8 ช่องทางความสุข

วาดภาษารัก

ในวัยเด็ก แม่เองก็เคยเจ็บปวดนะ — ได้บอกกับลูกว่า “สิ่งที่แม่กลัวที่สุด คือกลัวว่าลูกจะเกลียดแม่” นาทีนั้น เรากล้าเผชิญกับความเจ็บปวด กล้าที่จะบอกความรู้สึกกับลูก กล้าที่จะบอกว่าแม่กลัวนะ กลัวลูกเกลียด

.

คุณฐิติพร จตุพรพิพัฒน์ (แม่วาส) เป็นพยาบาลวิชาชีพที่ได้เข้าร่วมอบรมในโครงการ พ่อแม่ฟังใจลูก ซึ่งการอบรมนี้ แม่วาสบอกว่า ทำให้ได้ย้อนกลับมาดูตัวเอง เห็นเรื่องราวของตัวเองที่สะสมตั้งแต่ในวัยเด็ก เป็นการอบรมที่ทำให้กล้า — กล้าที่จะกลับไปมอง กลับไปเห็นความเจ็บปวด กล้ายอมรับ และกล้าที่จะขอโทษ สิ่งที่แม่วาสชอบที่สุดของการอบรมนี้คือ ประโยคที่บอกว่า ‘ที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดพลาดแต่เป็นบทเรียน’ — ประโยคนี้เป็นขวัญ เป็นกำลังใจ ทำให้เกิดการ reset ตัวเอง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวกลับมาแนบแน่นอีกครั้ง ลองมาฟังเรื่องราวของแม่วาสกันค่ะ


ครอบครัวสายวิทย์

ครอบครัวของแม่วาสเป็นบุคลากรในสายงานด้านแพทย์และสาธารณสุข มีลูกสาวหนึ่งคน อายุ 19 ปี ในระยะแรกไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร จนกระทั่งน้องเรียนมัธยมปลายจนกระทั่งสอบเข้าเรียนต่อในคณะพยาบาล ซึ่งแม่วาสบอกว่า “รู้สึกว่าพูดกับลูกไม่เข้าใจ และลูกก็เหมือนไม่อยากพูดกับเรา ไม่อยากเข้าใกล้” ปัญหาชัดมากตอนที่น้องเรียนอยู่ปี 2 เพราะต้องพักอยู่ในมหาวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ (ปีแรกเรียนออนไลน์ที่บ้าน)


“เขาพูดว่าไม่ชอบ เขาไม่อยากเรียน วิชาพยาบาลไม่ใช่สำหรับเขา ไม่ใช่ตัวตนของเขา แต่พ่อแม่บังคับ เขาร้องไห้โฮ ๆ ๆ ออกมา— แม่เห็นแล้วสงสารลูกจับใจ เห็นว่าเขาเครียด เป็นห่วง แต่พอถามแล้วเขาก็ไม่พูด ถามคำก็ตอบคำ ช่วงนั้นรู้สึกจริงๆ ว่า ครอบครัวของเรามีปัญหาแล้วเราจะทำยังไงดี นั่น — คือที่มาของการได้อบรมในคอร์ส พ่อแม่ฟังใจลูก”


ภาษารัก และ ความสัมพันธ์
ช่วงที่เริ่มอบรมในโครงการฯ คนอื่นๆ ที่เรียนด้วยกันมักจะบอกว่า เขากลับไปฟังลูก เราก็พยายามแต่รู้สึกว่าเราใช้วิธีการนี้ไม่ได้ เพราะลูกของเราไม่ค่อยพูดกับเรา ถามคำก็ตอบคำ พอได้เรียนเรื่อง ‘ภาษารัก’* ก็ต้องกลับไปสังเกตว่า เวลาลูกแสดงความรักเขามักจะทำอย่างไร ซึ่งก็พบว่าลูกชอบทำการ์ดให้ เป็นการ์ดที่เขาทำเอง วาดรูปเอง นี่คือภาษารักของเขา แม่ก็เลยพยายามทำแบบนี้ให้เขาบ้าง บางทีก็ทำการ์ดส่งไปทางไลน์ หรือบางทีก็วาดสติ๊กเกอร์ส่งไปให้ บางวันตอนเช้าก็ส่งสติ๊กเกอร์ให้กำลังใจ ฯลฯคือกลับไปทำเรื่องกุ๊กกิ๊ก พยายามเดินทางไปหาเขาบ่อยๆ เตรียมอาหารที่เขาชอบไปให้ พาไปเที่ยว ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเขายอมรับสิ่งเหล่านี้ ลูกกลับมาอ้อนแม่อีกครั้ง เราก็เริ่มรู้สึกว่าภาษารักแบบนี้ได้ผล ความสัมพันธ์ดีขึ้น เป็นแม่-ลูกที่สนิทกันมากขึ้น จากนั้นจึงจะได้เปิดใจคุยกัน


