เรดาห์รับความสุข
ความสุขไม่ใช่แค่ความสำเร็จหรือการไม่มีทุกข์ แต่ความสุขมีหลายด้าน เราอาจจะต้องคอยตั้งเรดาห์รับความสุขให้ดีและละเอียด ถ้าเรดาห์ไปรับความทุกข์ ก็ต้องปรับให้ไปสู่การเรียนรู้และหาทางออก
.
.
ทีมงานความสุขประเทศไทยนัดคุยกับ อาจารย์ ธนา อุทัยภัตรากูร อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมบัณฑิต สถาบันอาศรมศิลป์ เพื่อชวนคุยเรื่อง ความสุขจากการทำงาน พอเริ่มคำถามแรกว่า “อาจารย์คิดว่าความสุขจากการทำงานมีจริงๆ ใช่ไหมคะ” อาจารย์เงียบไปนิดหน่อยแล้วตอบ .. “นั่นสินะ ผมก็สงสัยอยู่” — แล้วทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ก็หัวเราะกันทั้งคู่ — แต่เชื่อเถอะค่ะว่าเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ ผู้อ่านจะสัมผัสได้ว่าความสุขจากการทำงานมันมีอยู่จริง ท่ามกลางความยาก ท้าทาย (และถาโถมในบางครั้ง) ความสุขก็ยังคงมีอยู่
.
ความสุขที่แตกต่าง
ผมเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พอเรียนจบก็ทำงานเป็นสถาปนิก งานสถาปนิกเป็นงานหนักแต่ถ้าเราสนุกกับมัน งานหนักก็ไม่ได้เป็นปัญหา ผมทำงานแบบนั้นอยู่ราวๆ 1 ปี ต่อมาผมได้ไปเรียนรู้การทำบ้านดินกับพี่โจน จันได ในช่วงต้นปี 2545 ซึ่งพี่โจนยังไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแบบวันนี้ — เริ่มต้นด้วยความสนุก พวกเราได้สร้างห้องสมุดดิน สร้างอาคารอเนกประสงค์ในชุมชนต่าง ๆ เห็นคนได้ประโยชน์ ทั้งประโยชน์จากการมีอาคาร และประโยชน์จากการได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้เจอคนที่หลากหลาย เหล่านี้ส่งผลให้ผมทำงานนี้ต่อเนื่องจนเป็น ผู้จัดการโครงการบ้านดิน การได้เจอผู้คนที่หลากหลายทำให้ผมเข้าใจสังคมของเราขึ้นมาก ผมอยู่กับโครงการและทำหน้าที่เกือบทุกอย่างอยู่ 7 ปี — ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 ปี ก็มีทั้งความสนุก ความสุข และความทุกข์ปะปนกันไป ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง มีเรื่องท้าทายหลายด้าน แต่การทำบ้านดินซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติแท้ๆ ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายเรื่อง
.
ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จากผู้คนที่หลากหลายไปจนถึงมุมมองต่อการใช้ชีวิต ทั้งจากพี่โจนและชาวบ้านทั่วไป พร้อมกันนั้นผมก็ได้ใช้ความรู้และทักษะที่มีอยู่ ทำให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านได้จากการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาง่ายในท้องถิ่น
ในอีกด้าน การทำบ้านดิน ทำให้เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจธรรมชาติของดินซึ่งเราไม่สามารถบังคับให้เป็นไปอย่างใจที่เราต้องการ สิ่งที่เราทำได้คือ การปรับความต้องการของเราให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของดินผมรู้สึกว่านี่เป็นแนวคิดแบบตะวันออก ซึ่งถึงที่สุดมันไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของดิน แต่เรายังเข้าใจธรรมชาติของคน ธรรมชาติของสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ด้วย ทำให้เราทุกข์น้อยลงกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา
.
ช่วงทำโครงการบ้านดิน มีหลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้ ทั้งธรรมชาติของดิน การได้ลงมือทำ ได้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น และได้เรียนรู้จากชาวบ้าน มีครั้งหนึ่งพวกเราจัดมหกรรมสร้างบ้านดินทั้งชุมชน มีชาวต่างประเทศมาร่วมด้วย บ้านแต่ละหลังในชุมชนมีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่เป็นห้องนอนห้องเดียว (หรือมีระเบียงเป็นที่นั่งใต้หลังคาด้านนอก) ชาวต่างประเทศถามผมว่า “ห้องนั่งเล่นอยู่ตรงไหน” – ผมกลับมานึกถึงตอนสมัยเรียนว่า เออ…จริง ธรรมดาบ้านต้องมีห้องนั่งเล่น ทำไมถึงไม่มี ผมเลยหันไปถามชาวบ้านคนนึงว่า “ทำไมถึงไม่มีห้องนั่งเล่น” เขาตอบว่า “ข้างนอกมีร่มไม้ให้นั่งเล่นสบายๆ เยอะแยะ ไปนั่งอุดอู้อยู่ในบ้านทำไม” ผมถึงได้คิดว่าเออจริง ทำไปเราถึงติดวิธีคิดตามตำรา ทั้ง ๆ ที่ภูมิอากาศแบบบ้านเรา การอยู่ใต้ร่มไม้นี่สบายมาก
.
