เรียนแบบอินดี้
หนูรู้สึกว่าหนูอยู่ผิดที่ผิดทาง ตัดสินใจคุยกับที่บ้านว่า จะขอลาออก จะพยายามทำงาน เรียนนอกระบบ และจะพยายามหาทุนเพื่อเรียนในแบบที่ตัวเองอยากเรียน
จากเด็กหญิงในโรงเรียนเล็กๆ ที่อำเภอพร้าว—อำเภอเล็กๆ (ที่เกือบถูกลืม) ใน จ.เชียงใหม่ ไปเป็นนักเรียนเตรียมอุดมที่ใจกลางกรุงเทพ แล้วก็ลาออกมาเรียนนอกระบบ จากนั้นได้ทุนไปเรียนด้านศิลปะที่ฝรั่งเศส แล้วกลับมาอยู่บ้านที่พร้าว เราลองมาฟังเส้นทางการเรียนรู้ของ น้ำใส ข้าวบ่อ ศิลปินอิสระที่อีกไม่นานจะมีผลงานการ์ตูนแอนิเมชั่นออกมาให้ชม
เส้นทางการเรียนของน้ำใสออกจะแปลกกว่าคนทั่วๆ ไป เล่าให้ฟังหน่อยสิคะ
ตอนเด็กๆ หนูชอบเรียนหนังสือมากค่ะ หนูเรียนเก่ง แล้วก็แบบว่า…ก็ยิ่งอยากเรียนเก่งๆ หนูได้ที่ 1 อยากทำให้ดีที่สุด หนูเรียนเก่งที่สุดในโรงเรียนจริงๆ นะคะ แต่โรงเรียนของหนูเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ (หัวเราะร่วน) พอจบจากตรงนั้นก็เข้ามาเรียนต่อในตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วตัดสินใจสอบเข้าเตรียมอุดม มีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แบบแม่
ช่วงเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าเตรียมอุดม หนูเอาจริงเอาจังกับการเรียนจริงๆ และในที่สุดก็สอบเข้าได้ หนูมีความสุขมากๆ แม่และคนในครอบครัวก็มีความสุข เพื่อนบ้านก็ชื่นชมยินดี โรงเรียนเตรียมอุดมเป็นโรงเรียนที่สุดยอดมากๆ ว้าวมากๆ ในความรู้สึกตอนนั้น แต่พอได้เรียนไปสักพักหนึ่งหนูก็เริ่มไม่สนุก มีคำถามหลายอย่างเกิดขึ้นในใจ เช่น ‘การเรียนที่นี่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ ใช่ไหม’ ‘อะไรคือความสุขที่แท้จริงกันแน่’ ทำให้ในที่สุดก็ได้ไปรู้จักการภาวนาของหมู่บ้านพลัม
การภาวนาครั้งแรกเป็นงานภาวนาใหญ่ไปกับคุณแม่ แต่งานภาวนาที่ส่งผลมากๆ เป็นงานที่หนูไปคนเดียว เป็นงานภาวนาสำหรับวัยรุ่น (wake up) — มันเป็นงานเล็กๆ คนไปน้อย หนูได้ฟังเทศน์เรื่อง “ความมั่นคงทางจิตใจ” ซึ่งหนูไม่เคยได้ยินมาก่อน เวลาที่ได้ยินเรื่องความมั่นคง มันหมายถึงการเตรียมพร้อมเรื่องการทำงาน การหาเงิน มีรายได้ที่เพียงพอ — ความมั่นคงทางจิตใจคืออะไรเหรอ ? พอได้ฟังแล้วรู้สึกว่า โอ้โห มันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเลยนะ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าถ้าเรามี “ความมั่นคงทางจิตใจ” ก็คงจะผ่านเรื่องยากๆ ในชีวิตไปได้