นาทีปวดใจ
เหตุการณ์ที่รู้สึกว่า พีค คือช่วงที่ลูกบอกว่า เขาเครียด เขาไม่อยากเรียนพยาบาลแล้ว มันไม่ใช่ชีวิตของเขา — ตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยชวนเขาไปพบผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเขายอม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าน้องมีปัญหาเรื่องการปรับตัวพอย้ายที่อยู่ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมก็ต้องปรับตัวหลายอย่าง ผสมกับที่เขารู้สึกว่ากำลังเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ คุณหมอถามว่า “ถ้าน้องอยากจะสอบใหม่ ย้ายไปเรียนสาขาอื่น คุณแม่จะยอมไหม คุณแม่คิดอย่างไร”


หลังจากวันนั้นแม่กลับมาคุยกับคุณพ่อ เราสรุปตรงกัน จากนั้นจึงบอกคุณหมอว่า พ่อกับแม่ไม่มีปัญหา ถ้าลูกจะสอบใหม่ อยากเรียนสาขาอื่น อยากย้ายที่เรียน หรืออยากจะดรอปทุกอย่างเอาไว้ก่อน ก็ได้ทั้งหมด พ่อกับแม่ไม่มีปัญหาเลย ณ ตอนนี้ความสุขของลูกสำคัญที่สุด พอน้องได้ยินแบบนั้นเขาก็สบายใจขึ้น แต่น้องพูดออกมาคำหนึ่งว่า “ทำไมพ่อกับแม่ต้องรอให้ลูกเป็นแบบนี้ ทำไมต้องรอให้ลูกเครียดจนทนไม่ไหวแล้วค่อยยอม ทำไมพ่อกับแม่ไม่ฟังลูกเสียแต่แรก” คำนี้เสียดแทงใจมาก รู้สึกผิดมาก ในที่สุดเขาตัดสินใจว่า “ขอลูกลองเรียนดูก่อน ลูกคิดว่าเรียนได้ แล้วถ้าลูกเรียนไม่ได้จริงๆ ลูกจะบอก”


น้องเคยเล่าไหมว่าน้องอยากเรียนอะไร
ถ้าเป็นคำพูดชัดๆ เขาไม่เคยพูด ช่วงมัธยมปลายเคยพูดบ้างว่า เขาอยากจะเรียนสายศิลป์ ชอบภาษาอยากเรียน อักษรศาสตร์ หรือมนุษย์ศาสตร์ แต่เราทั้งคู่ (คุณพ่อและคุณแม่) เป็นนักเรียนสายวิทย์ เรานึกไม่ออกว่าการเรียนอักษรศาสตร์ หรือมนุษย์ศาสตร์จะทำอาชีพอะไร ดังนั้นพอลูกเริ่มเอ่ยปาก เราก็มักจะบอกว่า “ไม่ดีหรอกลูก” พยายามโน้มน้าว เข้าสู่โหมดพ่อแม่ผู้มีความรู้ หวังดี เราผ่านโลกมามาก ซึ่งมันมักจะจบด้วยประโยคสุดท้ายที่ลูกพูดว่า “สุดท้ายลูกก็เถียงไม่ได้อยู่ดี งั้นแม่ก็เลือกมาให้ลูกเลยก็แล้วกัน จะให้ลูกเรียนอะไร” เมื่อมองย้อนกลับไป เราก็เห็นความสุดโต่ง เห็นความผิดของตัวเองเต็มๆ


