8 ช่องทางความสุข

คลับที่ยอมรับความหลากหลาย

เป็นพื้นที่ซึ่งเราแสดงจุดยืนที่ต่างกันได้ พูดได้ และฟังได้ โดยไม่ต้องคิดเหมือนกัน

ไม่ได้หวังว่าพื้นที่แบบนี้จะทำให้เกิดข้อสรุป แต่มันทำให้ความอึดอัดคลายลง

.

หลายปีที่ผ่านมา สังคมของเรามีการปะทะทางความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง มีทั้งความรู้สึกของ ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย และมีความอึมครึมของเสียงที่มิอาจพูดออกมา เสียงของผู้ที่เงียบงันเพราะกังวลต่อความขัดแย้งด้วย กิจกรรม Club Citizen จัดเตรียมขึ้น เพื่อให้เกิดพื้นที่ของการฟังและการเปล่งเสียง — ไม่ต้องเชื่อตาม ยังไม่เห็นด้วยก็ได้ ขอแค่ฟังกัน Club Citizen เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับ active citizen โดยอบรมต่อเนื่อง 5 ครั้ง ไม่จำกัดวัย วุฒิ และพื้นเพของผู้เข้าร่วม บทความนี้เป็นการสัมภาษณ์ผู้นำกระบวนการ และผู้ที่อยู่ในกระบวนการ รุ่นที่ 1

อาจารย์ตี่ ปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำกระบวนการ ในกิจกรรมนี้เล่าว่า:


ที่ผ่านมามีกระแสความเคลื่อนไหวทางสังคมในหลายๆ เรื่อง มีการปะทะทางความคิด คำพูด และการกระทำ มันอาจเป็นผลมาจากความแตกต่างของวัย ความแตกต่างทางความคิด-ความเชื่อ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง ทีมของเราจึงอยากสร้างพื้นที่ หรือให้เครื่องมือ เพื่อให้เกิดการรับฟังกันและกัน มีความสามารถในการฟังและเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขา ผมคิดว่าสิ่งนี้ควรจะเกิดขึ้นในสังคมของเรา


ผู้ที่สนใจบ้านเมือง สนใจมิติทางสังคม เป็น active citizen มีความจำเป็นที่จะต้องเท่าทันความคิดของตัวเอง และทำความเข้าใจตัวเองครับ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจความเป็นมาของตัวเรา แล้วมาเจอความต่าง เจอการปะทะทางความคิด ก็ง่ายมากที่เราจะตอบโต้กับสถานการณ์ต่างๆ ตามความคิดความเชื่อเดิม ขาดความสามารถที่จะเปิดรับความแตกต่างของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเรียนรู้และเติบโตมาแตกต่างกัน พอเกิดการตอบโต้ ใช้อารมณ์ มีการกระทำ (หรือวาจา) ที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง

.

พวกเราอาจจะมีความเข้าใจในเชิงความคิดว่า ‘ทุกคนควรจะยอมรับคนคิดต่าง’ แต่พอเจอการกระทบทางอารมณ์ ทางความคิด ทางวาจา ทางอำนาจ ภายในของเราก็จะเริ่มไม่มั่นคง เราสั่นไหว ความเชื่อถูกสั่นคลอน แล้วเราก็จะเริ่มมีปฏิกิริยา ฟังไม่ได้ ยอมรับความต่างไม่ได้


การฝึกที่จะเท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองจึงมีความสำคัญ ช่วยให้มั่นคงมากขึ้น ความมั่นคงที่เกิดขึ้นจากภายในจะทำให้การขับเคลื่อนงานในมิติเพื่อสังคมเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น การเห็นกรอบคิด-เท่าทันมุมมองของตนเอง จะทำให้เราเปิดใจที่จะมองเห็นประเด็นต่างๆ เป็นประตูสู่ความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย เปิดรับและอยู่ร่วมกับความคิดเห็นที่แตกต่าง เหล่านี้เป็นรากฐานให้งานเพื่อสังคมถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีพลัง


ต่อไปนี้เป็นมุมมองจากฝั่งผู้เข้าร่วมการอบรม พวกเขาคิดอะไร หวังอะไร จึงลงทะเบียนร่วมการอบรมนี้