ช่วงนั้นสถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัม ประเทศไทย ยังเล็กมาก มีช่วงหนึ่งที่หนูเดินอยู่ที่ริมระเบียงในอาคารนักบวชหญิง เดินๆ อยู่แล้วรู้สึกสงบและมีความสุขมาก มีความสุขมากจริงๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่สัมผัสได้ว่า “อ๋อ..ความสุขเป็นแบบนี้นะ ความสุขเป็นแบบนี้นี่เอง” แล้วหลังจากนั้นคำถามหลายๆ อย่างที่มีอยู่ในใจก็มีคำตอบขึ้นมา เช่น ทำไมเราไม่ค่อยมีความสุขในการเรียน หรือ การเป็นคนเอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น วางแผนก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราพบกับความสุขที่แท้จริงนะ ถ้าเราไม่รู้จักการกลับมาหาตัวเอง ถ้าเราไม่พบความมั่นคงในจิตใจ
รู้ตัวตอนไหนว่าชอบศิลปะ
เคยมีเพื่อนถามหนูว่า “รู้ได้ยังไงว่าต้องเลือกเรียนศิลปะ” แบบว่ารู้จักตัวเองตั้งแต่เด็กได้ยังไง จริงๆ แล้วหนูชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นนักออกแบบ หนูสนใจทางด้านศิลป์-ภาษาแน่ๆ และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลลึกๆ ที่อยากสอบเข้าเตรียมอุดมให้ได้ เพราะโดยทั่วไปถ้าเรียนศิลป์-ภาษาจะถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ค่อยตั้งใจเรียน ไม่เก่งจริง ‘เก่งจริงต้องเรียนวิทย์’ การเข้าเตรียมอุดมเป็นการ prove ว่า ฉันเป็นตัวจริง และฉันเก่งจริง
.
หนูชอบศิลปะและเรียนพิเศษด้านวาดรูปมาตั้งแต่มัธยมต้น คุณแม่ถามอยู่เรื่อยๆ ว่าที่อยากเรียนศิลปะเพราะมันเท่รึเปล่า พอถูกถามก็ไม่ค่อยแน่ใจ แต่สิ่งที่หนูรู้จริงๆ คือ หนูชอบวาดรูป ชอบเวลาที่ได้วาดรูป หาโอกาสไปเรียนวาดรูปอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจะทำได้ก็เฉพาะหลังเลิกเรียนและในวันหยุดเท่านั้น
พอกลับจากหมู่บ้านพลัมครั้งนั้น หนูชัดเจนมากว่าไม่อยากเรียนเตรียมฯ แล้ว แต่ไม่รู้จะบอกยังไง จริงๆ มีเพื่อนบางคนที่ลาออกเหมือนกัน แต่เขาลาออกเพื่อไปเรียนต่างประเทศ แต่หนูอยากลาออกเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนอยู่มันไม่ใช่— ฟังดูไม่มีเหตุผลเลย เพื่อนๆ ที่เรียนวาดรูปด้วยกัน พวกเขาก็ชอบศิลปะแต่ก็ไม่เห็นต้องลาออกเลย ถ้ามีเพื่อนมาถามว่า ‘น้ำใสลาออกแล้วทำอะไรอยู่’ หนูจะตอบยังไง — มันเป็นช่วงที่ยาก หนูต้องชัดๆ กับตัวเองมากเลย
แต่ในที่สุดหนูก็รวบรวมความกล้าบอกแม่ว่า หนูไม่อยากเรียนเตรียมฯ แล้ว อยากจะฝึกวาดรูปให้เก่งๆ อยากเรียนทางด้านแอนิเมชั่น หนูจะหาทางสอบเทียบ จะหาวิธีเรียนนอกระบบให้ได้ — โชคดีที่คุณแม่เข้าใจ — อีกสิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นก็คือ อาจารย์ภารดี ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่น อาจารย์บอกว่า “น้ำใสลาออกก็ดีแล้วนะ น้ำใสจะได้ทำสิ่งที่น้ำใสอยากทำไง ดีแล้วล่ะ” หนูจำคำพูดนี้ได้แม่นเพราะมันมีความหมายกับหนูมาก หนูรู้สึกว่าหนูได้ความเข้าใจ และ ใช่! จริงๆ แล้วหนูก็ต้องการเท่านี้เอง “เราแค่อยากใช้เวลาเพื่อทำสิ่งที่เราชอบ เราสนใจ” — พอนึกย้อนกลับไป ถ้าไม่ได้รู้จักหมู่บ้านพลัม ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะคิดได้ชัดเจนขนาดนี้เลยไหม หนูจะกล้าบอกที่บ้านไหม หรือจะทนๆ ไป ไม่รู้เหมือนกัน
