ดูแลกันก่อนถึงวันหมดไฟ
คำสำคัญของจิตวิญญาณ คือความสามารถในการเชื่อมโยง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเครือข่าย เส้นสาย แต่หมายถึงความสามารถที่จะเชื่อมโยงกับตัวเอง รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เห็นคุณค่าในตนเอง ลำดับต่อมาคือเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ลำดับต่อมาคือเชื่อมโยงกับสังคม รู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สิ่งแวดล้อม
.
ในระยะ 5 ปีมานี้โดยเฉพาะในช่วงโควิด พวกเราได้ยินคำว่า ภาวะหมดไฟ (Burnout) บ่อยๆ ซึ่งส่งผลทั้งระดับตัวบุคคล ระดับองค์กร และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภาพรวม ในกลุ่มของผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณ (spiritual) พวกเราอยากรู้ว่า มิติด้านจิตวิญญาณมีความเกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟหรือไม่ อย่างไร บทความนี้เป็นการพูดคุยกับ รศ.ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล (อ.แอน) ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้น งานวิจัยโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะทางปัญญา ความผาสุกทางจิต และภาวะหมดไฟในการทํางาน ในคนวัยทำงาน
จากงานวิจัยชิ้นนี้อาจารย์อยากเล่าอะไรให้พวกเราฟังบ้างคะ
อยากเล่าความสนใจส่วนตัวก่อนค่ะ ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในกระแส (in-trend) สักหน่อย เราก็จะพอรู้ว่า ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากต่อคำว่าสุขภาพ ในมิติที่กว้างกว่าสุขภาพทางกาย (Physical health) หรือการไม่เจ็บป่วยทางร่างกาย แต่สุขภาพยังรวมไปถึงการมีสุขภาพทางจิตดี (Mental Health) มีสุขภาพด้านสังคม (Social health) หรือการมีสังคมที่ดี และอีกองค์ประกอบหนึ่งของสุขภาพก็คือ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual health) หรือสุขภาวะทางปัญญา เรื่องนี้ก็เป็นมิติด้านสุขภาพด้วย เพียงแต่มิติด้านจิตวิญญาณถูกละเลยไปในช่วงที่วิทยาศาสตร์เติบโต เพราะวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญต่อการ‘พิสูจน์ได้’ แต่จิตวิญญาณค่อนข้างเป็นเรื่องนามธรรม
.
เมื่อเวลาผ่านมาเรื่อยๆ โลกเจริญมากขึ้นทั้งในด้านวัตถุ เทคโนโลยี ความสะดวกสบาย แต่มนุษย์กลับรู้สึกแปลกแยกมากขึ้น ทั้งแปลกแยกกับตัวเองและแปลกแยกกับสังคมรอบข้าง มนุษย์กำลังเผชิญกับภาวะ ‘ไม่สบาย’ มากขึ้น เช่น ภาวะเหนื่อยล้า (fatigued) ซึ่งเป็นภาวะทางกาย หรือภาวะซึมเศร้า (depress) ซึ่งเป็นภาวะทางจิต
การวิจัยนี้ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) ความผาสุกทางจิต (psychological well-being) และ ภาวะหมดไฟในการทํางาน (Burnout Syndrome) ของกลุ่มคนวัยทํางานไทย จำนวน 568 คนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปและทํางานแล้ว
ในช่วงแรกทีมของเราตั้งสมติฐานว่า ความผาสุกทางจิต (psychological well-being) และ สุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) น่าจะส่งผลต่อภาวะหมดไฟในการทำงานโดยตรง แต่ผลกลับพบว่า ความผาสุกทางจิต ส่งผลทางลบ หรือมีอิทธิพลทางลบโดยตรงต่อภาวะหมดไฟ (burn out) ถึง 90% หมายความว่า ถ้ามีความผาสุกทางจิตสูง ก็จะมีภาวะหมดไฟต่ำ แต่สุขภาวะทางปัญญาไม่ส่งผลต่อภาวะหมดไฟโดยตรง คือถ้าศึกษาตรงๆ ก็จะไม่เห็นว่ามีความเกี่ยวพันกัน แต่กลับพบว่า สุขภาวะทางปัญญาส่งผลทางตรงเชิงบวกต่อความผาสุกทางจิต และเป็นตัวแปรที่มีค่าอิทธิพลมากถึง 96% หมายความว่า ถ้ามีค่าสุขภาวะทางปัญญามากก็จะมีความผาสุกทางจิตมาก ผลที่ตามมาคือ มีความเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟน้อย คือ ผลการศึกษาพบว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณส่งผลทางอ้อม หรือมีค่าอิทธิพลทางอ้อมเชิงลบสูงต่อภาวะหมดไฟ คือสุขภาวะทางปัญญาช่วยลดภาวะหมดไปในการทำงานได้ผ่านความผาสุกทางจิต — หมายความว่า ถ้าคนทำงานมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณสูง มีความผาสุกทางจิตสูง ก็จะมีภาวะหมดไฟต่ำ
.
