คุณแม่ยุคดิจิตอล
8 ช่องทางความสุข

คุณแม่ยุคดิจิตอล

เมื่อมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่า ปัญหาที่มี ไม่ได้มีเฉพาะกับลูก จริงๆ แล้ว เราก็มีปัญหาในที่ทำงาน เหตุหนึ่งก็เพราะความไม่ยืดหยุ่นของตัวเราเอง เมื่อรู้จักวิธีการฟังที่ใช้กับลูก ก็เอาไปปรับใช้ในที่ทำงาน เหล่านี้ทำให้ตัวเราดีขึ้น ความรู้สึกที่มีกับคนรอบข้างก็ดีขึ้น คนรอบข้างก็รู้สึกกับเราดีขึ้น

.

  • การฟังเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกความสัมพันธ์ ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง หรือความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน การฟังอย่างเข้าใจจะช่วยให้เรารับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น และดูแลรักษาความสัมพันธ์ในระยะยาว
  • วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง ต้องการความเป็นอิสระ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง การกำหนดขอบเขตและความรับผิดชอบที่ชัดเจน แต่ยืดหยุ่น จะช่วยให้ลูกเตรียมพร้อมเพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ
  • มื่อเจอปัญหาแบบนั้นความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ตึพ่อแม่ที่ฝึกฝนทักษะการฟังโดยไม่ตัดสินลูก และไม่คิดแทนลูก เปิดใจรับฟังลูกอย่างจริงใจ จะช่วยดูแล รักษา และเยียวยาความสัมพันธ์

.

คุณสุนิสา หุ่นเลิศ เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมโครงการ “พ่อแม่ฟังใจลูก” ซึ่งจัดโดย ธนาคารจิตอาสา ร่วมกับ The Essential Coach สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณสุนิสาเขียนสะท้อนท้ายโครงการฯ ว่า “ตอนนี้มีความสุขขึ้นเยอะมาก ขอบคุณที่ได้ชีวิตกลับมา ตอนนี้ภูมิใจตนเอง ปรับตัว คิดว่าไม่ต้องหาหมอจิตเวชละ” — น่าสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้ —

คุณแม่ยุคดิจิตอล


คุณสุนิสาเล่าว่าเธอเป็นผู้หญิงทำงานมีลูกชายซึ่งขณะนี้อายุ 16 ปีเต็ม ช่วงที่ลูกยังเล็ก ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เพิ่งมามีปัญหาเมื่อลูกเริ่มเข้าวัยรุ่นนี้เอง


ผู้ใหญ่ตอนปลายกับวัยรุ่นตอนต้น
คุณแม่เล่าว่า เธอมีลูกชายตอนอายุ 37-38 ซึ่งถือว่าอายุค่อนข้างมาก ปัจจุบันน้องอายุ 16 ปี คุณแม่อายุห้าสิบปีเศษซึ่งนับว่าห่างกันพอสมควร ผู้เขียนแซวกลับไปว่า คุณแม่อินเทรนด์ เพราะผู้หญิงทำงานในปัจจุบัน กว่าจะเรียนจบ ทำงาน ตั้งหลัก แต่งงาน มีลูก ก็อายุประมาณที่คุณแม่มีน้อง


คุณแม่เลี้ยงลูกเอง คุณพ่อมาหาเฉพาะวันหยุด การเลี้ยงลูกเองหมายถึง ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกด้วยตัวเอง ไปรับ-ไปส่งที่โรงเรียน ทั้งเรียนปกติและเรียนพิเศษ สมัยที่ลูกยังเล็กบางครั้งก็พาไปในที่ทำงานด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน — น้องเรียนเยอะ เรียนพิเศษมาตั้งแต่อนุบาล เรียนคุมอง* เรียนพิเศษในวันหยุด เรียนดนตรี ฯลฯ ทุกอย่างเป็นปกติดี จนกระทั่งน้องเริ่มเข้ามัธยมต้น


“พอเข้า ม.1 น้องขอย้ายมาเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เขาให้เหตุผลนั่นนี่ คุณแม่ก็ตกลง ช่วงเช้าคุณแม่ไปส่ง แต่ช่วงเย็นน้องกลับบ้านเอง รับผิดชอบเรื่องการบ้านและเรื่องอื่นๆ เอง นี่เป็นจังหวะแรกที่เรามีระยะห่าง”


