ไฟสงคราม กับสายธารของการแพทย์เพื่อมนุษยธรรม
เมื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งมีความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าของตนเองและกลุ่ม มีความทรงจำของความทุกข์ ความโกรธ ความกลัว มีความโลภ อาฆาตแค้น และต้องการการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีและอิสรภาพของความเป็นมนุษย์ของตนมากกว่าใคร และเมื่อคนกลุ่มนั้นมีจำนวนผู้คนและอาวุธมากพอ สงครามก็เริ่มขึ้น
.
.
สังคมมนุษย์ไม่เคยร้างสงครามในช่วง 5,000-7,000 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงไม่ถึง 300 ปีสุดท้ายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้การมีเหล็ก เชื้อเพลิง อาวุธ และเทคโนโลยีของการเดินทางระยะไกลเพิ่มขึ้นเหมือนไม่มีสิ้นสุด และเกิด “อุตสาหกรรมสงคราม” ที่ทำให้จำนวนผู้คนและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “สงคราม (ของคนทั้ง) โลก”
.
ท่ามกลางความมืดมิดที่สุด เมื่อความสุขทั้งหมดของมนุษย์มอดไหม้ไปในกองไฟลุกโชนของสงคราม หลายครั้งเรากลับพบแสงสว่างอบอุ่นจุดเล็กๆเกิดขึ้นในที่เดียวกัน ความโหดร้ายทารุณที่มนุษย์กระทำต่อกันกลายเป็นต้นธารของการดูแลรักษาชีวิตและจิตใจที่กำลังจะดับสูญ เป็นสิ่งเยียวยาอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ความทุกข์ทั้งหมดถูกปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม กลายเป็นทรงจำร่วมอันมืดมน ที่รอวันปะทุขึ้นเป็นสงครามครั้งต่อไป และต่อไปไม่สิ้นสุด
.
.
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 2457-2461) เกิดสงครามนองเลือดใหญ่ที่สุดครั้งแรกที่คาบสมุทรไครเมีย (พ.ศ. 2396-2399) ซึ่งเกิดจากการใช้อาวุธสมัยใหม่ที่ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามได้ในระยะไกลและรุนแรงมากขึ้น มหาอำนาจในยุโรปหลายชาติแบ่งฝ่ายห้ำหั่นกันเองเพื่อครองดินแดนออตโตมันซึ่งแคยเป็นชุมทางสำคัญของทั้งทวีปยุรป เอเชีย และแอฟริกา จนออตโตมันล่มสลายลงสิ้นเชิง
.
โทรเลขซึ่งเป็นการสื่อสารเกิดใหม่ ทำให้สถานการณ์จากสนามรบปรากฏขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ในลอนดอนอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีโอกาสรับรู้ความโหดร้ายรุนแรงและความสูญเสียที่แนวหน้า ความรู้สึกความเมตตาสงสารพุ่งสูงขึ้นเป็นความรู้สึกร่วมของคนทั้งสังคม
.
ท่ามกลางเสียงร้องโหยหวนของทหารที่ได้รับบาดเจ็บในค่ายทหารสคูทารี (ปัจจุบันอยู่ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี) ซึ่งเป็นฐานทัพของทหารอังกฤษที่ไปช่วยตุรกีรบกับรัสเซีย ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) หญิงสาวชาวอังกฤษจากตระกูลร่ำรวย มีศรัทธาเข้มแข็งในพระเจ้า และมีปณิธานแรงกล้าที่จะเป็นพยาบาล ซึ่งเป็นอาชีพที่คนดูถูกในช่วงเวลานั้น พยายามใช้เส้นสายที่มีเพื่อเดินทางไปสคูทารีพร้อมนางพยาบาล 38 คน ทหารที่นั่นอยู่กันอย่างแออัด สกปรก และไม่ได้รับการดูแลสุขอนามัยที่ดี เธอพบว่าผู้ป่วย 16,000 คนจากทั้งหมด 18,000 คน ตายเพราะโรคระบาด อย่างอหิวาตกโรค ไข้รากสาด และโรคบิด ทีมพยาบาลช่วยดูแลทหารที่เจ็บป่วย รักษาสุขอนามัย ดูแลโภชนาการและน้ำสะอาด ปรับปรุงระบบระบายน้ำและกระบายอากาศ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตค่อยๆลดลงอย่างมาก และกลายเป็นหลักการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมสมัยใหม่เป็นครั้งแรก
.