การทำงานในโครงการบ้านดิน ให้ความสุขทั้งจากการเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง ได้ใช้ความรู้ ทักษะ และศักยภาพให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น จบการอบรมหนึ่งครั้งเห็นบ้านใหม่หนึ่งหลัง เห็นคนที่เรียนรู้ไปด้วยกันภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง ในตอนนั้นแม้จะมีรายได้น้อยแต่ก็ร่ำรวยเพื่อนและมีความสุขอยู่กับความเรียบง่าย การจะเปรียบเทียบความสุขของการป็นสถาปนิกที่ได้ออกแบบบ้านให้ใครสักคนกับความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้สังคมผมว่ามันเทียบกันไม่ได้ ตราบใดที่เราทำเต็มที่แล้ว ความสุขก็เกิดขึ้นได้
.
โครงการหอศิลป์ไม้ไผ่
ต่อมา โครงการบ้านดินประสบปัญหาด้านการเงินทุน ผมอยากเรียนต่อเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่ไม่อยากเรียนด้วยการอ่านตำราในระบบแล้ว ในช่วงเวลานั้น สถาบันอาศรมศิลป์ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากการทำงานจริงเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ประกอบกับ อ.ธีรพล นิยม ผู้ก่อตั้งสถาบัน ติดต่อมา ชวนให้ผมไปเรียน ผมจึงตัดสินใจเรียนต่อ
โครงการหอศิลป์ไม้ไผ่เป็นความสนใจร่วมของผมซึ่งมีประสบการณ์ในการทำบ้านดิน กับสถาบันฯ ซึ่งสนใจวัสดุธรรมชาติ ไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในบ้านเรา จึงได้เริ่มต้นศึกษาการใช้ไม้ไผ่ในงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่มาของโครงการหอศิลป์ไม้ไผ่และเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผม
ความสุขในการทำงาน
ผมเคยทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทเล็ก ๆ และทำโครงการบ้านดินแบบ NGOs — สถาบันอาศรมศิลป์ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ด้านหนึ่งอาศรมศิลป์เป็นสำนักงานที่แม้จะไม่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด แต่ก็ควรจะมีรายได้เพียงพอที่จะดำรงอยู่ได้ในระยะยาว ไม่ใช่องค์กรพัฒนาเอกชนที่เมื่อโครงการจบก็ไม่มีเงินเหลือ แล้วจำเป็นต้องเลิกไป เมื่อเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่คนทำงานก็จะต้องปรับตัว
ถ้าเทียบกับสมัยที่เป็นผู้จัดการโครงการ ผมเปรียบเสมือนเป็นหุ่นตัวหนึ่ง ที่กำลังขับเคลื่อนงานบางอย่าง มีความสุขแบบหนึ่ง ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการอยากจะทำ เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเราและทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ในปัจจุบันผมอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ได้ขับเคลื่อนองค์กรด้วยตัวเองคนเดียวเหมือนแต่ก่อน เป็นเสมือนฟันเฟืองหนึ่งในหุ่นตัวใหญ่กว่าเดิม ซึ่งแม้ว่าผมจะไม่ใช่ผู้ขับเคลื่อนหลัก แต่ผมรู้ว่า
.
ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หุ่นตัวนี้ขับเคลื่อนไป และรู้ว่าหุ่นตัวนี้กำลังทำอะไรที่เป็นประโยชน์อยู่ นี่เป็นความสุขในสมดุลอีกแบบหนึ่ง
.
ถาม: ถ้าเราเป็นฟันเฟืองอยู่ในหุ่นที่เราไม่รู้ว่ากำลังขับเคลื่อนอะไร เราจะมีความสุขได้ไหม
อืมมม ผมคิดว่ามีบางคนที่อาจไม่ได้สนใจสิ่งอื่น ๆ นอกจากงานหรือภารกิจที่เขาทำอยู่ตรงหน้า เขามีความสุขในงานที่ตนรับผิดชอบ และมีความสุขทันทีที่ทำงานบางอย่างสำเร็จเสร็จสิ้น ผมคิดว่ามันก็เป็นเรื่องดี — แต่บางทีหุ่นที่เราเป็นกลไกอยู่อาจกำลังขับเคลื่อนไปในทางไม่ควร ซึ่งเราก็ควรจะหาโอกาสสะท้อนกลับไปที่องค์กร เพื่อให้งานที่เราทำอยู่ให้ผลทั้งความสุขเฉพาะหน้าและสุขจากผลของงานในภาพรวม
.
ถาม: อาจารย์เป็นอาจารย์ ซึ่งใครๆ ก็ว่าเป็นอาชีพที่ท้าทายในยุคนี้ อาจารย์หาความสุขจากการเป็นครู-อาจารย์อย่างไร
แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ต่างจากคนรุ่นผม เพราะบริบทแวดล้อมในช่วงที่เติบโตมาต่างกันมาก ท้าทายมากครับ
การเป็นครู-อาจารย์ การอยู่กับคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ไม่มีวิธีการที่ตายตัว ไม่มีสูตรสำเร็จ และวิธีการเดิม ๆ อาจจะใช้ไม่ได้ — วิธีการนี้อาจใช้ได้ดีกับเด็กคนหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้กับอีกคน สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่การมองนักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเอง(ตัวครู) ไปด้วยกัน ซึ่งพูดแล้วฟังดูดีนะครับ แต่ทำจริงมันก็ไม่ง่าย
.
