8 ช่องทางความสุข

มากกว่ารัก

เราทั้งคู่มีความตั้งใจ (intention) ว่าเราจะอยู่ด้วยกัน เพราะความสัมพันธ์นี้มีค่า —มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ต่างคนต่างก็ไม่มีใคร หรืออยู่ๆ กันไปแก้เหงา — ไม่ใช่เลยความสัมพันธ์นี้มีค่ามากกว่านั้นมากมายนัก เกินกว่าคำว่ารัก

.

.

คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ (พี่อู๊ด)
กรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล

ปัจจุบันพี่อู๊ดเกษียณตัวเองจากนักบริหาร ใช้เวลาว่างบางส่วนช่วยงานด้านสังคม เช่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ และมูลนิธิเพื่อนช้าง บางคนอาจจะรู้สึกคุ้นหน้า เพราะบางทีพี่อู๊ดก็นึกสนุกกระโดดไปกระทบไหล่ดวงดาวเป็นนักแสดงรับเชิญ อยู่เป็นระยะ

.

ชีวิตส่วนตัวของพี่อู๊ดเป็นชีวิตที่เรียบง่าย น่ารัก มีครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่นและทันสมัย ทีมความสุขประเทศไทยนัดขอสัมภาษณ์พี่อู๊ดเพื่อสอบถามเคล็ดลับ หลักการ ในการครองรัก-ครองเรือน — ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ หลายคนคงอยากเรียนรู้ชีวิตคู่ ที่อยู่กับคู่ชีวิตมากว่าสามสิบฤดู

พอเริ่มคุยเข้าเรื่อง พี่อู๊ดก็ดักคอขึ้นมาทันทีว่า “ต้องบอกก่อนว่า หลายเรื่องพี่ไม่ได้มองเหมือนคนอื่นๆ นะ สิ่งที่มันเวิร์คกับพี่อาจจะไม่เวิร์คสำหรับคนอื่น เรื่องบางเรื่องที่เป็นหลักการที่ดี พี่ก็อาจจะมีความเห็นในอีกด้านหนึ่ง โอเคไหม ?” — ผู้เขียนหัวเราะ เป็นสัญญาณว่าการสนทนาจะยังดำเนินต่อไป

.

ชีวิตคู่ที่ยาวนานกว่า 30 ปี พี่ดูแลประคับประคองอย่างไร ดูแลการกระทบกระทั่งกันอย่างไร มีเครื่องมือ หลักการอะไรหรือไม่

พี่ไม่มีเครื่องมืออะไรเลย — คู่ของเราก็ทะเลาะกันเหมือนคู่อื่นๆ ทะเลาะกัน เถียงกัน แล้วก็กลับมาดีกัน การทะเลาะเบาะแว้งเป็นธรรมชาติของความสัมพันธ์ เหมือนลมหายใจเข้า ลมหายใจออก — อย่าทึกทักว่าความสัมพันธ์ที่ดีต้องไม่มีปัญหา เพราะถ้าทึกทักแบบนั้น เราจะมีปัญหากับ ปัญหา หรือการทะเลาะเบาะแว้งทันที เพราะสิ่งที่ฝันกับของจริงมันไม่เป็นไปอย่างใจ


และอยากหมายเหตุไว้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ได้แปลว่าเราต้องอยู่เป็นคู่โดยไม่เลิกกัน — บางคู่อาจจะประคับประคองให้ความสัมพันธ์ยังคงอยู่ เป็นคู่ชีวิต และงอกงาม แต่บางคู่อาจตัดสินใจยุติความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิต ซึ่งถ้ามันดีกว่า ก็โอเค — ถ้าความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ไม่เป็นคู่ชีวิตมันใช่กว่า งอกงามกว่า ก็ไม่ได้ผิดอะไรเลย — พี่ไม่ใช่ต้นแบบของใครๆ (ย้ำหนักแน่น!)

.

แต่ชีวิตคู่ของพี่อู๊ดยืนยาวมากว่า 30 ปีแล้ว เป็นคู่ และเป็นครอบครัวที่น่ารักมากๆ พี่ทั้งสองคนเป็นผู้บริหารทั้งคู่ เวลาคนเก่งเถียงกับคนเก่ง มีวิธีลงให้กันอย่างไร

อืมมม…ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะ เราทั้งคู่มีพันธะสัญญาต่อกัน พี่มี commitment ว่าพี่จะอยู่กับเขาจนตาย — ดังนั้นในวันที่เราทั้งคู่มีเขี้ยวเล็บแหลมคม ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือตัวช่วยมากนัก ในยามที่เราทะเลาะกัน ตัวพี่จะกลับมาทบทวนสิ่งนี้เสมอ

.

ความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิต เป็นความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย มันไม่ได้เกิดจากคนอื่น เช่น สังคม หรือคนแวดล้อม และไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


 A กับ B อยู่ด้วยกันตลอดรอดฝั่ง เพราะเขาทั้งคู่ตกลงใจที่จะดูแลมัน และต้องการจะรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ทั้งคู่ — มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะฝ่ายในฝ่ายหนึ่ง เช่น A อยากจะรักษาความสัมพันธ์ แต่ B เฉยๆ หรือ B ไม่อยาก —- มันอาศัยความยินยอมจากทั้งคู่ เขาทั้งคู่มีความตั้งใจ (intention) ที่จะรักษาความสัมพันธ์ของเขาเอาไว้ — นี่สำคัญมาก

.

ในระยะต่อมา ในวันที่เขี้ยวเล็บของเราทั้งคู่เบาบางลง พี่มีเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้น ความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ ยังเถียงกัน แต่เราทั้งคู่ต่างก็รู้ว่าเรามีความตั้งใจ (intention) ว่าเราจะอยู่ด้วยกัน เพราะความสัมพันธ์นี้มีค่า —มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ต่างคนต่างก็ไม่มีใคร หรืออยู่ๆ กันไปแก้เหงา — ไม่ใช่เลยสำหรับพี่ความสัมพันธ์นี้มีค่ามากกว่านั้นมากมายนัก เกินกว่าคำว่ารัก มันมากกว่านั้นมาก

.

เครื่องไม้เครื่องมือ ในการดูแลความสัมพันธ์ ที่พูดถึงคืออะไร ขยายความหน่อยสิคะ

พี่กับพี่กุ้ง (ภรรยา) แต่งงานกันในโบถส์ รับศีลสมรส เรามีพันธะสัญญาต่อกัน นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ในยุคสมัยนี้เราจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนทัศน์ (paradigm) ใหม่ๆ ด้วย เราใช้กระบวนทัศน์เดิมๆ เพื่อรักษาชีวิตคู่แบบในอดีตไม่ได้ — ในระหว่างทางของชีวิต คู่ของพี่ก็ไม่ต่างจากคู่อื่นๆ เจอคลื่นลม มรสุม ในระหว่างทางพี่จำเป็นต้องหาความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ และนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาฝึกในชีวิต — ขอย้ำว่า ต้องนำมาฝึก นำมาใช้ในชีวิต ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ อ่านแล้วเข้าใจ คิดว่ารู้แล้ว — อย่างนั้นไม่เวิร์กหรอก

เราไม่มีทางรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในความสัมพันธ์ พันธะสัญญาก็เรื่องหนึ่ง แต่การดำเนินไปในชีวิตประจำวันก็อีกเรื่องหนึ่ง — เมื่อเรารู้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นก็ได้ในความสัมพันธ์ มันเปราะบางมาก เราก็เลือกได้ที่จะรักษา ชื่นชม หรือปล่อยปละละเลย

.

เครื่องมือที่ว่านั้นคืออะไรคะ

Voice Dialogue — ต้องบอกก่อนว่า ความเข้าใจเรื่องนี้ของพี่กับคนอื่นๆ อาจจะไม่ได้เหมือนกัน และวันนี้ (วันสัมภาษณ์) เป็นวันครบรอบ 10 ปี ที่พี่ได้พบกับ ฮัลและซิดร้า (Hal Stone & Sidra Stone)*

Voice Dialogue บอกว่า ความสัมพันธ์เกิดจากการพึ่งพิง เกิดขึ้นในยามที่เราเปราะบาง (vulnerable) ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ลูกรักแม่เพราะแม่ดูแลในวันที่เด็กคนนั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราอาจจะหลงรักใครสักคนอาจจะเพราะเขาเข้ามาในวันที่เราอ่อนล้าเหลือเกิน เหล่านี้ปกติมากๆ — เหตุหนึ่งที่ความสัมพันธ์พัง เพราะเรารู้สึกว่าคนที่เราเคยพึ่งพิงได้ กลับพึ่งพิงไม่ได้ เราคาดหวังให้เขาดูแลเรา แต่เขาดูแลเราไม่ได้ แล้วเราก็ผิดหวัง เสียใจ โกรธ — ลึกลงไปกว่านั้นเป็นเพราะเราโกรธตัวเอง — โกรธที่เราดูแลตัวเราเองไม่ได้