พอลาออก ก็เจอกับความท้าทายใหม่ๆ เพราะชีวิตในโรงเรียนเตรียมฯ เป็นชีวิตที่อยู่ในระบบ พอออกนอกระบบก็เจอเรื่องอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยความชัดเจนกับตัวเอง ตอบคำถามตัวเองให้ได้ — หนูว่า ถ้าเราตอบคำถามตัวเองได้ชัด ความทุกข์จากการตอบคำถามของคนอื่นมันจะน้อยลง เช่นตอนนั้นก็จะเจอการตัดสิน การตีตรา หรือบางคนก็บอกเลยว่า “เธอควรกลับไปเรียนซะ” — เวลาเจออะไรอย่างนี้ก็จะยากนิดหน่อยค่ะ แต่ถ้าชัดที่ข้างในมันก็โอเค
ช่วงเวลาหลังจากออกจากโรงเรียนก็คือ เรียนนอกระบบ สอบเทียบ แล้วสอบเข้าในมหาวิทยาลัยในไทย จริงๆ อยากไปเรียนที่ต่างประเทศ แต่ที่บ้านไม่ได้มีเงินขนาดนั้น ก็เลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่รู้สึกว่าอินเตอร์ระดับหนึ่ง เพราะด้านหนึ่งหนูก็รู้จักธรรมชาติของตัวเองที่ไม่ค่อยฟิตกับระบบไทยๆ …คือ..หนูว่าตัวหนูต้องอาศัยความ ‘ไม่ไทย’ อยู่พอสมควร (หัวเราะ)
พอเรียนได้สักเทอมเศษๆ ก็พบว่า ‘มันไม่อินเตอร์เลยนะ’ คือ…อาจารย์ยังสอนด้วยระบบแบบที่หนูปฏิเสธ ซึ่ง.. (ถอนใจ) มันทำให้หนูรู้สึกว่าหนูอยู่ผิดที่ผิดทาง ตัดสินใจคุยกับที่บ้านอีกว่า จะขอลาออก จะพยายามทำงาน เรียนนอกระบบ และจะพยายามหาทุนเพื่อเรียนในแบบที่ตัวเองอยากเรียน ..โชคดีที่คุณแม่เข้าใจ หลังจากหาข้อมูลพักหนึ่งเจอโรงรียนที่อยากเรียนและค่าเรียนไม่แพงเหมือนของอังกฤษ หรืออเมริกา เป็นโรงเรียนในฝรั่งเศส ก็เริ่มเรียนภาษาจริงจัง พร้อมๆ กับฝึกฝีมือ วาดรูป ทำพอร์ต (portfolio) เตรียมขอทุนและในที่สุดก็ได้ไปเรียนที่ฝรั่งเศสจริงๆ
การเรียนในฝรั่งเศสเป็น ‘ระบบอินเตอร์’ อย่างที่หวังไว้ไหม
(หัวเราะ) รู้สึกว่าใช่ เจอแล้ว อยากเรียนแบบนี้ สนุกมาก รู้สึกว่าอยากให้มีโรงเรียนแบบนี้ในบ้านเราบ้างจัง อยากให้การศึกษาของไทยเป็นแบบนี้จะได้ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมา ไม่ต้องอยู่ไกลบ้าน เพราะมันยากหลายเรื่องทั้งค่าใช้จ่าย ข้อจำกัดเรื่องภาษา วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ไม่มีเพื่อน หนาว คิดถึงบ้าน ฯลฯ ถ้ามีโรงเรียนศิลปะแบบนี้ในไทย คงเรียนสบายๆ กว่านี้ โชคดีที่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบมันช่วยให้เรื่องอื่นๆ เบาลง โรงเรียนที่หนูเรียนมันค่อนข้างอินดี้มากๆ ค่ะ อินดี้ฝรั่งเศส (หัวเราะ)
โรงเรียนอินดี้ฝรั่งเศส เป็นอย่างไร
