ลากเส้น เล่นสี
การทำงานที่ ‘ไม่มีภาพสุดท้ายให้เห็นก่อนทำ’ คือ ไม่มีภาพสุดท้ายเป็นเป้าหมายที่เราจะไปให้ถึง — ครูบอกว่าให้ไปทีละขณะ ไปทีละเส้น “one step at a time” — เป็นสิ่งที่พี่ชอบมาก โดน รู้สึกว่า “ใช่” นี่คือการทำงานศิลปะที่สอดคล้องกับความต้องการที่จะดัดนิสัยตัวเอง
.
คุณหมอตุ๊ พญ.รุจิรา มังคละศิริ ได้ชื่อว่าเป็นครูของครูแพทย์ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนการและหลักสูตรสำหรับแพทย์และนักศึกษาแพทย์ ให้ตระหนักถึงการงานทั้งภายนอกและภายใน ทั้งการอุทิศตนเพื่อเป็นแพทย์ผู้มีความรู้ ดูแลชีวิตมนุษย์ พร้อมๆ กับความสามารถในการพัฒนาศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ในตนเอง ซึ่งหมายถึงการกลับมาเข้าใจและเท่าทันตัวเอง
นอกจากการเป็นแพทย์และครูแพทย์แล้ว ชีวิตอีกด้านหนึ่งคือการเป็นครูสมาธิของ บ้านคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย จ.นครราชสีมา เรียกได้ว่าคุณหมอตุ๊เป็นผู้ฝึกสติและปฏิบัติภาวนาเป็นนิสัย ในระยะหลังมานี้คุณหมอเขียนเส้น Zentangle ซึ่งเป็นการลากเส้นง่ายๆ ที่หลายคนใช้ฝึกมือและคลายเครียด บทความนี้ผู้อ่านจะได้เห็นวิธีการง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งในการทำความรู้จักตัวเอง
Zentangle คืออะไร และทำไมคุณหมอจึงสนใจคะ
พี่จิ๋ว (ครูจิ๋ว ครูสมาธิบ้านนคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย) เป็นคนแนะนำ — พี่จิ๋วเป็นคนที่สนใจศิลปะ เพื่อนของพี่หลายคนก็สนใจการภาวนาผ่านงานศิลปะ เช่น ระบายสี ทำมันดาลา วาดมันดาลา แต่ตัวพี่ไม่สนใจ รู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองถนัด มันไม่เหมาะสำหรับเรา ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ดี จนมาถึงคอร์สนี้ซึ่งพี่จิ๋วเชียร์มาก บอกว่า “มันเป็นลายเล็กๆ 21 วัน 21 ลาย เป็นการฝึกสำหรับผู้เริ่มต้นมากๆ เลย คุณหมอตุ๊ลองทำเถอะ” พออ่านคำแนะนำก็มีหลายคำที่โดนใจ เช่น เป็นการทำเพื่อสะท้อนตัวตน เพื่อก้าวข้ามคำว่า ‘วาดรูปไม่เป็น’ ไม่ได้วาดเพื่อความสวยงาม — เขาพูดถึงประโยชน์ภายใน มากกว่าการทำให้สวย
