8 ช่องทางความสุข

สมดุลเป็น สุขเป็น

‘ต้องผอมเท่านั้นถึงจะสวย’ ‘กินเข้าไปเท่าไรก็ล้วงคอออกมาเท่านั้น’ ไม่มีคำว่า ‘สมดุล’ หรือ ‘พอดี’ เพราะโลกมีแค่ 2 ขั้ว ดี-แย่ ได้-ไม่ได้ ผ่าน-ไม่ผ่าน ไม่มีสิ่งที่เป็นกลางๆ — ระหว่างนั้นร่างกายส่งสัญญาณการเจ็บป่วยเป็นระยะๆ จนกระทั่งอายุ 27 ปี ระบบร่างกายก็ประท้วงด้วยอาการ ‘พัง’ อย่างชัดเจน

.

คุณอินทิพร แต้มสุขิน (แม็กซีน) นักแสดง นางแบบ พรีเซ็นเตอร์และพิธีกร ภาพลักษณ์ภายนอกของแม็กก็คือสาวน้อยท่าทางแจ่มใส เหมือนวัยรุ่นทั่วไปคนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว สาวน้อยคนนี้เคยผ่านการเจ็บป่วยอย่างหนัก จนทำให้เธอค้นคว้าความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การเยียวยาและฟื้นฟูสุขภาพด้วยอาหารที่ดีและปลอดภัย แสวงหาแก่นแท้ของชีวิตเพื่อจะพบว่าการเป็นมิตรกับตัวเองและธรรมชาติรอบๆ ตัวคือเพื่อนแท้


ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพ
แม็กเล่าว่าเธอเป็นเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยและทางเดินอาหารมาตั้งแต่เด็ก เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ในกระเป๋านักเรียนของเธอนั้นนอกจากหนังสือเรียนก็คือยา — ยาลดกรด ยาช่วยย่อย ยาขับลม ยาเคลือบกระเพาะ การพกยาเหล่านี้ติดตัวเป็นเรื่องปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่บ้านเปิดร้านขายยา ‘ป่วยก็กินยา’ เป็นวิธีคิดอัตโนมัติ ไม่มีอะไรซับซ้อน — ท้องเสียก็กินยาแก้ท้องเสีย ท้องผูกก็กินยาระบาย ท้องอืดกินยาขับลม ถ้าปวดท้องก็กินยาลดกรดในกระเพาะ ฯลฯ การเจ็บป่วย หรือปัญหาสุขภาพจึงแปรผันตรงกับการกินยา ตรงไปตรงมาแบบนี้ ไม่มีแง่มุมอื่น — ไม่มีคำถามว่า ทำไมจึงท้องผูก ทำไมจึงท้องอืด


เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นความสนใจเรื่องอาหารเกี่ยวข้องกับความสวยความงาม เป็นธรรมดาของวัยรุ่นที่จะสนใจการกินเพื่อรักษารูปร่าง ‘กินตามเทรนด์ อะไรที่เขาว่าดีก็จะต้องหามากิน’ ไม่ใช่การกินเพื่อสุขภาพแต่เพื่อให้อยู่ในเทรนด์ และหวังผลในด้านความสวยงาม แม็กเป็นคนเอาจริง ต้องการความสมบูรณ์แบบ เครียดง่าย นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยและดูดซึม แต่ในช่วงเวลานั้นเธอไม่ได้สนใจสุขภาพแบบองค์รวม คนใกล้ตัวเช่นคุณแม่พยายามส่งสัญญาณอยู่บ้างเช่น เตรียมอาหารให้ ตักเตือนการใช้ชีวิตในบางเรื่อง แต่แม็กก็ไม่ได้สนใจ ยังคงบริโภคและใช้ชีวิตตามที่ตัวเองคิดว่าใช่แล้ว ถูกแล้ว


วงการบันเทิง
แม็กเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่ออายุ 21 ปี ให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมด้านความสวยงามอย่างมาก เคร่งครัดในวิถีการกินอยู่ การรักษารูปร่าง จัดเวลาสำหรับออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก “อยู่ในวงการ ต้องผอมเท่านั้นถึงจะสวย” ความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนักวิกฤติถึงขั้น “กินเข้าไปเท่าไรก็ล้วงคอออกมาเท่านั้น” ไม่มีคำว่า ‘สมดุล’ หรือ ‘พอดี’ เพราะโลกมีแค่ 2 ขั้ว ดี-แย่ ได้-ไม่ได้ ผ่าน-ไม่ผ่าน ไม่มีสิ่งที่เป็นกลางๆ — ในระหว่างนั้นร่างกายส่งสัญญาณการเจ็บป่วยเป็นระยะๆ จนกระทั่งอายุ 27 ปี ระบบร่างกายก็ประท้วงด้วยอาการ ‘พัง’ อย่างชัดเจน