พอนักเรียนมีความหลากหลาย การเรียนการสอนเป็นกลุ่มก็มีความท้าทาย บางคนอาจชอบการให้แค่โจทย์กว้าง ๆ เพื่อที่เขาจะลองแสวงหาวิธีการทำงานด้วยตัวเอง ขณะที่บางคนต้องการคำแนะนำว่าเขาควรจะทำอย่างไร หรือมีแม้กระทั่งบางคน ที่ไม่ต้องการคำแนะนำแต่ก็วางแผนการทำงานเองไม่ได้ ครูก็ต้องหาวิธีการ ช่วยตั้งคำถามเพื่อให้เกิดคำตอบขึ้นในใจของเขาเอง เป็นต้น
การพัฒนาคนเป็นเรื่องยากและท้าทาย เราอาจจะล้มเหลวหลายครั้งแต่ต้องให้อภัยทั้งนักเรียนและตัวเองนะครับ มองให้เห็นความสำเร็จและพัฒนาการเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น อย่าจ้องที่ความล้มเหลวในฐานะข้อผิดพลาด แต่มองเป็นโจทย์เพื่อให้เราหาวิธีการหรือทางออกใหม่ ๆ ซึ่งเราสามารถหาคำตอบร่วมกับนักศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดกับสถานะของความเป็นอาจารย์
.
ถาม: การทำงานย่อมมีความขัดแย้ง อาจารย์มีมุมมองต่อความขัดแย้งอย่างไร
ผมคิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องระวัง อย่าให้ความขัดแย้งเรื่องงานกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล — ความขัดแย้งเรื่องงานเกิดขึ้นเพราะต่างคนต่างก็อยากให้งานออกมาดี แต่เรามีความคิด วิธีการ ความเชื่อต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เราควรจะถกเถียงเรื่องงานกันให้เต็มที่ (โดยไม่ใช้อารมณ์) และเข้าใจให้ตรงกันว่านี่ไม่ใช่ความขัดแย้งกับตัวบุคคล
.
เมื่อมีความขัดแย้งก็มีวิธียุติความขัดแย้ง ซึ่งมีหลายวิธีโดยเอางานเป็นที่ตั้ง เช่น ถ้าเถียงกันแล้วหาข้อยุติในงานไม่ได้เพราะเหตุผลดีทั้งคู่ คำถามก็คืองานนั้นทำเพื่อใคร ถ้าทำเพื่อชุมชนก็ให้คนชุมชนเป็นผู้ตัดสิน เขาจะเอาแบบไหน ให้เขาเลือก — มันไม่ใช่งานของผม หรืองานของคุณ แต่เป็นงานเพื่อประโยชน์ของชุมชน
ถ้าสรุปไม่ได้ เพราะยังตอบคำถามของอีกฝ่ายได้ไม่ชัดเจน ข้อมูลไม่พอ ก็ไปหาข้อมูลเพิ่ม เมื่อมีข้อมูลพร้อมทุกฝ่าย ก็มาพิจารณากันจากข้อมูลที่มี
.
หรือถ้ายังไม่ได้จริง ๆ ก็ให้อำนาจแก่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจ ตอนที่ผมทำงานสถาปนิกใหม่ๆ หัวหน้าบอกผมว่า “เราเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ถ้ามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เราก็แลกเปลี่ยน ทักท้วง แล้วตัดสินใจร่วมกันอย่างเท่าเทียม แต่ถ้ากรณีไหนที่เห็นไม่ตรงกันและหาข้อยุติไม่ได้ เขาขอเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะเขาคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นในฐานะหัวหน้า” — ผมคิดว่านี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องที่ตรงไปตรงมาที่สุด และผมมีความสุขกับความสัมพันธ์แบบนั้นมาก แทบจะไม่เคยเกิดข้อขัดแย้งในการทำงานร่วมกันเลย
ทิ้งท้าย
ผมคิดว่า ความสุขจากการทำงานไม่ใช่แค่ความสำเร็จ หรือการไม่มีทุกข์ แต่ความสุขจากการทำงานมีหลายด้าน ทั้งสุขจากการเรียนรู้ สุขจากความสัมพันธ์ที่ดี สุขจากความสำเร็จเล็ก ๆ (แม้จะเจอความล้มเหลว) เราอาจจะต้องคอยตั้งเรดาห์รับความสุขของเราให้ดีและละเอียด ถ้าเรดาห์มันไปรับความทุกข์ ก็ต้องปรับให้ไปสู่การเรียนรู้และหาทางออก เพื่อให้ครั้งต่อไปเราพัฒนาตัวเองขึ้นให้ได้
ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ
.
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ สถาบันอาศรมศิลป์ https://www.arsomsilp.ac.th/