เมื่อโศกเศร้า เราทำอะไรได้บ้าง
เข้าใจความเศร้า ผ่านทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง
ความโศกเศร้าก็เปรียบเสมือน “ภูเขาน้ำแข็ง” ที่ส่วนพ้นน้ำนั้นมีเพียงเล็กน้อย แต่ส่วนที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำกลับมหึมา การสำรวจภูเขาน้ำแข็งแห่งความเศร้า ทำให้เราเข้าใจโลกภายในจิตใจของตัวเองได้อย่างละเอียดชัดเจนขึ้น หากค้นพบความต้องการหรือความปรารถนาเบื้องลึกของตัวเอง ก็นับว่าเราได้ค้นพบ บันไดขั้นแรกที่จะนำพาเราก้าวผ่านความโศกเศร้าแล้ว
1. ใคร่ครวญการสูญเสียภายนอก/ภายใน การสูญเสียมีสองระดับคือ การสูญเสียภายนอก เช่น คนที่รักเสียชีวิต และการสูญเสียภายใน เช่น ความเป็นแม่-ลูก ความมั่นคงทางใจ เป้าหมายในชีวิต การสำรวจใคร่ครวญจนรู้ว่าการสูญเสียภายในคืออะไร จะทำให้เราสามารถมองหาทางออกได้ เช่น มองหาเป้าหมายชีวิตใหม่ ผันเปลี่ยนความรักในฐานะแม่ด้วยการไปทำงานจิตอาสาดูแลเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตเพราะโควิด เป็นต้น
2. หาเครื่องมือ/วิธีการคลายทุกข์ วิธีการคลายความโศกเศร้าขึ้นอยู่กับประสบการณ์และบริบทชีวิตของแต่ละคน ไม่มีเครื่องมือสำเร็จรูป วิธีการใดก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกสงบ ไม่ร้อนรน ก็นับว่า “ใช่” เช่น เขียนกวี เขียนนิยาย จัดบ้าน ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร ปรึกษาหมอดู สวดมนต์ ทำบุญ ทำของชำร่วยหรือของที่ระลึกงานศพ พบจิตแพทย์หรือนักบำบัด ทำงานศิลปะ หรือทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วย
3. ไม่ท้อ ไม่สิ้นหวัง บ่อยครั้งที่ผู้โศกเศร้ารู้สึกเหมือนจะไต่ขึ้นจากหลุมดำไม่ได้ หรือรู้สึกปกติดีแล้ว แต่พอมีเหตุการณ์บางอย่างมากระทบ ความเศร้าก็ปรากฎขึ้นอีก นี้ถือเป็นธรรมชาติของความโศกเศร้าที่ไม่มีจุดจบเป็นเส้นตรงเหมือนการวิ่งมาราธอนที่รู้จุดเริ่มต้นและปลายทาง อย่าท้อหรือสิ้นหวัง ให้ทำงานกับความโศกเศร้าต่อไป
4. ถ้าไม่ไหว ให้สื่อสาร การสูญเสียผู้เป็นที่รักเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต คนจำนวนมากรู้ว่าความโศกเศร้าทำให้เสียสุขภาพจิตและอยากก้าวผ่านไปให้ได้ แต่หัวใจและความรู้สึกกลับไม่ยินยอม หากรู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในหลุมดำแห่งความโศกเศร้าให้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือผู้เชี่ยวชาญ แม้ผู้สูญเสียจะต้องเผชิญหน้าและทำงานกับความเศร้าโศกด้วยตัวเอง แต่บางครั้งเราก็ต้องการผู้ช่วยที่วางใจได้อยู่เคียงข้าง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้ก้าวผ่านความโศกเศร้าได้แล้ว? หญิงสาวคนหนึ่งตอบว่าเมื่อความโศกเศร้าเจ็บปวดแปรเปลี่ยนเป็นแค่เพียงความคิดถึง เมื่อนึกถึงผู้จากไปแล้วยิ้มได้ หรือไม่เจ็บปวด หรือหากความเศร้ายังคงอยู่แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ ไม่กระทบกับคุณภาพชีวิต
.
ที่มา หนังสือ “โอบกอดความเศร้า”
#ดูแลใจผู้สูญเสีย #สูญเสียไม่เสียศูนย์