ฟังแต่ไม่ได้ยิน
จริงๆ แล้วลูกมีคำติดปาก คือเขามักจะพูดว่า “ลูกชอบภาษา” ซึ่งพ่อกับแม่ก็เห็นอยู่ว่า เขามีความฉลาดด้านนี้อยู่จริงๆ เขาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ได้ A ในวิชาภาษาต่างประเทศมาตลอด อาจารย์หลายคนก็พูดให้ฟัง เคยมีอาจารย์พูดด้วยซ้ำว่า “น้องไม่ต้องเรียนพิเศษด้านภาษาแล้วค่ะ เพราะตอนนี้น้องเก่งกว่าครูอีก” แต่พ่อกับแม่ไม่ get เราก็คิดแบบเราว่า “ลูกเก่งภาษาก็ดี แต่ได้ภาษาแล้วยังไงล่ะ มันต้องมีอะไรมากกว่านั้นสิ” เพราะเรา (พ่อกับแม่เรียน) อยู่ในสายงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมันชัดเจนมาก ซึ่งมันเป็นจุดบอด (blind spot) ของเรา พอลูกพูดว่าเขาชอบภาษา อยากเรียนด้านภาษา สิ่งที่เป็น auto ของแม่ก็คือ “แต่แม่ว่า..” ซึ่งลูกก็จะบอกว่า สุดท้ายลูกก็เถียงแม่ไม่ได้ ยังไงลูกก็ไม่ชนะแม่หรอก


มาถึงวันนี้เพิ่งจะเข้าใจ เพิ่งได้ยินว่าการที่เขาบอกว่า “ลูกชอบภาษา” แปลว่า เขาถนัดเรื่องนี้จริงๆ นะ เขามีความสามารถในด้านนี้ และเขาอยากจะใช้เวลาของเขาเพื่อสิ่งนี้ และอยากจะบอกกับคนเป็นพ่อแม่ ในฐานะพ่อแม่ เราไม่จำเป็นต้องชนะลูกก็ได้นะ ไม่จำเป็นว่า เราต้องถูกต้องเสมอ แต่เราควรจะเคารพความคิดของลูกด้วยการฟังเขา แต่ในตอนนั้นแม่คิดไม่ได้


นาทีกำลังใจ
แม่วาสเล่าว่า หลังจากทำความเข้าใจกัน แม่วาสพยายามให้เวลา สร้างความสัมพันธ์ เปิดใจ ฯลฯ เมื่อความสัมพันธ์ค่อยๆ ดีขึ้น ก็คุยกันได้มากขึ้น ความสนิทสนม ความใกล้ชิดทำให้เรื่องราวภายในก็เริ่มถ่ายเทเข้าหากัน

วันหนึ่งน้องถามว่า “แม่ทำอะไรอยู่” ก็เลยเล่าให้ลูกฟังว่าแม่อยู่ในการอบรม “พ่อแม่ฟังใจลูก” มีโค้ชด้วย (life coach) แล้ววันหนึ่งลูกก็พูดออกมาว่า “งั้นแม่เป็นโค้ชให้ลูกหน่อยได้ไหม” — พอลูกพูดคำนี้ เราอึ้งไปเลย เพราะมันแสดงว่าลูกกลับมาไว้ใจเราแล้ว จากที่เรารู้สึกมาเรื่อยๆ ว่า ลูกไม่อยากอยู่ใกล้เรา — จำได้ว่า อึ้งมาก และดีใจมาก มีกำลังใจมาก ตอบลูกไปว่า “ถ้าลูกยินดี แม่ก็จะพยายามนะ แม่ก็ไม่รู้ว่าแม่จะทำได้ดีหรือเปล่า แม่ไม่เก่งเท่าโค้ชหรอกแต่แม่จะพยายาม” — นาทีนั้นคือนาทีกำลังใจ เพราะมันแสดงว่าสิ่งที่เราพยายามทำ พยายามฝึกมานี้มันใช้ได้


