ขั้นตอนก่อนประกอบพิธีศพ ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19
คุณควรเตรียมการอะไรบ้างเพื่อการจากไปอย่างสงบ
1. ยืนยันสาเหตุการตายโดยแยกเป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 เสียชีวิตในโรงพยาบาล ทีมจัดการศพจะนำศพผู้เสียชีวิตบรรจุใส่ถุงบรรจุศพและทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายนอกถุงบรรจุศพตามมาตรฐาน แพทย์ที่ทำการรักษาจะออกหนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1) ระบุสาเหตุการตายว่า “เป็นการตายด้วยโรคโควิด-19”
กรณีที่ 2 เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ทีมจัดการศพจะนำศพใส่ถุงบรรจุศพตามมาตรฐานแล้วแจ้งพนักงานสาธารณสุขใกล้บ้านหรือพนักงานควบคุมโรคติดต่อของโรงพยาบาล โดยให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และตำรวจชันสูตรพลิกศพ บันทึกสภาพศพ และหลักฐานต่างๆ ลงสาเหตุการตาย โดยให้ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกหนังสือรับรองการตาย (ทร.4)
.
2. การแจ้งตาย
กรณีเสียชีวิตทั้งในและนอกโรงพยาบาล ให้นำเอกสารรับรองการตาย (ทร.4) จากโรงพยาบาลพร้อมด้วยบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านไปแจ้งการตายต่อนายทะเบียน ณ ที่ทำการปกครองอำเภอหรือท้องถิ่น และออกใบมรณบัตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ญาติสามารถนำศพออกจากโรงพยาบาลไปฌาปนกิจได้
.
3. การขนศพผู้เสียชีวิตและการประกอบพิธีทางศาสนา
กรณีญาติมีความพร้อม หลังจากที่ญาติรับทราบแนวปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และมีใบมรณบัตร สามารถประสานวัดและอาสาสมัคร กู้ภัย หรือมูลนิธิ เพื่อขนศพ
กรณีญาติไม่มีความพร้อม ติดโควิดทั้งครอบครัว หรือศพไม่มีญาติ ให้แจ้งโรงพยาบาลประสานกับทางวัดเพื่อดำเนินการขนศพ ซึ่งขณะนี้ระบบ Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลรายชื่อวัดที่รับฌาปนกิจผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฟรี โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อวัดสถานที่ตั้งและแผนที่วัดได้ที่นี่
.
สำหรับการจัดพิธีศพทางศาสนา มีข้อแนะนำดังนี้
1.การเผาศพหรือฝังศพทั้งถุงขอให้ดำเนินการในพื้นที่ที่จัดเตรียมเฉพาะ
2.ห้ามเปิดถุงบรรจุศพเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
3.ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน
4.ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
5.การเผาศพที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ให้ใช้เตาเผาศพเท่านั้น หลีกเลี่ยงการเผากลางแจ้ง
6.ควรใช้เตาเผาศพปลอดมลพิษแบบสองห้องเผา ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาศพไม่น้อยกว่า 760 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในห้องควันไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลาการเผาศพ
7. ในระหว่างการเผาศพไม่ควรเปิดประตูเตาเผาศพ
8. หลีกเลี่ยงการเขี่ยศพหรือพลิกศพ
9. เมื่อเผาศพเสร็จเรียบร้อยถือได้ว่าเชื้อโรคถูกเผาทำลายไปหมดแล้ว จากนั้นให้ดำเนินการเก็บกระดูกเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลต่อไป
10. ผู้ที่ปฏิบัติงานในพิธีเผาศพอาจไม่จำเป็นต้องใส่ชุด PPE หากไม่พบการฉีกขาดของถุงบรรจุศพ
11. ภายหลังเสร็จพิธีเผาศพเมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
.
ที่มา : Thairath Online
#ดูแลใจผู้สูญเสีย #สูญเสียไม่เสียศูนย์