ต่อมาคือช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้องต้องเรียนหนังสือออนไลน์ที่บ้าน แต่คุณแม่ยังคงไปทำงานในสำนักงานทุกวัน ประกอบกับเป็นจังหวะที่รับตำแหน่งใหม่ภาระงานมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ดูแลพนักงานมากขึ้น กดดันมากขึ้นและเครียดมากขึ้นด้วย


เลิกงานแต่ละวันก็เหนื่อย กลับบ้านก็ยังเครียด บางทีแม่ก็เผลอใช้คำสั่งโดยไม่รู้ตัวเช่น ‘ทำการบ้านหรือยัง อาบน้ำหรือยัง ไปอาบน้ำได้แล้ว ถึงเวลากินข้าวแล้ว ทำไมไม่มากินข้าว ฯลฯ’ — จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะสั่ง ไม่ได้คิดว่านั่นคือคำสั่ง แต่เป็นความเคยชิน ยิ่งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดก็ยิ่งเข้าไปกำกับ นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้น้องรู้สึกว่า คุณแม่จ้ำจี้จ้ำไช ชอบสั่ง ชอบดุ ระยะห่างก็เพิ่มขึ้นมาอีก


โลกออนไลน์
พอถึงช่วงที่ทุกคนต้องเรียนออนไลน์ คุณแม่ก็เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการเรียน ระยะนั้นน้องเข้าไปอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่าในอดีต ประกอบกับการอยู่ในวัยเปลี่ยนผ่าน จากเด็กชายกำลังจะกลายเป็นหนุ่มน้อย ช่วงนี้เองที่คุณแม่กับลูกชายเริ่มขัดแย้งกัน เริ่มมีปากเสียง


ช่วงนั้นคุณแม่รู้ว่าน้องเข้าไปในโลกออนไลน์เยอะ เล่นเกมส์เยอะ เล่นจนดึก บางที เวลาที่รู้ว่าเขาเล่นเกมส์ดึกๆ แม่ก็ไปเคาะประตูห้องบอกให้เขาเลิกเล่น — ซึ่งเขาก็ไม่ฟัง ยิ่งเล่นเกมส์หนักขึ้น บางครั้งเล่นจนดึกมากและบางทีเล่นถึงเช้า บางทีเราก็ไปเคาะประตูห้องบอกให้เขาให้เลิกเล่น เขาก็ไม่พอใจกลายเป็นทะเลาะกันกลางดึก บางทีแม่ก็ร้องไห้อยู่หน้าประตูห้องลูก — มันแย่มากๆ เลย


ต่อมาเขาขอลดการเรียนพิเศษ เขาบอกว่าเหนื่อยกับการเรียนออนไลน์มากแล้วและมีงานพิเศษที่ต้องส่งครูมากกว่าเดิม ที่น่าตกใจก็คือผลการเรียนเริ่มแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด จากเกรดสามกว่า ลงไปเหลือสองกว่า —รู้สึกว่าใจไม่ดี เพราะลูกไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน


ช่วงนั้นเครียดมาก รู้สึกว่าไม่มีทางออก เราพยายามเข้าหาแต่เขาไม่สนใจ ไม่ยอมให้เข้าใกล้ ต่อต้าน ดื้อแพ่ง เงียบ— แล้ววันหนึ่งเราก็ทะเลาะกัน

เขาระเบิดออกมาว่า ที่ผ่านมา เขาไม่เคยปฏิเสธแม่เลย แม่ให้ทำอะไรเขาก็ทำมาโดยตลอด แม่ไม่เคยถามเลยด้วยซ้ำว่า สิ่งที่แม่ให้ มันใช่สิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า —
โอ้โห! พอได้ยินอย่างนี้ คุณแม่เสียใจมาก เจ็บ

เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยปฏิเสธลูกเลยสักอย่างเดียว ทุ่มเทในการเลี้ยงลูกมาก ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ทำให้ทั้งหมด ลูกขออะไรก็ให้ แทบจะเรียกว่าตามใจลูกด้วยซ้ำ — แล้วลูกก็ระเบิดแบบนี้ เหมือนกับว่า ทุกอย่างที่เราทำลงไปมันไม่มีค่า ลูกไม่เห็นค่า เขาไม่เห็นความรัก ไม่เห็นการทุ่มเทที่เราทำให้เลย — เสียใจมาก”


เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้คุณสุนิสาเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ทั้งที่เหนื่อยจากงานแต่ก็นอนไม่หลับ เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง บางครั้งแก้ปัญหาการนอนไม่หลับด้วยการนั่งทำงานจนเช้า ซึ่งยิ่งทำให้ร่างกายแย่ลงไปอีก


“ช่วงนั้นเครียดมาก ปรึกษาไปหมด ปรึกษาครู ปรึกษาเพื่อน ปรึกษาคนรอบข้าง ต้องการคำชี้แนะ — พร้อมๆ กันนั้นก็รู้สึกตลอดเวลาว่า เราผิดอะไร เราเลี้ยงลูกมาผิดเหรอ การพยายามดูแลลูกทุกอย่างมันผิดด้วยเหรอ — ทั้งหมดนี้เป็นความผิดของเราเหรอ ยิ่งผสมกับอาการนอนไม่หลับ คิดวนเวียน ก็เริ่มรู้สึกว่า หรือเราจะมีปัญหาทางจิต เราควรจะไปรับคำปรึกษาทางจิตวิทยาดีไหม


ใจหนึ่งอยากพาทั้งตัวเองและลูกไปหาหมอ ไปพบนักจิตวิทยา ช่วงนั้นนึกถึงคลินิกบำบัดการติดเกมส์ ฯลฯ แต่พร้อมกันนั้นก็รู้ว่าลูกคงไม่ไปกับเราแน่ๆ ลูกจะต้องปฏิเสธแน่นอนว่า เขาไม่ได้ติดเกม — ถ้าพาลูกไปด้วยไปได้ ก็ต้องพาตัวเรานี่แหละไปหาคำปรึกษาที่ไหนสักแห่งให้ได้ เพื่อจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”

.

คุณแม่ยุคดิจิตอล


ความหวัง
น้องเรียนตีกลองอยู่กับครูท็อป-คุณพรเทพ สงสกุล ซึ่งเป็นไลฟ์โค้ชด้วย แต่คุณแม่ไม่รู้ — ช่วงนั้นน้องปฏิเสธการเรียน ไม่อยากไป ไปสาย บางทีก็ไม่ไป “บางวันคุณแม่ต้องโทรไปหาคุณพ่อของเขา ขอร้องให้คุณพ่อโทรมาหาน้องบอให้น้องแต่งตัวไปเรียน (!) — คือมันเป็นอะไรที่แย่มาก พอไปสายเราก็ต้องขอโทษขอโพยครู เกรงใจครูท็อปมาก วันหนึ่งจึงบอกครูว่า ตอนนี้เรากำลังมีปัญหานะ แล้วเล่าปัญหาให้ครูฟัง ครูท็อปจึงพูดถึงโครงการพ่อแม่ฟังใจลูก” นั่นคือที่มาที่ทำให้ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ


คอร์สนี้ ต้องเข้าเรียน 5 ครั้ง ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. และมี session การปรึกษาส่วนตัวครั้งละ 1 ชั่วโมง อีก 3 ครั้ง


สิ่งที่โดนใจมากๆ คือ พี่ผู้ชายคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเขาให้ฟัง เขาเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ทำงานเยอะมาก มีเงินเยอะ และพยายามวางกรอบให้ลูก ต้องเรียน ต้องทำการบ้าน ถ้าลูกไม่ทำก็ลงโทษ จนวันหนึ่งลูกต่อต้านด้วยการไม่เรียน สอบตกรวดเดียวสามสิบวิชา เขาบอกว่า ‘ความสัมพันธ์ของเขากับลูก กลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย เขามักใช้คำสั่งกับลูกและมีการลงโทษ โดยไม่เคยฟังลูก ถ้าฟังแล้วพยายามเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น ก็คงจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้’ — ได้ฟังแล้วก็นึกถึงเรื่องของตัวเองไปด้วย การฟังเรื่องราวจริงๆ มีผลกับตัวเรามากๆ เลยค่ะ


ในโครงการพ่อแม่ฟังใจลูก หลักๆ คือเรียนเรื่องการฟัง ฟังอย่างไรที่จะเข้าใจลูก แล้วจะสื่อสารอย่างไร ทำอย่างไรที่คำพูดของเราจะไม่ใช่คำสั่ง แต่เป็นการทบทวน ชวนคิด — การฝึกในทุกๆ ครั้งที่เข้าเรียน ทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยฟังลูก ไม่เคยสร้างความมั่นใจให้ลูก และเราอาจจะไม่ได้เชื่อใจลูกมากพอเราถึงได้คิดแทน ทำแทนมาตลอด อีกเรื่องก็คือได้เห็นความคาดหวังของเราที่มีกับลูก เมื่อไรที่มันไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เราก็รู้สึกว่ามันล้มเหลว แล้วเราก็ไปลงกับลูก


