อาบป่า อาบใจ
หลายคนอิจฉาคนที่ทำงานอยู่ในป่าว่าเขาอยู่ในพื้นที่อันสงบ เงียบ สงัด สบาย แต่มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ ถ้าเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติไม่เป็น — คนที่ทำงานในป่าเป็นซึมเศร้าก็หลายคน พร้อมกันนั้นหลายๆ คนก็หายป่วยจากซึมเศร้าเมื่อได้เข้าป่าเช่นกัน – ถ้าคนที่อยู่ในธรรมชาติไม่มีทักษะที่จะใช้ศักยภาพของธรรมชาติเพื่อเยียวยา มันก็น่าเสียดาย
.
- คนในเมืองจำนวนมาก อิจฉาคนที่ทำงานอยู่ในป่า เพราะเขาอยู่ในพื้นที่สวยงาม สงบ เงียบ สบาย คนเมืองอยากจะได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อยากอยู่ในป่า แต่ถ้าเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติไม่เป็น คนที่ทำงานในป่าก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลายคน พร้อมกันนั้น หลายๆ คนก็หายป่วยจากซึมเศร้าเมื่อได้เข้าป่าเช่นกัน ป่ามีศักยภาพของการเยียวยา อยู่ที่ว่าเราเชื่อมโยงตัวเองให้เข้าถึงศักยภาพนั้นหรือไม่
- การอาบป่าเป็นการฝึกทักษะที่จะรู้จักเชื่อมโยงตัวเองเข้าหาสิ่งที่ใหญ่กว่า การเชื่อมโยงนี้จะช่วยให้เราพบการเยียวยา เพื่อที่จะดูแลตัวเองได้ ผ่อนคลายตัวเองได้ ปล่อยวาง และมีคำตอบในสิ่งที่ตั้งคำถาม
- การอาบป่าไม่ใช่ยาเม็ดที่กินเดี๋ยวนั้น หายเดี๋ยวนั้น แต่เป็นกระบวนการที่ได้เชื่อมโยงกับตัวเอง กับชีวิต คำตอบไม่ได้มาจากที่อื่น คำตอบมาจากการฝึกฝนและการใกล้ชิดกับธรรมชาติ
ผู้เขียนรู้จัก มิ้นท์ – ธนาพร ตระกูลดิษฐ์ ในงานภาวนา และเข้าใจมาโดยตลอดว่า มิ้นท์เป็นผู้ทำงานในภาคสังคม ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า มิ้นท์เป็นนักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ สังกัดกรมป่าไม้ — นับเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ยินเสียงของผู้รักธรรมชาติที่อยู่ในแวดวงข้าราชการสายตรง
.
มิ้นท์บอกว่า โดยพื้นเพเธอเป็นเด็กเมืองที่ไปเรียนป่าไม้ “มิ้นท์อยู่ในครอบครัวที่ลูกสาวไม่ค่อยมีอิสระเท่าไร มีกรอบเยอะ มิ้นท์เลยคิดง่ายๆ ว่า เรียนวนศาสตร์น่าจะได้ผจญภัยประมาณหนึ่ง ได้อยู่ห่างๆ บ้านบ้าง ก็เลยเลือกเรียนในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” พอเรียนจบก็รับราชการในกรมป่าไม้ ได้ไปอยู่ที่สงขลา ได้จัดกิจกรรมกับเด็กๆ และพบว่า มิ้นท์ชอบอยู่กับเด็กๆ มาก
“กรมป่าไม้มีค่ายเยาวชนสำหรับเด็กอยู่แล้ว กรมต้องการให้เด็กระดับประถมรู้จักป่าไม้ประเภทต่างๆ ของบ้านเรา ด้วยความที่เป็นเด็กประถมนั่นจึงเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาที่ต้องออกมานอนนอกบ้าน ดังนั้น เวลาที่มิ้นท์จัดกิจกรรมจึงมักจะชวนเด็กๆ เล่นและอยู่ในธรรมชาติมากกว่าที่จะให้เป็นการให้เนื้อหา ความรู้ เช่น พาเด็กๆ เก็บไม้ใบ ชวนเล่นน้ำตก ล้อมวงคุยกัน ให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศบ้าง แทรกๆ ไป”
เส้นทางกระบวนกร
เมื่อทำงานได้ราว 2 ปี มิ้นท์ตัดสินใจลาราชการ เพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาโท จังหวะนั้นเองก็ประสบอุบัติเหตุทางใจคือ อกหัก เป็นทุกข์ ทำให้ได้รู้จักการภาวนาเป็นครั้งแรกในชีวิต