ความหมายเบื้องต้นของคำว่า ภาวะหมดไฟ ความผาสุกทางจิต และสุขภาวะทางปัญญา (*กรุณาดูรายละเอียดในนิยามศัพท์ท้ายบทความ)
ภาวะหมดไฟ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหมดแรง แต่เป็นความอ่อนล้าทางอารมณ์ เช่น ไม่อยากตื่นไปทำงาน ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่มีความหวังว่าจะทำงานนั้นได้สำเร็จ
ความผาสุกทางจิต เป็นสภาวะที่บุคคลมีความรู้สึกที่ดี เช่น ยอมรับตัวเองได้ มีสัมพันธภาพที่ดีต่อผู้อื่น มีเป้าหมายในชีวิต เห็นความสำเร็จของตัวเอง รู้สึกว่ามีอิสระ
สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ทีมของเราดูใน 3 มิติคือ การคิด วิเคราะห์ (Cognitive) การมีกัลยาณมิตร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และอยู่ในสังคม-สิ่งแวดล้อมที่ดี
.
แปลเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือ ถ้าเรามีความรู้คิด สนใจความหมายของชีวิต มีกัลยาณมิตร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น จะส่งให้ผลให้เรามีความผาสุกทางจิตมาก และผลที่ตามมาก็คือ ภาวะหมดไฟก็จะน้อย
นี่คือสิ่งที่งานวิจัยพบ
ใช่ค่ะ ปัญหาก็คือ องค์กร หรือองค์การ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เท่าที่ควร เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อ ภาวะหมดไฟ อาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น บางองค์กรอาจจะเน้นการป้องกันหรือแก้ปัญหา โดยเน้นไปที่ความสมดุลชีวิต (work life balance) เพียงอย่างเดียว บางองค์กรก็อาจจะไม่สนใจเลย เน้นเฉพาะผลการปฏิบัติงานเท่านั้น สร้างแรงจูงใจโดยจ่ายเงินหรือให้โบนัส สิ่งเหล่านี้ก็ดีแต่ปัญหาก็คือ
สมมุติว่า องค์กร A พยายามจัด work life balance ให้เวลาพนักงาน แต่พนักงานเอาเวลาที่มีไปทำสิ่งที่ไม่ได้สนับสนุนด้านจิตวิญญาณ หรือความผาสุกทางจิต มันก็อาจจะไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะหมดไฟ หรือ การพยายามจัดสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานที่ดี มีสวน มีเครื่องออกกำลังกาย แต่ถ้าความสัมพันธ์ภายในองค์กรไม่ดี พูดคุยกันไม่ได้ หรือพนักงานไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่เห็นว่างานของตัวเองมีคุณค่า มันก็ยากที่เขาจะเห็นความสวยงามของสิ่งแวดล้อม หรือใช้ประโยชน์จากความสวยงามเหล่านั้น