 Voice Dialogue บอกพี่ว่า คู่ชีวิตของพี่มี ในสิ่งที่พี่ไม่มี ดังนั้น ในการใช้ชีวิตคู่มันคงจะดีถ้าความสัมพันธ์นี้ทำให้พี่พัฒนาบางสิ่งขึ้นมา เพื่อให้ตัวพี่มีสิ่งที่พี่ไม่มีนั้นบ้าง จะไม่ต้องพึ่งพาเขาตลอดเวลา — ชีวิตคู่ของพี่อยู่มาจนถึงวันนี้จึงไม่ใช่เพราะว่าพี่ขาดเขาไม่ได้ หรือเขาขาดพี่ไม่ได้ แต่มันเป็นเพราะเราต่างก็พัฒนาบางสิ่งบางอย่างในตัวของเรา เพื่อจะเรายืนหยัดได้ด้วยตัวของเราเอง และไปด้วยกัน

.

ดร.ซิดร้า สโตน (ซ้าย) คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ (กลาง) และ ดร.ฮัน สโตน (ขวา)

.

พี่อู๊ดใช้ Voice Dialogue เข้ามาดูแลความขัดแย้งได้อย่างไรคะ

เวลาที่เราทะเลาะกัน ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการพื้นที่ ต้องการจุดยืน — ความสัมพันธ์เป็นแบบนี้เสมอ ซึ่งพี่ไม่ได้เรียกร้องให้พยายามประนีประนอม และพี่ไม่สนับสนุนการห้ามโกรธ หลายคนคิดว่าถ้าหยุดความโกรธได้ทุกอย่างจะดี ซึ่งพี่ไม่เห็นด้วยเท่าไร  —  บางทียิ่งห้าม ยิ่งกด ก็จะยิ่งสร้างความรุนแรงให้รุนแรงมากขึ้น — สิ่งที่จะบอกก็คือ ในขณะที่โกรธ ในขณะที่ทะเลาะกัน ตระหนักได้ไหมว่า ในตัวของเราก็ยังมีอีกด้านหนึ่ง ที่ยังรักกันอยู่ ยังผูกพันกันอยู่ ในตัวเรามีทั้งสองด้าน ถ้ามีทั้งสองด้าน เราก็จะลดความรุนแรงลง — ฟังดูไม่ fundamentalist เลยนะครับ (หัวเราะกันครืน)

.

ในความสัมพันธ์ พวกเราทุกอยากเป็นคนน่ารัก อยากเป็นคนnice โดยเฉพาะกับคนที่เรารัก แต่พร้อมกันนั้นเราต่างก็เป็นมนุษย์ มีโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งห้ามไม่ได้ — เมื่อมีโทสะ รู้สึกโกรธขึ้นมา บ่อยครั้งที่ ลึกลงไปในความโกรธนั้น เราโกรธตัวเอง เราโกรธที่เราโกรธ — เราไม่น่ารักเท่าที่ควรจะเป็น เราผิดหวังในตัวเอง — แล้วถ้ายิ่งเรามีชุดความคิดแบบว่า ‘เราจะต้องไม่โกรธ เราต้องเป็นคนดีมีเมตตา’ — ขอโทษนะ… ตอนที่โกรธ เราเมตตาไม่ได้หรอก —ตอนที่กำลังทะเลาะ กำลังโกรธเราต้องการซัดกลับ …แล้วถ้าเราเผลอซัดเปรี้ยงกลับไป โลกภายในของเราก็ปั่นป่วน แหลกสลาย เสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในตัวเราโจมตีกลับมา “ทำไมเป็นคนอย่างนี้ล่ะ”  “ทำอย่างนั้นเข้าไปได้อย่างไร” “ทำไมแย่อย่างนี้”  ฯลฯ  —- สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ ใหญ่ยิ่งกว่าการทะเลาะเบาะแว้งเสียอีก

.

งั้น จะทำอย่างไรล่ะคะ

คำถามก็คือ เมื่อเกิดเรื่องดี หรือเกิดเหตุร้ายในความสัมพันธ์ สิ่งนั้นช่วยให้เรารู้ตัวมากขึ้นหรือเปล่า ? — สำหรับพี่ การจะเป็นคนดี หรือ เป็นคนร้ายกาจ — เป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือ เรารู้ตัวไหม