โรงเรียนแรกที่ให้ทุนเป็นโรงเรียนเอกชนอยู่ในปารีส เป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อม นักเรียนมีอิสระอย่างเต็มที่ในการคิดและทำงาน สิ่งที่โรงเรียนเตรียมให้คืออุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้ (facility)
การเรียนรู้มักจะเป็นการเรียนผ่านปฏิบัติการ (workshop) เขาจะเชิญคนที่ทำงานในด้านนั้นๆ มาอยู่กับเราจริงๆ เช่น ใน workshop ก็มีผู้กำกับหนังแอนิเมชั่นซึ่งกำลังมีผลงานอยู่ เขามาอยู่กับพวกเรา มาทำงานร่วมกับพวกเรา ตลอด 4 สัปดาห์ ฝึกให้เราทำหนังแอนิเมชั่นของตัวเอง เราจะทำมันขึ้นมาได้ยังไง เขาให้วิธีการ แนวทาง ให้คำแนะนำว่างานเราจะดีขึ้นอีกได้อย่างไร ฯลฯ หรือเวลาที่เราเตรียมพอร์ตงาน และเรามีอาจารย์ที่เราปลื้ม อยากได้คำแนะนำจากเขา ก็สามารถถือพอร์ตงานของเราแล้วนัดหมายอาจารย์คนนั้นได้เลย
เวลาอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เขาก็จะไม่วิจารณ์แบบว่า ‘เธอทำผิด’ ‘เธอต้องทำแบบนี้’ ‘ที่ถูกต้องเป็นแบบนี้สิ’ เขาจะไม่พูดแบบนั้น แต่เขาทรีตเราเป็นคนทำงานคนหนึ่ง เขาจะดู ถาม และบอก ตรงนี้เวิร์ค ตรงนี้ไม่เวิร์ค มีที่มาที่ไปไหม ตรงนี้น่าจะมี reference นะ อะไรแบบนี้ และเนื่องจากเป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อม บางวิชาเรียนที่เราเห็นว่ามันไม่จำเป็นสำหรับตัวเรา ก็ทิ้งได้ จัดการบริหารเวลาที่มีด้วยตัวเอง เป็นบรรยากาศที่สนุกมาก ได้ทำสิ่งที่สนใจ ทำสิ่งที่อยากทำ โรงเรียนเป็นพื้นที่ support อุปกรณ์ หรือบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ — ด้านหนึ่งมันอาจจะดูปล่อยๆ แต่สำหรับหนู หนูชอบมาก มีอิสระเต็มที่ เข้าถึงคนที่หนูอยากได้คำปรึกษา เป็นระบบการเรียนที่หนูชอบมาก
แต่ก็มีโครงสร้าง-หลักการอยู่นะคะ แต่มันก็เป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่นด้วย เช่น มีวิชาอะนาโตมี (anatomy) มีวิชาวาดรูปที่ได้วาดจากนางแบบ-นายแบบที่มาโพสให้เราเลย (life drawing) มีวิชาประวัติศาสตร์แอนิเมชั่น วิชาเขียนบท วิชาออกแบบฉาก ออกแบบตัวละคร เหล่านี้มีอาจารย์สอนด้านนี้โดยตรง ถ้าเทียบกับตอนที่เรียนในไทย คนที่อยากเรียนแอนิเมชั่นก็ควรจะได้เรียนวิชาพวกนี้ แต่เราจะต้องเรียนวิชาอื่นๆ ที่บางครั้งหนูก็ตั้งคำถามว่า เรียนไปทำไม มันเสียเวลามากเลย แต่ไม่มีใครตอบคำถาม ‘ต้องเรียนแต่ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม’ มันไม่เวิร์คเลยในความรู้สึก หนู (และเพื่อน) อยากเรียนสิ่งที่จะได้ใช้ อยากฝึกทักษะที่จำเป็น
