8 ช่องทางความสุข

ฉันคนใหม่ เมื่อได้รู้ความต้องการ

บางทีเราอยากจะปฏิเสธ อยากอธิบาย แต่ไม่รู้จะพูดยังไง
เราอยากปฏิเสธแต่เราก็สับสน จะยังไงดีนะ
อยากปฏิเสธแต่กลัวว่าเขาจะโกรธ จะบอกยังไงดี

.

ศิรินทร์ญา อนุพงค์ (มิ้น) เป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

ก่อนหน้านี้ มิ้นทำงานในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่โปรแกรมเมอร์ กระทรวงสาธารณสุข — แม้จะมีงานที่มั่นคง มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัว มีคนรักอยู่ใกล้ชิด แต่ชีวิตในเมืองใหญ่นั้นยุ่งมากจนมิ้นรู้สึกว่าเธอไม่เหลือเวลาสำหรับตัวเองเลย เครียด กดดัน ร้องไห้ ไร้สุข — ในที่สุดมิ้นตัดสินใจพาตัวเองกลับบ้านเกิด เข้าทำงานในองค์กรส่วนท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็กกว่าองค์กรเดิม เพื่อจะได้ใกล้ชิดพ่อแม่และมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ มิ้นกับคนรักตกลงกันว่า มิ้นจะย้ายล่วงหน้ามาก่อน แล้วอีกสักพักคนรักก็จะโยกย้ายตามมา

.

เมื่อกลับมาทำงานใกล้บ้าน ในหน่วยงานขนาดเล็ก มิ้นมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น ใกล้ชิดพ่อแม่ ได้ปลูกต้นไม้ ได้เรียนรู้ในกิจกรรมที่ตัวเองสนใจซึ่งไม่เคยทำได้หากยังอยู่ในกรุงเทพ …สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ ความห่างไกลคนรัก และ การงานไม่ได้เป็นอย่างที่เธอคาดคิดเอาไว้


เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานขนาดเล็ก
ตอนที่ทำงานในกรุงเทพ มิ้นมีหน้าที่เฉพาะคือเป็นเจ้าหน้าที่โปรแกรมเมอร์ — เขียนโปรแกรมและทำเว็บไซต์ เมื่อตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านโฮ่ง มิ้นอยู่ในตำแหน่ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เหมือนกัน แต่แท้ที่จริงแล้วมีความแตกต่างอย่างมากมาย


“หัวหน้าแจ้งไว้แต่แรกแล้วว่า ยังทำหน้าที่เขียนโปรแกรมและดูแลเว็บไซต์ แต่ต้องขอให้ช่วยงานอื่นๆ ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่น้อยและเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก มิ้นก็เข้าใจ แต่พอทำงานจริงๆ ก็พบว่า มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด” — การเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานท้องถิ่น มิ้นต้องทำหลายอย่าง และหลายๆ อย่างที่ว่านั้น เธอไม่ได้คาดเอาไว้ ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน

.

“มันมีงานยิบย่อยหลายอย่างที่คาดไม่ถึง เช่น พริ้นเตอร์ใช้งานไม่ได้ก็เรียกเรา คอมพิวเตอร์ขัดข้องก็เรียกเรา อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ ‘คอมพิวเตอร์’ เขาจะเรียกเรา จิปาถะกว่าที่คิดไว้มาก แถมบางเรื่องมิ้นก็ไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น อีกอย่างก็คือ การที่โปรแกรมเมอร์จะเขียนโปรแกรมได้มันอาศัยความจดจ่อ ต้องอยู่นิ่งๆ เพื่อจะมีสมาธิเขียนโปรแกรม การที่จะลุกไปทำอันนั้นที อันนี้ที แล้วกลับมานั่งเขียนโปรแกรมมันทำไม่ได้

แต่มิ้นก็เป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน ก็อยากจะบริการ อยากจะทำหน้าที่ให้ดี แต่อีกด้านก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ย้ายมาเพื่อทำอะไรแบบนี้นะ เราตัดสินใจผิดหรือเปล่าก็ไม่รู้”