ถ้าไม่รู้จัก ‘ฟังใจลูก’ ตัวเองจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
เราก็คงจะบิ้วลูกทุกอย่าง โน้มน้าวแบบที่เคยทำ ไม่ได้ฟังความต้องการของเขา — ก็คงพยายามอำนวยความสะดวก เสริมความต้องการทางวัตถุ เช่น ถ้าอยู่หอในมหาวิทยาลัยไม่สะดวกงั้นลูกจะย้ายไปอยู่คอนโดไหม ลูกอยากใช้รถส่วนตัวหรือเปล่า โน่น นี่ นั่น หรือทางออกอีกแบบหนึ่งก็คือ แม่ย้ายไปทำงานที่เชียงใหม่จะได้อยู่ใกล้ลูก พ่อกับแม่คิดกันแบบนี้ (หัวเราะ)


โชคดีมากที่ได้เจอคอร์สนี้ ไม่อย่างนั้นมันคงจะไปกันใหญ่ (หัวเราะ) คงจะครอบลูกหนักกว่าเดิม ซึ่งก็อาจจะเสียหายหนักกว่านี้ นึกไม่ออกเลยว่าผลจะเป็นอย่างไร มันเหมือนกับว่า เรา-พ่อกับแม่ พยายามให้สิ่งที่เขาไม่ต้องการ ซึ่งเราก็ไม่รู้ตัวสักทีว่า เขาไม่ต้องการสิ่งที่เราพยายามให้ — เจ็บทั้งสองฝ่าย


ตอนหลังก็พยายามฟัง พยายามรับรู้ความหมายที่ลึกลงไป บางทีคำพูดมันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น ซึ่งแม่ก็กลับไปบอกกับคุณพ่อของน้องด้วย คอร์สนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เฉพาะแม่เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของลูก ของแม่และของคุณพ่อด้วย

.

.

ลูกอยู่ในวัยเติบโต พ่อแม่ก็เติบโตไปพร้อมๆ กับลูก ก่อนหน้านี้เราคิดว่า ลูกยังเล็ก พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ คิดอะไรก็ถูกหมด เพราะเราผ่านมาหมดแล้ว เรารัก เราห่วง สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราบอก สิ่งที่เตรียมไว้ให้ ทุกอย่างมันถูกต้องแล้ว ซึ่งพอเข้าอบรมจึงได้รู้ว่าการคิดแบบนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ความคิดของลูกก็สำคัญ เราต้องฟังเขา เราคิดอย่างนี้ หวังดีกับเขาก็จริงแต่มันอาจจะไม่เหมาะกับเขา มันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ


เมื่อก่อนเราได้ยินแค่คำ ไม่เคยได้ยินที่มากกว่านั้น พอลูกพูด เราก็ตอบไปตามอัตโนมัติ เช่น อ้อ…ลูกพูดแบบนี้เหรอ คิดแบบนี้เหรอ ไม่ถูกนะ … ซึ่งอาจจะเป็นการตัดบท ถ้าพ่อแม่ได้ยินมากขึ้น เราจะช่วยลูกได้มากขึ้น เช่น เมื่อลูกพูดว่า “แม่รู้ไหมว่า ลูกผ่านมันมาได้ยังไง” — เราได้ยินความเจ็บปวดของลูกผ่านประโยคนี้ ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่เคยได้ยิน


การฟังมันไม่ใช่แค่ฟัง แต่มันคือการที่เรารู้ว่ามีใครสักคนอยู่ข้างๆ เรา ในช่วงแรกๆ ของการอบรม เมื่อได้คุยกับโค้ช มันทำให้เรารู้สึกดีมากๆ มีกำลังใจ ในตอนนั้นจึงมีความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราได้ฟังลูกของเรา เหมือนที่โค้ชฟังเรา ลูกก็คงจะรู้สึกดีอย่างนี้แหละ นี่คือแรงบันดาลใจที่เราอยากจะฝึกฟัง — การฟังมัน release ความเจ็บปวดได้จริงๆ

.

