสำหรับกระโดดข้าม ทุกรั้วที่ข้ามจะทำให้เราแข็งแกร่งและเตรียมความพร้อมสำหรับรั้วต่อๆ ไป
.
องค์ประกอบและทัศนคติเพื่อความสำเร็จ
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้มาจากหนังสือ สองมือแห่งศรัทธา – Gifted Hands อัตชีวประวัติของ นพ.เบน คาร์สัน (Dr.Benjamin Carson) ศัลยแพทย์ประสาทผิวดำชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในการผ่าตัดสมอง เจ้าของฉายา ‘หัตถ์พระเจ้า’ และเป็นหนึ่งในทีมสถาบันการแพทย์จอห์น ฮอปกินส์ ที่สามารถผ่าแยกเด็กแฝดสยามได้เป็นผลสำเร็จกรณีแรกของโลก
เวลาที่เห็นคำว่า Gifted พวกเรามักจะนึกถึงคำว่า ‘พรสวรรค์’ ซึ่งมักจะชวนให้นึกต่อไปอีกว่า มันเป็นของขวัญพิเศษที่บางคนมี บางคนไม่มี แต่เมื่อได้อ่านเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เราจะเห็นมุมมองต่อคำๆ นี้ใหม่
ชีวิตของแพทย์ท่านนี้น่าสนใจเพราะมันแสดงให้เห็นถึง องค์ประกอบต่างๆ ของความสำเร็จ พรสวรรค์อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง หมอเบนประสบความสำเร็จในอาชีพไม่ใช่เพราะคิดว่าตนเองมีพรสวรรค์ แต่เป็นเพราะความเพียร ความพยายาม การอ่าน และองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ ก็คือ ความรักอันไร้ขอบเขตของแม่ การให้โอกาสของครู ความศรัทธาในศาสนา และมีเชื้อเพลิงสำคัญคือความไม่พรั่งพร้อมทางวัตถุและการไม่เท่าเทียมทางสังคม — หมอเบนเป็นเด็กชายอเมริกันผิวดำที่เติบโตในสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดสีผิว ครอบครัวหย่าร้างเมื่อหมอเบนอายุ 8 ปี คุณแม่เป็นหญิงผิวดำที่ไร้การศึกษาฐานะยากจน และเคยคิดฆ่าตัวตายและต้องเข้ารับการบำบัดทางจิต
ชวนพวกเราอ่านบทความนี้เพื่อที่เราจะเห็นและช่วยกันสร้างสองมือแห่งศรัทธาใหม่ๆ ช่วยกันสร้าง และอุ้มชูให้มนุษย์ธรรมดา ผู้บิดๆ เบี้ยวๆ ให้กลายเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์และงดงาม
มือแม่
“แม่ของผม โซเนีย คาร์สัน คือพลังอันดับแรกสุด แข็งแกร่งที่สุด และมีผลกระทบมากที่สุดในชีวิตของผม เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพูดถึงความสำเร็จของผมโดยไม่เริ่มจากอิทธิพลของแม่”
คุณแม่ของหมอเบนเป็นหญิงอเมริกันผิวดำ มาจากครอบครัวที่มีพี่น้อง 23 คน เรียนแค่เกรด 3 (ประถม 3) แต่งงานเมื่ออายุ 13 ปี และกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองเมื่อลูกคนเล็กอายุ 8 ขวบ หมอเบนเล่าว่า แม่สร้างความมั่นคงให้แก่เขาและพี่ชายด้วยพลังภายในอันลึกล้ำ “แม่พูดอยู่เสมอว่า ‘ชีวิตเราจะดีขึ้น’ และไม่ใช่เพียงคำพูดกลวงๆ แต่มาจากความเชื่อมั่นอันลึกซึ้งซึ่งเหนี่ยวนำให้ผมและพี่ชายเชื่อมั่นในสิ่งนี้ไปด้วยกัน เรารู้ว่าเราไม่ร่ำรวยแต่ไม่ว่าจะมีเรื่องเลวร้ายเพียงใด เราไม่ต้องกังวล”
ความมั่นคงของแม่มาจากศรัทธาอันมั่นคงที่แม่มีต่อพระเจ้าและความพิเศษภายในของตัวแม่เอง แม่ เชื่อมั่นในพลังของตัวเองและเชื่อมั่นในตัวของลูกชายทั้งสองคน “แม่มีความเชื่อมั่นในตัวเราสองคนมาก ความมั่นใจอันไร้ขอบเขตของแม่กระตุ้นให้ผมเชื่อมั่นในตัวเอง”
ทัศนคติต่อการเรียนรู้ที่ดีเลิศ