เธอมีอาการของโรคสะเก็ดเงิน เป็นลมพิษเรื้อรัง นอนไม่หลับ พบสารหนูในเลือด และระบบฮอร์โมนในร่างกายวัยสาวแปรปรวนกลายเป็นระบบฮอร์โมนของคนอายุ 80 ปี ยังไม่นับรวมกับปัญหาระบบย่อยและดูดซึมเจ้าเก่า คือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ การล้มทั้งระบบ บังคับให้แม็กต้องหันกลับมามองพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินอยู่ของตัวเอง ทบทวนความเชื่อ และกลับมาแก้ไขความสัมพันธ์ตัวเองกับอาหารการกิน ปรับ Mind Set ของตัวเอง “การกินเพื่อให้สวยต่างกับการกินเพื่อสุขภาพ ถึงเวลาที่ต้องเลือกแล้วล่ะ”

.

ในช่วงนั้นแม็กหันมาศึกษาหาความรู้รอบด้าน อ่านหนังสือ ค้นข้อมูลในอินเตอร์เนต ทำให้เกิดการรับรู้ต่อคำว่า สุขภาพดี (Healthy) ในมิติใหม่ “สุขภาพดีไม่ใช่เพียงแค่การไม่เจ็บป่วย ไม่ใช่เรื่องรูปร่าง รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่หมายรวมถึงร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย จิตใจที่เข้มแข็ง อารมณ์ที่มั่นคงแจ่มใส” หนังสือที่ส่งผลต่อชีวิตอย่างมากคือ ศิลปะเเห่งความสุข (The Art of Happiness) ของ องค์ทไลลามะ แม็กนำความรู้ทั้งหมดนั้นเข้าสู่ชีวิต ปรับวิถีคิด ปรับทัศนคติในการใช้ชีวิต ฝึกโยคะกับครูชาวอินเดีย ปรับอาหาร — ปรับทุกอย่างเพื่อกลับสู่สมดุลที่ไม่ได้ทำความรู้จักมาแสนนาน


“ต้องบาลานซ์ตัวเองถ้าไม่อยากป่วย — 27 ปีกับการทำให้ร่างกายขาดสมดุล ทำผิดมา 27 ปี ทำไม่ดีซ้ำๆ สะสม กลับมาฝึกการหายใจ ปรับพฤติกรรมและอาหารการกิน เพราะเราไม่อยากป่วยค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ทำ เมื่อก่อนห่วงเรื่องสวย ตื่นมาตีสามตีสี่ไปวิ่งถึงหกโมง มาเวทเทรนนิ่งต่อถึง 7.30 น. อาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน เย็นกลับมาว่ายน้ำ กินข้าว ดื่มไวน์ 3-4 ทุ่มนอน เครียด หงุดหงิด กินอาหารเช้าในรถ ชีวิตเร่งรีบ — เดี๋ยวนี้ปรับพฤติกรรมใหม่ ตื่นตีสี่-ตีห้า สวดมนต์นั่งสมาธิ วิ่ง กินอาหารเช้า ทำงาน กินข้าวกลางวัน อาหารเย็นไม่กิน หรือถ้าหิวก็กินได้ ไม่เคร่ง ไม่ต้องเป๊ะ พยายามมองภาพรวมให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารแช่แข็ง ถ้าอยู่บ้านจะกินมังสวิรัติกับแม่ กินถั่ว เต้าหู้ พยายามปลูกเอง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ใหญ่ อยู่นอกบ้านพยายามกินง่ายๆ ไม่เรื่องมาก”


แม็กให้เวลาตัวเอง ค่อยๆ ปรับพฤติกรรม ผ่านไป 2 ปี จึงเห็นผล ความเจ็บป่วย โรคภัย ค่อยๆ หายไป ร่างกายกลับมาเป็นปกติ มีบางครั้งที่ร่างกายอาจจะฟ้องความผิดปกติอยู่บ้างเช่น ลมพิษ ผื่นคัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ฟ้องความไม่สมดุลซึ่งแม็กไม่ได้ตกอกตกใจหรือรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับผื่นลมพิษแบบในอดีตแล้ว เมื่อไม่สมดุลก็หาวิธีกลับสู่สมดุล มองหาสาเหตุแล้วแก้ที่ต้นเหตุ