ทำไมจึงคิดว่า กิจกรรมฟังสร้างสุข จะช่วยได้

มิ้นชอบฟังธรรมะ ยิ่งช่วงนั้นยิ่งอยากหาตัวช่วย รู้สึกมันยากไปหมด… แล้วไม่รู้ยังไง มิ้นเกิดความรู้สึกว่า ‘อยากจะรู้จักตัวเอง’ ‘อยากรู้ความต้องการจริงๆ ของตัวเรา’ แล้วช่วงที่คิดทำนองนี้หน้าวอลล์เฟสบุ๊คของมิ้นก็เด้งเพจความสุขประเทศไทยขึ้นมา แปลกมากเลย (หืมมมม FB นี่นะ !!!) ก็เลยได้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม ฟังสร้างสุข ค่ะ


งานไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คนรักก็ผิดสัญญา
ในระยะการปรับตัวนี้ มิ้นมีแฟนเป็นคนที่คอยรับฟังความทุกข์ “ก็บ่นให้เขาฟัง เล่าให้ฟังว่างานที่นี่มันยุบยิบมากเลย เขาจะได้เข้าใจเพราะเราตกลงกันไว้ว่าเขาจะย้ายตามมา — แต่วันหนึ่งเขาก็บอกว่า ถ้างานเป็นแบบนี้ เขาคงจะตามไปอยู่ด้วยไม่ได้นะ เขาไม่ไหวหรอก มันจับฉ่ายเกินไป เขาทนแบบมิ้นไม่ได้ ดังนั้นที่จะโยกย้ายตาม คงต้องพับไปก่อน — โอ้โห..ตอนนั้นเสียใจมาก ผิดหวัง น้อยใจสารพัด”

“จริงๆ เขาก็พยายามอธิบาย แต่เราไม่อยากฟัง รู้สึกว่า เฮ้ย..แล้วที่คุยกันไว้ดิบดีล่ะ ที่เราวางแผนด้วยกันไว้ล่ะ เสียใจมาก ผิดหวัง รู้สึกคล้ายๆ โดนหักหลังนิดๆ รู้สึกว่าเขาผิดสัญญา คุยกันทีไรมิ้นก็ร้องไห้ ต่อว่าเขา — ความรู้สึกช่วงนั้นแย่มาก เพราะงานก็ไม่เป็นอย่างที่คิด คนรักก็ผิดสัญญา” นั่นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มิ้นอยากหาตัวช่วย


ชอบอะไรในกิจกรรมนี้จึงเข้าร่วมมากถึง 12 ครั้ง !! แล้วกิจกรรมนี้มันช่วยให้ได้รู้จักตัวเอง หรือความต้องการของตัวเองอย่างที่หวังไว้หรือไม่
ช่วงแรกๆ มิ้นเอาเรื่องความอึดอัดในงานไปคุยในวงฟังสร้างสุข เรื่องที่เราย้ายงาน ต้องทำงานหลายอย่าง งานไม่ได้เป็นอย่างที่คิด รู้สึกว่าทำงานไม่ได้ ฯลฯ ได้ระบายความอึดอัด คับข้อง และคล้ายๆ กับเป็นการขอคำปรึกษาด้วย สิ่งแรกที่ได้กลับมาคือ รู้สึกว่าทุกคนฟังเราจริงๆ เพราะในชีวิตตอนนั้น มิ้นไม่รู้จะพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง นอกจากนั้นก็ได้คำแนะนำ ได้ความเห็นบ้าง เช่น เพื่อนบางคนก็บอกว่า “ถ้าเราไม่รู้ก็บอกได้นะว่าไม่รู้ ไม่ต้องรู้ทุกเรื่องหรอก” บางคนบอกว่า “ปฏิเสธเขาบ้างก็ได้ บอกเขาไปว่าเรากำลังเขียนโปรแกรมอยู่ ทำอะไรอยู่ การปฏิเสธก็โอเคนะ” — ดังนั้น ทุกครั้งที่อยู่ในกิจกรรมฟังสร้างสุข ก่อนเข้ากิจกรรมอาจจะมีความอึมครึม แต่พอเสร็จกิจกรรมจะรู้สึกโล่งขึ้น ได้แนวทาง เห็นทางออกของปัญหาที่กำลังเผชิญ


