ถังพลังงานของมนุษย์
“เมื่อไม่มีความสุขจากความสัมพันธ์ มนุษย์เราจึงรู้สึกหมดพลังงาน”
.
.
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พวกเราต้องการความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน เด็กทารกไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่มีความสัมพันธ์ ผู้ใหญ่ก็ไม่ต่างกันนัก แม้แต่คนที่ ‘ชอบอยู่คนเดียว’ ก็ยังต้องการความสัมพันธ์อยู่นั่นเอง ในโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เราอาจจะรู้สึกเชื่อมโยงใกล้ชิดกับคนที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง แต่กลับรู้สึกแปลกแยกแตกต่างกับคนร่วมหลังคาเดียวกัน … ความสุขในความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เราลองมาคุยเรื่องนี้ด้วยกันกับอาจารย์ณัฏฐ์ เพิ่มทรัพย์ หรือ โค้ชณัฏฐ์ Executive Coach วิทยากร ผู้ก่อตั้งสถาบัน The Essential Coach สถาบันการสอนและฝึกการเป็นโค้ช
.
ความสุขจากความสัมพันธ์คืออะไรคะ
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยู่ในใจผมเสมอ THE TOP FIVE REGRETS OF THE DYING : BRONNIE WARE เป็นเรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกว่า ทำงานไม่มากพอ หรือขยันไม่พอ แต่ส่วนใหญ่กลับบอกว่า อยากให้เวลากับคนที่รักมากกว่านี้ อยากดูแลพ่อแม่มากกว่านี้ อยากอยู่กับลูกมากกว่านี้ .. เรื่องที่ผู้ป่วยเสียใจหรือเสียดาย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งนั้น
.
จริง ๆ แล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นส่วนสำคัญของความสุขในชีวิต หากถามว่าเราอยากได้อะไร คนส่วนใหญ่อาจตอบว่า อยากได้การยอมรับ อยากประสบความสำเร็จ อยากหาเงินเลี้ยงชีพ แต่เมื่อถามลึกลงไปว่า อยากประสบความสำเร็จไปทำไม ? อยากมีเงินสิบล้านร้อยล้านไปทำไม? หลายครั้งคำตอบจะกลับมาที่ความสัมพันธ์ ‘อยากให้พ่อแม่ภูมิใจ’ ‘อยากให้ลูกได้เรียนสูง ๆ’ — บางคนอาจรู้สึกว่า ยิ่งขยันทำงาน ยิ่งทำเงินเป็นสิบล้านร้อยล้าน แต่กลับรู้สึกว่าชีวิตยังไม่ค่อยเติมเต็มสักเท่าไร นั่นอาจจะมีที่มาจากความสัมพันธ์ครับ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับแฟน กับเพื่อน กับพ่อแม่ หรือแม้แต่กระทั่งความสัมพันธ์กับตนเอง มีประโยคหนึ่งที่ผมเคยได้ยิน “ไม่มีเรื่องใดจะน่าเศร้าไปกว่าการปีนเขามาตลอดชีวิต และเมื่อไปถึงยอดเขา กลับพบว่านี่ไม่ใช่ยอดเขาที่เราอยากจะปีน”
.
ตัวผมเองเคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ช่วงวัยหนึ่ง ผมอยู่บ้านเดียวกันกับพ่อแม่ แต่ไม่ได้เจอหน้าท่านทั้งสองกว่าสองสัปดาห์ก็มี เพราะตัวเองต้องออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้า พ่อแม่ยังไม่ตื่น พอเลิกงานก็หากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อเลี่ยงรถติด ไปฟิตเนตบ้าง ไปออกกำลังกาย ฯลฯ กลับมาถึงบ้านพ่อแม่นอนแล้ว — เราจะรู้สึกได้เลยว่า งานไม่มีปัญหา สุขภาพก็โอเค แต่ชีวิตไม่(เติม)เต็ม เพราะขาดความสัมพันธ์ ผมเลยคิดว่า ความสุขจากความสัมพันธ์น่าจะเป็นถังพลังงานหนึ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน
.