โชคดีที่ไม่สบาย
“พอเดินช้าลง ก็เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ชีวิตง่ายขึ้น ไม่ต้องฝืน รู้สึกโชคดีที่ไม่สบายทำให้ให้รู้ว่า ที่ผ่านมาเราเป็นคนทำให้ชีวิตมันยากเอง”


เมื่อเริ่มปรับพฤติกรรมการกิน ทำให้สนใจที่มาของอาหาร มองหาวัตถุดิบที่ดี นั่นทำให้รู้จัก ‘เกษตรอินทรีย์’ จากผู้บริโภคที่มองหาผักผลไม้อินทรีย์ นำไปสู่การรู้จักผู้ผลิตในเส้นทางเกษตรกรอินทรีย์ ประกอบกับการได้ทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการเพลินวาน ซึ่งสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ในชุมชน ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสอาหารจากท้องถิ่น วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติแท้ๆ ได้ใกล้ชิด-พูดคุย-สัมผัสกับผู้ผลิต สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง “เราเป็นเด็กกรุงเทพ คุ้นเคยกับการซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ไม่คุ้นกับตลาดสด การได้พูดคุยกับผู้ผลิตแท้ๆ ได้เห็น ได้เข้าถึงการปลูก กระบวนการได้มาของอาหาร เห็นความสด จึงเข้าใจถึงคำว่า ‘อาหารมีพลังชีวิต’ เห็นความยากในการทำงาน ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกอยากสนับสนุนชุมชนเกษตรทั่วประเทศ”

.

“ได้ลงพื้นที่แล้วเกิด passion ยิ่งมีโอกาสลงพื้นที่มากขึ้น ได้ติดต่อ ทำความรู้จักกับเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกว่า มันเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่าการทำงาน เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ ค้าขาย แต่มันมีมิติบางอย่างที่ลึกกว่านั้น แม็กอยากช่วยเหลือให้เขาได้ขายของได้ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม เพราะเขาตั้งใจผลิต ลงทุนลงแรง แต่ถ้าไม่มีคนซื้อ ไม่มีรายได้ เขาก็หมดกำลังใจ ทำยังไงเราจะสนับสนุนพวกเขาได้”


Maxdicine
เมื่อหายจากการเจ็บป่วย และการได้เข้าไปรับรู้โลกของการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ แม็กจึงเริ่มมีความคิดที่อยากจะแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ หนทางของการกินการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพ เป็นที่มาของ Maxdicine ในเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และยูทูป ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสาร แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องเกษตรอินทรีย์กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองแบบองค์รวม

.

“การกินอาหารตามฤดูกาลเป็นสิ่งที่สำคัญและดีต่อสุขภาพมาก เพราะเราจะได้กินอาหารหลากหลายและเหมาะสม สดและปลอดภัย การเดินตลาดชุมชนทำให้ได้เห็นว่าบ้านเรามีของดีดีมากขนาดไหน ได้เห็นผักที่ไม่เคยเห็น ผักบางชนิดมีตามฤดูกาลเท่านั้น ถ้าพลาดในฤดูกาลนั้นก็ต้องรอปีต่อไปเช่นยอดสะเดาซึ่งจะมีเฉพาะฤดูกาล และเหมาะกับร่างกายของเราในฤดูกาลนั้น เมื่อสนใจที่จะกินอาหารที่ธรรมชาติเลือกให้เราจะเห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และรู้ว่าเรามีของดีใกล้ตัวมากมาย

.