ด้านหนึ่งมันเหมือนพื้นที่ปรับทุกข์ แต่บางทีมิ้นก็ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเพราะ ช่วงนั้นพลังงานดี พลังงานเต็ม อยากฟังคนอื่นบ้าง อยากให้พลังการฟังของเราได้ช่วยคนอื่น ไม่ได้แปลว่าเราเข้าร่วมเพราะมีปัญหาเท่านั้น บางทีก็เข้าร่วมเพราะอยากจะเป็นผู้รับฟังด้วย อยากจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เพื่อนที่มาร่วมกิจกรรม ได้ตอบแทนบ้าง เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี


แล้วการฟังช่วยให้เจอความต้องการของตัวเองไหม แก้ปัญหาเรื่องแฟนได้ไหม
พอเริ่มหัดฟังก็เริ่มกลับมาทำความรู้จัก ‘ความรู้สึกของตัวเอง’ และได้ทบทวนความต้องการของตัวเอง ไปด้วยพร้อมๆ กัน แล้วก็เริ่มไปทำความเข้าใจกับความต้องการของแฟนและความรู้สึกของแฟนด้วย


ครอบครัวของแฟนอยู่ที่สมุทรปราการ เขามีคุณพ่ออยู่ที่นั่น การทำงานที่กรุงเทพก็ทำให้เขา(แฟน) ดูแลคุณพ่อง่ายกว่าการย้ายมาอยู่กับเรา (จ.ลำพูน) — เราย้ายมาเพราะเราอยากดูแลพ่อแม่ของเรา เขาก็คงอยากดูแลพ่อของเขาเหมือนกัน — เริ่มเห็นตรงนี้


อีกอย่าง เขาก็พูดบ่อยๆ ว่าเขาคงทำงานจิปาถะแบบมิ้นไม่ได้ ถ้าย้ายแล้วต้องอยู่ในสภาพนั้น เขาคงจะทนไม่ไหว … จริงๆ เขาพยายามอธิบายแบบนี้หลายครั้งแต่มิ้นไม่ค่อยฟัง เพราะน้อยใจ เสียใจ ตกใจ ผิดหวัง ช่วงนั้นความรู้สึกประดังประเด แต่พอค่อยๆ ฟังตัวเอง รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง มันก็ค่อยๆ ได้ยินเสียงของเขามากขึ้นๆ เริ่มเข้าใจความรู้สึก-ความต้องการของเขามากขึ้น การทะเลาะ ความน้อยใจก็เบาลงไป ฟังได้มากขึ้น ความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ กลับมาดีขึ้น การอยู่ในกิจกรรมการฟังบ่อยๆ ฝึกฟังมากขึ้น ๆ พอฟังมากขึ้นก็เข้าใจตัวเองดีขึ้น เห็นภาพรวมของสถานการณ์ เข้าใจแฟนได้มากขึ้นว่า เริ่มเห็นว่า ‘ก็จริงนะ ถ้าเป็นเราเป็นเขา เราก็คงทำอย่างนั้นเหมือนกัน’


อะไรคือสิ่งที่ชอบที่สุดในกิจกรรมฟังสร้างสุข
มิ้นชอบที่ได้เรียนรู้เรื่องความต้องการ เพราะเป็นโจทย์ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ อยากรู้ความต้องการของตัวเอง อยากบอกความต้องการของเราให้ได้


บางทีเราอยากจะปฏิเสธ อยากจะอธิบาย แต่ไม่รู้จะพูดยังไง การฟังช่วยให้พูดได้ชัดเจนมากขึ้นละมุนละม่อม เมื่อก่อนเราอยากปฏิเสธแต่เราก็สับสนด้วย สับสนว่าเราจะยังไงดีนะ อยากปฏิเสธแต่ก็กลัวเขาจะโกรธ จะบอกยังไงดีนะ — การได้เรียนรู้ความต้องการ ทำให้ได้เห็นว่า บางทีความต้องการของเรามันไม่จำเป็นต้องได้การตอบสนองจากคนอื่นเสมอไป แค่กลับมารู้จักความต้องการของตัวเราเอง ก็พอแล้ว

