มาลัยใกล้ครัว
ถ้าสังเกตมากขึ้น จะเห็นความสวยความงามของสิ่งรอบๆ ตัวมากขึ้น มองสิ่งเล็กๆ ที่เราเคยมองผ่าน — จริงๆ แล้วมีความสวยงามรายรอบตัวเราเต็มไปหมดนะคะ ถ้าเราจะเห็น
.
.
มาลัยเป็นศิลปะการจัดดอกไม้ไทยที่อ่อนช้อย อ่อนหวาน มาลัยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ไทยที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา — พวงมาลัยบูชาพระ มาลัยบูชาเจ้า มาลัยคู่บ่าว-สาว มาลัยรับแขกบ้านแขกเมือง ฯลฯ พวกเราคุ้นเคยกับมาลัยมะลิ มาลัยดอกรัก มาลัยดอกพุด จะแปลกตาขึ้นมาอีกหน่อยก็อาจจะเป็นมาลัยกุหลาบ มาลัยกล้วยไม้ หรือมาลัยดอกพิกุล แต่จะมีสักกี่คนที่เคยเห็นมาลัยอัญชัน มาลัยกันเกรา มาลัยสแตติส (Statice)
.
ไม่น่าเชื่อว่า ดอกไม้-ใบไม้ใกล้ตัว หรือแม้แต่ดอกไม้-ใบไม้ในครัว เช่น มะเฟือง ก้านจอง ดอกกุยช่าย ใบคื่นช่าย ใบบัวบก ใบกระเพรา ก็กลายเป็นพวงมาลัยอ่อนช้อย สวยงาม นำขึ้นหิ้งบูชาพระได้ — ทีมงานความสุขประเทศไทยชวนมาทำความรู้จักความสุขเรียบง่าย ละมุนละไมใกล้ตัวกับ ครูนิด คุณบายศรี กาญจนพันธุ์ เจ้าของเพจร้อยเรียบ ผู้มีดวงตาแห่งความงาม และมีมือที่ทำให้ใบไม้ดอกไม้นั้นงามยิ่งขึ้น
.
ครูนิดเป็นชาววัง หรือเคยอยู่ในรั้วในวังหรือเปล่า จึงทำงานฝีมือได้ประณีตอย่างนี้
ไม่ใช่เลยค่ะ เพิ่งเรียนร้อยมาลัยเมื่อสัก 5 ปี ที่ผ่านมานี้เอง — ขอเล่าย้อนไปไกลหน่อย เมื่อหลายปีก่อนโน้นตั้งแต่สมเด็จพระพี่นางฯ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) สิ้นพระชนม์ เคยอ่านเรื่องเล่าว่า มีโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิงและคนที่เรียนที่นี่ได้ช่วยงานในงานพระบรมศพ — ตอนนั้นอ่านก็สนใจ แต่ก็ไม่ทันซะแล้ว จนกระทั่งเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ก็อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสนองคุณท่านเป็นครั้งสุดท้าย ประกอบกับว่า ตัวเองก็สนใจเรื่องงานฝีมืออยู่แล้ว อยากเรียนอยู่แล้ว ถ้าได้เรียนที่นั่นและได้ช่วยงานด้วยก็คงจะดี จึงตัดสินใจเรียนในปี 2560 และได้ช่วยงานพิธีพระบรมศพอย่างที่ตั้งใจไว้
.
เป็นมาอย่างไร มาลัยของครูนิดจึงเป็นมาลัยแปลกตาอย่างที่เห็นในเพจร้อยเรียบล่ะคะ
อ๋อ…หัวเราะ
หลังจากเรียน เราก็ต้องฝึกมืออยู่เรื่อยๆ ต้องขับรถออกไปซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาดมาฝึกมือ ทีนี้เราเป็นคนบ้านไกล (บ้านครูนิดอยู่ที่ รังสิตคลอง 2) มันยากอยู่เหมือนกัน — เวลาออกกำลังกายตอนเช้าๆ ในหมู่บ้านตาก็สอดส่ายไปเรื่อยว่า อะไรบ้างนะที่พอจะเอามาร้อยมาลัยได้ ก็เริ่มเก็บ เริ่มทดลองมาเรื่อยๆ เฟื่องฟ้าบ้าง ต้อยติ่งบ้าง ใบไม้อะไรที่มีเยอะๆ ในหมู่บ้าน เราก็ลองเก็บเอามาทดลอง
.