พอได้ทำแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งสำคัญคือการที่ครูเอ๋ (ดร.อรุโณทัย ชูช่วย) พูดตั้งแต่ครั้งแรกว่า มันคือการทำงานที่ ‘ไม่มีภาพสุดท้ายให้เห็นก่อนทำ’ คำนี้โดนใจมาก คือ ไม่มีภาพสุดท้ายเป็นเป้าหมายที่เราจะไปให้ถึง — ครูบอกว่าให้ไปทีละขณะ ไปทีละเส้น “one step at a time” — เป็นสิ่งที่พี่ชอบมาก โดน รู้สึกว่า “ใช่” นี่คือการทำงานศิลปะที่สอดคล้องกับความต้องการที่จะดัดนิสัยตัวเอง (หัวเราะ)
นิสัยอะไรคะ
ตัวพี่มีธรรมชาติที่จะกระโดดไปที่เป้าหมายง่ายมาก ต้องมีเป้าหมายก่อน มีภาพสุดท้ายก่อน เหล่านี้เป็นอัตโนมัติของพี่ เมื่อสนใจปฏิบัติธรรมก็เห็นนิสัยนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเข้าใจ ไม่ได้แปลว่าเราจะทำได้ในทันที พี่รู้ตัวว่ามีนิสัยเดิมที่เกาะอยู่กับเป้าหมาย กระโดดไปที่เป้าหมาย (อนาคต) ดังนั้น ถ้าการฝึกลากเส้นแบบ zentangle จะฝึกพี่ให้วางเป้าหมาย ไม่ต้องมีภาพสุดท้ายให้เห็นล่วงหน้า — พี่ก็อยากฝึกเรื่องนี้ เพราะมันสอดคล้องกับคุณค่าที่พี่สนใจ ขัดเกลาพลังนิสัยเดิมที่พี่กำลังพยายามทำงานอยู่ แก้ไขอยู่
การมีภาพสุดท้ายล่วงหน้า หรือการมีเป้าหมาย มันเป็นข้อเสียได้ยังไงล่ะคะ
ข้อเสียของการมีภาพสุดท้ายก็คือ มันง่ายมากที่เราจะเลิกทำกลางทาง หยุดไปซะเฉยๆ เดินออกมาดื้อๆ ถ้ารู้สึกว่า มันไม่เป็นไปอย่างที่คิด ไม่ตามแผน หรือเมื่อเรารู้สึกว่า ทำไม่ได้ ความสามารถไม่พอ และมันก็ง่ายมากที่จะรู้สึกว่า เราล้มเหลว ไม่ได้เรื่อง นี่คือข้อเสียของการมีภาพสุดท้าย
เรื่องหนึ่งในประสบการณ์ของพี่เมื่อหลายปีก่อนก็คือ พี่อยู่ในงานสัมนาวิชาการด้านจิตตปัญญาศึกษา พี่อยู่ในห้องศิลปะบำบัด ในช่วงแรกที่เขาให้ขีดเส้น เล่นสี พี่เล่นได้ สนุกมาก แต่พอเขาเริ่มให้จินตนาการ นึกถึงเรื่องราวในชีวิต นึกเป็นภาพแล้วให้วาดออกมา — ซึ่งพี่วาดไม่ได้ พี่มีภาพสุดท้ายอยู่ในใจ แต่พี่ไม่มีทักษะที่จะทำให้ภาพนั้นปรากฎขึ้นมา … จำได้เลยว่าวันนั้นพี่ปวดหัวมาก รู้สึกแย่ แล้วก็เดินไปบอกผู้นำกระบวนการว่า พี่ไม่อยู่แล้วนะ แล้วก็เดินออกมาจากห้องเลย —- ถ้าสะท้อนไปถึงเรื่องอื่นๆ ในอดีตก็คือ พี่มีนิสัยที่ ‘อะไรที่เราทำได้ไม่ดี เราจะเลิกทำ’ — การมีภาพสุดท้าย หลายครั้งมันบล็อกเรา
การฝึกลากไปทีละเส้น ทำไปทีละขณะ ไม่มีภาพสุดท้าย เป็นการช่วยให้อยู่กับตัวเองทีละขณะ แทนที่จะกระโดดไปที่เป้าหมาย หรือกระโดดไปที่ภาพสุดท้าย เราอยู่กับตัวเองในแต่ละขณะ ๆ — ต่างกันมาก
.