เราเลี้ยงลูกด้วยวิธีการเดิมที่เคยได้รับ คุ้นเคยต่อการ ‘สั่งและสอน’ ถ้ามากกว่านั้นก็คือ ดุ และ ว่า ซึ่งมันใช้ไม่ได้แล้วในยุคนี้ พอได้ฝึกฟัง หัดฟัง ฝึกเห็นข้อดีในตัวลูก ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ เลิกจับผิด ชื่นชมเวลาที่ลูกทำอะไรดีๆ สิ่งสำคัญคือสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ทำให้ลูกเห็นว่า ความสัมพันธ์ของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขา ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น ลูกเริ่มเข้าหา


“ลูกเข้าหา” เป็นอย่างไร
เมื่อก่อนคุณแม่เคยน้อยใจว่า ลูกไม่รัก ไม่ยอมให้ใกล้ชิด ทั้งที่เลี้ยงเขามาตั้งแต่เล็ก ทำให้ทุกอย่าง ดูเหมือนว่าเขารักพ่อมากกว่าแม่ ทั้งที่พ่อไม่ได้อยู่ด้วยกัน — ใน ‘วันแม่’ ลูกก็ไม่ยอมเข้ามาหาแม่ แต่พอถึงวันพ่อ แม่เป็นคนเตรียมดอกไม้ จัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วลูกเอาสิ่งเหล่านั้นไปให้พ่อ เขากราบเท้าพ่อ —เงียบ — เห็นแบบนี้แล้วน้ำตาจะไหล รู้สึกว่าเราผิดอะไร ทำไมลูกถึงไม่รัก


การเข้าหาที่ว่าก็คือ เดี๋ยวนี้เขาเข้ามาคุยด้วย เข้ามาขอให้แม่ทำนั่นทำนี่ให้ ขอความช่วยเหลือมากขึ้น ในช่วงที่มีปัญหามากๆ เขาไม่เคยขอ ไม่ง้อ ไม่คุยด้วย เงียบ เย็นชา เมื่อก่อนพอแม่เข้าไปในห้องเขาจะบอกว่า แม่ถอยออกไป อย่าเข้ามา แทบจะไม่ได้คุยกัน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เราคุยกันได้


เมื่อความสัมพันธ์ดีขึ้น เขาเล่าให้ฟังเอง ไม่ต้องรอให้ถาม ทั้งเรื่องโรงเรียน เรื่องเพื่อน อีกเรื่องก็คือเขาพยายามแสดงให้เห็นว่าเขารับผิดชอบสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ตามงานของเขาเอง แจ้งผลคะแนน อธิบายว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าติดปัญหาอยู่เขาจะแก้ไขอย่างไร การบ้านอะไรส่งแล้ว อะไรยังไม่ได้ส่ง ซึ่งในอดีตมันคนละเรื่อง — ไม่ให้ถาม ห้ามถาม และถึงแม้จะถามเขาก็ไม่ตอบ


การกระทำอะไรของคุณแม่ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างที่เห็น
(นิ่ง คิด) ส่วนหนึ่งลูกก็คงเห็นจริงๆ ว่า แม่กำลังพยายามปรับตัว แม่พยายามเปลี่ยนแปลง เวลาที่แม่นั่งเรียน แม่อยู่ในการอบรมเขาก็เห็นว่าแม่กำลังเรียนอะไร และเรียนเพื่ออะไร อีกส่วนหนึ่งก็คือ แม่พยายามปรับตัวจริงๆ และมันคงส่งผลกับเขา เช่น แม่ค่อยๆ หยุดการสั่ง พยายามรู้ตัวมากขึ้น ไม่ค่อยจ้ำจี้จ้ำไช สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น แม่พยายามที่จะฟัง ฟังอย่างเปิดใจ ฟังเพื่อจะเข้าใจเขา เชื่อมั่นในตัวเขา ให้เขามั่นใจในสิ่งที่เขาทำ


พอแม่เลิกสั่งแต่ให้ความมั่นใจ ยอมให้เขาคิดเอง เลือกเอง ทำด้วยตัวเอง ไม่ไปจี้ — แม่อยากจะบอกว่า