โอ๊ต – ณัฏฐชัย ชูจีน
อายุ 17 ปี เป็นน้องเล็กที่สุดในผู้เข้าอบรมทั้งหมด โอ๊ตกำลังเรียนหนังสือในชั้นมัธยมปลายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เขาทราบข่าวการจัดกิจกรรม Club Citizen จาก เว็บไซต์ camphub “ผมคิดว่ามันค่ายพัฒนาตนเอง มีพิธีกรมาให้ความรู้ ผมสนใจการพัฒนาตนเองก็เลยสมัครเข้ามา” การเข้าร่วมกิจกรรมนี้โอ๊ตนั่งรถทัวร์โดยสารข้ามคืนจากนครศรีธรรมราช เข้าร่วมกิจกรรมในกรุงเทพฯ และโอ๊ตไม่เคยขาดการเข้าร่วมเลย


หนิง – ศยามล สายยศ อายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่สำนักวิเคราะห์และประเมินผลในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง เธอสนใจงานจิตอาสาและการเป็นอาสาสมัคร “คิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเพื่อเพิ่มทักษะในการฟัง ชอบกิจกรรมที่เพิ่มศักยภาพของตัวเราและแบ่งปันศักยภาพให้กับคนอื่น ๆ —รู้สึกมาตลอดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็อยากจะตอบแทนหรือคืนกลับให้สังคมด้วย คิดว่ากิจกรรม club citizen คงจะตอบโจทย์นี้จึงลงทะเบียน” หนิงรู้สึกตกใจเมื่อระยะหนึ่งของกิจกรรมได้นำทุกคนไปสู่การพูดคุยมิติทางการเมืองและความขัดแย้งในในสังคม“ ตอนนั้นตกใจมากเพราะเราไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่ชอบการเมือง ช่วงที่เริ่มหยิบยกประเด็นประชาธิปไตย-การเมืองขึ้นมาคุย เราอึดอัดมาก ตอนนั้นฟีดแบ็กทีมงานไปว่า เราคงอ่านหัวข้อมาไม่ดี — คือถ้ารู้อย่างนี้ก็คงไม่เข้าร่วมกิจกรรมนี้หรอก ถ้าเป็นโหมดนี้ เราคงบาย — เราสนใจเรื่องการพัฒนาศักยภาพและการแบ่งปัน การหยิบเรื่องยากขึ้นมาคุย….โอ๊ย..ไม่ได้นึกมาก่อน”


กี้ – วรปวีร์ มะสำอินทร์ อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรในบริษัทเอกชน กี้มีความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นสิทธิสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ กี้บอกว่าเธอเข้าร่วมกิจกรรมด้วยหลายปัจจัย “ตอนนั้นกี้อายุ 28 ปี — จริง ๆ อายุเท่าไหร่ก็ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก แต่ในบริบทรอบๆ ตัว กี้มีความกดดันเล็ก ๆ ว่าแล้วจะยังไงต่อดี จะสามสิบแล้ว จะเด็กก็ไม่ใช่ จะผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง อยากจะทำอะไรที่ได้พัฒนาตัวเองเผื่อจะหาคำตอบ หรือหาทางออกในสิ่งที่รู้สึกว่าถูกกดดันได้”


อีกประเด็นนอกจากอายุก็คือ กี้สนใจประเด็นทางการเมืองและประเด็นทางสังคม เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในประเด็นที่งสนใจ พอเข้าร่วมบางครั้งทำให้กี้รู้สึกว่า “หลายเรื่องเราก็คิดไม่เหมือนเด็ก ๆ น้อง ๆ ที่อายุน้อยกว่า แต่ขณะเดียวกันเราก็คิดไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่าเรา สับสนอยู่นิดหน่อย — จะเข้ากับก๊วนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้คิดแบบนั้น จะเข้าไปทางผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่อีก กลัวด้วยแหละว่าวันหนึ่ง เราอาจจะเป็นคนแก่ในแบบที่เราไม่ชอบอยู่ตอนนี้รึเปล่า


โครงการนี้มีคำว่า “ฟัง” ซึ่งกี้สะดุดตาและสนใจกับคำนี้มาก คิดว่าโครงการนี้น่าจะช่วยได้ ถ้าฟังได้มากขึ้นจากคนที่มาจากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้งหลากหลายอาชีพ หลากหลายอายุ หลากหลายแนวคิด คิดว่าคงจะหาทางออกให้กับเรื่องเล็ก ๆ ภายในใจนี้ได้ ก็เลยสมัครเข้ามา”

.