การฝึกนี้ ทำให้พี่ได้เห็นว่า การไม่ยอมทำสิ่งที่ไม่ถนัดเป็นเพราะพี่กลัวจะไม่สำเร็จ กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ และพื้นฐานที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ เราไม่กล้ายอมรับตัวเอง ไม่ยอมรับฝีมือหรือทักษะของตัวเอง — ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็ตลก เพราะภาพเหล่านี้เราไม่ได้ทำเพื่อไปโชว์ใครสักหน่อย มันตลกแต่ซีเรียส เพราะมันเป็นพลังนิสัยที่พี่อยากจะทำงานกับตัวเอง
มาถึงวันนี้ Zentangle ช่วยให้คุณหมอเห็นตัวเองอย่างไรบ้างคะ
พี่พบว่า พี่มีนิสัยของความพยายาม มีนิสัยของความตั้งใจ ซึ่งบางครั้งมันก็อาจจะมากเกินไป (หัวเราะ) ในช่วงแรกๆ จะเห็นตัวเองชัดมากว่า ไม่มั่นใจ เกร็ง และทางออกของพี่ก็คือ วาดตามครู ครูวาดอย่างไร พี่ก็วาดอย่างนั้น ครูโค้งไปทางไหน พี่ก็จะต้องโค้งไปทางนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราจะโค้งไปทางไหนก็ได้มันเรื่องของเรา แต่ด้วยความไม่มั่นใจ พอครูโค้งพี่จะต้องโค้งตามครู ภาพออกมาก็จะเหมือนครูเป๊ะ (หัวเราะร่วน)
พี่เป็นนักเรียนที่อยู่ในแถว ครูให้วาดอิสระ เราก็….อิสระตามครู (^^) ครูโค้งไปทางไหนก็โค้งไปทางนั้น พอเป็นอย่างนี้ก็จะเห็นเลยว่า Creativity (การสร้างสรรค์) ก็จะต่ำมาก (หัวเราะ) ครูให้วาดรูปหัวใจ free form เพื่อนๆ ในคลาสก็ทำกันหลากหลายรูปแบบ และสวยๆ ทั้งนั้น แต่งานของพี่ก็จะเหมือนของครู (หัวเราะ) — ซึ่ง “นี่คือตัวเรา” — เห็นเลยว่า นี่คือตัวของเราผู้ไม่กล้าออกนอกกรอบ เป็นตัวเราผู้ที่เดินตามเส้น ตามแนว เป็นตัวเราผู้ที่ไม่มั่นใจ — ตั้งใจ พยายาม แต่ไม่ผ่อนคลาย
ซึ่งมันก็สะท้อนไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย จำได้ว่า ในช่วงแรกที่ฝึกเจริญสติ ด้วยการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียน อยู่ในคอร์สที่ต้องทำต่อเนื่องวันหลายชั่วโมง จำได้ว่าปวดแขนไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ควรจะต้องเมื่อยล้าขนาดนั้น ครูผู้ดูแลคอร์สปฏิบัติธรรมนี้สะท้อนกับพี่ว่า “คุณหมอพยายามมาก มากเกินไป” พี่เป็นคนตั้งใจมากเกินไปจริงๆ
ความตั้งใจเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าตั้งใจมากเกินไป มันกลายเป็นไม่ดี ซึ่งนี่เป็นปัญหาของพี่เสมอมา เป็นเรื่องที่ตัวพี่ค่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ — เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นเลยว่า การตั้งใจมากเกินไป ทุ่มเทมากเกินไป พยายามมากเกินไป ทำให้เราบาดเจ็บได้ง่าย และบ่อย ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น — นี่คือสิ่งที่พี่เรียนรู้
ภาพความสำเร็จที่เราอยากได้กับทักษะที่ไม่พร้อม เหตุปัจจัยที่ไม่พร้อม ทำให้ผิดหวัง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว และเพื่อจะปกป้องตัวเองไม่ให้รู้สึกอย่างนั้น ก็อาจจะหยุดกลางทาง เลิกกลางคัน ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกแย่อีกนั่นแหละ
.
zentangle บอกว่า ไม่มีภาพสุดท้าย ค่อยๆ ไปทีละเส้น ทีละขณะ มันช่วยให้สบายขึ้น ทำสิ่งที่เรียกว่า “งานศิลปะ” ได้สนุกขึ้น ผ่อนคลายได้มากขึ้น สบายมากขึ้น เวลาที่เห็นความกลัว กลัวว่าจะไม่สำเร็จ เห็นว่าตัวเองขาดความมั่นใจ ก็ค่อยๆ ช้าลง เห็นแล้ว แล้วเริ่มใหม่ เหมือนคนหัดเดินใหม่
.
