การฟื้นคืน (Resilience), ความกรุณาต่อตัวเอง

การฟื้นคืนด้านจิตวิญญาณ

สรุปเนื้อหาจากการอบรม Resilence Buiders สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ครั้งที่ 4

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 แอพพลิเคชั่น zoom
โดย ดร.เบ็นจามิน เว็นสไตน์ (Benjamin Weinstein, PhD)

.


การฝึกทักษะการฟื้นคืนเหมือนกับการออกกำลังให้กล้ามเนื้อนั้นแข็งแรงมากขึ้น มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่มันจะค่อยๆ ดีขึ้น การฟื้นคืนจะค่อยๆ ได้รับการพัฒนา และเราจะฟื้นคืนได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น


เราทุกคนเป็นมนุษย์ เวลาที่เผชิญความเครียด ความผิดหวัง ล้มเหลว อย่าเพิ่งตำหนิตัวเอง ทำไมฉันเป็นคนอย่างนี้ ทำไมฉันแย่อย่างนี้…

เราเป็นมนุษย์ เรามีสมองที่ง่ายต่อการคิดลบ จำเรื่องแย่ๆ เราถูกกระตุ้นได้ง่ายและอาจจะทำให้มุมมองของเราแคบลงๆ เมื่อโกรธเราจะเห็นแต่หน้าคนๆ นั้น นี่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่อย่างไรก็ดี เรามีระบบพักและผ่อนคลายด้วย พาตัวเองกลับสู่ปัจจุบันขณะ


การกลับสู่ปัจจุบันขณะ เรารับรู้อย่างที่เป็น หยุดสักครู่ … เมื่อฝึกบ่อยๆ ความสามารถนี้จะถูกพัฒนาขึ้น และเราจะผ่อนคลาย กลับสู่ปัจจุบันขณะได้อย่างรวดเร็ว

การฟื้นคืนไม่ใช่ทักษะเพื่อการมีชีวิตที่ปราศจากปัญหา และไม่ใช่ทักษะเพื่อการแก้ปัญหา แต่การฟื้นคืนคือทักษะที่ช่วยให้เรากลับสู่ภาวะปกติ ไม่ได้อยู่ในภาวะเหยื่อของสถานการณ์ เพื่อเราจะได้มีความสามารถในการเห็นภาพใหญ่ เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วแก้ปัญหาตามศักยภาพของเรา ตามเงื่อนไขปัจจัยที่เป็นอยู่อย่างดีที่สุด ไม่ถูกพัดพาไปด้วยอารมณ์ด้านลบ

ในชีวิตของเรามีทั้งสิ่งที่ควบคุมได้ และคุมไม่ได้ ถ้าเราไม่เท่าทันอคติในตัวของเรา เราจะพยายามควบคุมสิ่งที่เราคุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เครียดมาก การฟื้นคืนพาให้เรารู้จักหยุดสักครู่ เห็นว่าอะไรคุมได้ อะไรคุมไม่ได้ เพื่อจะจัดการได้อย่างเหมาะสม ดูแลตัวเองได้ เป็นมิตรกับตัวเอง มี

การฟื้นคืนทางกายภาพ ชวนเราให้กลับมาสังเกตและดูแลกิจกรรมทางกายของตัวเรา ร่างกายต้องการการเคลื่อนไหวและการพักผ่อน นี่คือความจำเป็น การกินอาหารที่ดีและสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เป็นการให้สิ่งที่ดีกับร่างกาย ถ้าเราเห็นว่าร่างกายเป็นเพื่อนรักของเรา และเรารู้ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง เราก็จะดูแลเขาให้ได้ เพื่อให้เขาอยู่กับเราและได้ทำสิ่งดีๆ ร่วมกันต่อไป
Physical Resilience https://www.youtube.com/watch?v=nW7orqFXwRw

การฟื้นคืนทางสังคม หรือการทบทวนปฏิสัมพันธ์ของเรากับสังคมรอบๆ ตัวเรา คือการพาพวกเรากลับมาสำรวจ “ทีมชีวิต” ของเรา ใครบ้างที่อยู่ในทีมชีวิตของเรา และตัวเราอยู่ในทีมชีวิตของใคร รวมไปถึง ความสามารถในการขอความช่วยเหลือ น่าสนใจที่หลายๆ คนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ทำไม่ได้ …ผมอยากจะชวนพวกเราให้เวลาเพื่อการสำรวจ “ทำไมเราจึงรู้สึกว่ายากจังในการขอความช่วยเหลือ” มันเป็นอุปสรรคที่อยู่ภายใน หรืออุปสรรคจากภายนอก
Social Resilience https://www.youtube.com/watch?v=dOPB2rtYIHY