รับฟัง เข้าใจ ยอมรับ
อาจารย์ณัฏฐ์ให้ทัศนะพื้นฐานซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญอันจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี มันประกอบด้วย 3 คำ คือ รับฟัง เข้าใจ ยอมรับ
การให้เวลา แท้จริงแล้วคือการให้ชีวิตส่วนหนึ่งของเรานั่นเอง ดังนั้นการให้เวลาอย่างแท้จริง จดจ่อ และใส่ใจจึงเป็นการบอกกับคู่สนทนาว่าเขามีค่าอย่างมาก
แค่ฟังก่อน ไม่พูดแทรก ไม่ตั้งคำถาม พอมีคนตั้งใจฟังจริง ๆ เราก็อยากเล่า การฟังเป็นประตูสู่หลาย อย่างในความสัมพันธ์ การฟังแสดงให้รู้ว่า ‘คุณเป็นคนสำคัญ คุณมีค่าสำหรับผม ผมถึงมอบเวลาตรงนี้ให้สำหรับคุณ ฟังเพื่อรับรู้ปัญหา ฟังเพื่อร่วมยินดี ฟังเพื่อสนับสนุน ฟังสิ่งที่ไม่กล้าเปิดเผย ฟังคำที่อยากบอก…’
ผู้เขียนพยักหน้าหงึกหงักแสดงภาษากายว่าเห็นด้วยเต็มที่ แม้อาจารย์จะไม่เห็น แต่เชื่อว่าอาจารย์รับทราบ เพราะเรา “ฟัง” กันผ่านทางโทรศัพท์ —
.
ผมเคยได้ฟังอาจารย์ธนา นิลชัยโกวิทย์ จิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องนพลักษณ์ เคยพูดถึงงานด้านการพัฒนาผู้คนว่า หากมีสักหนึ่งคนที่เปลี่ยนแปลงก็คุ้มสำหรับผู้สอนแล้ว คำพูดนี้ประทับอยู่ในใจผมมากตอนนี้ ทุกครั้งที่ผมจัดเวิร์คช้อป ผมจะบอกตัวเองเสมอว่า ถ้ามีพ่อสักคนกลับไปฟังลูก หัวหน้าสักคนกลับไปฟังลูกน้อง ลูกสักคนหันไปฟังพ่อแม่สูงวัย ก็คุ้มค่าแล้วสำหรับผม เพราะผมเชื่อ 100 เปอร์เซ็นว่า คนทุกคนบนโลกต้องการผู้ฟังที่ดีในชีวิตสักคนหนึ่ง รับฟัง เข้าใจ ยอมรับ ไม่ว่าจะอยู่ Gen อะไร วัยไหน เพศไหน คุณก็เป็นคนสำคัญ
นี่เองจึงเป็นที่มาของ โครงการฟังใจลูก ที่อาจารย์ณัฏฐ์ร่วมกับธนาคารจิตอาสาจัดขึ้นเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสามารถในการรับฟังลูก เพื่อให้ลูกๆ มีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะพูดคุย หรือขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ได้
เพราะเมื่อคนในครอบครัว คนที่รักเขามากที่สุด ไม่สามารถรับฟังเด็ก ๆ ได้อย่างเปิดใจ ซึ่งก็จะทำให้เด็ก ๆ ไม่เปิดใจกับเราเช่นกัน เมื่อใจปิดแล้ว คำแนะนำต่างๆ ของเราที่มาจากความรักความหวังดี ก็จะไปไม่ถึงเด็กๆ และเด็กก็จะออกไปหาคำแนะนำ การแก้ปัญหาเพื่อนวัยเดียวกัน มีวุฒิภาวะและประสบการณ์ชีวิตใกล้เคียงกัน (ซึ่งค่อนข้างมีข้อจำกัด) ก็อาจจะไม่สามารถช่วยกันได้มากนัก
.