เมื่ออยู่ร่วมกันในความหลากหลาย — หลายรุ่น หลายความคิด หลายจุดยืน หลายมุมมอง หลายความคาดหวัง ผลลัพธ์ของการอบรมนี้จะเป็นอย่างไร


โอ๊ต – ณัฏฐชัย: ผมชอบทุกอย่างเลย — ผมชอบที่พวกเราได้ล้อมวงคุยกัน มันอาจจะเริ่มด้วยประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แล้วพอจบประเด็นผมก็พบว่าตัวเองกว้างขึ้น ทุกครั้งที่คุยกันในแต่ละประเด็น ผมพบว่าตัวเรากว้างขึ้น ๆ ๆ ความคิดขยายขึ้นๆ ๆ แค่การเล่นเกมในวันแรกผมก็ประทับใจแล้ว เพราะปกติเวลาไปค่ายก็จะต้องมีการเล่นเกม พอเล่นเกมก็ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย บทสรุปต่อมาก็คือ คนแพ้จะถูกลงโทษด้วยการทำอะไรบางอย่างที่ตลก ขบขัน — ผมไม่ชอบเลย มันอึดอัด แค่เริ่มจะเล่นเกมผมก็ไม่อยากร่วมแล้ว สำหรับในค่ายนี้สิ่งที่ชอบจริงๆ คือการไว้วางใจกัน ได้ยินกัน ได้พูด ได้แบ่งปันความคิดเห็นซึ่งแม้จะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนก็ร่วมรับรู้

.

ผมไม่เคยพูดสิ่งที่ผมคิดหรือสนใจกับคนวัยเดียวกันเลย ไม่ค่อยมีใครสนใจฟังผม เหมือนเราสนใจกันคนละเรื่อง สำหรับคนต่างวัย ผมก็ไม่อยากคุยเพราะรู้อยู่แล้วว่า เขาจะต้องแนะนำเรื่องที่ผมต้องทำหรือควรทำ เขาพูดอะไรมาก็ถูกหมด เวลาที่เรียกว่า ‘คุยกัน’ ก็คือเวลาที่ตัวผมนั่งเงียบๆ เออ-ออ ตามๆ ไป ไม่ได้พูดอะไร


ที่ชอบมากคือเวลาที่ได้ฟังคนที่แก่กว่า อาจจะเป็นคน gen-X เขามีประสบการณ์มากกว่า มันทำให้ผมเห็นอีกมุมหนึ่ง เห็นว่าเขาผ่านอะไรมา ผมได้เรียนรู้จากเขาและเขาก็เรียนรู้จากผม เหมือนเราได้รู้จักกัน เขาไม่ยึดติดกับยุคสมัย เขาพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มันทำให้รู้สึกว่าวันหนึ่งข้างหน้าเวลาที่อายุมากๆ ผมก็อยากเป็นแบบนั้นบ้าง ได้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมเติบโต


เขาพูดถึงยุคที่ผมไม่รู้จัก เช่น เขาบอกว่าสมัยก่อนไม่ได้มีช่องทางการสื่อสารมากมายเหมือนทุกวันนี้ แต่ความขัดแย้งก็ไม่ได้เป็นแบบทุกวันนี้ ในสมัยก่อนอาจจะแก้ปัญหาบางอย่างได้ช้ามาก สมัยนี้ทำได้ไวกว่า แต่พร้อมกันนั้นทุกวันนี้ก็เกิดความขัดแย้งง่ายมาก