รู้ไหมว่าตอนนี้เรากำลังดี ตอนนี้เรากำลังร้าย ตอนนี้เรากำลังรู้สึกดี ตอนนี้เรากำลังรู้สึกร้าย — นี่ต่างหากที่สำคัญ เพราะแม้แต่ขณะที่กำลังรู้สึกดี ก็อาจจะร้ายขึ้นมาแบบไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น เรากำลังนั่งสบายๆ สงบๆ แหม..รู้สึกดีมากเลย แล้วก็มีคนเดินผ่านทำเสียงก๊อกแก๊ก เราก็แว้ดออกไปเลย นี่เป็นปัญหา — การรู้ตัวจึงสำคัญมาก

ถ้ารู้ตัว—รู้ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกดี พอมีเสียงรบกวน รู้ว่ากำลังไม่พอใจ เรามีทางเลือก

  1. เรามีโอกาสที่จะบอกเขาดีๆ ว่า “ผมกำลังสบายๆ อยู่เลย อย่าเพิ่งส่งเสียงรบกวนได้ไหม”
  2. เราก็อยู่ของเราไป เขาก็ทำอะไรของเขาไป
  3. ย้ายที่ — ไปหาที่ชอบ ๆ ของเรา (ฮา)

.

แปลว่า เราต้องฝึกให้ทันตัวเองใช่ไหมคะ

            (หัวเราะ) ช่วยโค้ดไว้เลยนะ “มันไม่ทันอยู่แล้ว” (หัวเราะอีก) —- เราต้องยอมให้ตัวเองรู้สึกนะ อย่าไปดักความรู้สึก รู้สึกเถอะ มันไม่เป็นไรหรอก ยอมที่จะรู้สึกโกรธ …ตอนนี้โกรธโว้ย … รู้…ไม่ใช่ดักเอาไว้ว่าต้องไม่โกรธ ต้องทัน ต้องกดความรู้สึก ไม่ใช่ — เรารู้สึกได้และควรจะยอมให้รู้สึกด้วย อย่าเป็นคนด้านชา ทำตัวให้ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย ถ้าเรายอมให้ตัวเองรู้สึก เมื่อเห็นว่าเรามีความรู้สึก เราจะพบด้วยตัวเองว่า เดี๋ยว(เรา)ก็ดี เดี๋ยว(เรา)ก็ร้าย …(ฮา)

.

เวลาที่เราโกรธกัน ทะเลาะกัน ปล่อยไว้สักพัก แล้วก็กลับมาดีกัน เหมือนกับว่าที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันโอเคไหมคะ

            อืมมม.. พี่ไม่ได้บอกว่าให้ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่ได้บอกว่าให้ประนีประนอม ให้หยวนๆ กันไป— แน่นอนว่า ถ้าทะเลาะกันบ่อยๆ ด้วยประเด็นเดิมๆ … ก็คงต้องหาเวลามานั่งคุยกัน แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ และเป็นการคุยที่จะช่วยคลี่คลายได้ ก็ต่อเมื่อ เราทั้งคู่ (หรือตัวเราเอง) ยอมรับความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว —- เมื่อเรายอมรับได้จริงๆ ว่าตอนนั้นเราโกรธ เราน้อยใจ เราผิดหวัง ฯลฯ เมื่อยอมรับความรู้สึกนั้นได้ เราจึงจะคุยกันได้ เพราะถ้าคุยกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง การคุยกันก็นำไปสู่การทะเลาะอีก

หลายคนอาจจะเคยเจอสถานการณ์ที่เรายอมรับความรู้สึกตัวเองได้ แต่คู่กรณีไม่ยอมรับความรู้สึกของตัวเขา แต่อย่างน้อยถ้าเรายอมรับความรู้สึกของตัวเองได้ มันก็มีแนวโน้มที่เราจะฟังได้มากขึ้น — เพราะเราไม่ได้ฟังในภาวะของเหยื่ออารมณ์ เหยื่อของความรู้สึก

.

พี่เห็นด้วยกับการนั่งลงคุยกัน แต่อยากย้ำว่า เราไม่สามารถนั่งคุยกันในภาวะของเหยื่อ — ถ้าพี่กำลังรู้สึกว่า พี่ตกเป็นเหยื่อในการกระทำของใครบางคน คำพูดของพี่ก็จะมีแต่การกล่าวโทษ ตำหนิ แล้วอีกฝ่ายก็จะโต้กลับมา มันไม่ช่วยอะไรเลย  

.

เราจะคุยได้ เมื่อเราตกผลึกกับตัวเองว่า สิ่งที่เขาทำ เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ และมันทำให้เราโกรธ เสียใจ น้อยใจ ฯลฯ — ไม่ต้องโอเคกับการกระทำของเขานะครับ ไม่ชอบก็ไม่ชอบ แต่อย่างน้อยเราต้องเห็นก่อนจริงๆ เลยว่า การกระทำนั้นมันคืออะไร และเราไม่ชอบ สิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกอะไร แล้วสื่อสารออกไป คุยกัน ยอมรับว่าเรากำลังเปราะบาง — เห็นไหมว่ามันไม่ง่าย ไม่ใช่เรื่องที่อ่านแล้วก็เข้าใจ

.