ช่วงนั้นหมู่บ้านพลัมจัดงานภาวนาสำหรับคนหนุ่มสาว (Wake Up) ที่เชียงดาว ซึ่งมีทุนให้สำหรับผู้ที่สนใจแต่ขัดสน การภาวนาครั้งนั้นทำให้มิ้นท์ได้กลับมามองความจริงในหลายๆ เห็นการเชื่อมโยงหลายๆ เรื่อง สิ่งหนึ่งก็คือ อยากดูแลแม่ซึ่งกำลังป่วยจึงไปเป็นอาสาสมัครของ I see U เพื่อจะเรียนรู้ทักษะในการอยู่กับผู้ป่วย แล้วก็ทำให้ให้มิ้นท์ได้อบรมในคอร์ส Transformative Experience Provider (TEP) ซึ่งจัดโดย ธนาคารจิตอาสา — นั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางกระบวนกร
คอร์ส TEP เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “กระบวนกร” — กระบวนกร คือผู้ที่จัดกระบวนการเพื่อช่วยให้ผู้อื่นเติบโต พร้อมๆ กับตัวเองก็เติบโตไปด้วย มันฟังดูดีมาก win-win ทั้งสองฝ่าย
เริ่มตระเวนหาความรู้เพื่อการเป็น “กระบวนกร” ขนานใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะตอนนั้นมิ้นท์เรียนจบแล้วต้องกลับไปทำงานที่สงขลา แต่ความรู้ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ “เงินเดือนหมื่นเศษๆ แต่ต้องบินมาเรียน ก็พยายามจัดการตัวเองทุกอย่าง อาศัยนอนที่หอเพื่อน บางครั้งก็ขอทุนสำหรับคนมีรายได้น้อย” มิ้นท์เล่า
อาบป่า กับ เที่ยวป่า
การอาบป่า (Forest bathing) ไม่ใช่การเที่ยวป่า มันมีคีย์เวิร์ดและแก่นบางอย่างที่สำคัญมากๆ พร้อมกันนั้น การอาบป่าก็มีหลายสไตล์ แก่นที่เหมือนกันของการอาบป่า คือ การดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ และเปิดผัสสะ(การรับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย) การอาบป่าในฝั่งตะวันออกเช่น ญี่ปุ่น อาจจะเน้นความสงบ เรียบง่าย ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกอาจจะแทรกการสร้างสรรค์ การเล่นและอยู่ในธรรมชาติอย่างมีเจตจำนง เช่น ของเพื่อนชาวแม็กซิโกแทรกการเต้นรำกับธรรมชาติ (dance in nature) หรือฝั่งอเมริกาจะคุ้นกับ Vision Quest
.
มิ้นท์ชวนอาบป่าในมิติจิตวิญญาณ มากกว่ามิติขององค์ความรู้ การอาบป่าแบบมิ้นท์มีมิติของการภาวนา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงบันดาลใจจากหมู่บ้านพลัมที่มิ้นท์เคยภาวนาด้วย ให้ความสำคัญกับ ‘inter-being (ความเป็นดั่งกันและกัน การเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง)’ และ คำว่า ‘การมองอย่างลึกซึ้ง (deep listening)’ ซึ่งเป็นคำสอนหลักของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ —แทบจะเรียกได้ว่า 2 คำนี้ เป็นแก่นของกระบวนการที่มิ้นท์ทำอยู่
คอร์สอาบป่ามีทั้งแบบส่วนตัว (private) แบบกลุ่ม (group) และแบบกึ่งการอบรมซึ่งจำนวนคนมากกว่า 5 คน (workshop) แต่ละแบบก็มีข้อดีแตกต่างกันไป แบบส่วนตัวได้ความลึก แต่แบบกลุ่มและแบบกึ่งอบรมอาจจะไม่ลึกมาก แต่ได้กระบวนการกลุ่ม ได้เข้าใจผู้อื่น ได้ฟังประสบการณ์เพื่อน ซึ่งก็เป็นประโยชน์ไปอีกแบบ พลังกลุ่มช่วยให้เขาเห็นตัวเองในมิติอื่นๆ ที่เจ้าตัวไม่เคยเห็น
หัวใจของการอาบป่า
มินท์มักจะบอกกับผู้เข้าร่วมเสมอว่า สำหรับมินท์ ‘ธรรมชาติ’ มี 3 ระดับ คือตัวเรา คนรอบข้าง และ โลก — มินท์ชอบคำว่า คนรอบข้างมากกว่าคำว่า ‘ผู้อื่น’ เพราะมันมี sense ของการอยู่ร่วม มี sense ของท่าทีในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อพูดว่า ผู้อื่น เราจะมีท่าทีอย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึง คนรอบข้าง เราจะมีท่าทีที่อ่อนโยนมากขึ้น — การอาบป่าคือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติทั้ง 3 ระดับนี้ ดังนั้น บางทีแม้จะไม่ได้อยู่ใน ‘ป่า’ แต่ก็ถือว่าเป็นการอาบป่าด้วย — ซึ่งคนฟังก็อาจจะรู้สึก “อิหยังวะ!” อยู่นิดหน่อย (หัวเราะ)