ความสำคัญของครอบครัว
ตอนเกิดเรื่องคุณพ่อก็เสียใจ รู้สึกว่าพลาดที่บังคับลูก แม่ก็ต้องปลอบคุณพ่อด้วย เริ่มใหม่ไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน พอแม่เรียนจบในแต่ละคลาสก็จะเอามาเล่าให้คุณพ่อฟังว่า วันนี้เรียนอะไร โค้ชสอนว่าอะไร ถ้ามีคลิปก็เก็บมาฝาก คุณพ่อจะได้ดูคลิปนั้นด้วย จะได้เข้าใจไปด้วยกัน รับมือไปด้วยกัน


มองย้อนกลับไป บ้านเราคงจะเป๊ะมากไปหน่อย เลี้ยงลูกมาด้วยระเบียบ กดดันโดยไม่ตั้งใจ ลูกก็คงเครียดอยู่บ้าง บางทีความเครียดก็มาจากคนรอบข้างเช่น “พ่อเป็นตำแหน่งนี้นะ แม่ตำแหน่งนี้นะ แล้วแกจะยังไง” หรือเพื่อนๆ ของเขาก็พูดว่า “แล้วพ่อกับแม่แกจะยอมให้ไปเที่ยวเหรอ” เขาเคยบอกว่าชีวิตวัยรุ่นของเขาเป็น ‘วัยรุ่นหนีบๆ’ เป็นวัยรุ่นได้ไม่สุด


เผชิญประสบการณ์ในอดีต
การอบรมนี้ทำให้เราได้ย้อนกลับไปมองชีวิตของตัวเอง ส่วนหนึ่งที่เราดิ้นรนหาทางแก้ปัญหา และส่วนหนึ่งของปัญหาก็มาจากประสบการณ์ในอดีตของเรา — คุณพ่อของเรา(แม่วาส) เป็นคนดุ ตั้งความหวังไว้ว่าลูกทุกคนต้องเรียนเก่ง เรามีพี่น้อง 4 คน แม่วาสเรียนเก่งน้อยที่สุดในบรรดาพี่น้อง ถูกคุณพ่อดุตลอดเวลา รู้สึกว่าคุณพ่อไม่รัก รู้สึกมาตลอดว่า ทำไมคุณพ่อต้องถามทุกครั้งว่าเราสอบได้เกรดอะไร ได้คะแนนเท่าไร ทำไมคุณพ่อไม่เคยถามเลยว่า เราทำอะไรได้บ้าง เราทำอะไรๆ ได้ตั้งหลายอย่างเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันแม้ว่าจะเรียนไม่เก่ง มันทำให้เราไม่สนิทกับคุณพ่อ ไม่อยากเข้าใกล้คุณพ่อ ไม่ชอบคุณพ่อ


พอถึงจังหวะที่ลูกเริ่มไม่สนิทกับเรา มันกระตุ้นความรู้สึกเก่าๆ มาก กลัวว่าลูกจะเกลียดเรา นี่เป็นความกลัวที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนเป็นแม่ เจ็บปวดมาก


ครั้งหนึ่ง พอมีโอกาสได้คุยกับลูก คุยกันถึงเรื่องราวในอดีตว่าแม่เองก็เคยเจ็บปวดนะ มีโอกาสได้เล่าเรื่องวัยเด็กที่ลูกไม่เคยรับรู้ บอกกับลูกว่า “สิ่งที่แม่กลัวที่สุด คือกลัวว่าลูกจะเกลียดแม่” นาทีนั้น เรากล้าเผชิญกับความเจ็บปวด กล้าที่จะบอกความรู้สึกกับลูก กล้าที่จะบอกว่าแม่กลัวนะ กลัวลูกเกลียด ถ้าไม่ได้ผ่านคอร์สนี้ก็คงไม่กล้าที่จะพูดหรอก คงไม่คุยกันด้วยเรื่องแบบนี้ นี่เป็นการทลายกำแพงครั้งใหญ่