พี่ไม่มีเคล็ดลับนะครับ แต่ย้ำจริงๆ ว่าสิ่งที่พี่พูดเป็นเรื่องที่ต้องทำงานกับตัวอง และเป็นงานหนัก — ความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ เพราะเราลงทุนกันคนละครึ่ง เขา 50 และ เรา 50 … เขากับเรามีผลต่อความสัมพันธ์คนละครึ่ง — แต่เรารับผิดชอบความสัมพันธ์ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

.


อุ่ย!!

(หัวเราะ) ใช่ ! หมายความว่า ความสัมพันธ์นั้นจะดี หรือไม่ดี เรามีส่วนครึ่งหนึ่ง แต่การจะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเราทั้งหมด เรารับผิดชอบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ — มันไม่เกี่ยวกับคู่ของเราว่า เขาเป็นคนดี หรือเขาเป็นคนไม่ดี แต่มันขึ้นกับการตัดสินใจของเรา

เราดึงดูดกันเพราะความต่าง เมื่อได้มาอยู่ร่วมกัน อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงให้เขามาเป็นเหมือนเรา หรือเปลี่ยนให้เขาเป็นไปอย่างใจเรา — มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครอยากเปลี่ยนตัวเองหรอก เขาจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเจ้าตัวอยากเปลี่ยน ไม่ได้เปลี่ยนเพราะมีคนอยากให้เปลี่ยน นี่เป็นความจริง

ตัวพี่ไม่ค่อยมีระเบียบ ไม่เป็นที่เป็นทาง แต่พี่กุ้ง (ภรรยา) เป็นคนมีระเบียบ เขาเป็นนักจัดการ เป็นที่เป็นทาง เป็นระบบระเบียบ — เมื่ออยู่กันมาเรื่อยๆ ตัวพี่มีระเบียบมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเขาบ่น บังคับ หรือเพราะพี่อยากจะเอาใจเขา แต่พี่หัดมีระเบียบเพราะเห็นว่าการมีระเบียบซะบ้างก็เป็นสิ่งที่ดีนะ มันทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เข้าที่เข้าทาง สม่ำเสมอ แล้วพี่ก็ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ — ต่างกันมากเลยระหว่างการทำเพื่อเอาใจ ตัดรำคาญ กับทำเพราะความสมัครใจ ทำเพราะเราเลือกแล้วว่าจะทำ

.

แม้พี่จะบอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จหรือเครื่องมือรับประกันความสัมพันธ์ แต่ก็ยังอยากขอความหวังต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่นะคะ รบกวนพี่อู๊ดทิ้งท้ายสักหน่อย

พี่ไม่สนับสนุนการอยู่กันไปเพราะทนๆ กันไป เพราะจริงๆ แล้วไม่มีใครอยู่ได้ด้วยการทน แต่เราอยู่ด้วยกันและเห็นว่ามีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นระหว่างเรา ได้เห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา ได้เข้าใจ เรารู้ว่าเราอยากรักษาอะไรไว้ และรู้ว่าเราต้องไม่ข้ามเส้นอะไรบางอย่าง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงบอกว่า พี่ไม่ใช่ต้นแบบที่จะให้ใครเดินตาม ไม่ได้บอกว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วคู่ของคุณจะอยู่ได้ พี่ไม่มีกรอบอย่างนั้น การรู้จัก Voice Dialogue ไม่ได้ทำให้การทะเลาะ การถกเถียงหายไป (และมันจะไม่หายไป) — ดังนั้นถ้าคาดหวังว่า เครื่องมือใหม่ๆ จะทำให้ความขัดแย้งหายไป ก็จะผิดหวัง — แต่ถ้าเรารู้ตัวความสัมพันธ์นี้ทำให้เรารู้ตัวมากขึ้น รู้จักตระหนักในตัวเอง ตระหนักในคุณค่าของอีกฝ่าย ตระหนักในคุณค่าของความสัมพันธ์ ชีวิตคู่หรือความสัมพันธ์ก็ไปต่อได้เรื่อยๆ

.

*ดร.ฮัน และ ดร.ซิดร้า สโตน (Hal Stone & Sidra Stone) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้คิดค้นศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ Voice Dialogue กรุณาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.voicedialogueinternational.com/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save