ฟังครอบครัวกันในวันสงกรานต์
อีกไม่กี่วันก็เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์แล้ว เป็นเวลาของความสุขในครอบครัว กลับไปเติมความอบอุ่น เติมความสดชื่น ฟื้นความสัมพันธ์ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ เราเสนอการเตรียมตัว เตรียมการ เพื่อจะให้การพบกันในเทศกาลนี้อบอุ่นและมีพลังมากขึ้น
.
สำรวจร่องของตัวเรา
ก่อนจะถึงวันสงกรานต์ ก่อนที่เราจะเดินทางไปพบสมาชิกในครอบครัว ลองทำการบ้าน ลองนึกดูว่ามีบางสถานการณ์ที่เราอาจจะไม่ค่อยสบายใจหรือไม่ จะมีคำถามหรือคำทักทายที่อาจจะจุดระเบิดในตัวเราไหม บันทึกเอาไว้คำถาม หรือคำที่เราไม่อยากได้ยินเอาไว้
หาเวลาพิจารณาคำถามหรือคำจี้นั้นอย่างจริงจัง ทำไมคำนั้นจึงจุดระเบิดในตัวของเราได้ ทำไมคำนั้นจึงทำให้เรา “กรุ่นๆ” ขึ้นมา — อาจจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ขอให้ลองฝึกทำผ่านจินตนาการ
นึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น หรือคุณกังวลว่ามันอาจจะเกิดขึ้นอีก
สถานการณ์นั้นจะเกิดขึ้นระหว่างเรากับใคร
สถานการณ์นั้นเกิดเมื่อได้ยินคำพูดหรือประโยค หรือท่าทีแบบไหน เช่น เรารู้สึกไม่พอใจในทันทีเมื่อถูกถามว่า “ทำไมมาช้า” “จะมาเมื่อไร” “จะถึงกี่โมง” “เมื่อไรจะแต่งงาน” “ได้เงินเดือนเท่าไร” “เมื่อไรจะมีลูก” ฯลฯ — เมื่อรู้สึกไม่พอใจ ขอให้เรียกชื่อความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นนั้นอย่างซื่อตรง (เรียกในใจ) เช่น หงุดหงิด โกรธ อาย ฯลฯ เรียกชื่อความรู้สึกของเรา เรียกในใจ “ฉันหงุดหงิดจริงๆ” “ฉันกำลังโกรธแล้ว” สังเกตความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกาย (แม้ว่าจะไม่ใช่เหตุการณ์จริง เพียงจินตนาการก็รู้สึกถึงความรู้สึกนั้นได้) ความรู้สึกนั้นอยู่ตรงไหน เช่น ร้อนที่ใบหน้า ปวดหัวตุบๆ ร้อนผ่าวๆ ที่บริเวณหัวใจ — ขอให้รับรู้ความรู้สึกที่ร่างกายนั้นอย่างตรงไปตรงมา หายใจให้ร่างกายตรงส่วนนั้น ยิ้มให้ความรู้สึกนั้น ค่อยๆ กวาดสายตามองสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว กลับสู่ปัจจุบัน
ลองให้คะแนนความรู้สึกนั้น เช่น ถ้าแม่เป็นคนพูด เราโกรธเต็มสิบ แต่ถ้าเป็นป้าหรือยายพูด เราโกรธแค่ห้าคะแนน ถ้าหลานถามความโกรธเป็นศูนย์
ลองถามตัวเองว่า ประโยคที่จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น สิ่งที่คุณอยากได้ยินคือ….. บันทึกไว้
ในวันที่ได้เจอกัน เราจะฟังกันให้มากขึ้น
นานๆ จะได้เจอกันสักที แต่ละคนก็คงมีเรื่องที่อยากเล่า อยากพูด อยากคุย อยากถาม แต่ถ้าทุกคนพูดโดยไม่มีคนฟัง มันก็คงกร่อย ลองฝึกเป็นผู้ฟัง
หยุดเขี่ยมือถือ สบตาคนที่กำลังพูด ฟังเรื่องที่เขาเล่า ฟังความรู้สึกของเขา ขณะที่เขาเล่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร (เป็นห่วง คิดถึง น้อยใจ ฯลฯ) ถ้าเก่งกว่านั้น ลองฟังสิ่งที่เขาไม่ได้เล่าออกมา เช่น เขาอยากได้ความสนใจ เขาอยากได้การใส่ใจ ต้องการความใกล้ชิด
ชะลอการตอบโต้ หยุดสักครู่ลองฟังว่าเบื้องหลังคำถามนั้นผู้ถามกำลังรู้สึกอะไร หรือกำลังต้องการให้เราได้ยินอะไร
ฟังให้ได้ยิน เบื้องหลังคำพูดมีความรู้สึก ลึกลงไปใต้ความรู้สึกมีความต้องการที่ซ่อนเร้น ถ้าเราฟังเก่ง ฟังเป็น เราจะได้ยินมากกว่าถ้อยคำ
ขอเชิญอ่านเรื่องราวของ “ฅนฟังเป็น” ที่นี่นะคะ
https://www.happinessisthailand.com/2022/09/30/listening-palliative-care-happiness/