สุขภาวะทางปัญญาและความผาสุกทางจิตส่งผลต่อมนุษย์มาก เพราะในปัจจุบันเราจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า คนที่มีทรัพย์สินหลายร้อยล้าน มีที่อยู่อาศัยดี มีรถหรู ก็ฆ่าตัวตายได้ — ทรัพย์สิน วัตถุอาจจะช่วยให้คนมีความสุขได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เทียบกับคนอีกกลุ่มหนึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้มีทรัพย์สินมากมายนัก มีความเป็นอยู่เรียบง่าย แต่มีความสุขด้านใน มีความพึงพอใจในตัวเอง เห็นคุณค่าและความหมายของชีวิต — คนประเภทหลังนี้ ยินดีทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น แม้ว่าอาจจะได้ผลตอบแทนน้อย หรือบางกรณีไม่ได้เลย แต่เขามีความสุขมากกว่าและไม่มีภาวะเหนื่อยล้าจากงานที่ทำเลย ความเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟในการทำงานต่ำมากเพราะเขาเห็นความหมายของงาน … นี่เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้าง extreme แต่ชัดเจน
ดังนั้น ความสุขที่องค์กรหรือองค์การ จะมีให้พนักงานจะต้องมิใช่เพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมทางด้านวัตถุหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ควรมีมิติของจิตใจและจิตวิญญาณด้วย
การเพิ่มมิติทางจิตวิญญาณในองค์กรหรือองค์การคืออะไรคะ อาจารย์ยกตัวอย่างสิ่งที่ฝ่ายบุคคลจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ หรือนำไปทำได้ง่ายๆ — คงไม่ใช่การชวนคนไปปฏิบัติธรรม ?
(หัวเราะ) … ปฏิบัติธรรมเหรอ น่าจะมีแรงต่อต้านอยู่พอสมควรนะคะ —จากที่ลังเลว่าเขาจะลาออกหรือเปล่า คงตัดสินใจได้ตอนนี้เลย (ได้หัวเราะกันเฮฮา)
คนรุ่นใหม่ต้องการงานที่มีเวลาให้ตัวเอง แต่สิ่งที่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าเวลา คือเขาต้องการงานที่รู้สึกว่ามีความหมายหรือมีคุณค่า ทำแล้วรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือรู้สนุกในการทำงาน เขามี passion ในการทำ เขารู้ว่าเขาทำงานนี้ทำไม ทำเพื่อใคร ทำเพื่ออะไร ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับโลก กับเพื่อนมนุษย์ เขาจะยินดีทำ … นี่เป็นประเด็นจิตวิญญาณ ถ้าเขาได้ทำงานที่มี passion เวลาอาจจะไม่ใช่เรื่องชี้ขาด เขาอาจจะยิ่งทุ่มเททำงาน ยินดีทำงานหนัก เพราะเขารู้ว่างานนั้นเป็นงานที่มีความหมาย
เวลาที่เราจะทำงานกับมนุษย์ บางทีต้องคิดลึกซึ้งอีกนิดหนึ่ง — การนิมนต์พระ หรือเกณฑ์ให้ไปปฏิบัติธรรม นุ่งขาว ห่มขาว อาจจะง่าย จัดการได้ไม่ยาก แต่ต้องไม่ลืมว่า ศาสนากับมิติด้านจิตวิญญาณ(อาจจะ)เป็นคนละเรื่องกัน นักบวชในศาสนาบางครั้งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่บางครั้งก็เป็นเพียงผู้นำด้านพิธีกรรม และคนบางคนที่ไม่ได้สังกัดในศาสนา แต่เขาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณได้ เช่น โอโช (Osho) คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งอาจจะไม่ได้สนใจศาสนาแต่เขาแสวงหาคุณค่าหรือความหมายของชีวิต นี่เป็นเรื่องจิตวิญญาณ
.