เห็นความไม่เป็นไปตามใจอยาก อยากให้เป็นเส้นตรงก็ไม่ตรง อยากให้มันโค้งก็ไม่โค้ง
เกิด ดับ บังคับไม่ได้จริงๆ แต่พอเสร็จ ก็ชื่นชม ภูมิใจกับผลงานทุกครั้ง มหัศจรรย์มาก
คัดจากบันทึกส่วนตัวของคุณหมอตุ๊
.
ต้องบอกว่า เรื่องที่เล่ามามนี้ มันเกิดขึ้นตอนที่พี่อายุเท่านี้ (หลังเกษียณ) ผ่านการฝึก ผ่านการเห็นตัวเองมาพอสมควร ยอมรับตัวเองได้มากแล้ว ดังนั้นก็เล่าด้วยความขำๆ
เวลาที่ครูให้การบ้าน พี่จะทำการบ้านแบบทำตามครู 1 ชิ้น และเขียนเองอีก 1 ชิ้น ฝึกที่จะทำแบบไม่เหมือนครู แล้วพี่ก็มักจะรู้สึกว่า มันไม่สวย (หัวเราะ) — นี่คือความก้าวหน้าของตัวพี่ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ ในช่วงที่อายุน้อยกว่านี้ หรือ พี่อาจจะไม่ยอมทำอะไรแบบนี้เลยด้วยซ้ำไป
ทั้งหมดนี้คือการจะบอกว่า นี่คือการเห็นตัวเอง — พี่เป็นนักเรียนที่ตั้งใจ พยายาม แต่ถ้าพบว่าตัวเองทำแล้วมันไม่ดี พี่จะเลิก ไม่ทำ ไม่มีความสามารถที่จะทนเห็นความเป็นตัวเองในด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จได้
.
แสดงว่าข้อดีมากที่สุดอย่างหนึ่งของการฝึกลากเส้นก็คือ ได้เห็นแพทเทิร์นของตัวเองอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
ใช่
พอจบคลาสนี้ พี่จิ๋ว (ผู้ที่แนะนำให้เรียน zentangle) ก็ให้สมุดระบายสีมาเล่มหนึ่ง ตัวพี่ก็อยากลองเล่นสีบ้าง ซึ่งก็พบว่า ลากเส้นกับเล่นสี มันไม่เหมือนกัน เวลาระบายสี พี่มักจะรู้สึกว่ามันเป็น ภารกิจ เป็น task ที่ต้องทำ และรู้สึกว่ามันต้องทำซ้ำๆ แต่การลากเส้น zentangle ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นการขีดเส้นซ้ำๆ ลากเส้นซ้ำๆ แต่พี่ไม่รู้สึกว่าซ้ำ กลับรู้สึกว่าทุกเส้นที่ขีดไม่เคยเหมือนเดิม มันไม่ใช่เส้นเดิม ใหม่ทุกครั้งที่ขีด เวลาที่วาดใบไม้ แม้จะเป็นใบไม้แบบเดิมแต่มันก็ไม่ใช่ใบไม้ใบเดิม มันเป็นใบไม้ที่ไม่เหมือนกันเลยสักใบ ซึ่งมันทำให้เพลิน และอยู่ได้นานๆ แต่การระบายสี พี่รู้สึกว่ามันเป็นงานซ้ำๆ เช่น ดอกไม้ 32 กลีบ ระบายสีทีละกลีบ ต่อให้แต่ละกลีบเป็นคนละสี พี่ก็ยังรู้สึกว่ามันซ้ำ มันเป็นการทำซ้ำๆ ซึ่งพี่ไม่ชอบ
ว่ากันว่า สี ช่วยให้ผ่อนคลายแต่หลายคนก็กลัวสี คุณหมอรู้สึกอย่างไร
อืมมม (คิดนิดหน่อย) พี่มีความกลัว กลัวที่จะเลือกใช้สีไม่ถูก กลัวไม่สวย zentangle เป็นอะไรที่ basic มาก อาศัยปากกาดำด้ามเดียวแต่พอใช้สี โอ้โห..ไม่รู้จะเลือกอย่างไร มีน้องแนะนำว่าให้เริ่มด้วย 1 สี หรือ 2 สีก่อน ซึ่งพี่ก็โอเค ทำแล้วก็รู้สึกสวยดี พี่พบว่า ตัวเองจะรู้สึกดีถ้าไม่ต้องระบายครบทุกช่อง ชอบให้มีที่ว่าง ถ้าต้องระบายครบทุกช่อง ต้องระบายพื้นหลังด้วยจะเห็นเลยว่าตัวเองอึดอัดมาก เริ่มกลัวว่ามันจะไม่เข้ากัน กังวลว่ามันจะไม่สวย
.