ดังนั้นการอาบป่าจึงทำให้เรา รู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อนๆ คนรอบๆ ตัว มนุษย์รอบๆ ตัว และรู้จักโลกที่เราอยู่อาศัย — เพื่อที่เราจะเห็นคุณค่าของกันและกัน นี่คือ concept ของการอาบป่า
อาบป่าในสวนสาธารณะ
มีเสียงสะท้อนหลายครั้งที่คนมักจะบอกว่า ไม่เคยคิดเลยว่าจะเข้ามาทำอะไรในสวนสาธารณะได้ตั้ง 3-4 ชั่วโมง จากเดิมที่รู้สึกว่า สวนสาธารณะก็เป็นที่มาเดิน มาวิ่ง มาดูแล้วก็ไป — แต่ถ้ารู้จักเปิดการรับรู้ เปิดผัสสะ สร้างสะพานของการเชื่อมโยง เขาจะยืดเวลาที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ ดังนั้น เดี๋ยวนี้เราจะเห็นว่า สวนสาธารณะเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก มันเป็นพื้นที่สำหรับผู้คน เมื่อต้องการความผ่อนคลาย — บางคนอาจจะเข้าใจว่าการอาบป่าคือการเข้าหาธรรมชาติ เข้าไปเล่น พัก แล้วไป ก็แล้วแต่ — ไม่ผิด แต่พร้อมกันนั้นก็อยากจะบอกว่า การอาบป่ามีมิติลึกซึ้งมากกว่านั้นด้วย
.
เมื่อเร็วๆ นี้ มิ้นท์ได้จัดกระบวนการ อาบป่าแบบมินิ ให้ทีมทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าสมาชิกในทีมนี้ไม่ค่อยได้ใช้เวลาในสวนสาธารณะ ทั้งที่ทำงานเป็นตัวแทนของธรรมชาติ กระบวนการในวันนั้นค่อนข้างจำกัดเวลา ตอนแรกให้เวลา 3 ชั่วโมง แต่เอาเข้าจริงก็ขอลดเวลาจาก 3 ชั่วโมง เป็น 2 ชั่วโมง วันนั้นจึงไม่ได้ทำอะไรมาก ชวนทุกคนกลับมาอยู่ด้วยกัน เปิดประสาทสัมผัส เปิดความสัมพันธ์กับเพื่อน และช่วงท้ายก็ให้สะท้อน (reflection) ซึ่งหลายคนเปิดเผยถึงความตึงเครียดในชีวิต ในงาน บางคนบอกว่า ความสุขจากการผ่อนคลายร่วมกันเป็นความสุขจริงๆ — แล้วสุดท้ายก็บอกว่า “เสียดายเนาะ เวลาน้อยไปหน่อย” ^^
อยู่ในป่าแต่ไม่เคยอาบป่าก็เป็นได้
มิ้นท์เคยได้ทำกิจกรรมร่วมกับอุทยานแห่งชาติ และครั้งนั้นหัวหน้าอุทยานมาร่วมกิจกรรมด้วย เราจัดให้มีกิจกรรมที่แต่ละคนได้รู้สึกถึงการเดินตามลำพัง (Silent Walk) หรือนั่งอยู่ในป่าตามลำพัง (Sit spot) — เมื่อจบกิจกรรมครั้งนี้ หัวหน้าอุทยานท่านนั้นบอกว่า “ผมทำงานมา 30 ปี ไม่เคยรู้สึกเลยว่า ป่าให้ความสงบแบบนี้ พอได้นั่งกลางป่าจริงๆ ตามลำพังมันได้เห็นความว้าวุ่นมหาศาลที่อยู่ภายใน” — ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้แต่คนที่อยู่ป่า ทำงานป่าไม้ ถ้าไม่รู้จักเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ก็เหมือนไม่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ — พวกเราอยู่ในเมือง หลายคนอิจฉาคนที่ทำงานอยู่ในป่าว่าเขาอยู่ในพื้นที่อันสงบ เงียบ สงัด สบาย แต่มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ ถ้าเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติไม่เป็น คนที่ทำงานในป่าเป็นซึมเศร้าก็หลายคน พร้อมกันนั้นหลายๆ คนก็หายป่วยจากซึมเศร้าเมื่อได้เข้าป่าเช่นกัน – ถ้าคนที่อยู่ในธรรมชาติไม่มีทักษะที่จะใช้ศักยภาพของธรรมชาติเพื่อเยียวยา มันก็น่าเสียดาย
.