สิ่งที่จะทำให้องค์กรหรือองค์การได้รับการสนับสนุนด้านจิตวิญญาณน่าจะมีองค์ประกอบ 3 อย่าง
•มีตัวอย่างที่ดี (best practice) คือเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาวะทางปัญญา จิต วิญญาณของคนทำงาน หรือจิตวิญญาณในการทำงาน และองค์กรนั้นประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายในการทำงาน
•มี R&D (research and development) ให้การศึกษากับผู้บริหาร ตรงนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลด้วย เพราะผู้บริหารก็ไม่ค่อยมีเวลา ดังนั้นฝ่ายบุคคลต้องหาข้อมูล งานวิจัย ตัวอย่างที่ดี เพื่อจัดการศึกษาสำหรับผู้บริหาร ทำให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญของเรื่องสุขภาวะทางปัญญา หรือจิตวิญญาณในการทำงาน ตอนนี้มีผลการวิจัยที่สนับสนุนความสำคัญของสุขภาวะทางปัญญา และจิตวิญญาณในการทำงานออกมามาก ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ให้เข้าใจว่าสุขภาะทางปัญญาและจิตวิญญาณในการทำงานคืออะไร (Know what) รวมถึงวิธีการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา และจิตวิญญาณในการทำงาน (Know why)
.
•นำพาหรือสร้างให้คนรู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หรือรู้จักความเชื่อมโยง (connectivity) คำสำคัญหรือ key word ของจิตวิญญาณ คือ connection หรือ connectivity ซึ่งไม่ได้หมายถึงเครือข่าย เส้นสาย แต่หมายถึงการมีความสามารถที่จะเชื่อมโยงกับตัวเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อตัวเอง รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เห็นคุณค่าของตนเอง ยอมรับตัวเองได้ ลำดับต่อมาคือเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น ขอความช่วยเหลือหรือให้การช่วยเหลือผู้อื่นได้ และลำดับต่อมาคือ รู้ว่าตนเองเชื่อมโยงกับสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้น สังคมและสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลต่อตัวเรา องค์กรของเรา
อาจารย์ยกตัวอย่างองค์กรที่ให้ความสำคัญในประเด็นเหล่านี้เลยได้ไหมคะ
ในระดับโลกมีตัวอย่าง เช่น บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ เป็น World’s Most Admired Companies ของ Fortune https://fortune.com/worlds-most-admired-companies/ เช่น Apple Alphabet หรือGoogle หรือ บางองค์กรที่ได้รับการกล่าวถึง เช่น Southwest Airlines
คนรุ่นใหม่ชอบองค์กรอย่าง บริษัท Patagonia เป็นบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้า บริษัทเขามีเป้าเพื่อ “ใช้ธุรกิจเพื่อสร้างแรงบัลดาลใจและสร้างการแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม (อ่านเพิ่มเติมในหนังสือจิตวิทยาองค์การของรัตติกรณ์ จงวิศาล หน้า 507 ) เขาเป็นองค์กรที่สร้างการตระหนักรู้ชัดมาก เขากำลังบอกให้ผู้บริโภคและลูกค้าในธุรกิจของเขาให้สนใจสิ่งแวดล้อมและสังคม