กี้ – วรปวีร์: กิจกรรมตอบโจทย์ในทุก ๆ ครั้งเลยค่ะ ในครั้งแรกมีการพูดถึงประเด็นของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมากี้คิดว่าทุกคนน่าจะเห็นไปในทางเดียวกัน แต่เอาเข้าจริงในกิจกรรมวันนั้นมันไม่ใช่ มีหลายคนที่ไม่ได้มีความคิดเหมือนเรา แล้วพอเราได้ฟังเขาอธิบายมุมมองความคิดของเขาในพื้นที่ของกิจกรรม มันทำให้รู้สึกว่า อืม… ที่เขาอธิบายมามันก็ไม่ผิดนะ และสิ่งที่ตามมาคือการสังเกตตัวเองได้ว่า เราฟังได้มากขึ้นนี่ เรามีความสามารถที่จะได้ยินสิ่งที่แตกต่างจากความคิดของตัวเราได้มากขึ้นนี่นา


ในกิจกรรมครั้งต่อ ๆ มา ก็มีการแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเรื่องเพศด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ หรือเฟมินิสต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่กี้สนใอยู่แล้ว พอได้ยินเสียงคนที่เห็นต่างจากเรา มุมมองของเขาที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ตอนแรกก็ยากที่จะฟังนะคะ แต่กิจกรรมหลายครั้งที่ผ่านมาพัฒนาให้เราฟังได้มากขึ้น ก็เลือกจะฟัง แบ่งปันความคิดกันและกัน ซึ่ง… ประทับใจมาก มันหายากนะคะที่จะมีพื้นที่ให้คนที่คิดต่างกัน ได้เจอหน้ากัน และพูดในสิ่งที่คิดไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น กี้เลยรู้สึกว่ากิจกรรมในแต่ละครั้งที่ได้เข้าร่วม มันตอบโจทย์มาก ๆ


บางช่วงที่แลกเปลี่ยนกันอาจจะอึมครึมและแฝงด้วยอารมณ์อยู่เล็กน้อยทั้งสองฝั่ง แต่แล้วก็คลี่คลายลงด้วยดี กิจกรรมดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่ได้ทะเลาะกัน ไม่มีอะไรติดค้าง คาใจ — เป็นพื้นที่ซึ่งเราแสดงจุดยืนที่ต่างกันได้ พูดได้ และฟังได้ โดยไม่ต้องคิดเหมือนกัน


ตอนแรกหวังแค่ว่าจะได้ฝึกทักษะการฟัง — การได้พูด ได้แสดงจุดยืน ได้เปล่งเสียงอุดมการณ์ของเรา จึงเป็นเหมือนโบนัสที่ได้เกินมาจากที่คาดหวังไว้ในตอนแรกค่ะ


หนิง – ศยามล: ได้เห็นจริง ๆ ว่า ในสังคมมีความหลากหลายมากจริง ๆ มากกว่าที่เราคิดเอาไว้ และส่วนหนึ่งก็ตกใจด้วย โดยเฉพาะเมื่อได้ฟังมุมมองจากน้องที่เป็นเยาวชน ไม่เคยคิดว่ามีความกดดันขนาดนั้นอยู่จริงๆ —ได้ยินเขามากขึ้น ที่สำคัญคือกลับมาเข้าใจตัวเองมากขึ้น เห็นว่าโลกของเราแคบไปนิดนึงนะ — เราว่าเราก็อยู่ในโลกกว้าง แต่จริง ๆ แล้วโลกกว้างกว่านั้นอีก โลกมากกว่าสิ่งที่เราเห็นระหว่างทางออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน มันมากกว่านั้นจริงๆ


มีน้องคนหนึ่งที่อยู่ในกิจกรรม เขาดูเป็นเด็กเงียบๆ เรียบร้อย แต่เขาเคยกรีดข้อมือ — พอฟังเขาแล้วเรานึกไม่ออก นึกไม่ออกจริง ๆ ดูจากบุคลิกภายนอกก็ไม่รู้สึกเลยว่าน้องจะมีความกดดันมากขนาดนั้น คำถามในใจก็คือ “มันหนักหนาถึงกับต้องกรีดข้อมือเลยเหรอ ไม่น่าเชื่อเลย”


