8 ช่องทางความสุข

สุขเมื่อได้ทำ

ถ้าเราอยู่ระดับ 1 แต่เปรียบเทียบกับระดับ 10 เราจะไม่มีความสุขเลย เพราะจินตนาการ รสนิยมของเรา กับทักษะที่มีในปัจจุบันมันไม่ไปด้วยกัน สิ่งสำคัญที่จะช่วยเราได้คือจำไว้ว่า แม้จะอยู่ระดับ 1เราก็มีความสุขได้ สนุกที่ได้ลงมือทำ

.

นรินทร์ เตโชติอัศนีย์ (หนู) เป็นนักเรียนศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ซึ่งถูกนำมาใช้ในระบบการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ นักเรียนศิลปะบำบัดกลุ่มนี้รวมตัวกันในชื่อ Art Goddess ความมุ่งหมายของกลุ่มมีเพียงเพื่อ ไปด้วยกัน ฝึกด้วยกัน แบ่งปันและให้กำลังใจกันและกัน

.

หนูเรียนจบด้านการจัดการโรงแรมจาก University of South Carolina พ่วงปริญญาอีกสองใบด้านงานบริหาร ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ในวิชาชีพศิลปะ แต่….. “หนูสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ อยากระบายสี แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ ไม่เก่ง ทำทีไรก็ไม่สวยสักที” – –หลายคนก็คงมีความรู้สึกทำนองนี้ งั้นเราลองมาฟังนักเรียนศิลปะคุยสักทีว่า ศิลปะจะทำให้มีความสุขได้อย่างไร

.

จากผู้บริหารสู่นักเรียนศิลปะบำบัด

เมื่อเรียนจบด้านบริหารงานโรงแรม ทำงานและเติบโตในงานบริหารธุรกิจ หนูมีสิ่งหนึ่งที่ต้องบริหารคือการดูแลความเครียดและแก้ปัญหาให้เพื่อนร่วมงาน เธอจึงหันมาสนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนการเรียนรู้’ ซึ่งรวมถึงการเป็นโค้ช (Life Coach) เพื่อนำทักษะและความรู้นั้นกลับเข้ามาแก้ปัญหาในที่ทำงาน “พอทำไปได้สักระยะ หนูพบข้อจำกัดของการดูแลใจหรือบำบัดด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว บางครั้งเมื่อตัวเราเต็มไปด้วยสภาวะอึดอัด เต็มไปด้วยความรู้สึกที่อัดแน่น ณ ขณะนั้นไม่มีคำพูด หรือ พูดออกมาไม่ได้ จึงเริ่มมองหาวิธีการอื่นๆ”

ด้วยความที่สนใจศิลปะเป็นทุนเดิม หนูจึงคิดที่จะใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างการผ่อนคลาย เธอเข้าไปดูยูทูป หาหลักสูตรอบรมออนไลน์ บางทีเห็นการสอนเทคนิคการใช้สีง่ายๆ เพื่อให้ได้ผลงานที่สวยงาม หนูก็ลอง

.

“หนูเห็นในยูทูปเขาแต้มๆ สี แป๊บๆ ผลงานก็สวยเชียว พอลงมือทำบ้างก็ไม่เห็นจะสวยเลย เห็นเขาสาดสีเราก็สาดบ้าง เอ้า! เละ!!  พอเจอแบบนี้เราก็ไม่ get สักที ที่ใครๆ บอกว่าอยู่กับศิลปะแล้วจะมีความสุข — เราไม่เห็นเลยว่ามันผ่อนคลายยังไง เครียดด้วยซ้ำ— แต่ลึกๆ หนูก็ยังอยากระบายสีแต่ไม่กล้า พอจะเริ่ม คำถามก็มา มันจะใช่ไหมนะ มันจะถูกไหมนะ มันจะได้ไหมนะ เดี๋ยวก็เละอีก … ก็เลยไม่ทำ ประสบการณ์ที่เลวร้ายคือ ครูให้วาดรูปน้ำตก หนูวาดหน้าผา 2 ด้าน มีน้ำตกอยู่ตรงกลาง พอเสร็จออกมามันกลายเป็นปอด !!…รู้สึกแย่มากๆ ค่ะ” (หัวเราะ)

.