อีกสิ่งที่กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมืองเราคือการปลดพนักงานอาวุโส (จริงๆ เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ทั้งเรื่องสังคมสูงวัย และองค์กรปลดพนักงาน) ในบ้านเราถ้าจะปลดพนักงานต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้ สมมติว่าตามกฎหมายให้จ่าย 10 เดือน บริษัทอาจจะยอมจ่าย 20 เดือน แต่ต้องลงนามห้ามเผยแพร่ข่าว —ทำไมสิ่งนี้จึงจะเป็นปัญหาสังคม เพราะคนที่ทำงานมาเกือบทั้งชีวิต แล้วจู่ๆ ว่างงาน มีเงินก้อนแต่ถ้าจัดการไม่เป็น ก็มีความเสี่ยงหลายอย่าง เขาอาจจะเอาเงินไปเล่นการพนัน โดนหลอกให้ลงทุนเพื่อเก็งกำไร หรือใช้เงินในทางที่ผิดแล้วกลายเป็นคนชราอนาถา — เหล่านี้เป็นมิติทางจิตวิญญาณ
ดังนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญก็จะรู้จักวิธีที่จะเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ให้ความรู้กับผู้บริหาร ให้เห็นความสำคัญของพนักงานอย่างแท้จริง และให้เครื่องมือหรือวิธีการพัฒนาจิตวิญญาณในการทำงานกับพนักงาน ก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้เหล่านี้ไปช่วยพัฒนาองค์การได้อย่างแท้จริงและช่วยสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย
ตัวอย่างองค์กรในระดับประเทศบริษัท บาร์ทรูมดีไซน์จำกัด ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมในระดับโลกต่อเนื่องหลายปี เมื่อสำรวจข้อมูลลึกลงไปพบว่าพนักงานทุ่มเทให้กับองค์กรดีเยี่ยม ทำไมพนักงานจึงทุ่มเทขนาดนั้น คำตอบก็คือ พนักงานเห็นว่าองค์กรนั้นเป็น ‘บ้าน’ — ผู้บริหารดีกับพวกเขา ดูแลพวกเขาเหมือนคนในครอบครัว เขาจึงอยากตอบแทนด้วยการทำงานให้ดี ทำหน้าที่ให้ดี ทางตะวันตกอาจจะใช้คำว่าชุมชนที่ดี แต่ประเทศไทยคือเป็นบ้าน
กูเกิ้ล และ Alphabet ก็เป็นองค์กรที่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ถ้าองค์กรต้องการนวัตกรรมก็ต้องดูแลพนักงานอย่างดีมากๆ ดูแลสุขภาพของพนักงาน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม จัดสิ่งแวดล้อมเพื่ออารมณ์ด้านบวก มีโปรแกรม/หลักสูตรเพื่อส่งเสริมอารมณ์ด้านบวก ส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาด้านจิตวิญญาณ รู้จักการเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเชื่อมโยงกับตัวเอง เชื่อมโยงกับผู้อื่น หรือเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม เขามีโครงการ “Search inside yourself ” ในการพัฒนาพนักงาน และได้กลายเป็นหนังสือชื่อ Search inside yourself ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแล้ว (ใส่รูปหนังสือทั้งสองปก)
องค์กรธุรกิจมักจะมองกำไรเป็นเป้าหมายใหญ่ กำไรกับจิตวิญญาณจะไปด้วยกันได้ไหมคะ
พวกเราได้ยินมานานแล้วที่พูดกันว่า องค์กรต้องการกำไร ‘กำไรคือลมหายใจขององค์กร’ .. มนุษย์ไม่มีลมหายใจก็ตาย องค์การถ้าไม่มีกำไรก็ตาย แต่มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อหายใจเท่านั้น พวกเราเกิดมาเพื่ออะไรบางอย่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายบางสิ่ง ซึ่งตัวเราจะต้องเป็นผู้หาคำตอบนั้นเอง เช่นเดียวกัน องค์การไม่ได้มีขึ้นมาเพื่อกำไรเพียงเท่านั้น แต่ต้องมีเป้าหมายเพื่อทำอะไรบางอย่าง ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อกำไร องค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนระดับหนึ่ง ‘strong sense of purpose’ เพราะหากองค์กรหวังเพียงกำไร แต่สังคมรอบข้างอยู่ไม่ได้ สิ่งแวดล้อมพัง ในที่สุดองค์การนั้นก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
