ความสุขอันประณีตของเพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย
ก่อนที่จะอยู่ในคอร์สปฏิบัติ เมื่อยนิดเราก็ขยับ หนี ไม่เผชิญหน้า จึงไม่เคยเห็นว่าความรู้สึกเปลี่ยนได้ และมันเปลี่ยนเอง พอได้อยู่ ได้เห็นจริงๆ ทำให้เราไม่กลัว รู้สึกกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่หลบ แค่สงบแล้วรอดู นี่คือสิ่งที่ได้จากคอร์สปฏิบัติ
.
- การฟัง การคิด และการภาวนา เป็นทักษะที่สำคัญในการพัฒนาปัญญา ทั้งปัญญาในระดับพื้นฐาน และปัญญาในระดับสูงสุด
- การฟังแล้วเข้าใจ เป็นปัญญาจากการฟัง(สุตตมยปัญญา) คิดใคร่ครวญแล้วเข้าใจ เป็น ‘จินตมยปัญญา’’ ซึ่งยังไม่ใช่ที่สุดของปัญญา การภาวนาทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ความเข้าใจนี้ไม่ใช่ความเข้าใจในระดับสมอง ภาษาเฉพาะเรียกว่า “ภาวนามัยปัญญา” ปัญญาระดับนี้แหละที่ใช้ดับทุกข์ได้
- การภาวนา การเจริญสติ หรือการปฏิบัติธรรม จะช่วยให้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น รู้จักยอมรับความจริง คลายจากการหลงผิด เมื่อได้เห็นความจริงของตัวเองแล้วก็ปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ การปฏิบัติจะขัดเกลาให้เอง เราไม่ต้อง “ทำ” อะไรเลย การปฏิบัติจะทำงานเอง
- “นักปฏิบัติ” ไม่กลัวด้านมืด กล้าที่จะเห็นด้านที่ไม่เคยเห็นของตนเอง เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่บิดเบือน เมื่อจิตละเอียดมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้นก็จะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น และยอมรับความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากจะ ช่วยให้ไม่ติดดี และไม่ตกร่องการตำหนิ และวิพากษ์วิจารณ์
.
วัยรุ่นฮิปๆ เมื่อราวๆ 30 ปีก่อน ต้องรู้จักนิตยสารไปยาลใหญ่ เคยฟังเพลงศุ บุญเลี้ยง รู้จักไทละเมอ และเคยอ่านงานของ เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย – พี่กาเหว่า คุณชลลดา เตียวสุวรรณ
.
วัยรุ่นสมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต จึงไม่มีคำว่า “เน็ตไอดอล” แต่เชื่อว่าพี่กาเหว่าเป็นไอดอลในใจของสาววัยกระเตาะหลายคน คนที่ติดตามผลงานจะรู้ว่า พี่กาเหว่าชอบเดินทางเป็นแบคแพคเกอร์รุ่นบุกเบิก เป็นคอลัมน์นิสต์ในนิตยสาร มีคอลัมน์ประจำในมติชน มีผลงานหนังสือเล่มหลายปก แต่ละปกก็ขายดิบขายดี นอกจากนี้ก็ยังร้องเพลง วาดรูป เขียนบทหนัง บทละคร อยู่เบื้องหลังรายการโทรทัศน์ ฯลฯ เพียบ ! — แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าพี่กาเหว่าเป็นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาตัวยง บทความนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่เธอยินยอมมาเล่าเรื่องราว ตอบคำถาม และให้มุมมองต่อการปฏิบัติธรรม
.
