8 ช่องทางความสุข

อยู่ตรงนั้นกับธรรมชาติ

พวกเราอยู่ในโลกที่ต้องการการเยียวยามากๆ และมีสิ่งหนึ่งที่เป็นยาชั้นดี และเป็นครูของพวกเราด้วยก็คือ ธรรมชาติ มลอยากชวนให้พวกเราลองทำความรู้จักธรรมชาติ ลองสักหน่อย แล้วจะไปต่อหรือพอแค่นี้ก็ไม่เป็นไร

.

มล – สิรามล ตันศิริ หรือ ครูมล บัณฑิตย์คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง — มลชอบวิชาชีววิทยาตั้งแต่เรียนมัธยม ต่อมาจึงเลือกเรียนเทคโนโลยีชีวภาพ ก่อนจบการศึกษามลทำโปรเจ็คร่วมกับเพื่อนๆ และได้เห็นธรรมชาติในตัวเองคือ เธอไม่ชอบทำงานในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เลย เมื่อสังเกตตัวเองต่อไป เธอพบว่าเธอชอบสอนเด็กๆ ชอบทำงานกับเด็ก

.

“ได้ไปสอนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ในละแวกบ้านแล้วชอบมากค่ะ — เวลาที่เด็กๆ ไม่เข้าใจบทเรียน แล้วเราสามารถอธิบาย หรือชวนทำอะไรบางอย่างแล้วเขาเข้าใจ ตาเป็นประกาย โมเม้นต์แบบนั้นมันดีมากจริงๆทำให้มลคิดว่า การเป็นครูน่าจะเหมาะกับเธอ เมื่อได้เห็นโครงการ Teach for Thailand ที่เปิดโอกาสให้ได้ทำงานเป็นครู มลจึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเลือกที่จะไปทำงานอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี 2 ปี เพราะอยากใกล้ชิดธรรมชาติ ต่อด้วยโครงการครูอาสาเกื้อฝันเด็ก สอนที่จังหวัดเชียงใหม่ 4 เดือน


มลวาดหวังว่าการทำงานในฐานะครู เธอน่าจะได้ร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนรูปแบบการสอน และสร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งนักเรียนและครูในระบบ คิดรูปแบบการสอนให้ร่วมสมัย ออกแบบการสอนให้นักเรียนรู้สึกสนุกและ ‘ใหม่’ หวังจะให้เพื่อนครูได้ร่วมเรียนรู้ แต่ก็พบว่าภาระงานของครูในระบบมากจริงๆ มลมีครูพี่เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับเธอ แต่ครูพี่เลี้ยงก็เป็นครูอาวุโส พอมลทำงานครบกำหนด ครูพี่เลี้ยงก็เกษียณพอดี ครูหลายคนมีไฟ แต่ก็มีภาระงานเต็มมือ ทำให้มลคิดว่าการติดตั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความรักธรรมชาติในตัวเด็กๆ น่าจะยั่งยืนและดีที่สุด ทุกวันนี้มลจึงเรียนรู้และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในติดตั้งความรักในธรรมชาติในตัวเด็กๆ และในคนทุกคน ทั้งที่ผ่านระบบการศึกษา และไม่ต้องผ่านระบบการศึกษา


จากครูอาสา สู่ นักจัดกระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติ
มลเล่าว่า ตอนที่เธอเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เธอได้สอนในวิชาค้นคว้าอิสระ (Independent Study) ด้วย (เพราะวิชาวิทยาศาสตร์ถูกลดเวลาเรียน) ครั้งหนึ่งเธอพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ป่าชุมชนใกล้ๆ โรงเรียน เชิญปราชญ์ในชุมชนให้ช่วยสอนเด็กๆ ในการทำความรู้จักพืชสมุนไพร ชวนเด็กๆ ถ่ายรูปธรรมชาติ แล้วเขียนแคปชั่นง่ายๆ ในตอนนั้นมลไม่รู้จัก ‘การจัดกระบวนการเรียนรู้’ ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เหตุการณ์นั้นเป็นสิ่งที่เธอประทับใจ การพาเด็กๆ หรือใครก็ตามให้รู้จักสัมผัสธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“เด็กๆ ชอบมาก เขาเห็นสิ่งที่ดูธรรมดาๆ แต่ก็ไม่เคยเห็นมันมานานมากแล้วเช่น แมงช้างที่อยู่ในดิน หรือแมงมุมชนิดต่างๆ ชวนเด็กๆ คุย ตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้มีมาเพื่ออะไร มีธรรมชาติอย่างไร ชวนให้เด็กๆ สันนิษฐานว่าทำไมเขาจึงอยู่ตรงนั้น — เด็กบางคนบอกว่า จริงๆ แล้วบ้านเขาก็อยู่ตรงนั้น แต่ไม่เคยสนใจเลย วันนั้นเป็นการเปิดโลกใหม่ ซึ่งมลเห็นว่า การเรียนรู้แบบนี้ เป็นการเรียนรู้ให้ประสิทธิภาพมาก เปิดโลกการเรียนรู้ของเด็กๆ เพราะเด็กๆ มีความสนอกสนใจอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ไม่มีคนชี้ชวน”