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ใส่ใจดูแลทหารทุกฝ่ายไม่เฉพาะทหารอังกฤษ แม้ในยามค่ำคืนเธอก็ยังถือตะเกียงดวงน้อยเดินเยี่ยมทหารบาดเจ็บ จนได้รับการเรียกขานว่า “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” (The lady with the lamp) เธอนำประสบการณ์ในสงครามและความรู้ด้านสถิติมาใช้พัฒนางานพยาบาลต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาการพยาบาลสมัยใหม่ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการเยียวยาโดยใช้ความละเอียดลออของผู้หญิง ใช้ความเป็นมาตุลักษณ์และมาตาธิปัตย์ เพื่อปกปักษ์รักษามนุษยชาติด้วยความเสมอภาคอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกในสังคมมนุษย์
.
เมื่อปี พ.ศ. 2450 ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล วัย 90 ปี เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Order of Merit ของเครือจักรภพ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างโดดเด่นในงานของกองทัพ วิทยาศาสตร์ ศิลปะวรรณกรรม หรือการส่งเสริมวัฒนธรรม
.
.
เมื่อปี พ.ศ. 2402 ไม่กี่ปีหลังสงครามไครเมีย ความโหดร้ายของสงครามที่เกิดต่อเนื่อง สร้างความสะเทือนใจอย่างรุนแรงให้อังรี ดูนังต์ (Henri Dunant) นักธุรกิจชาวสวิสต์ผู้ร่ำรวยและเคร่งศาสนา เขากำลังเดินทางติดต่อธุรกิจในประเทศอิตาลี และผ่านไปพบภาพอันน่าสลดหดหู่ของทหารกว่า 40,000 นาย ทั้งฝ่ายฝรั่งเศสและออสเตรีย ที่ถูกทิ้งให้ตายและรอความตายกลางสนามรบโดยไม่มีแม้การปฐมพยาบาลหลังจบยุทธการที่โซลเฟริโน
.
อังรี ดูนังต์ไม่มีความรู้ด้านการรักษาผู้บาดเจ็บ แต่เขาทุ่มเทใช้เงินตัวเองและขอรับบริจาคเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และระดมอาสาสมัครชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมาช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ รวมทั้งร้องขอผู้นำฝรั่งเศสให้ปล่อยเชลยชาวออสเตรียที่เป็นหมอให้กลับไปช่วยรักษาผู้บาดเจ็บ
.
หลังเสร็จภารกิจที่โซลเฟริโน เขาเขียนและพิมพ์หนังสือ “ความทรงจำที่โซลเฟริโน” (A Memory of Solferino) เพื่อให้สังคมและผู้นำประเทศที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความทุกข์อย่างแสนสาหัสของทหารกล้าที่ถูกทอดทิ้งในสนามรบ ข้อเสนอของเขากลายเป็นแนวคิดแรกเริ่มในการจัดตั้งองค์กรอาสาสมัครด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลือทหารบาดเจ็บยามสงครามโดยไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และรูปไม้กางเขนแดงและเสี้ยววงเดือนแดงบนพื้นสีขาวก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นกลางอันศักดิ์สิทธิ์ของหน่วยแพทย์จากนานาประเทศในพื้นที่สงครามนับแต่นั้น
.
อังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในการประกาศรางวัลนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2444 และเขาบริจาคเงินทั้งหมดเพื่อการกุศล ในเมืองไทยก็มีการนำชื่อเขามาตั้งชื่อถนนอังรีดูนังต์แทนชื่อถนนหน้าสนามม้า ซึ่งเป็นถนนที่นำไปสู่สภากาชาดไทย เพื่อรำลึกถึงผู้เป็นแบบอย่างแห่งการอุทิศตนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
.