อาจารย์ณัฏฐ์ย้ำว่า “ฟังลูกไม่ได้แปลว่าต้องตามใจลูก แค่ฟัง แม้บทสรุปสุดท้ายอาจจะจบที่การแนะนำ สั่งสอน แต่ต้องเริ่มด้วยการฟังก่อน ยิ่งฟัง เรายิ่งตอบได้ตรงจุด” 25 ครอบครัว จากโครงการฟังใจลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เพียงแค่ได้รับฟังและยอมรับ ยอมรับในความเห็นของเขา ยอมรับในตัวตนของเขา ยอมรับในความเจ็บปวดของเขา “ในนามของความหวังดี อย่าเพิ่งรีบให้คำแนะนำ แก้ปัญหา — ต้องรับฟังก่อน ว่าเจ็บแค่ไหน เสียใจแค่ไหน ยังไม่ต้องช่วยแก้ปัญหาก็ได้ แค่รับฟังก็พอ”
.
ผู้ฟังที่ดี คือ พื้นที่ปลอดภัย
อาจารย์ณัฏฐ์บอกอีกด้วยว่า คนทุกคนต้องการพื้นที่ปลอดภัย และความสัมพันธ์ที่จะมีความสุข ก็จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัย “ผู้ฟังที่ดีเป็นพื้นที่ปลอดภัย” ในการโค้ชผู้บริหารของอาจารย์ หลายๆ ครั้งเริ่มต้นด้วยประเด็นในการทำงาน แต่สุดท้ายมักกลับมาในเรื่องความสัมพันธ์ของคนในทีม ถ้าทีมงานมีความสัมพันธ์ดีมากๆ ผลงานก็มักจะดีตามไปด้วย อาจารย์ยกตัวอย่างทีมประชาสัมพันธ์ของบริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่รู้จักการฟัง หัวหน้าให้ลูกน้องมีโอกาสพูดและหัวหน้ารับฟังลูกน้อง คนในทีมรับฟังกัน ใครเป็นอย่างไร ใครมีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว ทุกคนก็พร้อมที่จะช่วยกันโดยหัวหน้าไม่ต้องเป็นผู้กำหนดหรือออกคำสั่ง หัวหน้าทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร เกิดพื้นที่ปลอดภัยในทีมเพื่อให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข
.
“บางทีมอยู่ด้วยกันมา 5 ปี ไม่เคยคุยหรือรับฟังกัน ทำงานผ่านอีเมล มีปัญหาอะไรใช้การ cc หัวหน้า พอรู้จักการฟังมากขึ้น ทีมงานรู้จักกันมากขึ้น กล้าที่จะเปิดใจคุยกันมากขึ้น ช่วยเหลือกันได้ ตกลงกันได้เวลามีความแตกต่าง ชื่นชมกันและกันมากขึ้น ทีมทำงานร่วมกันดีขึ้น ราบรื่นขึ้น ยกหูโทรศัพท์หากันแทนการส่งอีเมล พอความสัมพันธ์พื้นฐานดี งานก็ดี ทำให้มีความสุขมากขึ้น”
.
“ผมเพิ่งพูดใน กิจกรรมฟังสร้างสุข หัวข้อ ต่างวัยไม่ต่างกัน (จัดโดยธนาคารจิตอาสา) ว่า
คนเราเชื่อมโยงกันด้วยความเหมือน เหมือนกันบางอย่าง รักบางอย่างชอบบางอย่างเหมือนกัน แน่ล่ะว่าอาจจะมีความต่างอยู่ อาจจะต่างกันสุด ๆ แต่ก็จะเชื่อมโยงกัน — เราเชื่อมโยงกันด้วยความเหมือน แต่จะเติบโตได้ด้วยความต่าง
— ลองคิดดู ถ้าผมคบแต่กับวิศวกรด้วยกันเท่านั้น โลกของผมจะไม่เติบโตสักเท่าไรเลย แต่ถ้าผมคบกับเจ้าหน้าที่การตลาด ศิลปิน ผมก็จะได้เรียนรู้โลกที่ต่างออกไป โลกของชาวมาร์เก็ตติง (การตลาด) โลกของศิลปิน แล้วโลกภายในของผมจะโตขึ้น ยอมรับคนอื่นได้มากขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น ดังนั้น เราสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ แม้ว่าความเห็นของเราจะไม่ตรงกันก็ตาม
.