สำหรับมิ้นท์ การอาบป่าเป็นการฝึกทักษะที่จะรู้จักเชื่อมโยงตัวเองเข้าหาสิ่งที่ใหญ่กว่า การเชื่อมโยงจะทำให้เราพบการเยียวยา เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองได้ ผ่อนคลายตัวเองได้ — การร่วมกิจกรรมเป็นกลุ่มอาจจะช่วยเหนี่ยวนำให้เรากล้าทำในบางสิ่งที่อาจจะไม่กล้า รู้สึกมีเพื่อน รู้สึกอุ่นใจ เพื่อที่สุดท้ายเราจะกล้าและอุ่นใจด้วยตัวของเราเอง ผู้นำกระบวนการเป็นเพียงแค่ผู้ชวนทำ และ สร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และลองทำ
ป่าพาให้รู้จักตัวเอง
เคยมีน้องคนหนึ่งเป็นแพทย์ ทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้วแต่กำลังตัดสินใจจะยุติการเป็นแพทย์ เขาไม่เห็นทางออกอื่นๆ ในการรักษาผู้ป่วย หมอสั่งยาซ้ำซาก พอๆ กับผู้ป่วยขาดความรับผิดชอบในชีวิตตนเอง ไม่รักตัวเอง เคยปั๊มหัวใจคนไข้รายหนึ่งจนรอด แล้วหลังจากนั้นไม่นานคนไข้ก็ทำบางอย่างให้เขาต้องปั๊มหัวใจอีก — ความเป็นหมอไม่ได้ช่วยให้คนไข้รักชีวิตมากขึ้น — แพทย์คนนี้มาอยู่ใน private session 4 วัน โดยมีความตั้งใจว่า อยากจะให้ 4 วันนี้ได้พบว่า ฉันคือใครบนโลกใบนี้
ในระหว่าง 4 วันของกระบวนการ เขาพบว่า จริงๆ แล้วตัวเองไม่ได้ชอบการเป็นหมอ ไม่ได้อยากเป็นหมอ เแต่เป็นคนที่เติบโตมาในครอบครัวหมอ รับรู้มาแต่เด็กว่าควรจะเรียนหมอ ประกอบกับเขาเป็นเด็กเรียนดี สามารถเรียนหมอได้ แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ตัวเองเป็นใคร อยากทำอะไรกันแน่
วันสุดท้ายก่อนกลับบ้าน เขาได้คำตอบว่า “เราใช้ชีวิตแบบที่มันเป็นก็ได้ ไม่ได้สมบูรณ์แบบทั้งหมดก็ได้” หลังจากนั้นก็เข้าไปคอร์สอื่นๆ พักใหญ่ ใช้เวลาในต่างประเทศระยะหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งส่งข่าวมาบอกว่า เขาเริ่มเห็นตัวเองชัดขึ้น รู้ว่าตัวเองต้องการใช้ชีวิตแบบไหน เริ่มเห็นที่ทางในชีวิตของตนเอง
มิ้นท์เล่าเรื่องนี้เพราะมันทำให้เห็นว่า ทุกคนมีจังหวะของตัวเอง และ การอาบป่าไม่ใช่ยาเม็ดที่กินเดี๋ยวนั้น หายเดี๋ยวนั้น แต่มันเป็นกระบวนการที่จะพาให้เราผ่อนคลายก่อนในเบื้องต้น เพื่อจะกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเอง กับชีวิต แล้วตัวเรานั่นแหละที่จะมีคำตอบ คำตอบไม่ได้มาจากที่อื่น คำตอบมาจากการฝึกฝน มาจากการใกล้ชิดกับธรรมชาติและเชื่อมโยงให้เป็น มันอาศัยเวลา การลงมือทำ และอาศัยความผ่อนคลายด้วย
.