.
นอกจากการสู้รบด้วยกำลังทหารในภาวะสงครามเต็มรูปแบบ ขบวนการค้าทาส การแย่งชิงทรัพยากร และการล่าอาณานิคมของคนขาวในแอฟริกา ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่มีการกดขี่และทำลายล้างความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรงไม่ต่างจากไฟสงคราม และส่งผลกระทบเรื้อรังต่อแอฟริกาจนถึงปัจจุบัน
.
ความทุกข์เข็ญสาหัสในแอฟริกาปลุกเร้าหัวใจกรุณาของผู้คนมากมาย คนสำคัญคนหนึ่งคือหมออัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ (Dr. Albert Schweitzer) ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นทั้งเป็นแพทย์ มิชชันนารี นักปรัชญา และนักดนตรี เขาเป็นผู้บุกเบิกการแพทย์สมัยใหม่และก่อตั้งโรงพยาบาลในดินแดนที่เต็มไปด้วยความเจ็บไข้และโรคระบาดเขตร้อนที่เมืองลอมบาเรเน่ (เมืองหลวงของประเทศกาบองในปัจจุบัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2454 พร้อมกับการเผยแผ่คริสตศาสนาร่วมกับภรรยา ซึ่งเป็นพยาบาลและมิชชันนารี
.
หมอชไวท์เซอร์ใช้ชีวิตตามสิ่งที่เขาเชื่อ คือ “ความเคารพในชีวิต” (Reverence for Life) เขาบอกว่า ความเคารพกันคือจริยธรรมสากลของยุคสมัย ที่จะทำให้เราสามารถดูแลชีวิตอื่นๆทั้งหมดดั่งสิ่งที่มีค่าและศักดิ์สิทธิ์ ทั้งมนุษย์และธรรมชาติ เช่นที่เราดูแลตนเอง
.
เขาอยู่ในแอฟริกาตลอดชีวิต รวมทั้งทำหน้าที่ต่อเนื่องในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง แม้จะถูกกักบริเวณจากฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และขาดการติดต่อกับครอบครัวซึ่งหนีไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ พ.ศ. 2495 และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 90 ปี ในโรงพยาบาลของเขาเองที่กาบอง
.
.
ช่วง พ.ศ. 2510-2513 เกิดสงครามกลางเมืองที่ไนจีเรีย คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศร้องขออาสาสมัครทางการแพทย์ให้เดินทางไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและอดอยากหิวโหย และกลายเป็นจุดกำเนิดขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières: MSF) หรือ Doctors Without Borders ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินภาคสนามแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โรคระบาด และภัยธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือกลุ่มการเมือง
.
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2514 ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยกลุ่มแพทย์และนักข่าวที่เข้าไปรู้เห็นถึงความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่แอฟริกา อาสาสมัครแรกเริ่มทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ 300 คน ปัจจุบันมีอาสาสมัครมากกว่า 50,000 คน ทำงานในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่แอฟริกาเหนือไปจนถึงอเมริกาใต้ เอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ส่วนในประเทศไทย แพทย์ไร้พรมแดนเคยมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและเยียวยาด้านจิตใจจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และเหตุภัยพิบัติอื่นๆ
.
นอกจากการดูแลรักษาร่างกายและจิตใจจากภัยสงครามแล้ว แพทย์ไร้พรมแดนยังทำหน้าที่ส่งเสียงเรียกร้องมนุษยธรรมให้กับกลุ่มคนที่ถูกพรากสิทธิและโอกาสในการมีชีวิตปกติเฉกเช่นมนุษย์คนอื่นๆ ทั้งที่เกิดจากสงครามและการกดขี่อย่างทารุณที่มนุษย์กระทำต่อกัน
.