การฟื้นคืนทางจิตวิญญาณ
เมื่อเราได้ยินคำว่า จิตวิญญาณ (spiritual) คำนี้มีความหมายต่อเราอย่างไร เรารู้สึกกับคำนี้อย่างไร


พลังชีวิต root of our life สิ่งที่จรรโลงจิตใจ Inner resources ความปรารถนาภายในจิตใจ
เข็มทิศและขุมพลังในการดำเนินชีวิต การรับรู้ภายในตนเอง inner voice แก่นของชีวิต พลังในการขับเคลื่อนชีวิต ฯลฯ


สิ่งสำคัญหนึ่งที่ ผมอยากบอกพวกเราก็คือ จิตวิญญาณไม่ใช่ศาสนา และจิตวิญญาณเป็นมิติด้านหนึ่งของชีวิตที่ต้องการการเติมเต็มและดูแล แน่นอนว่าหลายครั้งเมื่อเราไม่สบายใจ เรารู้สึกว่าเราต้องการอาหารทางจิตวิญญาณเราจึงไปวัด ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ไปเข้าเงียบ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่อย่างไรก็ตาม จิตวิญญาณควรจะมีพื้นที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราด้วย อยู่ในการงาน อยู่ในชีวิต ไม่ใช่เพียงการหาเวลา “พิเศษ” เพื่อให้มิติด้านนี้ได้เติบโต


ความหมาย และ เป้าหมายชีวิต

เราจะรับมือกับความเครียดได้ดีกว่า เมื่อเรารู้ว่า ชีวิตของเรามีความหมาย ชีวิตของเรามีเป้าหมาย นักปรัชญาชาวเยอรมัน ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) กล่าวไว้ว่า “He, who has a why to live for, can bear with almost any how.ผู้ที่ตั้งคำถามว่า ตัวเขาอยู่ไปทำไม ย่อมอดทนได้ทุกอย่าง


เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือมีอุบัติเหตุในชีวิต โดนน้ำท่วม บริษัทล่มสลาย พวกเราอาจจะมีคำถามว่า ทำไมเรื่องแบบนี้ถึงได้เกิดขึ้นกับฉัน มันง่ายมากที่เราจะยอมแพ้ สำหรับผู้ที่มีมิติด้านจิตวิญญาณ เขาจะตั้งคำถามและทบทวนว่า “เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ฉันจะไปต่ออย่างไร เพื่อจะไปถึงเป้าหมาย หรือ เพื่อทำให้ชีวิตของเรายังคงมีความหมาย” สมองของเราพยายามหา “ความหมาย” ให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเสมอ ทำไมสิ่งนี้จึงเกิด ทำไมชีวิตจึงเป็นแบบนี้ — คำตอบอาจจะมาจากภายนอก และคำตอบอาจจะมาจากภายในของเราได้เดียวเช่นกัน

.

ในวัยเด็ก เราอาจจะรับความหมายจากคนอื่น พ่อแม่ ครู สังคม ตำรา แต่ตอนนี้เมื่อเราโตขึ้น เมื่อเราอยากมีทักษะการฟื้นคืน เราหาคำตอบจากภายในได้ หาตำแหน่งแหล่งที่ของตัวเอง ให้ตัวเราได้นิยามความหมายของตัวเราเอง มันอาจจะยากนิดหน่อยสำหรับคนที่ไม่เคยถาม แต่ทุกคนทำได้


อิคิไก เป็นการผสมผสานความหมายและเป้าหมายของชีวิต เพื่อค้นพบตัวเอง อะไรคือสิ่งที่เราชอบทำ เรารักที่จะทำ อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี เป็นทักษะของเรา สิ่งที่เราสะสม บ่มเพาะ มันคือศักยภาพของเรา อะไรคือสิ่งที่โลกต้องการจากเรา อะไรคือสิ่งที่เราจะมอบให้แก่โลก


ความหมายและเป้าหมาย ไม่เหมือนกันแต่ไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด มันสนับสนุนกัน เมื่อเราพบว่า ความหมายในชีวิตของเราคืออะไร หรือเป้าหมายของชีวิตของเราคืออะไร ทุกวัน เมื่อตื่นในตอนเช้า ขอให้เราได้ทบทวน ใช้สิ่งนั้นเตือนตัวเอง เพื่อที่เราจะได้ดำเนินชีวิตในวันนั้นไปในทิศทางที่เราต้องการ ไม่พลัดหลงไปกับอารมณ์ยากๆ ที่ต้องเผชิญระหว่างวัน


ความขอบคุณและความหวัง

เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างการฟื้นคืนทางจิตวิญญาณ คนที่รู้ว่าชีวิตของเขามีความหมาย หรือรู้ว่าชีวิตของเขามีเป้าหมาย จะใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง ซึ่งไม่ใช่ความเพ้อฝัน เขารอได้ เขารู้ว่า ความยากลำบากนี้เป็นไปเพื่อฝึกบางอย่างในตัวเขาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เขามุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไป หรืออดทนรอ

.