“มีการอบรมครั้งหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับศิลปะ การอบรมนั้นเขาให้ลองสาดสี หนูทำและก็เหมือนเดิมคือ รู้สึกแย่มาก ไม่สวยเลย แต่พอเพื่อนร่วมการอบรมมาดูกลับชมว่า งานสวยจัง — เป็นครั้งแรกที่รู้สึกสะกิดใจ ‘สายตาที่เรามีต่อตัวเองเป็นสายตาแบบไหน เราจะเปลี่ยนดวงตาช่างตำหนิของเราเป็นดวงตาที่จะเห็นความสวยงามได้หรือเปล่า’ — นั่นคือจุดเริ่มต้น”

คนกลัวศิลปะ ระบายสีไม่เก่ง วาดรูปไม่เป็น จะมีความสุขจากศิลปะได้ไหม

ในมุมมองของมนุษยปรัชญา ศิลปะมีทั้งการวาดรูป การลากเส้น การระบายสี การปั้น ดนตรี การเต้นรำรวมทั้งยูริธมี (Eurythmy) ซึ่งจะเห็นว่ากว้างมาก แค่ระบายสีก็มีสีตั้งหลายประเภท สิ่งสำคัญที่ครูบอกก็คือ ‘ถ้าเราอยากมีความสุขจากศิลปะขอให้ อย่าเปรียบเทียบงานของเรากับงานคนอื่น’ ถ้าเราอยู่ระดับ 1 แต่เปรียบเทียบกับระดับ 10 เราจะไม่มีความสุขเลย เพราะจินตนาการ รสนิยมของเรา กับทักษะที่มีในปัจจุบันมันไม่ไปด้วยกัน สิ่งสำคัญที่จะช่วยเราได้คือจำไว้ว่า แม้จะอยู่ระดับ 1 เราก็มีความสุขได้ เราสนุกที่ได้ลงมือทำ ความสนุกและความสุขจะพาให้เราทำบ่อยๆ ทำได้เรื่อยๆ ชอบที่ได้ทำ แล้วพัฒนาการก็จะเกิดขึ้นเอง เมื่อเราดูงานชิ้นแรกกับงานชิ้นที่ 10 เราจะเห็นการเติบโตของตัวเอง แล้วความมั่นใจ ความภูมิใจก็จะเกิดขึ้น

ประเด็นที่สองที่จะต้องเตือนกันก็คือ อย่าพาตัวเราและงานของเราไปอยู่ในพื้นที่ของคนช่างวิจารณ์ เพราะเสียงวิจารณ์ภายในของเราก็หนักพออยู่แล้ว อย่าให้เสียงภายนอกมาซ้ำเติมเราอีก ในช่วงแรกขอให้มีความสุขกับงานของเรา ค่อยๆ ทำ ถ้ามีเพื่อนขอให้ทำกับเพื่อน ให้กำลังใจกัน เมื่อได้กำลังใจจากเพื่อนหรือจากครูมากพอ เราจะมีกำลังใจจากภายในเพิ่มขึ้น มั่นใจมากขึ้น จากนั้นเราจะทำไปได้เองเรื่อยๆ มีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ

.

เริ่มอย่างไรดี

ลองจัดเวลาสัก 30-60 นาที หาสีฝุ่น (soft pastel) หรือ สีน้ำ (water color) หนูแนะนำสีประเภทนี้เพราะให้ความรู้สึกนุ่มและสว่าง ไม่จำเป็นต้องใช้สีราคาแพง

ลำดับถัดมา ขอให้ลองใช้สีสัก 2 สี หรือ 3 สี โดยเริ่มจากแม่สี (น้ำเงิน เหลือง แดง) เช่น เริ่มจากการเล่นสีเหลืองกับสีน้ำเงิน (สองสีนี้เล่นง่าย สวยแน่ๆ — เธอว่า) ลองเล่นทีละสี ให้สีเป็นเพื่อนของเรา ค่อยระบาย ทำความรู้จักสี จากนั้นค่อยๆ ให้สองสีได้มาเจอกัน เมื่อสีเหลืองกับสีน้ำเงินมาเจอกันเราจะเห็นสีเขียว พอเล่นไปเรื่อยๆ เราจะเห็นสีเขียวหลายๆ เฉด ลองหยุดดูว่าเขามีรูปร่างไหม ถ้ามีก็ลองทำรูปร่างให้ชัดขึ้น เท่านี้ก็มีความสุข หรือจะไล่เฉดสีไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเป็นรูปร่างก็ได้