เป็นการเรียนรู้ที่มอบประสบการณ์ตรง ไม่เคร่งเครียด ผ่อนคลายทั้งครูและนักเรียน และทำให้ครูกับนักเรียนใกล้ชิด มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วย “มลว่า ก่อนที่เราจะบอกให้เด็กรู้จักอนุรักษ์ หรือรักษาแผ่นดินถิ่นเกิด อันดับแรกคือต้องชวนให้เด็กๆ สำรวจก่อนว่า แล้วในละแวกบ้านของเขา ในบ้านเกิดของเขา มีอะไรบ้าง”


การพบกันของมนุษย์กับธรรมชาติ
มลบอกว่าแม้ว่าเธอจะเป็นคนรักธรรมชาติ แต่อีกด้านหนึ่งเธอก็มีความกลัว ความไม่ไว้วางใจในตัวเองและในธรรมชาติด้วย ประตูที่พาให้เธอก้าวเข้าสู่การใกล้ชิดธรรมชาติจริงๆ เริ่มขึ้นเมื่อเธอได้อยู่ในการอบรม nature connection ในการอบรมนั้นมลได้พบกับ ดร.สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ มลเริ่มเห็นมิติการเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่ลึกซึ้งมากขึ้น เริ่มเข้าใจคำว่า ‘สื่อสารกับธรรมชาติ’ หรือ ‘สบตากับธรรมชาติ’ มากขึ้น “ในตอนแรกที่ฟังแต่ละคนพูดประสบการณ์ของตัวเองก็แบบว่า …ว้าว จริงเหรอวะ ดูลึกลับ… ถึงวันนี้มลบอกได้ว่า จริง เรากับธรรมชาติสื่อสารกันได้จริงๆ การสบตากับแมงมุมหรือการฟังเสียงธรรมชาติที่ให้คำตอบบางอย่างกับเรา ไม่ได้ลี้ลับจนเกินไป มันเป็นไปได้เมื่อเราเปิดใจและวางใจที่จะอยู่กับธรรมชาติตรงนั้น”


มลเล่าว่า ธรรมชาติหนึ่งในตัวเธอก็คือ กลัวความผิดพลาด “ไม่ค่อยแน่ใจจะทำได้ กลัวความผิดพลาดที่มันอาจจะเกิดขึ้น ใจมักจะเกาะอยู่กับความผิดพลาดในอดีต และทำให้สั่นไหวง่ายมาก รู้ว่าต้องฝึก และมลเลือกที่จะฝึกร่วมกับธรรมชาติ ฝึกที่จะวางใจในธรรมชาติ”


มลเล่าประสบการณ์ของเธอขณะอาบป่าในเมืองกับ Mint Barefoot ขณะที่เธอหลับตาและกอดต้นไม้ จู่ๆ เธอก็ได้ยินเสียงหนึ่ง แล้วเธอก็สะดุ้งสุดตัว เมื่อลืมตาขึ้นก็เห็นว่าเจ้าของเสียงเป็นเพียงกระรอกที่เดินลงมาหา เหตุการณ์นั้นทำให้มลรู้สึกว่าเธออยากทำงานเรื่อง ‘ความวางใจ’ พอได้ร่วมอาบป่ากับ มะขวัญ (วิภาดา แหวนเพชร) มีกิจกรรมที่ให้ไปอยู่ในป่าคนเดียวเป็นเวลา 3 ชั่วโมง มลเลือกที่จะเดินตามน้ำไป เพราะรู้สึกว่า “ตรงนี้แหละ น่าจะใช่” เงียบ สงบ และปลอดภัย มลเอนตัวลงนอน หลับตา แต่ทันทีที่หลับตา สัญชาตญาณและความคิดเดิมๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติในตัวมลก็ทำงานเช่นกัน “หูย…เต็มไปด้วยจินตนาการ ตัวนั้นจะโผล่มา ตัวนี้จะรัดคอ ตัวนั้นกำลังจ้องเรา ฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงก็คือ ทุกอย่างสงบดี เริ่มคิดว่า สงสัยการหลับตาจะไม่เหมาะกับเรา ก็เลยลืมตาขึ้น มองไปเรื่อยๆ ฟังทุกเสียงที่เกิดขึ้นในเวลานั้น — ตอนนั้น เหมือนตัวเราอยู่ในสตูดิโอเซ็นเซอร์ราวด์ ระบบเสียงรอบทิศทาง เหมือนอยู่ในซิมโฟนีขนาดใหญ่ที่กำลังบรรเลงดนตรี มันเพราะมาก”