ก่อนอื่นอยากถามก่อนว่า พี่เข้าสู่วงการภาวนา-วิปัสนานี้ได้ยังไง
(หัวเราะ) — พี่สนใจธรรมมะมานานแล้ว ตั้งแต่วัยรุ่น ในแง่ที่ว่าเคยได้ยินได้อ่านพุทธพจน์บ้าง คำสอนที่มีคนเอามาแปลเป็นภาษาที่อ่านง่ายๆบ้าง แล้วก็รู้สึกว่า อืม มันใช่ มันจริง เช่น คำสอนเรื่อง การรู้จักแยกแยะ — สมมติว่าเราไปชอบคนๆ หนึ่ง แล้วเราพยายามทำอะไรสักอย่างหรือหลายอย่างเพื่อให้คนๆ นั้นชอบเราบ้าง เราจะทำได้ไหม — คำตอบคือ ได้ ทำสิ เราอาจจะเอาขนมไปให้ เอาดอกไม้ไปฝาก ฯลฯ เราทำได้หมดเลย แต่….เขาจะชอบเรากลับมาหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของเขานะ — เออ ถ้าเราคิดแยกแยะอะไรแบบนี้ได้ จะทุกข์น้อยลงมากเลยนะ เราจะทำในส่วนของเรามากแค่ไหนก็ได้ ส่วนเขาจะชอบเราหรือเปล่า อันนั้นบังคับไม่ได้ อีกเรื่องที่สนใจคือการทำสมาธิ แต่ในตอนนั้นก็ไม่รู้จักใคร หรือสถานที่ไหน วัดไหน ที่จะสอนได้อย่างเป็นระบบ ก็เคยอ่านหนังสือแล้วก็ฝึกทำตามหนังสือบ้าง แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก
.
ทำไมพี่ถึงสนใจการฝึกสมาธิตั้งแต่อายุน้อยๆ อยากเรียนเก่ง ?
เปล่า พี่เรียนเก่งอยู่แล้ว (ฮา) เป็นความอยากรู้แบบเด็กๆ เช่น ที่หนังสือบอกว่าอยู่กับลมหายใจจะทำให้สงบ ก็อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นได้ยังไง อยากพิสูจน์ อะไรทำนองนี้
.
ปฏิบัติธรรมครั้งแรกเมื่อไร อย่างไร
โดยปกติช่วงสิ้นปีมักจะไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อนสนิททุกปี แต่ปีนั้น (ปี 2544 หรือยี่สิบกว่าปีที่แล้ว) ดูทรงแล้วไม่ได้ไปแน่ๆ ยังไม่ได้จองตั๋ว ไม่ได้เตรียมตัวใดๆ ก็เลยคุยกับเพื่อนว่าเอาไงดีจะทำอะไรดีในช่วงรอยต่อของปี ซึ่งว่างอยู่ราวๆ สิบกว่าวัน เพื่อนก็ชวนว่า ‘ไปเข้าคอร์สท่านอาจารย์โกเอนก้ากันมั้ย’ ก็เลยเอารายละเอียดมาอ่านดู นั่งอ่านกฎระเบียบ ตารางเวลา ต้องตื่นกี่โมง ปฏิบัติกี่โมง อะไรที่อนุญาต อะไรที่ไม่อนุญาต อ่านจนถึงข้อที่บอกว่า “สวมเสื้อผ้าสีอะไรก็ได้” ก็ลงชื่อสมัครเลย (ฮา) ไม่ใช่อะไร เป็นคนไม่มีชุดขาว และไม่อยากซื้อเสื้อผ้าใหม่
.
ความสุขจากคอร์สปฏิบัติธรรมครั้งแรก
อาจจะไม่ใช่ความสุขนะ แต่เป็นความมันส์! (ได้หัวเราะกันครื้นเครง)
ไปแบบไม่ได้คาดหวังอะไรทั้งสิ้น เขาให้ทำอะไรเราก็ทำ เขาไม่ให้ทำอะไร เราก็ไม่ทำ จบ 10 วันไปได้ด้วยดี สิ่งที่จำได้จากการไปเข้าคอร์สครั้งแรกคือ “การปฏิบัติทำให้เรากล้าหาญ” กล้าเผชิญกับความทุกข์แบบ ตัว-ตัว นี่เป็นไฮไลท์ของประสบการณ์แรก
.