กรณีของหนองบัวลำภู สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงอาจจะยังไม่มีข้อมูล และอาจจะมีความซับซ้อน แต่สาเหตุหนึ่งอาจจะเกิดจากการขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง ผู้อื่นและสังคม เขาติดยาเสพติด ทำร้ายตนเอง ผู้อื่น และสังคมอย่างรุนแรง สาเหตุของปัญหาอีกอย่างหนึ่งอาจจะเพราะความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมและนั่นนำไปสู่การแก้แค้นสังคม — ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาหรือป้องกันปัญหา ด้วยการการล้อมรั้วโรงเรียน หรือสร้างระบบนิรภัยป้องกันศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และอาจจะไม่เพียงพอ น่าจะจะต้องมองให้ลึกลงไปกว่านั้น
มิติทางด้านจิตวิญญาณ ที่ชวนให้กลับมาเชื่อมโยงกับตัวเอง รู้จักตัวเอง รักตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับโลกสมัยใหม่ และเป็นพื้นฐานของการรู้จักสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น การที่โรงเรียนสอนให้เด็กๆ รู้จักบอกความรู้สึกของตัวเอง เข้าใจและดูแลความรู้สึกผู้อื่น ดูแลกัน ช่วยเหลือกัน เข้าใจกัน สื่อสารต่อกันได้ เหล่านี้เป็นพื้นฐานของการเชื่อมโยงกับผู้อื่น — ประเด็นปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของสังคม หลายคนที่ติดยาเสพติดอาจเป็นเพราะเขาหาที่พึ่งที่ไว้ใจได้ไม่ได้ หรือไม่เห็นคุณค่าของตนเอง และก็ไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นอย่างไรจึงหันเข้าหายาเสพติด พวกเราทุกคนคงต้องพยายามช่วยกันแก้ปัญหานี้ด้วย และหน่วยของสังคมก็ต้องร่วมมือกัน เพราะเมื่อสังคมมีปัญหามันก็จะวนกลับมากระทบถึงพวกเราอย่างแน่นอน — การพัฒนามิติด้านจิตวิญญาณจึงสำคัญ
โดยทั่วไป ทุกองค์การมักจะต้องการเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization) อยากได้การมีส่วนร่วมในการทำงาน (work engagement) อยากได้การมีส่วนร่วมของพนักงาน หรือความผูกพันของพนักงาน (employee engagement) หลายองค์กรจ้างบริษัทที่ปรึกษา ต้องจ่ายหลายล้านบาทแต่แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ แต่เชื่อไหมจากงานวิจัย พวกเราพบว่า มิติด้านจิตวิญญาณในการทำงานขององค์กร (หรือจิตวิญญาณในสถานที่ทำงาน) มีอิทธิพลทางตรงต่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มากถึง 98% ข้อมูลนี้มาจากการเก็บตัวอย่างองค์กรในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่า ถ้าองค์กรมีมิติทางจิตวิญญาณก็จะสามารถเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นการได้การมีส่วนร่วมจากพนักงานก็จะไม่ยากเลย แต่ถ้าไม่สนใจมิติด้านจิตวิญญาณในองค์กร ไม่ว่าจะจัดการอบรม จ้างที่ปรึกษา ก็อาจจะไม่สามารถเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ นอกเหนือจากนั้น เรายังพบว่าจิตวิญญาณในการทำงานยังส่งผลต่อผลการปฏิบัติงาน และปัจจัยอื่นๆ ที่องค์กรต้องการอีกมากมาย
ในฐานะพนักงานธรรมดา เราจะป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงานได้อย่างไร
พวกเราสามารถเพิ่มมิติทางจิตวิญญาณได้ด้วยตัวของเราเอง เช่น รู้จักขอบคุณตัวเอง ก่อนนอนอาจจะสำรวจร่างกาย ขอบคุณร่างกาย — ออฟฟิศซินโดรมเป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่าเราเชื่อมโยงกับร่างกายของเราไม่ค่อยดี หมั่นสำรวจความรู้สึกของตัวเรา บอกความรู้สึกได้ ดูแลความรู้สึกของตัวเองได้ ฝึกการฟัง—ทั้งฟังตัวเองและฟังผู้อื่น หรือให้คุณค่ากับการทำความดีโดยไม่หวังผล การทำงานจิตอาสาก็เป็นการเพิ่มมิติจิตวิญญาณให้ตัวเอง