สิ่งที่เกิดขึ้นในใจก็คือ อืม… มันมีเรื่องแบบนี้อยู่ในสังคมจริง ๆ นะ …ในกิจกรรม จะเห็นเลยว่า ทุกคนมีเสียงที่อยู่ข้างในและกล้าที่จะพูดออกมา กล้าที่จะบอกความคิด ความเชื่อของตนเองออกมา — พอทุกคนเปล่งเสียงออกมา ทุกคนมีความเป็นผู้นำในตัวเอง (Leadership) เรื่องที่พูดคุยมีความแตกต่างของความคิดความเชื่อ แต่การพูดคุยนี้ไม่มีลักษณะของการปักหลัก ยึดมั่นเรื่องความถูก-ผิด ทุกคนมีจุดยืน มีความแตกต่าง เมื่อฟังแล้วแต่ละคนก็ต้องกลับไปทบทวนความคิดความเชื่อของตัวเอง เป็นผู้เลือกการตัดสินใจของตัวเอง — เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นเวทีข้างนอกก็อาจจะตีกัน หมั่นไส้กัน แต่ในกิจกรรมมันเป็นการใช้พื้นที่ร่วมกัน ไม่มีความรุนแรง

.

.

Club Citizen ครั้งที่ 1 จบไปเกือบสามเดือนแล้ว ผู้เขียนถามผู้เข้าร่วมทั้ง 3 คนว่า สิ่งที่เขา “ได้” จากการอบรมนี้คืออะไร การฟังสิ่งที่แตกต่างส่งผลต่อชีวิตพวกเขาหรือไม่ อย่างไร


โอ๊ต – ณัฏฐชัย: ผมก็ยังเป็นคนเดิมนะครับ แต่ดีขึ้น ผมรับมือกับความขัดแย้งได้มากขึ้น และรู้สึกว่าผมมีการพัฒนาตัวเอง ผมชอบการคุยกับตัวเอง การย้ายมุมมอง — เวลาที่มีเรื่องที่ไม่พอใจก็ลองมองในอีกมุมหนึ่ง เพราะโดยปกติเราจะมองแต่มุมของเราแล้วก็เข้าข้างตัวเองไปเรื่อยๆ แต่พอย้ายมุมมอง เราจะเห็นกว้างขึ้น


สมมติว่า เราทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่ ปกติเราก็จะอยู่ในมุมของเรา ‘ทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจ ทำไมไม่ยอมให้ทำอย่างนั้น ชอบห้ามเรา’ ถ้าได้ย้ายมุมมอง ก็อาจจะเริ่มเห็นว่า อ๋อ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีเลย พ่อแม่เลยให้ไปทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ใช่พ่อแม่ไม่รักเราแต่เขายังให้ไม่ได้ในตอนนี้ — ผมใช้เครื่องมือนี้อยู่เป็นประจำ คุยกับตัวเอง ลองมองในมุมของคนอื่น


ถ้าย้ายมุมมองแล้วก็ยังเห็นว่าสิ่งที่เราคิด เราเชื่อ มันถูกต้องล่ะ
นั่นก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า สิ่งที่เราเชื่อนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าฟังจากคนอื่นแล้วก็ยังเห็นว่ามุมมองของเราเป็นเหตุเป็นผล make sense ก็แสดงว่าความเชื่อของเราก็ไม่ได้ผิดอะไร เราก็ยืนยันความคิดของตัวเองได้มากขึ้นอีก แต่ถ้าฟังมุมมองของคนอื่นแล้วมันเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า มันดีกว่า เราก็เชื่อเขาก็ได้ ก็จะได้เอา ego ของเราออกไป


ผมอยู่ในระหว่างการรักษาโรคซึมเศร้า เครื่องมือที่ได้จากกิจกรรมก็ช่วยอยู่นะครับ การคิดลบเป็นเหตุหนึ่งของความซึมเศร้า เครื่องมือต่างๆ ใน Club Citizen ช่วยให้มองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น ไม่มองในแง่ร้ายจนเกินไป — คนที่เป็นซึมเศร้าไวมากกับคำพูดบางคำ มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ทันที กระทบกระเทือนใจได้ทันที ในมุมมองคนทั่วไปเรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนเป็นซึมเศร้ามันไม่ใช่ — การได้ฝึกที่จะมองในมุมอื่นมันจึงช่วยได้ คุณพ่อคุณแม่บอกว่าผมดูอารมณ์ดีขึ้น ไม่ดูเศร้าๆ ตลอดเวลา ผมเองก็รู้สึกว่า ผมใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น อยากให้หลายๆ คนได้เรียนรู้หรือสัมผัสกระบวนการนี้มากขึ้น สังคมเราจะน่าอยู่มากขึ้น