.

การขอบคุณมีหลายอย่าง และหลายมิติ การขอบคุณสิ่งเล็กๆ ประจำวัน (10 good things) การขอบคุณสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แต่เราไม่ทันได้สังเกต เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้บ่อยๆ ทุกวัน เช่น เมื่อเราปวดฟัน เราทรมาน เราทุกข์ อยากให้ความเจ็บปวดหายไป ดังนั้นในตอนนี้ที่เราไม่ปวดฟัน จึงเป็นความสุขมาก เราขอบคุณฟันของเราได้ มีอวัยวะหลายอย่างของเราในตอนนี้ ที่เป็นปกติ ทำงานได้ดีเราควรจะยินดี ขอบคุณได้เลย … นี่คือความสุข


ผมแนะนำให้พวกเราบันทึกการขอบคุณเป็นประจำ สม่ำเสมอ เพราะเมื่อเราเขียน เรากำลังจดจ่อซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก การเขียนคือการให้พื้นที่สำหรับสิ่งนั้นได้เข้ามามีส่วนในชีวิตของเรา


ตัวเราเป็นเพียงสิ่งเล็กจิ๋วในจักรวาลอันกว้างใหญ่

โดยปกติเราจะเห็นแต่ตัวเราและปัญหาของเราที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น เราป่วย หรือน้ำจะท่วมบ้าน เวลาที่เกิดสิ่งนี้กับเรา เราจะมองไม่เห็นเรื่องอื่น คนอื่น สิ่งอื่น มุมมองของเราแคบลง หรือบางครั้งที่เรารู้สึกว่าตัวเราเล็กนิดเดียว ดูเหมือนไม่มีใครสนใจเราเลย เราไม่สำคัญ เราไม่มีความหมาย ที่ทางของตัวเราในจักรวาลนี้คืออะไร —- นี่คือเวลาเหมาะของการทบทวนมิติด้านจิตวิญญาณ


มิติจิตวิญญาณช่วยให้เราเห็นภาพกว้าง เห็นตำแหน่งแหล่งที่ของเราในจักรวาลที่กำลังดำเนินไป ในความแปรปรวน ผันผวนอย่างรวดเร็ว ที่เรากำลังเผชิญอยู่ดูเหมือนว่ามันแทบไม่ส่งผลอะไรเลยในจักรวาลที่กว้างใหญ่ แล้วตัวเราสัมพันธ์กับสิ่งที่กว้างใหญ่กว่าตัวของเราอย่างไร


ความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นและลึกซึ้ง (interconnectedness)

เมื่อเห็นสับปะรดนี้ .. เราเห็นอะไรบ้าง
เมื่อหกเดือนที่แล้ว สับปะรดผลนี้เป็นอย่างไร
หกเดือนข้างหน้า สับปะรดนี้จะเป็นอะไร


ถ้าเรานิ่งพอ เราจะเห็นองค์ประกอบมากมายของสับปะรดผลนี้ กว่าสับปะรดผลนี้จะได้เป็นอย่างนี้ อย่างที่เราเห็น สับปะรดอาศัยอะไรบ้าง มีแสงแดดในสับปะรด มีดวงอาทิตย์ มีพ่อแม่ของสับปะรดผลนี้ เห็นชาวสวน เห็นผืนดิน คนขนส่งฯลฯ หากได้กินแกงสับปะรด เราจะเห็นมือของพ่อครัว แม่ครัว …นี่คือการเชื่อมโยง มองอย่างลึกซึ้ง เห็นสิ่งที่เชื่อมโยงเกี่ยวโยงถึงกัน


ลองหยิบของสักอย่างขึ้นมา แล้วลองถามว่า สิ่งนี้มาจากไหน — ปากกาด้ามนี้ผมซื้อมาจากร้านขายเครื่องเขียนแห่งหนึ่ง ก่อนจะมาที่ร้านจำหน่ายอุปกรณ์นี้ มันคงอยู่ในโรงงานที่ไหนสักแห่ง อาจจะเป็นโรงงานในประเทศไทย หรือเป็นโรงงานในประเทศจีน ในโรงงานนั้นมีคนงาน ซึ่งแน่นอนว่าเขามีครอบครัวที่เขาจะต้องดูแล — ดังนั้น ทุกครั้งที่ผมหยิบปากกาขึ้นมา เพื่อเขียน บันทึก ร่างแผนงาน ฯลฯ ถ้าผมมีสติมากพอ ผมจะรู้ว่า การทำงานของผมไม่ได้แยกขาดจากคนอื่นๆ การงานของผมเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่เสมอ เมื่อระลึกได้แบบนี้ เราจะไม่เหงา ไม่โดดเดี่ยว เชื่อมโยงกับผู้อื่นอยู่เสมอ และตระหนักถึงความหมายของชีวิตได้ง่าย

.