ลองทำสายรุ้งก็ได้ ก่อนวาดรุ้งลองเงยหน้ามองท้องฟ้าสักหน่อย…ถ้ามีรุ้ง รุ้งนั้นจะเป็นยังไง แล้วค่อยๆ ไล่สี

.

กลัวเละ จะยังไงดี ?

(หัวเราะ) ไม่เละหรอกค่ะ มันจะสวยในแบบของเรา ลองทำก่อน ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำ ไม่รีบ— เมื่อเราเริ่มลงสี สีจะทำงานกับดวงตาของเรา ทำงานกับสมอง สมองจะเริ่มจำความสวยงาม เมื่อเริ่มขยับมือ สมองดวงตา กล้ามเนื้อมือ จะเริ่มทำงานไปพร้อมๆ กัน พาให้เราเข้าสู่สมดุล หยุดความกังวลและความวุ่นวายชั่วครู่ —ถ้าชีวิตของเรายุ่งมาก ต้องทำหลายเรื่องหลายสิ่ง การระบายสีในมันดาลาทีละช่อง ๆ ช่วยได้มาก ระบายทีละช่องจนครบวง ไม่หวังความสวยงามหรือความสำเร็จ การเยียวยาเกิดในทันที สิ่งที่ตามมาคือความสุข ความภูมิใจ ศิลปะทำให้เกิดความสุขแบบนี้ ถ้าได้ทำบ่อยๆ เราจะเห็นการเติบโตของตัวเอง

ในโลกนี้มีศิลปะที่เยียวยาคนทำ กับ ศิลปะที่เยียวยาคนดู แต่ไม่มีศิลปะที่ถูกต้อง — ศิลปะที่เยียวยาคนดูคือศิลปะสวยๆ ที่เราเห็น ศิลปะที่เยียวยาคนทำก็เพราะเราได้ทำ

ความสุขคือการได้ทำ ความสุขอยู่ ณ ตรงนั้น ตอนนั้น

.

ทิ้งท้าย

หนูไม่คิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์นะคะ แต่หนูชอบสีและอยากลองทำศิลปะ เมื่อได้ลองทำ มีเพื่อน เห็นการเติบโตของตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใครๆ ทำให้หนูเชื่อจริงๆ ว่าศิลปะสร้างความสุขได้จึงอยากชวนให้คนที่สนใจได้ลองทำ บางทีเรามีสิ่งอึดอัดอยู่ภายในแต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราให้สีช่วยพาสิ่งที่เก็บไว้นั้นออกมา แล้วเราก็สบายขึ้น การทำศิลปะแบบนี้ไม่ใช่ศิลปะเพื่อความสวยงาม แต่ช่วยให้เราสบายขึ้น

สิ่งที่อยากฝากก็คือ อย่าวิจารณ์ศิลปะของใครๆ โดยเฉพาะกับเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่าโลกภายในของเด็กเป็นอย่างไร เขาอาจจะมีพระอาทิตย์สีม่วง มีไดโนเสาแบบเฉพาะตัว ปล่อยให้เขาได้ทำตามจินตนาการ การวิจารณ์ คำตำหนินอกจากไม่ช่วยแล้วยังอาจจะสร้างบาดแผลด้วยค่ะ

………………………………………………….

กลุ่ม Art Goddess เป็นกลุ่มนักเรียนศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา เป็นกลุ่มศึกษาและทำงานศิลปะร่วมกัน และในเดือนตุลาคม 2565 นี้ นักเรียนกลุ่มนี้จะได้ประกาศนียบัตรเป็น นักศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญาแล้ว ติดตามงานของกลุ่ม Art Goddess ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ: Art Goddess https://www.facebook.com/456sjourney

ศิลปะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save