มนุษย์เราสามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสุขและทุกข์ของคนอื่นๆ การอยู่เคียงข้างกันในหลุมลึกของความทุกข์ ช่วยให้เราสะสมความเห็นอกเห็นใจต่อกัน และปลดปล่อยออกมาเป็นพลังพิเศษ ที่ให้เราสามารถลงมือทำสิ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ที่ดำเนินต่อเนื่องมา
.
เรามักพบจุดเริ่มต้นของชะตากรรมแบบใหม่ในยามวิกฤตที่สุด เมื่อมีใครบางคนเลือกทำสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในเวลาปกติ เช่น ในเหตุการณ์ 9/11 ผู้คนที่อพยพหนีตายจากตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์อย่างตื่นตระหนก กลับมีความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ และเสียสละให้กัน แทนที่จะแย่งชิงโอกาสรอด และลงเอยด้วยการเหยียบกันตาย
.
จุดพลิกผันเหล่านี้ช่วยสร้างพื้นที่ว่างท่ามกลางความโกลาหลหม่นไหม้ของสถานการณ์ คอยโอบอุ้มให้เกิดชั่วขณะปลอดภัย ที่มนุษย์สามารถไว้วางใจและเชื่อมโยงเข้าหากันได้ท่ามกลางวิกฤติ เป็นห้วงเวลาที่ไปพ้นไปจากการใคร่ครวญแบ่งฝักฝ่ายว่าเลวหรือดี ไม่แม้แต่ต้องถามหาแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ เราแค่หลุดออกจากความสับสนทั้งมวล เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความทุกข์ยากของผู้คน ใช้พละกำลังและอำนาจทุกอย่างที่มี และปล่อยให้ธรรมชาติของการลงมือกระทำด้วยความว่างจากความเห็นแก่ตัวงอกงามและเบ่งบานขึ้น
.
การยืนหยัดกลางไฟสงคราม ย่อมไม่ได้เกิดจากความบ้าระห่ำ เหนื่อยหน่าย หรืออยากเอาชีวิตไปทิ้งอย่างสูญเปล่า แต่เกิดจากการใคร่ครวญกับตัวเองและเรื่องราวรอบด้านอย่างหนักหน่วง และการเต็มใจแบกรับความทุกข์สาหัสเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ยากของผู้อื่น เช่น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่ต้องทรมานจากอาการเจ็บป่วยทางกายและจิตเรื้อรังหลังเข้าสู่แนวหน้าของสงคราม อังรี ดูนังต์ ตกอับและหนี้สินล้นพ้นตัว หมออัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ต้องแยกจากภรรยาเกือบตลอดชีวิตเพราะเธอป่วยจากโรคที่แอฟริกา รวมทั้งความเสี่ยงอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่กลุ่มหมอไร้พรมแดนต้องเผชิญอยู่เป็นประจำในการงาน
.
ทางเลือกที่เป็นกระแสน้ำเล็กๆในห้วงมหาสมุทร ได้สร้างโอกาสและกำลังใจให้ผู้คนลุกขึ้นเดิมตามมาเป็นสายธารอย่างน่าอัศจรรย์ คนตัวเล็กๆจำนวนมากช่วยกันเยียวยา รักษาบาดแผล และโอบอุ้มความเจ็บปวดของกันและกันอย่างเห็นอกเห็นใจ ในความมืดมิดทางจิตวิญญาณผู้คนกลางไฟสงคราม กลับทำให้เรามองเห็นแสงแห่งสันติภาพปรากฏขึ้นชัดเจนกว่าห้วงเวลาใด
.
เรื่อง: สุภาพ ดีรัตนา × มัสลิน ศรีตัญู
ศุนย์ความรู้และสุขภาวะทางปัญญา
อ้างอิงภาพประกอบ
- วาดโดย Robert Gibb เมื่อ พ.ศ. 2424 ภาพของ National War Museum, Edinburgh
จาก Wikipedia - ภาพโดย The Print Collector/Getty Images จาก medium.com
- ภาพจาก http://www.neofila.com/pictures-ww-17/Angola/AN-19108b.jpg
- ภาพโดย FPG/Getty จาก theguardian.com
- ภาพจากเฟสบุ๊ก Doctors Without Borders