คำขอโทษ
หลังจากนั้น ลูกก็เริ่มเล่าความเจ็บปวดของเขาผ่านตัวละคร เขาไม่ได้เล่าตรงๆ แต่เล่าถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาชอบ เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า ตัวละครตัวนั้นเป็นเด็ก และมีการแสดงที่โรงเรียนและจะได้ขึ้นแสดง ซึ่งเขาตั้งใจอยากให้พ่อกับแม่ได้ไปดูเขาแสดง แต่แล้ววันนั้นแม่ไม่ได้ไป ทำให้ตัวละครที่เป็นเด็กนั้นเสียใจมาก เขาโกรธพ่อกับแม่ เพราะพ่อแม่เห็นงานสำคัญกว่าลูกเสมอ


พอเขาเล่า เรา(แม่วาส) ก็รู้เลยว่านี่คงจะเป็นชีวิตของลูก นี่คือสิ่งที่ลูกอยากจะบอก ก็เลยพูดออกไปว่า “แม่ไม่แน่ใจนะว่า ตัวละครนี้คือตัวลูกหรือเปล่า ถ้าใช่ แม่ขอโทษ” นี่เป็นครั้งแรกที่ขอโทษลูกออกไปตรงๆ ขอโทษจริงๆ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องราวที่เกิดในอดีต แต่เขายังเจ็บปวด ยังเสียใจ — พอแม่ขอโทษ น้องก็ร้องไห้ออกมา เขาบอกว่า “ตอนนี้ตัวละครตัวนั้นโตขึ้นแล้ว เด็กคนนั้นเข้าใจมากขึ้นแล้ว และอยากขอโทษพ่อกับแม่ที่คิดแบบนั้นในวัยเด็ก”


หลังจากเหตุการณ์นี้ ความสัมพันธ์หลายๆ อย่างกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีความเข้าใจ มีความใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น


ส่งท้าย
นึกถึงเพื่อนๆ ร่วมวิชาชีพค่ะ — พวกเราไม่มีเจตนาที่จะละเลยลูก แต่มันยาก ทั้งช่วงวัยและการทำงาน การที่ครอบครัวเราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เรามีภาระเยอะทั้งคู่ เวลาไม่แน่นอน

แม่เป็นพยาบาล ต้องขึ้นเวร บางทีเตรียมว่าจะไปเที่ยวกัน อยู่ด้วยกัน แต่โดนเรียกให้ขึ้นเวรกระทันหัน โปรแกรมส่วนตัวก็ต้องยกเลิก ต้องทำงานก่อน เหตุการณ์แบบนี้มีบ่อยๆ ช่วงที่ลูกยังเล็กเราไม่เคยรู้ว่า เขาน้อยใจ เขาเสียใจ เราคิดว่าการที่บอกลูกว่าแม่ต้องไปทำงาน เราให้เหตุผลที่ดีแล้วลูกจะเข้าใจ — เขาก็คงเข้าใจ แต่เขาก็เสียใจด้วย แต่เราไม่รู้ และเราไม่เคยรู้เลยว่าลูกยังคงเก็บสิ่งเหล่านี้มาจนทุกวันนี้


อยากจะบอกว่าการอบรมนี้ช่วยพวกเราเอาไว้หลายอย่าง ถ้าไม่รู้จักการอบรม ก็คงวิ่งแก้ปัญหาผ่านวัตถุ ผ่านนักบำบัด ไม่เคยรู้เลยว่าปัญหาอยู่ที่เรา และเรานี่แหละที่จะต้องกลับมาแก้ไขที่ตัวของเราเอง ขอบคุณโค้ช ขอบคุณทุกคนมากๆ ที่ทำให้เกิดคอร์สนี้ค่ะ


…………………………………………………………………………..

.

*5 ภาษารัก โดย ดร.แกรี่ แชปแมน (Dr. Gary Chapman) https://www.happinessisthailand.com/2023/09/04/spiritual-relation-lovelanguage-healing/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save