เช่น … บางทีเราสับสน ไม่ค่อยสบายใจ พอได้หยุด กลับมาทบทวนว่า “เอ๊ ที่เรารู้สึกแบบนี้นี่เรากำลังต้องการอะไรเหรอ” แล้วพอเราตอบตัวเองได้ เช่น เราอยากให้เขาได้ยินเสียงของเราบ้าง — แค่รู้เท่านี้ ก็พบว่า เราโล่ง สบายใจแล้ว ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาตอบสนองสิ่งนั้นก็ได้ แค่เราตอบตัวเองได้ก็พอแล้ว — แล้วเรื่องนั้นก็หายไปเลย ความรู้สึกสับสน อึมครึม ก็หายไปเลย ตัวเรากลับมาเป็นปกติ เหมือนกับว่า ..อ้อ..จริงๆ ฉันก็ต้องการแค่นี้เองนะ ไม่ต้องได้รับการตอบสนองก็ได้ เราเข้าใจแล้ว — พอเรียกชื่อความต้องการได้ มันก็ complete เลย จบเลย เขาจะฟังเรา หรือไม่ฟังเรา จะได้ยินเรา หรือไม่ได้ยิน กลายเป็นประเด็นรอง แค่เราเรียกชื่อความต้องการของเราได้ก็พอแล้ว


ช่วงแรกๆ ที่ฝึกใหม่ๆ บางทีมิ้นก็เคยคิดนะว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังต้องการเพื่อตัวเองมากไปไหม เห็นแต่ความต้องการของเรา เพื่อตัวเราเอง มันจะถูกต้องไหม — แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ ๆ ๆ สิ่งเหล่านี้ก็จางลงไป ไม่รู้ว่ามันหายไปตอนไหน แต่ไม่ได้สนใจกับสิ่งเหล่านั้นอีกเลย


ปัจจุบันความสัมพันธ์กับแฟนเป็นอย่างไร
ความสัมพันธ์กับแฟนดีขึ้นมากๆๆๆ มิ้นไม่ได้คาดคั้นแล้วว่าเขาจะต้องย้ายมาเมื่อไร สุดท้ายเราทั้งคู่จะอย่างไร มิ้นไม่มีคำถามแบบนั้นแล้ว — ต่างจากเมื่อก่อนมาก


เมื่อก่อนจะน้อยใจ คุยกันแป๊บๆ ก็ทะเลาะกัน มิ้นร้องไห้ ตัดพ้อ “ก็ไหนว่าจะมาอยู่ด้วยกันไง ไหนว่าจะตามมา” ช่วงหนึ่ง มีประเด็นท้าทาย คือมิ้นได้เจอแฟนเก่า เริ่มเปรียบเทียบ ทำไมเขาไม่ทำอย่างนี้เหมือนคนนั้น ทำไมเขาทำเหมือนละเลย โน่น นี่ นั่น แล้วก็เริ่มคาดคั้นกับแฟน เช่น … เนี่ยให้เวลา 3 ปีนะ ต้องย้ายมาอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่โอเคตามนั้น ก็พอกันแค่นี้เลย…

.