โซเนีย คาร์สัน เป็นหญิงไร้การศึกษาแต่เธอเป็นคนฉลาดอย่างลึกล้ำ และมีทัศนคติต่อการเรียนรู้ดีเลิศเธอต้องดิ้นรนทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กันเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับ 3 ปากท้อง ทำความสะอาดบ้าน เลี้ยงเด็ก และพยายามทำงานอะไรก็ได้ที่มีคนจ้าง “ฉันทำได้ ถ้าตอนนี้ทำไม่ได้ เดี๋ยวฉันก็ทำได้ ฉันเป็นคนเรียนรู้เร็ว” ที่สำคัญ เธอเป็นแม่ผู้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างยิ่ง
ในชั้นเรียนเกรดสี่ (ประถมสี่) หมอเบนเป็นนักเรียนที่โหล่ “การเป็นที่โหล่ก็เจ็บปวดพออยู่แล้วด้วยตัวของมัน แต่การถูกล้อเลียนเยาะเย้ยยิ่งทำให้รู้สึกแย่” และหลังจากถูกเยาะเย้ยเป็นประจำ “ผมเริ่มยอมรับว่า ผมอยู่ที่โหล่เพราะนั่นคือที่ที่ผมสมควรจะอยู่ ก็ผมโง่ ผมไม่สงสัยในคำประกาศนี้ ก็ผมเป็นเด็กผิวดำ ซึ่งไม่มีทางเก่งเท่ากับคนผิวขาว ก็แค่ยอมรับความจริง ว่านั่นคือวิถีทางที่สิ่งต่างๆ จะพึงเป็น” — แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่โรงเรียนจะทำการตรวจวัดสายตาเด็กและพบว่า หมอเบนสายตาแย่มากจนเกือบจะระบุได้ว่าไม่สมประกอบ แว่นตาฟรีที่โรงเรียนมอบให้ทำให้เด็กหลังห้องมองเห็นกระดานดำชัดขึ้น นั่นแสดงว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่สติปัญญา แต่อยู่ที่สายตา ‘แว่นตา’ กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กโหล่หลังห้องค่อยๆ ไต่จาก F กลายเป็น D และคนที่ภูมิใจที่สุดก็คือแม่ “แม่ภูมิใจในตัวลูกเบนนี่ ลูกได้คะแนนดีขึ้น ลูกเก่งนะ เบนนี่”
การอ่าน วินัยสำคัญของการเรียนรู้
เมื่อแม่รู้ปัญหาที่ชัดเจน แม่ก็เริ่มวางระเบียบ สร้างวินัยและทัศนคติเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงเพื่อสอบผ่าน ไม่ใช่แค่ให้เรียนดีขึ้น ไม่ได้แข่งกับเพื่อนร่วมชั้น แต่เพื่อให้ลูกทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของลูกจะทำได้
•ท่องสูตรคูณ
•จำกัดรายการโทรทัศน์ เลือกได้ 3 รายการ/สัปดาห์
•อ่านหนังสือสัปดาห์ละ 2 เล่ม (จากห้องสมุดสาธารณะ แล้วต้องกลับมาเล่าให้แม่ฟัง)
หลังจากท่องสูตรคูณได้ คะแนนสอบวิชาเลขก็ทะยานขึ้น การไปโรงเรียนกลายเป็นเรื่องสนุก ไม่มีใครหัวเราะเยาะหรือเรียกว่า ‘ไอ้โง่’ ส่วนเรื่องรายการโทรทัศน์และการอ่านหนังสือนั้นต้องต่อรองกันอยู่นาน แต่ในที่สุดทั้งหมอเบนและพี่ชายก็ทำเพราะ “เรานับถือแม่ เรารู้ว่าแม่ต้องการให้เราดี เรารู้ว่าเราควรใส่ใจแต่ที่สำคัญที่สุดคือ เรารักแม่” — เพื่อนๆ ของแม่หลายคนเตือนว่า “ระวังนะ ลูกจะเกลียดเธอ” ซึ่งแม่ตอบว่า “พวกแกเกลียดฉันได้ แต่ถึงอย่างไรแกจะได้รับการศึกษาที่ดี”
“เบนนี ถ้าลูกอ่านได้ ลูกจะเรียนรู้ได้ทุกอย่างที่ลูกอยากรู้ ประตูของโลกจะเปิดให้คนที่อ่านเป็น และลูกของแม่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะลูกทั้งสองเป็นนักอ่านที่เก่งที่สุดในโรงเรียน”
ผลลัพธ์จากการอ่าน