หนิง – ศยามล: หนิงชอบนะคะ ไม่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้มานานมากแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือ ระยะหลังมานี้กิจกรรมต่างๆ มักจำกัดอายุผู้เข้าร่วมเราจึงไม่เคยได้ยินได้ฟังความหลากหลาย — ไม่ได้หวังว่าพื้นที่แบบนี้จะทำให้เกิดข้อสรุป แต่มันทำให้ความอึดอัดคลายลง — คนพูดพร้อมที่จะพูด คนฟังพร้อมที่จะฟัง แม้ว่าสิ่งที่จะได้ยินได้ฟังอาจไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบหรือคิดว่าจะได้ยิน


กี้ – วรปวีร์: ตอนนี้กี้เป็นคนที่ฟังอะไรได้มากขึ้น พร้อมในการฟังมากขึ้น ไม่ตัดสินใครในขณะที่เขายังไม่ได้พูดหรือพูดไม่เสร็จ ก่อนหน้านี้ หากมีกรณีที่อยู่กับคนที่คิดไม่เหมือนกันและอยู่ในพื้นที่ซึ่งโต้แย้งได้ ก็จะโต้แย้งเลย บ่อยครั้งก็ตัดสินอีกฝ่ายไปเลยว่าเขาคิดยังไง ไปคิดแทนเขา


การเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 5 ครั้ง ทำให้กี้ค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้ว่า แต่ละคนมีพื้นเพ มีการบ่มเพาะ มีความเป็นมาที่แตกต่างกัน มันจึงจำเป็นมากที่ต้องฟังให้มากขึ้น กี้คิดว่า เวลาฟังเนี่ย เราไม่ได้ฟังแค่สิ่งที่เขาพูดอย่างเดียวนะ แต่เราฟังเรื่องราวตัวตนของเขาด้วย และการฟังของเราไม่ได้แปลว่าพอฟังเสร็จแล้วเราจะเปลี่ยนความคิดเสมอไปนะคะ เรายังคงคิดเหมือนเดิมได้ แค่เราฟังสิ่งที่ต่างได้มากขึ้น และมันก็ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้วยค่ะ แล้วก็มีความสุขเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ


อาจารย์ตี่ ปฏิพัทธ์: ผมได้เรียนรู้มากๆ จากคอร์สแรก บางช่วงเป็นเรื่องยากสำหรับผม บางทีเราไม่รู้หรอกว่าในใจของผู้เข้าร่วม เขาให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง หลายคนทำงานกับประเด็นนั้นๆ มายาวนาน บางคำพูดบางกิจกรรมก็ไปสร้างความกระทบกระทั่งโดยไม่เจตนา ผู้เข้าร่วมหลายคนทักท้วงอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผมต้องกลับมาทำงานกับความมั่นคงภายใน บางกิจกรรมหรือบางคำพูดก็อาจจะส่งผลกระทบในบางประเด็น ทำให้ต้องกลับมาตรวจสอบความคิดความเชื่อของผมเช่นกัน ในฐานะผู้ดูแลกระบวนการ ผมต้องกลับมาทำงานภายในอยู่ตลอดเวลา ให้ความสำคัญกับความเป็นมาในความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่มาร่วมเรียนรู้กับเรา


บางประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของผมมากนัก พอได้ฟังคนที่เขาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมก็เข้าใจและเห็นความสำคัญมากขึ้น เห็นมุมมองที่หลากหลายขึ้น — การที่คนหลายช่วงวัยได้ยินเสียงกัน มีความกล้าหาญที่จะฟัง แม้สิ่งนั้นจะไม่ตรงกับความคิดความเชื่อ การได้ยินความแตกต่างแล้วไม่หันหน้าหนี ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ดีมากครับ


……………………………………………………………………………….


กิจกรรม Club Citizen ครั้งต่อไปจะจัดในเดือน พฤศจิกายน 2565 กรุณาติดตามได้ ผ่านเว็บไซต์ https://www.happinessisthailand.com/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save