เราสังเกตความรู้สึกทางกาย เมื่อต้องนั่งนานสิ่งที่เจอก็คือเมื่อย — จริงๆ แล้วนอนนานก็เมื่อย ยืนนานๆ ก็เมื่อย การปวดเมื่อยเป็นเรื่องปกติ เขาให้เราดูสิ่งที่มันเกิดขึ้น เราก็เห็นด้วยตัวเองว่า เออ..ปวดแฮะ ปวดมากขึ้น มากขึ้นๆ ๆ แล้วอีกสักพักก็กลายเป็นว่า ปวดน้อยลง ๆ ๆ แล้วก็หายไป แล้วเดี๋ยวมันก็ปวดขึ้นมาใหม่ เอ้ามันเปลี่ยนไปเป็นชา บางทีก็คัน ความรู้สึกบนร่างกายของเรามันเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่แน่นอนเลย เดาไม่ได้ว่ามันจะไปเป็นอะไร ที่สำคัญคือมันไม่ขออนุญาตเรา ! มันไม่ขออนุญาตเลยว่า ขอปวดหน่อยนะ อนุญาตไหม … ไม่เลย มันไม่ขอ มันปวดเลย เรานั่งอยู่ดีๆ บทจะเมื่อย มันไม่เตือนเลยว่า อีก 2 นาทีข้างหน้าจะเมื่อยแล้วนะ จู่ๆ มันก็เมื่อย ไม่รอ ไม่ขอ ไม่เตือน แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับและเผชิญหน้ากับมันตรงๆ
.
ก่อนที่จะอยู่ในคอร์สปฏิบัติ เมื่อยนิดเราก็ขยับ หนี ไม่เผชิญหน้า จึงไม่เคยเห็นว่ามันเปลี่ยนได้ และมันเปลี่ยนเอง พอเห็นอย่างนี้ทำให้เราไม่กลัว รู้สึกกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่หลบ แค่สงบแล้วรอดู นี่คือสิ่งที่ได้จากครั้งแรก — พอได้เห็นว่าจริตของเราตรงกับแนวทางนี้ ก็รู้ว่า ใช่ นี่คือแนวทางที่เราจะเดิน แต่ในช่วง 4-5 ปีแรกก็ยังทำไม่สม่ำเสมอ เว้นราวๆ 4 ปีไปเข้าคอร์สครั้งที่สอง จากนั้นก็ปฏิบัติสม่ำเสมอมากขึ้น
อีกเรื่องที่เรียกว่าเป็นความมันส์ คือ เห็นความจริงของตัวเอง เช่น อาจจะเคยเข้าใจว่าเราเป็นคนรอบคอบ เห็นข้อบกพร่องได้ไว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี — แต่เมื่ออยู่ในคอร์สเราอาจจะเห็นอีกแง่มุมหนึ่ง คือ มันไม่ใช่รอบคอบอ่ะสิ มันคือการชอบเพ่งโทษ จับผิด — ทำไมคนนั้นทำอย่างนี้ ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น ทำไมกินอย่างนั้น ทำไมเขาตากผ้าอย่างนั้น เห็นตัวเองชัดมาก จนปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ— เรื่องแบบนี้ เมื่ออยู่ข้างนอกอาจจะหลอกตัวเองง่าย ก็ฉันเป็นคนรอบคอบไงล่ะ ฉันหวังดี แต่การอยู่ในพื้นที่ของการฝึกจิตฝึกใจ สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า “เออ…มึงเป็นคนแบบนี้นะ” — แล้วก็ตั้งใจฝึก หัดลบเหลี่ยมลบมุมของตัวเอง
.
ภาษาจิตวิทยาอาจจะบอกว่าเห็นด้านมืด (dark side หรือ shadow) แล้วเราต้อง “จัดการ” สิ่งนี้ไหมคะ
ไม่ต้อง — การปฏิบัติจะพาเข้าหาสมดุลเอง การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะเป็นไปเอง เป็นระบบอัตโนมัติ
ถ้าเป็น “นักปฏิบัติ” เราจะไม่กลัวด้านมืด เราจะกล้า จะยอมเห็นด้านที่เราไม่เคยเห็น อาจจะพูดได้ว่าการปฏิบัติทำให้เป็นคนรักความจริง เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่บิดเบือน — บางทีมันง่ายมากที่เราจะเบือนหน้าหนีตัวเอง ไม่ใช่หรอก เราไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น แต่ในการปฏิบัติ เมื่อจิตละเอียดมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เราจะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น ยอมรับความจริง คลายจากการหลงผิดในตัวเอง ถ้าเราได้เห็นความจริงของตัวเองว่าจริงๆ แล้วเป็นคนเห็นแก่ตัว ก็เริ่มจะเข้าใจตัวเองใหม่ว่า “อืม…แกไม่ได้เป็นคนแสนดีอย่างที่เคยคิดหรอก” เมื่อรู้แล้ว เห็นด้วยตัวเองแล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ การปฏิบัติจะขัดเกลาให้เอง ไม่ต้อง “ทำ” อะไรเลย การปฏิบัติจะทำงานเอง
.