เมื่อก่อนอ่านหนังสือฝรั่งเขาว่าเบอร์รี่ดี ก็จะต้องซื้อเบอร์รี่ แพงแค่ไหนก็จะต้องซื้อให้ได้ มาจากต่างประเทศ อาบ UV เคลือบสารนั้นสารนี้เราก็ยอมซื้อ ยอมกิน ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ได้ดิ้นรนแบบนั้นแล้วเพราะรู้ว่าของดีจริงคือของดีที่มาจากธรรมชาติ ใกล้ตัว สด ให้พลังชีวิต และเกื้อกูลชีวิตของพี่น้องเกษตรกรในบ้านเรา — เมื่อก่อนเห่อคำว่าซุปเปอร์ฟู้ด (super food); เบอร์รี่ แฟล็ก เชียร์ ต้องดิ้นรนหามาให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วว่าซุปเปอร์ฟู้ดเป็นอะไรก็ได้ที่ให้พลังชีวิต อาหารที่ยังเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต (vitalize) คืออาหารที่เราเด็ดจากพื้นโลกแล้วหยิบใส่ปากได้เลย เติมพลังชีวิตให้เรา ข้าวกล้องที่ปลูกในประเทศของเรา กล้วยน้ำว้าสักผล ดอกอัญชันที่รั้ว สำหรับแม็ก อาหารสดใหม่ ปลูกด้วยความรัก กินด้วยความรัก อิ่มอกอิ่มใจอิ่มท้อง นี่แหละคืออาหารที่ให้พลังชีวิต คือซุปเปอร์ฟู้ด แถมไม่เปลืองคาร์บอนฟุตพริ้นต์ด้วย”


ปี 2563-64 เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ผลผลิตเกษตรอินทรีย์จำนวนมากเสียทิ้งเพราะจำหน่ายไม่ทัน ผักสดและผลไม้มากมายล้นตลาด แม็กพยายามเริ่มหาช่องทางเพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรอินทรีย์ที่ตนรู้จัก ในช่วงแรกเธอพยายามซื้อให้มากขึ้น ชวนเพื่อนไปตลาดและชวนเพื่อนซื้อ ชวนคนรู้จักซื้อ เมื่อซื้อไว้บริโภคเองได้จำกัดก็ขยายไปสู่การซื้อเพื่อบริจาค ซื้อผักผลไม้แล้วส่งไปบริจาคตามชุมชนหรือมูลนิธิต่างๆ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและมีข้อจำกัด แต่ก็คิดว่าทำดีกว่าไม่ทำทั้งนี้เพื่อลดการทิ้งอาหารดีๆ ที่จะต้องเสียไป แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเธอเริ่มเห็นว่า การถนอมอาหารและการแปรรูปน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า จึงเริ่มทดลองแปรรูปวัตถุดิบบางชนิดให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในครัวเรือน โดยใช้วัตถุดิบอินทรีย์ของชุมชนท้องถิ่น เช่น การทำซอสปรุงรสธรรมชาติ น้ำจิ้มสุกี้ กาน่าฉ่าย พริกแห้งคั่วกระเทียมกรอบ เมื่อกลายมาเป็นนักแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก็ยิ่งทำให้ใกล้ชิดกับโลกของเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น ลงพื้นที่ เห็นเรือกสวนไร่นา เห็นผลผลิตที่หลากหลายในวิถีธรรมชาติ ผักผลไม้ ข้าว พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่หลากหลาย การได้มาของเกลือธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอเห็นข่ายใยอันซับซ้อนของระบบอาหารและผู้คนที่เชื่อมร้อยเข้าหากัน


ความมั่นคงของชุมชนผู้ผลิตอาหาร
ต้นปี 2565 แม็กได้ร่วมงานเทศกาลข้าวใหม่ ‘จากต้นทางหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน สู่ข้าวใหม่กรุ่นกลิ่นในจาน’ ณ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) อยู่ร่วมในงานอบรมเชิงปฏิบัติการคนรุ่นใหม่ร่วมสืบสาน…อาหารจากข้าวพื้นบ้าน และร่วมเสวนา ‘อนาคตของข้าวพื้นบ้านบนโต๊ะอาหารของคนรุ่นใหม่’


“การได้กลับมาใกล้ชิดผู้ผลิต ไปชุมชนผู้ผลิต คนซื้อคนขายได้มาเจอกันคุยกัน จุดเปลี่ยนคือได้เจอการผลิตจริงๆ จนผูกพันกับกลุ่ม หาทางรวมกลุ่มกัน มีอะไรที่เกี่ยวกับชุมชนก็จะชวนกันตลอด อยากจะช่วย อยากจะทำสิ่งเหล่านี้ให้ยั่งยืน พี่น้องชาวสวนชาวนาทุ่มเท หน้าที่ของเราซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ต้องเป็นเสียงที่พูดให้ดังขึ้น พูดแทนพวกเขา สื่อสารแทนเขาให้คนในเมืองอย่างเราๆ รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในสังคมของเรานะ ชวนกันกลับมามองและให้คุณค่า นี่คือการทำงานเพื่อการเป็นอยู่ที่ยั่งยืน”

.

การสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพกายก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญมากในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น คือการอนุรักษ์ รักษาวัฒนธรรม รักษาและพัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

.

“การอนุรักษ์ที่ดีคือการสืบสานภูมิปัญญาผ่านการกิน การใช้ ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา ไม่ใช่การอนุรักษ์แบบขึ้นหิ้ง การอนุรักษ์แบบนั้นไม่ช่วยอะไร”

.


ในบริบทที่คุณแม็กเป็นคนในเมือง เติบโต มีวิถีคิดและวิถีชีวิตแบบคนในเมืองใหญ่ เธอรู้ว่า ตัวเธอและเพื่อนควรจะพูดหรือทำอะไรเพื่อสื่อสารให้คนเมืองด้วยกันเข้าใจโลกของชุมชนให้มากขึ้น การท่องเที่ยว ใช้ชีวิตที่จะพาผู้คนในเมืองหลวงได้สัมผัสโลกธรรมชาติที่กว้างขึ้นน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ


“แม็กอยู่ในโลกของสื่อ (media) คิดถึงสื่อหรือรายการบันเทิงที่มีเนื้อหาสาระให้คนในเมืองได้เห็นวิถีชีวิตที่ต่างออกไป สารคดีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้คนดูเห็นการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ เห็นวิถีชีวิตชุมชน เห็นกระบวนการปลูก การปรุงอาหารแบบพื้นบ้าน ท้องถิ่น เห็นว่าคนในท้องถิ่นกินอะไร อยู่แบบไหน เขาดูแล เรียนหนังสือกันอย่างไร ในต่างประเทศจะมีรายการทำอาหารท้องถิ่น ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เราจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจไปกับวิถีชีวิตการกิน การอยู่ การดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เดินไปเก็บผักจากแปลงหลังบ้าน เดินไปเก็บอาหารในป่าธรรมชาติ แล้วปรุงเป็นอาหาร ฯลฯ รายการแบบนี้เป็นการให้ข้อมูล ให้การศึกษาแก่คนในเมือง และช่วยให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคใกล้กันโดยมีสื่อเป็นตัวกลาง ถ้ามีการสนับสนุน เช่น การท่องเที่ยว หรือโครงการที่มีการสนับสนุนแบบนี้น่าจะดีเลย”


ใน 5 ปีข้างหน้านี้ แม็กหวังที่จะทำงานของตัวเองให้เหมือนการปลูกป่า ขณะนี้คือการหย่อนเมล็ดพันธุ์ แล้วค่อยๆ ใส่ปุ๋ย ให้ความรู้ ให้คนวงกว้างค่อยๆ เห็นความสำคัญของการกินเพื่อสุขภาพ การกินอาหารเกษตรอินทรีย์ เห็นความสำคัญและร่วมกันสนับสนุน ให้สังคมของผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้ามาใกล้ชิดกันให้มากขึ้น


แม็กเห็นว่าคนในเมืองแบบเธอและกลุ่มเพื่อนๆ น่าจะรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนและรับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่แห่งอนาคต ความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย การรับรู้เรื่องอาหารท้องถิ่น อาหารจากธรรมชาติควรจะถูกทำให้เกิดการรับรู้อย่างร่วมสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อช่วงชิงพื้นที่สื่อ ไม่หลงไปกับกลไกการตลาดและสื่อโฆษณาที่ถาโถม


“เรามี Coffee Fest ได้ ก็น่าจะมี Rice Fest หรือ Food Fest ได้ เครือข่ายต่างๆ ในชุมชนชาวเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือต้นไม้เล็กๆ พวกเราแต่ละคนเหมือนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กระจายเติบโต งอกงาม แล้วกลายเป็นผืนป่า เป็นแหล่งอาหารที่ให้ความมั่นคงและสมดุล — ความมั่นคงทางอาหารประเทศเราไม่แข็งแรง นโยบายภาครัฐให้การสนับสนุนน้อย (แทบไม่มีการสนับสนุน) หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้เป็นหนึ่งเสียงที่จะอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้จะเป็นโจทย์ของเรา”

………………………………………

Maxdicine Playlist

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save