พอฝึกมากขึ้น ทำมากขึ้น ความกลัวก็เพลาลง เห็นได้ไว กล้าที่จะปล่อยให้ตัวเองไหลได้มากขึ้น แต่ก็ยังเห็นอยู่ว่า ตัวพี่เป็นคนแบบ… ยังต้องการตัวอย่างจากครู ถ้าจู่ๆ ให้ทำเลยพี่จะอึดอัด ไม่สบายใจ ยังออกแบบเองไม่ได้ นี่คือแพทเทิร์นความเป็นตัวของพี่ในวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องตลก เพราะถ้าจะว่าไป พี่เป็นแพทย์ เป็นครู เป็นคนออกแบบกระบวนการเองในหลายๆ เรื่อง แต่กับเรื่องแบบนี้ทำไมงไม่กล้า ทำไมกลัว นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะได้ทำงานกับตัวเองต่อ
ศิลปะกับการปฏิบัติธรรม เกี่ยวโยงกันอย่างไร
ทั้งศิลปะและการปฏิบัติธรรม ทำให้เราเห็นตัวเอง เข้าใจความเป็นตัวเรา เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรม เราจะนึกอยู่สองคำ คือ สมถะกรรมฐาน กับ วิปัสนากรรมฐาน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้มีพื้นฐานคือจิตที่ตั้งมั่น ไม่ว่าจะเป็นการตามลมหายใจ อยู่กับลมหายใจ หรืออยู่กับการสร้างจังหวะ ถ้าเรามีความตั้งมั่นเราก็จะเห็นจิตของเรา
เรื่องราวที่เราคุยกัน การได้เห็นความกลัว ความลังเล ความพยายามฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้คือนิสัยจิต ซึ่งเราจะเห็นเมื่อจิตมีความตั้งมั่นเพียงพอ มันคือสิ่งเดียวกันกับ “วิปัสนา” เราตั้งมั่นอยู่ตรงนั้น อยู่กับสิ่งที่ทำ เห็นสิ่งที่มันผุด เห็นการซัดส่าย เห็นนิสัยของจิตที่มันซัดไปตรงนั้นตรงนี้ ตั้งใจเกินไป พยายามเกินไป แข็ง เกร็ง กลัวเหล่านี้
โดยสรุปก็คือ เมื่อเราปฏิบัติเป็น ดูเป็น วางใจเป็น เราก็จะเห็นตัวของเราไปเรื่อยๆ รู้จักตัวเอง เรียกชื่อนิสัย หรืออารมณ์ เห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างตรงๆ รู้จักที่จะเรียกชื่ออารมณ์ ทักทายเขาและบอกลาเขา “จ๊ะเอ๋ และบ๊ายบาย” จ๊ะเอ๋ความกังวล แล้วก็บ๊ายบายความกังวล อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราไปต่อ การเห็นตัวเองแล้วขำได้ มันทำให้เราไปต่อได้ “อ๋อ..นี่คือตัวเรา ตั้งแต่เล็กจนโตมาเราเป็นแบบนี้นะ” — ขำได้ — เราก็ไปต่อได้ แต่ถ้าไม่ขำ เราจะตกร่องของการวิจารณ์ อันนั้นจะยาก
สำหรับพี่ การปฏิบัติในรูปแบบ การตามลมหายใจ การสร้างจังหวะที่เราเรียกว่าปฏิบัติธรรมหรือการภาวนาก็เป็นสิ่งที่ดี ตัวพี่ พี่อยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้พักหนึ่ง แต่การลากเส้นพี่อยู่ได้นานๆ ผ่อนคลาย ก็เลยทำสิ่งนี้มากหน่อย แต่มันไม่ต่างกัน
…………………………………………………………