ผ้าที่สะอาดขึ้น
การปฏิบัติคล้ายการซักผ้า สมมุติว่าเรามีผ้าที่ไม่สะอาดและเรามีผงซักฟอก หน้าที่ของเราคือขยี้ผ้า ทำความสะอาดผ้า — ทำงานนั้นไป ลงมือขยี้ผ้า เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่า ในผงซักฟอกประกอบด้วยสารอะไรบ้าง กลไกการทำงานของผงซักฟอกคืออะไร อะไรไปจับกับโมเลกุลไหนแล้วคราบสกปรกจะหลุดออกไป หน้าที่คือซักผ้า เท่านั้นก็พอ ถ้าซักอย่างถูกวิธี ขยี้ให้มากพอ ผ้าก็จะสะอาดขึ้น จะเป็นไปเอง ตัวเราจะเห็นเอง รู้ได้ด้วยตนเอง ขอให้ทำอย่างถูกต้อง ทำให้สม่ำเสมอ และทำให้มากพอ ก็จะเห็นผลลัพธ์แน่นอน
.
ปี 2553 พี่เป็นมะเร็งรังไข่ ต้องผ่าตัดและรับคีโม 6 ครั้ง เมื่อรับคีโมครั้งสุดท้ายจะต้องไปทำ CT scan เพื่อติดตามผล วันที่รับผล พี่ถึงโรงพยาบาลก่อนเที่ยง รับผลตรวจด้วยตัวเองแล้วจึงรอพบแพทย์ในเวลา 13.00 ตรง
เนื่องจากมีเวลาจึงนั่งอ่านผลระหว่างที่รอพบหมอ อ่านเจอว่า “มีก้อนเนื้อขนาด 3 c.m.” — ตกใจ ‘มีก้อนขึ้นมาใหม่เหรอ!’ จิตตกทันที กระวนกระวาย ร้อนรน ใจหนึ่งก็อยากจะโทรหาเพื่อน แต่ถ้าโทรไปต้องร้องไห้แน่ จึงตัดสินใจเดินหาที่เงียบๆ แล้วนั่งหายใจ ดูลมหายใจไปเรื่อยๆ จากลมหายใจที่พลุ่งพล่าน วื้ดว้าด สักพักใหญ่ๆ ลมหายใจก็ค่อยๆ ช้าลง ๆ สงบลง ๆ นั่งอยู่ราวๆ หนึ่งชั่วโมง ลมหายใจสงบ เป็นปกติ จนกระทั่งได้เวลาไปพบหมอ — คนที่อยู่ตอนต้นชั่วโมง กับคนที่อยู่ตอนท้ายชั่วโมง เป็นคนละคนกัน ชัดมาก
.
เมื่อถึงเวลาก็ไปพบหมอ หมอดูฟิล์มแล้วก็บอกว่า “อืม เรียบร้อยดีนะ ไม่มีอะไร ไปเล่นสงกรานต์ได้” ก็เลยถามถึงสิ่งที่อ่านเจอว่ามีก้อนเนื้อในฟิล์ม หมอบอกว่า “มันน่าจะเป็นเงา หรืออาจจะเป็นรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด ไม่มีอะไร เดี๋ยวจะคุยกับหมอรังสีอีกทีแต่ไม่ต้องกังวลนะ” —หมอไม่มีความกังวลใดๆ เลย แล้วเราจะกังวลอะไร ? —การปฏิบัติช่วยชีวิตได้แบบนี้ แทนที่จะตกนรกอยู่ทั้งชั่วโมง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไร
.