Healthy Conflict
ในทุกความสัมพันธ์ย่อมมีความขัดแย้ง เราจึงถามความเห็นของอาจารย์ในการดูแล-จัดการความขัดแย้ง คนเราควรมีมุมต่อความขัดแย้งอย่างไร
“ไม่มีใครชอบความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งก็เป็นธรรมดาของโลกใบนี้ เรากำหนด-ควบคุมไม่ได้เลยว่า ความสัมพันธ์จะไม่มีความขัดแย้ง ในภาษาอังกฤษมีคำว่า heathy conflict – เห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ คือทำความเห็นต่างให้มีประโยชน์ เกิดประโยชน์ คนไทยเรามักจะมีสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเลือกที่จะกลมเกลียวกัน ( harmony) ก็เลยเลือกที่จะไม่พูดเพราะกลัวกระทบความสัมพันธ์ แม้จะเป็นสิ่งที่ควรพูด หรือเป็นหน้าที่ ก็จะทำให้เกิดปัญหาแบบนึง อีกฝั่งคือสุดไปอีกข้าง ถ้าเห็นต่างก็…ชนเลย ก็จะเกิดปัญหาอีกแบบนึง มีคนไม่มากนักที่สามารถสร้างความสมดุลตรงนี้ได้ดี คือเราเคารพกัน เราให้เกียรติกัน และเราก็มีความเห็นที่ต่างกันได้ อยู่ร่วมโลกกันได้ หากในความสัมพันธ์ก็จะเป็น ฉันเห็นต่างกับเธอนะ และไม่ว่าอย่างไรฉันก็รักเธอ
.
พ่อแม่เติบโตมาในยุคหนึ่ง ลูกก็เติบโตขึ้นมาในอีกยุคหนึ่ง มุมมอง สภาพแวดล้อม การเติบโต ประสบการณ์ย่อมต่างกัน เราเห็นต่างกันได้โดยไม่ต้องเป็นศัตรูกัน จริงๆ แล้วคนเราทุกคนไม่ได้ต้องการคนที่เห็นด้วยทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อเราโตแล้ว ในความสัมพันธ์กับคู่ของเรา การที่เราสองคนรับฟังกัน ไม่ได้แปลว่าต้องเห็นด้วยกันทุกอย่าง ต่อให้เห็นต่างกัน แต่เมื่อเรารู้ว่าอีกคนรับฟัง ไม่ว่าวันนั้นเราจะสำเร็จหรือเฟล พลาดอะไรไป อย่างน้อยโลกนี้มีคนหนึ่งที่เข้าใจ รับรู้ว่าเราเผชิญอะไรอยู่ แค่นี้ชีวิตดีขึ้นเยอะเลย เห็นต่างไม่ได้ผิด โอเคที่เห็นต่างกัน ทำให้เราได้กำลังใจและแนวทางอื่นๆ ซึ่งเราไม่รู้สึกต่อต้าน เพราะมีการรับฟังเป็นประตูสำคัญ เห็นต่าง รับฟัง ร่วมหาทางออก ถ้าใครเป็นแบบนี้ทำแบบนี้ได้ เยี่ยมที่สุด”
.
การฟังเป็นหน้าที่แรกของการรัก – listen is the first duty of love
https://www.happinessisthailand.com/2023/09/04/spiritual-relation-lovelanguage-healing/
อาจารย์บอกว่าในชีวิตส่วนตัว อาจารย์ก็ใช้การฟังเป็นวิธีดูแลความสัมพันธ์ และเป็นวิธีที่ทำให้เกิดความสุขจากความสัมพันธ์ พวกเราอาจจะเคย (หรือไม่เคย) รู้จัก 5 ภาษารัก* ของดร.แกร์รี่ แชปแมน ภาษารักเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดูแลความสัมพันธ์ และการฟังก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะไปสู่หัวใจคนที่เรารัก
.