มลลองหลับตาอีกครั้ง เพราะการหลับตาอาจจะทำให้เธอได้ยินเสียงได้ชัดขึ้น ขณะที่กำลังจดจ่ออยู่ที่การฟังนั้นเอง เธอได้ยินเสียงเสียงหนึ่งที่เธอไม่เคยได้ยินมาก่อน “เป็นเสียงเล็กๆ เบาๆ ชัดมาก แต่ไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไร ไม่เคยได้ยิน” มลจึงลืมตาขึ้นอีกครั้งเพื่อมองหาที่มา และพบว่าเสียงนั้น คือเสียงปีกแมงปอกระทบกับผิวน้ำ — แมงปอกำลังบินร่อน กระพือปีกอยู่เหนือผิวน้ำ และบางครั้งเมื่อปีกระกับผิวน้ำจึงเกิดเสียงที่มลไม่เคยได้ยิน — “มลรู้สึกเหมือนแมงปอมาชวนเต้นรำค่ะ ก็เลยลงไปกระโดดโลดเต้นเล่นน้ำกับแมงปอเลย” (หัวเราะ) — วันนั้น มลได้ย้อนเวลากลับไปเป็นเด็ก เล่นน้ำ เล่นกับแมงปอ ฟังเสียงน้ำ เสียงลม เสียงฝน


“เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้จักคำว่า ‘ความเป็นหนึ่งเดียวกัน’ และนำมาซึ่งความเข้าใจถึงคำว่า ‘วางใจ’ ตอนนั้นรู้สึกได้ว่าธรรมชาติวางใจในตัวเราแล้ว พี่มะขวัญ (ผู้นำกระบวนการ) บอกกับมลหลังจากฟังเรื่องราวนี้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติวางใจในตัวเราแล้ว เหลือแค่เราต้องวางใจในตัวเอง”


มลบอกว่า ในระยะหลังมานี้ เมื่อเธอเข้าหาธรรมชาติบ่อยขึ้น วางใจในธรรมชาติมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เธอสัมผัสได้ก็คือ เธอวางใจในบริบทรอบๆ ตัวได้มากขึ้น “มลว่า ตัวเองละเอียดและช้าขึ้น คาดหวังกับสิ่งต่างๆ น้อยลง ไม่ได้หวังว่าชีวิตจะต้องโอเคไปซะทุกอย่าง เห็นความธรรมดาในธรรมชาติ ในผู้คน อนุญาตให้ความเป็นธรรมชาติเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องเป็นแบบที่เราหวัง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นตัวเรา เพื่อนเรา งานของเรา กระบวนการของเรา อนุญาตให้มันเป็นอย่างที่เป็น ก็ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตราบเรียบ จืดชืด แต่สบายขึ้นเยอะ เห็นความเป็นจริงของโลก อยู่กับสิ่งที่เป็นจริง ไม่ได้อยู่กับความคาดหวัง ใช้ชีวิตได้แบบเบาๆ — แต่ยังมีเรื่องที่ต้องทำงานกับตัวเองอยู่นะคะ (หัวเราะ)”


บันทึกธรรมชาติคืออะไร
สำหรับมล การสัมผัสธรรมชาติ คือการอยู่ตรงนั้นกับธรรมชาติ สิ่งที่อยู่ตรงหน้าสำคัญที่สุด ณ ขณะนั้น สิ่งที่มลมักจะชวนให้ใครๆ ทำเสมอๆ ก็คือ การบันทึกธรรมชาติ


“ขอแค่สมุด 1 เล่ม ดินสอ หรือสีอะไรก็ได้ แล้วเดินไปหาธรรมชาติ ไปหาอะไรสักอย่างที่เราอยากบันทึก นั่งลง ดูเขา แล้วบันทึก — มีดอกสีนี้ มีขน มีแมลงมาเกาะ มีกลิ่นแบบนี้ การอยู่กับธรรมชาติคือการให้เวลาตัวเราเพื่ออยู่กับเขา (ธรรมชาติ) ตรงนั้น บันทึกธรรมชาติ มีหลักการสำคัญแค่ข้อเดียว คืออยู่ตรงนั้นเพื่อบันทึกธรรมชาติที่เกิดขึ้น สิ่งนี้ช่วยให้มลสั่นไหวน้อยลง สิ่งที่ควรท่องไว้เป็นคาถาก็คือ “ไม่ต้อง perfect ก็ได้ ไม่ต้องสวยก็ได้ ไม่ต้องดีที่สุดก็ได้”

.

“เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้จักคำว่า ‘ความเป็นหนึ่งเดียวกัน’ และนำมาซึ่งความเข้าใจถึงคำว่า ‘วางใจ’ ตอนนั้นรู้สึกได้ว่าธรรมชาติวางใจในตัวเราแล้ว พี่มะขวัญ (ผู้นำกระบวนการ) บอกกับมลหลังจากฟังเรื่องราวนี้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติวางใจในตัวเราแล้ว เหลือแค่เราต้องวางใจในตัวเอง”

.

การบันทึกธรรมชาติ อาศัยองค์ประกอบ 2-3 อย่างคือ

มีเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที สมุด 1 เล่ม และสีอะไรก็ได้ (สีน้ำ สีไม้ สีเทียน) พร้อมด้วยปากกาหรือดินสอ

สิ่งสำคัญคือการอยู่ตรงนั้นให้นานพอ เพื่อจะเห็นการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง “ถ้าดูต้นไม้ เราอาจจะเริ่มเห็นว่ามีหนอนเดินมา ผีเสื้อมาเกาะ มีแมลง แมงมุม ฯลฯ ขอให้นั่งอยู่กับสิ่งที่เราสนใจ ถ้ามีแว่นขยายก็ซูมดูก็ได้ เช่น ดูเกสรดอกไม้ ดูขนที่กิ่ง ดูสีของใบ สีของดอก ฯลฯ

.


มลบอกว่า อย่ากลัวที่จะวาดไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว มันเป็นบันทึกส่วนตัวที่ไม่มีใครให้เกรด สิ่งสำคัญคือการอยู่ตรงนั้น สำหรับมือใหม่ …ถ้ายังไม่อยากบันทึก แค่นั่งอยู่ตรงนั้นก็พอ จะหยิบมือถือมาถ่ายรูปไว้ก็ได้ พอผ่านไปสักระยะก็ค่อยๆ มาเปิดดูอัลบั้มของเรา แล้วก็จะเริ่มเห็นบางสิ่งที่ไม่เคยเห็น — “มลเคยบันทึกกิ้งก่าที่เกาะอยู่ที่กิ่งผักหวาน มันเท่มาก มลอยากบันทึกแต่กลัวว่าจะไม่สวย ไม่เหมือน ก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้แล้ววาดจากรูปภาพ แล้วก็พบว่า มันไม่สด ตัวจริงอุตส่าห์มาให้เห็น ได้สบตากัน แต่เราไม่กล้าวาด กิ้งก่าก็คงไม่ได้อยากให้เราวาดเป๊ะขนาดนั้น .. รู้สึกเสียดาย ตอนหลังก็เลือกที่จะอยู่กับความสด อยู่ด้วยกันตรงนั้นจริงๆ”


มลบอกว่า การอยู่กับธรรมชาติช่วยพวกเราได้หลายสถานการณ์ ซึ่งเธอมีประสบการณ์เหล่านั้นมาแล้ว เมื่อมีความสับสน มีคำถามในชีวิต หรือรู้สึกเหนื่อย อยากพักและผ่อนคลาย ก็เข้าหาธรรมชาติได้เลย

มลทิ้งท้ายว่า “พวกเราอยู่ในโลกที่ต้องการการเยียวยามากๆ และมีสิ่งหนึ่งที่เป็นยาชั้นดี และเป็นครูของพวกเราด้วยก็คือ ธรรมชาติ มลอยากชวนให้พวกเราลองทำความรู้จักธรรมชาติ ลองสักหน่อย แล้วจะไปต่อหรือพอแค่นี้ก็ไม่เป็นไร พวกเราต้องการธรรมชาติให้เยียวยาพวกเรา พร้อมกันนั้น ธรรมชาติก็ต้องการการเยียวยาจากมนุษย์ ถ้าเรามาเจอกัน เราจะช่วยเยียวยากันและกันได้ค่ะ”


การเข้าหาธรรมชาติของมล หมายถึงการหาเวลาเข้าป่าหรือเปล่า
ธรรมชาติมีอยู่ทุกที่ กระรอกบนสายไฟ นก ท้องฟ้า ต้นไม้ ขอเพียงแค่เราให้เวลากับสิ่งนั้น ตรงนั้น แล้วเราก็จะเห็นว่า เรากับธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เราไม่ได้เหนือกว่าเขา — แต่ถ้าเป็นคนที่มีทัศนคติแบบว่า มนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ego-centric มลก็อยากชวนเข้าป่าค่ะ จะได้กลับมาสำรวจความเชื่อของเรา ^^

……………………………………………………….


ติดตามการเรียนรู้ของมลได้ที่เพจ Monature https://www.facebook.com/monaturejourney/

การสัมผัสธรรมชาติ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save