พี่เคยคิด เคยหวังว่าจะให้การภาวนาช่วยป้องกันเหตุร้ายในชีวิตไหมคะ
พี่ไม่เคยคิดหรือคาดหวังอะไรแบบนั้นเลย เพราะพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ก็เทศน์บ่อยๆว่า “ทำไมเรื่องร้ายๆ แบบนั้นจะเกิดขึ้นกับเราไม่ได้” แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อป่วยก็ยังมีความโกรธ มีโทสะจำแลง เช่น เราก็กินเหมือนคนอื่นทำไมคนอื่นไม่เป็น หรือ คนนั้นมันกินแย่กว่าเราอีก — มันทำให้อยากรู้สาเหตุ ทางวิชาการเขาบอกว่า มะเร็งรังไข่ มีปัจจัยเสี่ยง 14 ข้อ สิ่งที่เป็นความเสี่ยงของพี่คือ ไม่มีลูก กับอะไรอีกข้อหนึ่งนี่ละ — อืม.. ตัวเรามีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อ แต่เพื่อนซึ่งมีลูก 4 คน ก็เป็นมะเร็งรังไข่เหมือนกัน ในช่วงของการรักษาตัวก็ปฏิบัติไปด้วย ก็ได้คิดว่า ปัจจัยที่ทำให้เราป่วยนั้น มันมีทั้ง ปัจจัยที่รู้ได้ (คือสิ่งที่การแพทย์บอกให้รู้ 14 ข้อ) มีปัจจัยที่ยังไม่รู้ (วิทยาการ ความรู้ยังไปไม่ถึง) และมีปัจจัยที่ไม่อาจรู้ได้ด้วย พอคิดได้อย่างนี้ก็หยุดไล่ล่าหาสาเหตุ
.
เวลาที่ได้ยินชาวภาวนาพูดถึงการข้ามพ้นอารมณ์ด้านลบ โดยไม่กด ไม่ข่ม และไม่ใช่การเพิกเฉย คนโลกๆ อย่างพวกเราจะนึกไม่ค่อยออกค่ะ เพราะคุ้นเคยกับการคิด ใช้เหตุผล อยากให้พี่อธิบายเรื่องการออกจากความทุกข์ด้วยการปฏิบัติ (ไม่ใช่การคิด)
การภาวนาทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และความเข้าใจนี้ไม่ใช่ความเข้าใจในระดับสมอง แต่เป็นอีกระดับหนึ่ง ภาษาเฉพาะเรียกว่า “ภาวนามัยปัญญา” — ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ก็เป็นปัญญาจากการฟัง(สุตตมยปัญญา) คิดใคร่ครวญแล้วเข้าใจ ก็เป็นปัญญาที่เรียกว่า ‘จินตมยปัญญา’ ซึ่งยังไม่ใช่ที่สุดของปัญญา ยังใช้ดับทุกข์ไม่ได้
.
สมมติว่าเราโกรธแม่ เพราะแม่เป็นเบาหวานแต่แม่ก็ยังชอบกินขนม เราห้ามก็แอบกิน เราโกรธ เพราะไม่อยากให้แม่ป่วยมากกว่านี้ — เราใช้สมองอันชาญฉลาดของเราบอกว่า อย่าโกรธแม่เลยนะ เพราะ 1 2 3 4 5 …หาเหตุผลได้เป็นสิบข้อว่าทำไมเราจึงไม่ควรโกรธแม่ เช่น 1. เราเปลี่ยนแม่ไม่ได้หรอกเพราะแม่แก่แล้ว 2. มันเป็นความสุขของเขา 3. แม่เป็นผู้มีบุญคุณกับเรา ฯลฯ …. เหตุผลเยอะแยะไปหมด ซึ่งก็อาจจะช่วยได้นิดหน่อยในระดับผิวเผิน — แต่ลึกๆ ความไม่พอใจก็ยังอยู่ นั่นเพราะความเข้าใจระดับสมองยังช่วยไม่ได้— แต่การปฏิบัติไม่ได้ใช้เหตุผลทางสมองมาโน้มน้าว ปัญญาระดับที่จะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงต้องมาจากการปฏิบัติภาวนา ที่ถูกต้อง สม่ำเสมอ และมากพอ
ปัญญามีหลายระดับ ความสุขก็มีหลายระดับ…ไม่ได้มีแค่ความสุขจากการได้กินอะไรที่อยากกิน ได้ไปเที่ยวที่ที่อยากไป ได้ซื้อของที่อยากได้ มันยังมีความสุขที่ประณีตกว่านั้นซึ่งจะพบได้จากการภาวนา
.