“5 ภาษารัก สื่อสารกับเราแบบไหน ตัวเราต้องการแบบไหน คนรักของเราต้องการแบบไหน บางคนต้องการเวลาคุณภาพ (quality time) เขาต้องการให้เรารับฟังเขา หรือเขาต้องการโอบกอด (physical touch) ขอให้สังเกตภาษากาย น้ำเสียง มีสติ มีความรู้สึกตัว เปิดกว้างต่อคำว่า ‘ฟัง’ ออกไปให้มากกว่าการที่หูได้ยินเสียง ลองฟังอย่างตั้งใจ ฟังสิ่งที่เขาพูดและฟังสิ่งที่เขาไม่ได้พูด มีสติ กลั่นออกมา เท่าทันว่าเขาต้องการอะไร มีรู้สึกอย่างไร เบื้องหลังความโกรธที่เขาแสดงออกมาคือความห่วงใยใช่ไหม? ภรรยาบ่นด่าสามีที่อายุมาก ดื่มเหล้าเยอะ เบื้องหลังคำบ่น คือ เป็นห่วง “ถ้าเธอจากไป ฉันจะอยู่ได้อย่างไร” ต้องมีสติถึงจะก้าวข้าม การบ่น การทะเลาะกัน
.
ความสัมพันธ์ของชีวิตคู่จะยืนยาว ไม่ใช่เพราะรักกันมานาน ไม่ใช่เพราะมีความสุขในเวลาที่อะไรๆดี แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับมือเวลาที่มีปัญหากันอย่างไร การเห็นต่าง ความแตกต่าง นำไปสู่ทางออกว่าเราจะดูแลกันได้อย่างไร สติช่วยได้มาก
ตัวเราเองก็เช่นกัน ถ้ารู้สึกน้อยใจ เสียใจ แต่ไม่มีสติเท่าทันเราก็จะกระทบกระทั่งกับอีกฝ่าย แต่ถ้าเราทัน เราจะรู้ว่า เราต้องการความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ได้ต้องการการถูก-ผิด แพ้-ชนะ บางครั้งในนามแห่งหวังดีความรัก บางทีเราก็ก้าวล่วง เผลอทำบางสิ่งที่ไม่ได้ดูว่ามันเหมาะกับเขาไหม ไม่ได้ถามว่าเขาต้องการมันไหม เราลืมฟัง — อย่าลืมฟังใจเขา อย่าลืมฟังความต้องการของเขาด้วย และสำคัญที่สุดคือกลับมาฟังใจตัวเองด้วย”
.
อาจารย์ณัฏฐ์ปิดท้ายการสนทนาครั้งนี้ด้วยประโยคที่ว่า “ผู้ฟังที่ดีก็ต้องการผู้ฟัง” เราควรให้โอกาสผู้อื่นได้ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังด้วย เช่นเดียวกับที่อาจารย์และผู้เขียนผลัดกันเป็นผู้ฟัง ทำให้การสนทนาสนุก เพลิดเพลิน และเป็นช่วงเวลาของความสุขจริงๆ ขอให้พวกเรามีความสัมพันธ์ที่ดี และมีความสุขจากความสัมพันธ์นะคะ
………………………………………………………………………….
*5 ภาษารัก โดย ดร.แกรี่ แชปแมน (Dr.Gary Chapman)
บอกรักด้วยคำพูด (Words of Affirmation)
บอกรักด้วยสัมผัส (Physical Touch)
บอกรักด้วยการกระทำ (Acts of Service)
บอกรักด้วยของขวัญ (Receiving Gifts)
บอกรักด้วยการใช้เวลาร่วมกัน (Quality Time)