อาจารย์เคยให้นักศึกษาออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาในวันหยุดและเก็บข้อมูล ตอนก่อนและหลังการไปทำกิจกรรม นักศึกษาเขียนบอกความรู้สึกว่า ไม่อยากไป ไม่อยากทำ ไม่มีแรง อยากนอนพัก บ่นอาจารย์เพราะรบกวนวันหยุดของเขา ฯลฯ แต่เมื่อไปทำกิจกรรมจิตอาสา กลับมา ให้ตอบแบบสอบถามอีกครั้ง นักศึกษาบอกว่ามีความสุข รู้สึกได้พลัง ใจฟู มีแรงสู้ชีวิต รู้สึกว่าตัวเองโชคดี รู้สึกว่าการให้เป็นสิ่งที่ให้ความสุขแก่ตัวเองฯลฯ เหล่านี้จะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของมิติจิตวิญญาณที่ส่งผลต่อการทำงาน หรือการดำเนินชีวิต
กล่าวโดยสรุปก็คือ สุขภาวะทางปัญญา หรือมิติจิตวิญญาณในการทำงาน อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งที่สำคัญในการช่วยแก้และ/หรือป้องกันปัญหาของคนในยุคปัจจุบันและอนาคต ช่วยพัฒนาคน พัฒนาองค์การให้บรรลุถึงเป้าหมาย และคุณค่าที่แท้จริง
……………………………………………………………………………………………..
ท่านสามารถทำแบบประเมินสุขภาวะทางปัญญาส่วนบุคคลได้ที่ https://www.happinessisthailand.com/spiritualcheckup
.
นิยามศัพท์
ภาวะหมดไฟในการทํางาน (Burnout Syndrome) เป็นอาการของบุคคลที่เกิดความอ่อนล้าทางอารมณ์ เกิดความเครียดสะสมและรู้สึกหมดพลังในการทํางาน ทําให้มองการทํางานของตนเองในแง่ลบ ขาดแรงจูงใจในการทํางาน และทํางานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ภาวะหมดไฟประกอบด้วย ความอ่อนล้าทางอารมณ์ การลดค่าความเป็นบุคคล และความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับความสําเร็จส่วนบุคคล (Maslach & Leiter, 2007)
สุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) เป็นแนวคิดที่มีมุมมองว่า มนุษย์ไม่ได้มีเพียงสุขภาวะทางร่างกาย และสุขภาวะทางจิตใจเท่านั้นแต่ยังมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ หรือสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเป็นชีวิตภายในที่แสวงหาคุณค่าและความหมายของตนเองและผู้อื่น และมีความปรารถนาที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิต ในแง่มุมของการทํางาน บุคคลที่มีสุขภาวะทางปัญญา จึงเป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น เห็นถึงความหมายในงานของตนเอง มีความรู้สึกเชื่อมต่อและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง ผู้อื่น และสังคม (Marques, Dhiman, & King, 2007 cited in Chongvisal, 2020)
ความผาสุกทางจิต (Psychological Well-Being) (Kareaga et al., 2009;Rehman et al., 2020; Dale, 2021) ความผาสุกทางจิต เป็นสภาวะที่บุคคลมีความรู้สึกที่ดี รับรู้ว่าตนได้ทําในสิ่งที่ต้องการและทําได้สําเร็จ เป็นตัวของตัวเอง ภาคภูมิใจในการกระทําของตนเอง มีพัฒนาการทางจิตใจที่สมบูรณ์ มีความมั่นใจในตนเอง ผู้ที่มีความผาสุกทางจิตในระดับสูง จะมีความสุข มีความสามารถในการทําสิ่งต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี และมีความพึงพอใจในชีวิต (Winefield et al., 2012; อาภากร เปรี้ยวนิ่ม และคณะ, 2563)