ภาวนาเองที่บ้านได้ไหม
พวกเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ภาวนาในชีวิตประจำวัน ภาวนาตอนนั่งรถ กินข้าว กวาดบ้าน ฯลฯ จากประสบการณ์พี่ก็คือ ถ้าไม่เคยรู้จักการภาวนาในรูปแบบ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะภาวนานอกรูปแบบ — สนับสนุนให้มีการฝึกปฏิบัติในรูปแบบให้เป็นประจำ สม่ำเสมอ แล้วเพิ่มการปฏิบัตินอกรูปแบบในกิจวัตรประจำวัน มีสติกวาดบ้าน ขึ้นบันได ลงบันได ล้างจาน ฯลฯ ทำเลย แต่ถ้าจะหวังพึ่งเพียงแค่นอกรูปแบบอย่างเดียว มันจะสู้ ‘แรงดึงดูดของโลกย์’ ไม่ไหว
บางคนพูดว่า “ฉันเจริญสติในชีวิตประจำวันมาเป็นปี แต่ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น” — ท่านอาจารย์ชยสาโรบอกว่า คนที่บอกว่าทำแล้วไม่ได้ผล อาจจะเพราะยังทำไม่มากพอ
เปรียบได้เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย โค้ชบอกว่า ถ้าต้องการกล้ามเนื้อตรงนี้ เราจะต้องยกน้ำหนักขนาดเท่าไร ด้วยท่าทางอย่างไร ต้องยกกี่เซ็ต เซ็ตละกี่ครั้ง ถ้าทำตามที่โค้ชบอกเราก็จะได้กล้ามเนื้อมัดนั้น แต่ถ้าเราไม่ทำ หรือทำตามใจตัวเอง เช่น ให้ยกน้ำหนัก 3 ก.ก. 30 ครั้ง แต่เราจะยก 2 ก.ก. ทีละ 2-3 ครั้ง แถมทำบ้างไม่ทำบ้าง เมื่อเวลาผ่านไป ไม่เห็นกล้ามเนื้อ แล้วบอกว่ามันใช้ไม่ได้ ไม่ได้ผล — ก็เช่นเดียวกัน
.
แต่แหม… บางคนก็กลัวการเข้าคอร์สภาวนา
เขาก็ไม่ได้บังคับให้นั่งบนตะปู หรือตากแดดทั้งวันนะ…กลัวอะไร (หัวเราะ)
ก็กลัวเบื่อ กลัวอยู่ไม่ได้ ทนไม่ไหว เพราะในชีวิตประจำวันเราทำได้ตามใจของเรา เบื่อก็หยิบมือถือไถไปดูนั่นดูนี่ หรือพาตัวเองไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไปอยู่ในที่เงียบๆ อยู่เฉยๆ หลายวัน ก็น่ากลัว
บางคนอาจกลัวเบื่อ บางคนก็บอกว่า 10 วันมันนานเกินไป — ลองคิดดู…เวลาที่เรียนหนังสือ เราเรียนตั้งหลายปี อนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ปริญญาโท ปริญญาเอก วิชาอะไรต่อมิอะไร ได้ใช้บ้าง ไม่ได้ใช้บ้าง เราก็ยังอุตส่าห์ใช้เวลาเรียนตั้งสิบๆปี แต่กับวิชาที่จะช่วยลดความทุกข์ ซึ่งสำคัญ ได้ใช้ประโยชน์แน่ๆและใช้ได้ตลอดชีวิต แค่ 10 วันเอง ถ้าเป็นนักลงทุนก็ต้องบอกว่า นี่เป็นการลงทุนที่คุ้มมาก อยากให้ลองมีประสบการณ์ วางความคิด วางความกลัวลงก่อน
.
ผู้ที่สนใจจะเข้าอบรมการปฏิบัติภาวนาในแนวทางท่านอาจารย์โกเอ็นก้า กรุณาศึกษารายละเอียดที่ www.thaidhamma.net