พอจบจากโรงเรียนเตรียมความพร้อมก็ไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง มีวิชาต่างๆ ให้เรียนแต่ไม่ได้เคี่ยวเข็ญบังคับ ไม่แคร์เรื่องเกรด โรงเรียนนี้มีหมุดหมายเป็นระยะๆ แทน เช่น จบเทอมนี้จะต้องได้หนังเรื่องนี้ จบเทอมนี้จะต้องได้หนังเรื่องนี้ ฯลฯ ให้อิสระในการทำงานมากๆ ไม่จ้ำจี้จ้ำไช ไม่จุกจิกกับวิธีเรียน หรือการทำงานของเรา อาจารย์มักจะเป็น professional ในด้านนั้นจริงๆ วิธีการทำงานของอาจารย์ก็คือ เขาแวะเข้ามาดูเรา ให้เวลาด้วยการนั่งคุยกับเรา feedback งานของเรา แล้วเขาก็ไปทำงานของเขา อาจารย์ในบ้านเราที่หนูเจอคือ เขาเป็น ‘อาจารย์’ จริงๆ บางทีก็ไม่ได้สนใจเรื่องอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ไม่ได้สนใจธุรกิจภาพยนตร์แล้ว และเมื่ออาจารย์เป็น ‘อาจารย์’ นักศึกษาก็จะต้องฟัง ต้องเชื่อ เพื่อนที่ไทยหลายคนบอกว่าฟัง feedback จากอาจารย์แล้วอยากเลิกวาดรูปไปเลย ซึ่ง— มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ไหมคะ การทำงานศิลปะหรือการเรียนมันน่าจะทำให้เราค้นพบตัวเองและแนวทางของตัวเองได้สิ
พอเรียนครบ 2 ปี เจอข้อจำกัดเรื่องเงินก็เลยตัดสินใจกลับบ้าน ก่อนกลับก็ไปตั้งหลักที่หมู่บ้านพลัมฝรั่งเศสพักหนึ่ง อยากชัดๆ กับตัวเอง — ตลกดีที่ทุกครั้งเวลาที่กำลังจะตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในชีวิต ก็จะไปตั้งหลักที่พลัมทุกครั้ง (หัวเราะ) หนูว่าการได้ภาวนา กลับมาอยู่กับตัวเอง ทบทวนให้ชัดๆ กับตัวเอง ตอบคำถามตัวเองได้ มันช่วยหนูมาก เวลาที่ไม่นิ่งจะมีคำถามวนเวียนเยอะแยะ ทำไม ทำไม ทำไม คิดถึงคำพูดของคนอื่น แต่ถ้าได้กลับมานิ่งๆ ที่ข้างใน ตอบตัวเองได้ มันก็ชัดเจนไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ก็จะไม่กลัวคำถามจากคนอื่น
บ้านหนูไม่รวย ต้องนึกถึงเรื่องเงินอยู่เป็นระยะๆ ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย แต่พอไปต่างประเทศกลับมาก็พบว่า จริงๆ แล้วหนูมีสิทธิพิเศษ (privilege) หลายอย่าง เช่น หนูมีเวลาทบทวนตัวเอง มีเวลาใคร่ครวญในสิ่งที่ทำ ได้รู้จักการภาวนา ใช้ภาษาต่างประเทศได้ เลือกทำงานได้ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนธรรมดาแต่หลายๆ คนทำไม่ได้ เขามีเงื่อนไขอื่นๆ ที่จำกัดกว่า หนูว่าหนูโชคดี
ตอนนี้ทำอะไรอยู่คะ
ปกติรับงานภาพประกอบค่ะ แต่ปีที่ผ่านมาได้ทุนจากต่างประเทศมาทำงานของตัวเอง ได้ทำการ์ตูน (comic) และหนังแอนิเมชั่นสั้นๆ (animation short film) ค่ะ มีความสุขมากๆ ค่ะ (ยิ้มเบิกบาน) เป็นงานที่ bring joy จริงๆ
หนูชอบศิลปะ มันเป็นการได้ใช้ความสามารถของเราทำสิ่งที่มันไม่เคยมี ให้มีขึ้นมาในโลกใบนี้ ได้สื่อสารกับคนอื่นได้ในภาษาของตัวเอง ได้วาดรูป ตัดกระดาษ มีความสุขมากค่ะ หนูชอบ อยู่กับมันได้ทั้งวัน และทุกวัน — คือจริงๆ แล้วงาน comic เป็นงานหนักและเครียดอยู่เหมือนกันนะคะ แล้วก็มีระยะเวลา มีเส้นตาย แต่การได้ทำในสิ่งที่ชอบ อยู่กับงานที่ชอบมันก็เหมือนภาวนา มีความสุข
comic และ animation ที่ว่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรคะ
ตอนนั้นหนูมีประเด็นที่อยู่ในใจคือหนูกำลังทะเลาะกับแม่เพราะสนใจเรื่องการเมือง คนหนุ่มสาวกำลังเรียกร้องประชาธิปไตย นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทะเลาะกับแม่ มีความเห็นที่ไม่ตรงกับแม่ หนูไม่เคยทะเลาะกับแม่แบบนี้เลยในชีวิต มีความทุกข์ทั้งสถานการณ์ทางการเมือง การปะทะกันในสังคม มีเรื่องเกิดขึ้นทุกวัน และในบ้าน หนูก็คุยกับแม่ไม่ได้ ก็เลยเสนอเรื่องนี้เข้าไปขอทุน แล้วเขาก็ให้ทุน
comic เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ความสัมพันธ์กับแม่ และการภาวนา คือ เรามีการปฏิบัติอย่างไรถึงสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากๆ นั้นมาได้ เรา contemplate อย่างไร เรามีกระบวนการภายในอย่างไร ในช่วงเวลาแบบนั้นในฐานะผู้ปฏิบัติ —แต่ไม่ใช่การปฏิบัติแบบเข้าไปนั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ อะไรแบบนั้นนะคะ
.
งานชิ้นนี้เป็นเหมือน message ใหม่ๆ ที่อยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ในสังคม ในทีมงานคุยกันพอสมควรว่าจะนำเสนออย่างไรเพื่อไม่ให้ ‘พุทธ’ จนเกินไป แม้แต่คำว่า ผู้ฝึกปฏิบัติในแนวทางพุทธศาสนา (Buddhist practitioner) ก็ต้องคุยกันในทีมว่าควรจะใส่ไหม แต่ท้ายที่สุดก็ใส่เพราะเราต้องบอกได้สิว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติในพุทธศาสนา ใช่ไหม (หัวเราะ) ทำไมต้องกลัวที่จะเปิดเผยว่าเราเป็นพุทธด้วยล่ะ …นี่เป็นคำสอนของ Buddha นะ เท่ออก
comic เขียนเสร็จแล้วค่ะตอนนี้ เป็นหนังสือ 2 ภาษา แล้วตอนนี้ก็กำลังทำแอนิเมชั่นอยู่โดยใช้เรื่องราวเดียวกันค่ะ
จะเผยแพร่อย่างไร
ตอนนี้กำลังเตรียมทำนิทรรศการในกรุงเทพฯ ก่อนค่ะ แล้วจึงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ขององค์กรผู้ให้ทุนประมาณต้นเดือนธันวาคม แล้วจากนั้นน่าจะมีการพิมพ์จำหน่าย รายได้จากการจำหน่ายก็จะใช้มอบเป็นทุนทางสังคม
อยากพูดอะไรทิ้งท้ายไหม
หนูอยากจะพูดถึงการทำงานที่มีความสุข เวลาที่หนูบอกว่า ได้ทำงานนี้แล้วมีความสุขมาก จริงๆ ก็มีความเครียดอยู่นะคะ มีกำหนดเวลาต่างๆ มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ มันคงเป็นปกติมั้ง หนูรู้สึกว่า เวลาที่เราไม่มีความสงสัย (doubt) ในสิ่งที่กำลังทำ ไม่มีความคิดหรือสงสัยว่า ‘นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่เนี่ย มันใช่หรือเปล่า เราอยู่ตรงนี้มันถูกแล้วใช่ไหม’ … มันเหมือนกับสิ่งที่หลวงปู่บอก คือเราอยู่ตรงนั้นจริงๆ — ความคิดหรือความสงสัยทำให้เราไม่มีความสุข แต่ถ้าได้นั่งลง แล้วก็อยู่ตรงนั้นได้จริงๆ นั่นแหละความสุข มันถูกต้องแล้วที่ฉันที่อยู่ที่นี่ ในตอนนี้
…………………………………………………………..