ไกด์ไลน์ ในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ
•หาพื้นที่ที่ตัวเองผ่อนคลาย อย่าเพิ่งคิดว่ามันธรรมชาติ หรือไม่ธรรมชาติ ขอให้เป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย มันอาจจะเป็นสนามหน้าบ้าน สวนหลังบ้าน ระเบียงห้องพัก ฯลฯ ขอให้อยู่ในมุมโปรดของเรา
•นั่งหรือนอนก็ได้ พาตัวเองกลับมาที่ลมหายใจสัก 3 รอบ นี่เป็นการเปรับจังหวะตัวเราให้ช้าลงด้วยการตามลมหายใจ ถ้าชอบก็ทำมากกว่า 3 ลมหายใจก็ได้ อาจจะสัก 1-2 นาทียิ่งดี นี่คือการพาตัวเองให้กลับมาที่ตรงนี้อีกครั้ง (grounding)
•กลับมาสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว สิ่งที่อยู่ตรงนั้น สังเกตรายละเอียดสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว อาจจะลองใช้มือสัมผัสกับผืนดิน ต้นหญ้า อยู่กับสัมผัสนั้นสักครู่หนึ่ง สบายๆ ถ้าเป็นไปได้ลองนอน มองท้องฟ้า ปล่อยตัวปล่อยใจ สบายๆ แล้วลองฟัง อาจจะได้ยินเสียงภายนอก หรือกลับมาได้ยินเสียงภายใน บางทีจะมีเสียงที่อยากกลับไปเป็นเด็ก อยากเล่นนั่น เล่นนี่ ก็เล่นได้ อนุญาตตัวเอง
หลายคนเพียงได้ทำเท่านี้ก็รู้สึกเลยว่า ตัวเบาลง ความเมื่อยล้า หายไป หรือผ่อนลงไปเยอะ สิ่งสำคัญคือช้าลง ผ่อนคลาย และอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะเปิดประตูของการเชื่อมโยง
มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ หรือผู้ที่มีบทบาทอยู่ในธรรมชาติจะได้รู้จักเครื่องมือ และทักษะเหล่านี้
คนจำนวนมากในตอนนี้ ไม่เข้าใจว่า การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ กับ การท่องเที่ยวในธรรมชาติ เป็นคนละเรื่องกัน — พอคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ก็เลยคิดว่า ก็พาคนไปเที่ยวในป่า ในภูเขา ก็พอแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ เราต้องเชื่อมโยงให้เป็น มินท์เชื่อว่าถ้าคนเรารู้จัก “การเชื่อมโยง” โรคซึมเศร้าก็จะได้รับการเยียวยา การฆ่าตัวตายก็อาจจะลดลง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในภาพใหญ่ หน่วยงานขนาดใหญ่ เช่น กรมป่าไม้ การท่องเที่ยว หรือคณะวนศาสตร์ อาจจะยังไม่มีรูปธรรมเท่าไรนักในตอนนี้ แต่ขณะนี้ ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่ม kick off ประเด็นนี้แล้ว เห็นความสำคัญแล้ว ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจะเรียนรู้ในกระบวนการเหล่านี้เพื่อจะได้มีประสบการณ์ตรง มีความเข้าใจ แล้วจากนั้นก็น่าจะได้มีแผนอื่นๆ ต่อไป — บางเรื่องก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์กว่ามันจะงอก และถ้ามันงอก พวกเราก็ต้องช่วยกันรดน้ำให้มันรอดและเติบโตด้วย ต้องช่วยกันหลายๆ มือนะคะ มิ้นท์อยากชวนให้ทุกคนลองสร้างสะพานแห่งการเชื่อมโยงของตัวเรากับธรรมชาติ ผ่านการเปิดประสาทสัมผัสของเรา ความผ่อนคลายของเรา
………………………………………………………………………..
ติดตามเรื่องราวของมิ้นท์ได้ที่เพจ Forest Bathing with Mint barefoot
ลิงก์เพจ https://www.facebook.com/Mintbarefoot
ภาพจากเพจ Forest Bathing with Mint barefoot
https://www.happinessisthailand.com/2023/12/04/happiness-nature-rest-camping/