กฎของแม่คือการอ่านแต่ไม่จำกัดประเภทหนังสือ หมอเบนเลือกอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว การอ่านนี้ส่งผลให้ทำคะแนนได้ดีเลิศในวิชาวิทยาศาสตร์ในเทอมถัดมา มีความสามารถในการจำแนกแยะแยะประเภทของหินได้ จำแนกสปีชีส์ของปลาได้ เมื่อครูแนะนำการใช้กล้องจุลทรรศน์ ก็เริ่มสนใจเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปส่องดูโปรโตซัว เมื่อไปห้องสมุดบ่อยก็คุ้นกับบรรณารักษ์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ห้องสมุดก็ช่วยแนะนำหนังสือใหม่ๆ ที่เหมาะสม ยิ่งอ่านมากคำศัพท์ก็ยิ่งพัฒนา “ยิ่งรู้จักศัพท์มาก ความเข้าใจในเนื้อหาก็พัฒนา การเรียนก็สนุกมากขึ้น ส่งผลให้หมอเบนก็กลายเป็นที่หนึ่งของห้องในระดับเกรดเจ็ด (มัธยมหนึ่ง) “แม่เคี่ยวจนผมเข้าใจได้โดยสมบูรณ์ว่า ผมเป็นเพียงคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเอง”
อ้อมแขนของพระเจ้า
ความทุกข์ที่โซเนีย คาร์สัน-คุณแม่ของหมอเบนประสบในวัยสาวส่งผลต่อตัวเธอหลายมิติ ช่วงหนึ่งเธอคิดฆ่าตัวตายโดยเริ่มสะสมยาอย่างจริงจัง นำไปสู่การตัดสินใจเข้ารับการบำบัดทางจิต และในห้วงเวลานั้นเองที่เธอได้พบคนผู้หนึ่งซึ่งพูดถึงศาสนาในมิติที่ต่างออกไป “แหล่งพลังงานอีกแห่งหนึ่งที่คุณเข้าถึงได้” ความรักและความใส่ใจอย่างจริงจังของคนผู้นี้ ส่งผลให้หญิงหม้ายผิวดำผู้ซึ่งอ่านหนังสือแทบไม่ออกเริ่มหัดอ่านไบเบิลอีกครั้ง ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจเธอก็จะอ่านอีกครั้ง อ่านดังๆ และในที่สุดเธอก็สามารถอ่านและเข้าใจแม้ในเรื่องยากและซับซ้อน
ความศรัทธาของแม่ส่งผลต่อเนื่องมายังลูกชายทั้งสองคน เมื่ออายุ 8 ขวบ หมอเบนรับศีลล้างบาปและให้ความสนใจต่อการเป็นหมอมิชชั่นนารี และรับศีลล้างบาปอีกครั้งเมื่ออายุ 12 ปี “ผมประทับใจในศาสนาเมื่อ 8 ขวบ แต่ผมไม่เคยเข้าใจความหมายของการเป็นชาวคริสต์ แต่ตอนนี้ผมเข้าใจและพร้อมแล้ว”
การมีศรัทธามั่นในสิ่งซึ่งยิ่งใหญ่กว่า ส่งผลต่อตัวหมอเบนในหลายครั้ง เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น หมอเบนอายุ 14 ปี อารมณ์รุนแรงในวัยรุ่นและความบีบคั้นสะสมของสภาพแวดล้อมเกือบผลักให้เขากลายเป็นฆาตกร — เด็กหนุ่มผิวดำและยากจนก่อเหตุทำร้ายร่างกายเพื่อนมัธยมหลายครั้งและเกือบทำร้ายแม่ของตัวเอง
หมอเบนเล่าถึงเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้นว่า — ขังตัวอยู่ในห้องน้ำยาวนาน เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด เสียใจ เกลียดและสิ้นหวังในตัวเอง เมื่ออารมณ์เศร้าเริ่มคลี่คลายเขาหันไปหยิบไบเบิ้ลและอ่านสุภาษิตที่ว่าด้วยความโกรธ “ผู้ที่เชื่องช้าในการโกรธดีกว่าผู้มีอำนาจ และผู้ที่ควบคุมจิตของตนได้ก็ดีกว่าผู้ที่ยึดเมืองได้” — “ ผมรู้สึกว่าถ้อยคำเหล่านั้นเขียนเพื่อผมโดยเฉพาะ ถ้อยคำ “สุภาษิต” ตำหนิผมแต่ก็ให้ความหวังแก่ผม สันติสุขเริ่มเติมจิตใจ มือหยุดสั่น น้ำตาหยุดไหล บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น พระเจ้าทรงรับฟังเสียงแห่งความรวดร้าวอันล้ำลึกของผม ความโปร่งเบาหลั่งไหลไปทั่วร่างกาย และผมรู้ การเปลี่ยนแปลงของหัวใจได้เกิดขึ้นแล้ว”
ความศรัทธาอันลึกซึ้งนี้ “ช่วย” หมอเบนอีกหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ ทั้งในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย การเผชิญความกดดันในฐานะศัลยแพทย์ประสาท และการเผชิญกับความกดดันในฐานะคนผิวสี
มือที่แวดล้อม