ใบไม้ ดอกไม้ทุกชนิด สามารถร้อยมาลัยได้ไหมคะ
จริงๆ ครูเอามาลองก่อนนะคะ เก็บมาดูว่าเขาอยู่ได้นานแค่ไหน บางชนิดเก็บมาแป๊บเดียวก็เหี่ยวแล้ว ลองแช่น้ำแล้วเขาอยู่ได้ไหม เราต้องทำความรู้จักธรรมชาติของเขาก่อน อย่างดอกต้อยติ่ง เราเก็บมาแป๊บเดียวก็เหี่ยวแล้ว แต่ถ้าเราเก็บเขามาตอนที่ยังตูมอยู่ พอร้อยเสร็จวันรุ่งขึ้นก็บานพอดี
.
อีกอย่างที่ต้องดูก็คือ ก้านเขาเป็นอย่างไร เหมาะกับเข็มที่เรามีไหม ถ้าร้อยแล้วก้านแตกก็ใช้ไม่ได้ — ดังนั้นก็ต้องค่อยๆ พิจารณากันเป็นรายๆ ไป (^^)
จริงๆ ครูเก็บมาเรื่อยๆ หลายอย่าง ดอกตีนตุ๊กแก ดอกหญ้ากระดุมทอง ก็เคยเอามาร้อย น่ารักทีเดียว บางทีเขาอยู่อย่างนั้นเขาก็สวยแบบหนึ่ง แต่พอเอามาร้อยเป็นมาลัยเขาก็สวยไปอีกแบบ ให้ความรู้สึกอีกอย่าง — ทำไปเรื่อยๆ มีความสุข ก็เลยต้องถ่ายรูปเก็บไว้ ต่อมาก็แหมมันน่ารัก ดูคนเดียวไม่ได้ต้องแบ่งให้คนอื่นดูด้วย นั่นเป็นที่มาของเพจร้อยเรียบ — มันน่ารัก ดอกทองกวาว ดอกอัญชัน ดอกกันเกรา ดอกมะเฟือง เหล่านี้เป็นดอกไม้ในหมู่บ้านทั้งนั้น
.
.
แล้วใบกระเพรา คื่นช่าย มาได้ยังไง
ก็มาแบบเดียวกันล่ะค่ะ (หัวเราะ) เราต้องเข้าครัว ต้องไปตลาดอยู่แล้ว ก็มองไปเรื่อย อันนั้นร้อยได้ไหมนะ ดอกนี้ร้อยได้ไหมนะ ก็ทดลอง ทำออกมาแล้วก็สวย เราจะเห็นว่าเขาสวยแบบของเขา ไม่ซ้ำกับใครเลย
.
แล้วครูใช้บูชาพระไหมคะ
ใช้ค่ำ คุณแม่ของครูชอบมาก ส่วนหนึ่งเพราะคุณแม่ก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ (ใครๆ ก็คงไม่เคยเห็นเนอะ) คุณแม่มีความสุขมาก เราก็ใช้มาลัยที่ทำเองนี่แหละบูชาพระ เขาก็จะอยู่ได้สัก 2-3 วัน แล้วก็โรยไปตามธรรมชาติ ยกเว้นบางชนิดที่แหม..กลิ่นแรงจัง ต้องขอลาจากหน้าหิ้งพระเร็วหน่อย (ฮา)
.