พอรู้จักการฟัง ฟังตัวเอง ฟังแฟน ก็ได้ยินเสียงของแฟนมากขึ้น เช่นเขาพยายามบอกว่า เขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะ เขาก็อยากจะมาอยู่ด้วยแต่อยากวางแผนดีๆ เขาอยากจะปลูกบ้าน เพื่อให้พ่อมาอยู่ด้วยได้ เพราะเขาก็อยากดูแลพ่อ — เมื่อก่อนเราไม่ค่อยฟัง หลังๆ หัดฟังก็ได้ยินมากขึ้น ได้ยินความตั้งใจ ได้ยินความต้องการของเขา ได้ยินว่าเขาไม่ได้เรื่อยเฉื่อยหรือไม่สนใจความรู้สึกของเรานะ เขาให้ความสำคัญกับเรา แต่มันมีข้อจำกัดฯลฯ ก็ทำให้มิ้นเข้าใจมากขึ้น พอเข้าใจมากขึ้นก็เลิกคาดคั้น กลับมาทบทวนกับตัวเองว่า มันจำเป็นแค่ไหนกับเรื่อง 3 ปี หรือไม่ใช่ 3 ปี ตอนนี้เรามีความสุขไหมที่เป็นแฟนกับเขา … พอได้คำตอบแก่ตัวเอง ทุกอย่างก็ผ่อนคลายขึ้น


ตอนนี้ทุกเดือน หรือเกือบทุกเดือน แฟนจะขึ้นมาหาที่ลำพูน หรือบางครั้งถ้ามิ้นได้ไปอบรมที่กรุงเทพ ก็จะได้เจอกัน เวลาที่เราได้เจอกันก็จะรู้สึกว่าเวลามันมีค่ามาก ดีใจที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน คุยกัน ไม่ทะเลาะกันแล้วเพราะเวลาที่อยู่ด้วยกันมันมีค่า


คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปบ้างไหม เมื่อได้รู้จักกิจกรรมฟังสร้างสุข
เปลี่ยนไปมากค่ะ ก่อนหน้านี้มิ้นเป็นคนขี้กังวล ไม่รู้ว่ากังวลอะไร รู้แต่ว่ามันมีอะไรเยอะแยะไปหมด บางทีนอนไม่หลับ ช่วงที่ทำงานอยู่กรุงเทพ กำลังกินข้าวอยู่ดีๆ พอนึกถึงงาน นั่นก็ไม่เสร็จ นี่ก็ไม่เสร็จ อันโน้นก็ยังรอ … น้ำตาไหลออกมาเลย ไม่เป็นอันกินข้าว — พอรู้จักการฟัง ต่อมาก็เริ่มหัดเขียนบันทึก เคยร้องไห้ อาบน้ำไปร้องไห้ไป ออกมานั่งเขียนบันทึก ระบายความรู้สึกลงไปในสมุด ทำไมไม่มีใครเข้าใจฉันเลย ฉันอยากทำอันนั้น ฉันอยากได้สิ่งนี้ ทำไมๆๆ พอเขียนเสร็จก็โล่ง…พอได้กลับมาอ่านก็เห็นข้างในของเรามากขึ้น อ้อ มันเป็นอย่างนี้เนาะ เราต้องการเท่านี้เนาะ

.

เดี๋ยวนี้มิ้นปล่อยง่ายขึ้น เบาขึ้น ไม่เก็บมาคิดข้ามวันข้ามคืนแบบเมื่อก่อน ยังมีการจมอยู่บ้าง แต่รู้ตัวเร็วขึ้น บางทีมีเสียงเตือนขึ้นมาเองว่า “แบบนี้มันไม่ใช่แล้วไหม” “ถ้าเป็นแบบนี้จะแย่นะ” แล้วก็หลุดขึ้นมา

สิ่งที่ดีมากคือ มิ้นบอกความรู้สึกของตัวเองได้ สื่อสารได้ การ์ดเพื่อนใจของโครงการฯ ก็ช่วยมากค่ะ วันไหนที่อึนๆ ก็เปิดการ์ด อ่านการ์ด บางทีคุยกับแฟนก็ชวนแฟนเปิดการ์ด ตอนนี้มีการ์ดในที่ทำงานด้วย บางทีเห็นเพื่อนเครียดๆ ก็ชวนเพื่อนมาเปิดการ์ด อ่านการ์ดด้วยกัน บางครั้งการ์ดก็แม่นอย่างน่าตกใจค่ะ


ขอบคุณโครงการฯ ค่ะ มีกิจกรรมหลายอย่างและเป็นประโยชน์มาก

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save