นอกเหนือจากมือแม่ที่แข็งแกร่ง และอ้อมแขนของพระเจ้าแล้ว หมอเบนเล่าถึงคนอื่นๆ ที่มีอิทธิพลและเป็นพลังสำคัญในการช่วยเหลือให้เขาได้ก้าวเดินอยู่บนหนทางนี้ ครูสอนภาษาอังกฤษที่สละเวลาเพื่อทบทวนบทเรียนนอกห้อง สอนให้รู้จักวรรณกรรมและบทกวี ครูวิชาดนตรีที่กระตุ้นให้สนใจวิชาการ ครูวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้รู้จักการออกแบบการทดลอง เจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่แนะนำหนังสือที่เหมาะสม ฯลฯ ความเอาใจใส่ของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ นี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้ง รวมไปถึง การช่วยเหลืออื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนโดยตรง เช่น ครูแนะแนวที่รับรู้ปัญหาทางการเงินและช่วยหางานระหว่างปิดภาคเรียนให้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่ทำให้หมอเบนมีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการเรียนระดับปริญญาตรี — มือเล็กมือน้อยที่ยื่นเข้ามาในช่วงต่างๆ ของชีวิตเหล่านี้ สำคัญไม่น้อยเลย
ทัศนคติต่อความสำเร็จ
บทสุดท้ายของหนังสือ หมอเบนพูดถึงความห่วงใยต่อเยาวชนอย่างลึกซึ้ง ไม่เห็นด้วยกับสื่อต่างๆ ที่มักจะนำเสนอภาพฝันเพื่อการเป็นซุปเปอร์สตาร์ โดยมีรายได้ต่อปีเป็นเครื่องล่อ หมอเบนอยากให้คนหนุ่มสาวให้เวลากับหนังสือและการพัฒนาตนเอง เพื่อจะมีอาชีพ มีทักษะ และความสามารถที่จะรับผิดชอบตัวเอง และชุมชนที่ตนอยู่อาศัย
“เด็กๆ ควรจะเรียนรู้ว่าเขาจะบรรลุการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตนเองได้อย่างไร ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ต้องให้การช่วยเหลือ ต้องให้ความสนใจต่อความต้องการของเด็กวัยรุ่น”
และสุดท้ายหมอเบนพูดถึงความสัมพันธ์ของ ความสำเร็จ กับ ความสามารถพิเศษ (Gifted) ว่า “การมีความสามารถพิเศษไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พบความยากลำบากระหว่างทาง เราต้องเจอ — เราทุกคนต้องเจอปัญหา แต่เราจะมองปัญหานั้นอย่างไร ถ้าจะมองว่าอุปสรรคเป็นสิ่งขัดขวาง เราจะหยุดความพยายาม เราจะคร่ำครวญ แต่ถ้ามองว่าอุปสรรคเป็นรั้วสำหรับกระโดดข้าม เราก็จะข้ามมันไป คนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้มีปัญหาน้อยกว่าแต่เขาไม่หยุดในการเดินไปข้างหน้า ทุกรั้วที่กระโดดข้ามจะทำให้เราแข็งแกร่งและเตรียมความพร้อมสำหรับกระโดดข้ามรั้วต่อๆ ไป นี่คือการอยู่บนเส้นทางสู่ความสำเร็จ”
มาถึงบรรทัดนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้ จะช่วยให้พวกเราพอเห็นแนวทางการสนับสนุนเด็กๆ และเยาวชนของเรา ให้พวกเขาได้บรรลุศักยภาพสูงสุดในการเป็นตัวเขาเอง มีความสุขในการเรียนรู้ ในการทดลอง ไม่กลัวที่จะล้มเพราะกล้าที่จะลุกขึ้นมาใหม่ — โดยมีลุง ป้า น้า อา ครู-อาจารย์ คอยสนับสนุน
เรื่องราวของดร.เบน คาร์สัน ถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์แล้วในชื่อ Gifted Hands เช่นเดียวกับหนังสือ
ผู้ที่สนใจหนังสือเล่มนี้ติดต่อได้ที่ มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม bookforsociety@gmail.com