แม่เองก็ฝึกความกล้าพอควรเลยนะคะ ฝึกตัวเองให้กล้าที่จะให้เขาตัดสินใจเอง วางความคาดหวังของตัวเองลงไป พยายามมองว่าสิ่งที่ลูกคิด ตัดสินใจ และทำ เป็นสิ่งที่ลูกคิดมาดีแล้ว เขาพยายามทำอย่างดีที่สุดตามกำลังความสามารถของเขาแล้ว เหล่านี้แม่ต้องฝึกตัวเองมากเลย


อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ
ครั้งหนึ่งโรงเรียนของลูกมีปัญหาเรื่องอีเมล จึงมีปัญหาในการส่งงานและมีผลกับคะแนน — พอรู้ว่าลูกมีปัญหา แม่ก็บอกว่า เดี๋ยวแม่จะช่วย จะไปที่โรงเรียน จะไปคุยนู่น นี่ นั่น … จะไปจัดการปัญหาให้ แต่ลูกบอกว่า “แม่ไม่ต้อง ขอให้ผมลองทำเองก่อน ถ้าผมทำจนสุดแล้วไม่ได้ ผมจะบอกแม่อีกที ตอนนี้ขอทำเอง” แล้วในที่สุดก็ได้เห็นว่า ลูกทำเองได้จริงๆ เขาแก้ปัญหาได้


อีกครั้งหนึ่งเขาขาดสอบเพราะป่วย เขาขอให้แม่อยู่เฉยๆ เขาจะจัดการปัญหาของเขากับโรงเรียนเอง ซึ่งก็ทำได้จริงๆ —ซึ่งมันเป็นเรื่องที่คุณแม่ไม่เคยคิด ที่ผ่านมาคุณแม่ทำให้เขาทุกอย่าง พอแม่วางใจ ปล่อยให้เขาทำเอง และเขาก็พิสูจน์ตัวเองว่าเขาทำได้ และเขาภูมิใจที่ทำได้


ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่เข้าใจลูกมากขึ้นและเข้าใจตัวเองด้วย รู้จักวิธีการพลิกมุมมอง เครียดน้อยลง รู้จักวิธีที่จะคิดและบริหารจัดการความคิดได้


เมื่อมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือปัญหาที่มี มันไม่ได้มีเฉพาะกับลูก จริงๆ แล้ว เราก็มีปัญหาในที่ทำงานเหมือนกัน เหตุหนึ่งก็เพราะความไม่ยืดหยุ่นของตัวเราเอง เมื่อรู้จักวิธีการที่ใช้กับลูก ก็เอาไปปรับใช้ในที่ทำงาน ฟังลูกน้องมากขึ้น เหล่านี้ทำให้เราดีขึ้นความรู้สึกของตัวเราที่มีกับคนรอบข้างก็ดีขึ้น คนรอบข้างก็รู้สึกกับเราดีขึ้น


มุมมองของคุณแม่ยุค 5G
ยุคนี้ เด็กๆ อยู่ในโซเชียลมาก เพื่อนของเขาก็อยู่ในโลกโซเชียล ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงไหม มันน่าห่วง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคอยตามส่อง หรือไปนั่งเฝ้าหน้าจอ (และเขาก็คงไม่ยอมให้เฝ้า) สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือ เป็นห่วงอยู่ห่างๆ สังเกต เขาสนใจเรื่องไหน เขาเข้าไปแค่ไหนแล้ว ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีคือพื้นฐานที่สำคัญ ถึงที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยคือสิ่งที่ดีที่สุด ทำอย่างไรที่เขาจะไม่รู้สึกว่า ความเป็นห่วงของเราคือการก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของเขา โลกของลูกไม่เหมือนโลกในยุคของเรา เขาเป็นตัวของตัวเอง แต่ที่สุดแล้ว ความสุขของลูกเกิดจากแม่ที่รู้จักปรับตัว ปรับมุมมอง เข้าใจตัวเองและความเข้าใจลูก เหล่านี้คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดี และทำให้ชีวิตมีความสุข


…………………………………………………………..


*คุมอง – สถาบันสอนคณิตศาสตร์แนวใหม่

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
https://www.happinessisthailand.com/2023/02/27/spiritual-relation-listen-parenting/
https://www.happinessisthailand.com/2022/08/02/spiritual-listen-coach-happiness/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save