งานร้อยมาลัยเป็นงานละเอียด งานเป๊ะ ครูเคยเครียดเวลาร้อยมาลัยไหมคะ
ช่วงที่หัดทำใหม่ๆ ก็มีบ้าง มันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ถึงกับเครียด แต่ก็ไม่ถึงกับชิลล์ — เวลาที่เราหัดเขียนหนังสือใหม่ๆ ต้องหัดจับดินสอ เขียนให้ตรงบรรทัด มันก็ต้องจดจ่อ มีความตั้งอกตั้งใจมาก จะเรียกว่าเครียดไหม ก็ไม่เชิง — พอเราทำเป็นแล้ว รู้หลักการ วิธีการ เราก็ฝึกไปเรื่อยๆ กลายเป็นทักษะ ถึงตอนนี้ก็ไม่เครียดแล้ว เราก็ผ่อนคลาย ค่อยๆ ทำไป ไม่ต้องรีบ ไม่เร่ง วางความคาดหวังลง — เรื่องแบบนี้ต้องฝึกไปเรื่อยๆ
ตอนครูทำใหม่ๆ เรียนใหม่ๆ ก็มีนะ เราอยากให้เสร็จไวๆ อยากเห็นผล แต่เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆ อยู่กับมือ อยู่กับงานตรงหน้าไปเรื่อยๆ ความรีบ ความเร่ง มันก็คลายไปเอง ไม่รู้ว่ามันหายไปตอนไหน แล้วพอไม่รีบ ไม่เร่ง เราอยู่กับสิ่งตรงหน้ามันให้ความสุขมากกว่า แล้วพอพบความสุขแบบนั้น ก็ทำไปเรื่อยๆ เห็นผลงานที่ดี เราก็มีกำลังใจที่จะทำต่อ … ไปเรื่อยๆ ค่ะ ไม่รู้จะบอกอย่างไร (หัวเราะ)
มือใหม่ หัดทำได้เลยไหมคะครู
ได้เลยนะ ความจริงทักษะการร้อยมาลัยน่าจะฝังอยู่ใน DNA ของคนไทยอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่เราไม่ได้งัดมันขึ้นมา เด็กๆ ก็ทำได้ ทำสนุกๆ ทำเรื่อยๆ
ง่ายขนาดนั้นเลย! ไม่ต้องเรียนก่อนเหรอคะ
มันไม่ยากค่ะ แต่แน่นอนว่า ถ้าเราได้เรียน ได้รู้พื้นฐานมันก็ดีกว่า รู้จักเข็ม รู้จักหลักการ มันก็ช่วย เหมือนกับเราหัดเขียนหนังสือ ถ้าจู่ๆ ไปเขียนเลยไม่มีใครสอน ก็โย้เย้ นานกว่าจะเข้าที่ แต่ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าเราได้เข้าโรงเรียน มีครูสอนให้จับดินสอ สอนการลากเส้น เราก็เขียนหนังสือได้สวย ได้ไว แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่การฝึกส่วนตัวอยู่ดี
.
เห็นความสวยความงามของสิ่งรอบๆ ตัวมากขึ้น มองสิ่งเล็กๆ ที่เราเคยมองผ่าน — จริงๆ แล้วมีความสวยงามรายรอบตัวเราเต็มไปหมดนะคะ ถ้าเราจะเห็น
การร้อยมาลัยมา 5 ปี มีผลต่อจิตใจครูบ้างไหมคะ
มีอยู่แล้วค่ะ (หัวเราะ) สังเกตมากขึ้น เห็นความสวยความงามของสิ่งรอบๆ ตัวมากขึ้น มองสิ่งเล็กๆ ที่เราเคยมองผ่าน — จริงๆ แล้วมีความสวยงามรายรอบตัวเราเต็มไปหมดนะคะ ถ้าเราจะเห็น
เคยเอาเมล็ดแห้งของลูกไม้มาร้อย ก็สวยไปอีกแบบ ดอกไม้สดก็สวย ใบไม้ก็สวย และบางชนิดแม้จะแห้งแล้วก็ยังสวย — สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความสุขได้ง่าย และเห็นความสวยงามได้เกือบตลอดเวลา
.
แหม่…อ่านแล้วชื่นใจ ใครอยากจะลองร้อยดอกไม้เชิญลงมือ ครูนิดบอกว่า เข็มเย็บผ้าก็ร้อยมาลัยได้ (ถ้าใจถึง) ^^ ผู้ที่สนใจงานของครูนิด กรุณาติดตามที่เพจร้อยเรียบนะคะ