การปลดปล่อยความเป็นตัวตน (self)

ขอให้ลองนึกถึงเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่ส่งเสริม สนับสนุน ให้เราได้เป็นเราในวันนี้
สำหรับผม (อาจารย์เบ็น) การที่ผมอยู่ตรงนี้ ในวันนี้ได้ เพราะมีเงื่อนไขปัจจัยมากมายที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ครอบครัวของผม มีครูมากมาย มี mentor มีเพื่อนๆ หลายคน อาหารที่ผมกินมาจากภรรยาที่เตรียมให้ ฯลฯ เวลาที่ผมได้ระลึกอย่างนี้ผมเต็มไปด้วยความขอบคุณ รู้สึกตื้นตัน ผมขอบคุณคนเหล่านั้น และพวกเราจะเห็นว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่อาศัยองค์ประกอบมากมาย กว่าที่เราจะได้ ‘เป็นเรา’ ตรงนี้ ตอนนี้ ความเป็นเราอาศัยคนอื่นๆ มากมาย


ขอให้พวกเราลองจิตนาการว่า ถ้าผม (อาจารย์เบ็น) เติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ติดยา ยากจน ผมจะยังเป็นผมอย่างนี้ได้หรือไม่


การฝึกนี้ทำให้เราเห็นว่า การจะเป็นคนคนหนึ่งนั้นมีที่มา มีเงื่อนไขปัจจัยมากมายที่ทำให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น การฝึกนี้ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ปลดปล่อยการยึดอยู่ใน ‘ความเป็นเรา’ หรือ ‘ความเป็นเขา’ เราจะให้อภัยคนอื่นได้มากขึ้น ให้อภัยตัวเองได้มากขึ้น และเมื่อเราให้อภัยได้ ความเป็นอิสระก็จะมีมากขึ้น ๆ


คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกเงื่อนไขทางสังคมไม่ได้ ความเป็นตัวเรา เป็นผลของเงื่อนไขมากมาย ตัวเราจะเปลี่ยนได้ หากเราปรับเงื่อนไขที่แวดล้อมตัวเรา และในอีกทางหนึ่ง เราก็สามารถที่จะเป็นเงื่อนไขที่ดีสำหรับผู้อื่นได้ เราสามารถที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้คนอื่นได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง มีความหวัง และเห็นความหมายในชีวิตได้


ทิ้งท้าย
ผมอยากอวยพรให้คนที่กำลังทำงานในระบบสุขภาพรู้จักการชื่นชมตัวเอง ดูแลและใส่ใจตัวเอง มีกำลังใจในการทำงาน เพราะงานที่กำลังทำอยู่นี้เป็นงานที่มีกุศลมาก การได้ทำงานเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีทุกวัน เป็นสิ่งที่ควรชื่นชม และเราชื่นชมตัวเองได้ ขอให้พวกเรามีเสียงเล็กๆ นี้อยู่ในหัวใจของเราเสมอ เวลาที่ผมได้ยิน ได้เห็นผู้ที่กำลังทำงานเพื่อดูแลคนอื่น แต่กลับเต็มไปด้วยเสียงตำหนิตัวเอง ลงโทษตัวเอง เห็นว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี .. เหล่านี้เป็นเหมือนโศกนาฏกรรม


ขอให้พวกเรารู้จักที่จะชื่นชมสิ่งดีๆ ในตัวเอง แม้สิ่งนั้นจะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ขอให้เราเป็นมิตรกับตัวเองและให้ความรัก ความเข้าใจกับตัวของเราเองให้มากพอ เพื่อจะมีกำลังใจทำงานเพื่อผู้อื่นในทุกๆ วัน

ขอบคุณครับ



คลิปวีดีโอที่เกี่ยวข้องกับการอบรมนี้
Spiritual Resilience https://www.youtube.com/watch?v=r5MSPFgjw5s
Physical Resilience https://www.youtube.com/watch?v=nW7orqFXwRw

Social Resilience https://youtu.be/dOPB2rtYIHY

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save