Case ตัวอย่างคำพูด-คำถาม เยียวยาความโศกเศร้า
หากคุณมีญาติหรือเพื่อนที่เป็นผู้สูญเสียจากโควิด-19 คุณจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง?
สิ่งแรกๆ ที่แมกซ์ สตรอม ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การหายใจเพื่อเยียวยาจะพูดกับผู้สูญเสียคือ “มันจะเจ็บมากๆ อยู่สักพักหนึ่ง ผมจะอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน เราจะผ่านมันไปด้วยกัน” และสิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อมาคือฝึกการหายใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันทีทันใด และคุณไม่จำเป็นต้องพูดหรือกระตุ้นให้ผู้สูญเสียร่าเริง
.
อภิชญา วรพันธ์ อาสาสมัครดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และผู้สูญเสียสามีแบบฉับพลันบอกว่า บางครั้งสิ่งที่คนรอบข้างคิดว่าเป็นการให้กำลังใจแต่อาจกระทบความรู้สึกของผู้สูญเสียคือการพูดปลอบโยนยาวๆ การพูดซ้ำๆ เพราะผู้สูญเสียต้องรับฟังคำปลอบจากคนหลายคน และต้องเหนื่อยจากการที่ต้องเล่าเหตุการณ์สูญเสียหลายต่อหลายครั้ง
.
วรรณวิภา มาลัยนวล อาสาสมัครดูแลจิตใจผู้ป่วย เล่าว่า เริ่มต้นจะรับฟังความรู้สึกว่าผู้สูญเสียมองการจากไปครั้งนี้อย่างไร หากรู้สึกผิดก็อาจให้เขาบอกเล่าออกมา และให้กำลังใจว่าที่เขารู้สึกผิดแสดงว่าเขามีเจตนาดีที่จะดูแลญาติให้ดีที่สุด โดยตั้งคำถามเหล่านี้
“ถ้าญาติรับรู้ความรู้สึกนี้ได้ ญาติจะรู้สึกอย่างไร?”
“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากทำอะไร อย่างไร?”
“ถ้าญาติรับรู้ได้ อยากบอกอะไรกับเขา?”
“มีอะไรหรือใครที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น?”
“ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนี้?” และ“ถ้าไม่อยากให้คนอื่นต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน อยากบอกเขาว่าอย่างไร?”
.
วรรณา จารุสมบูรณ์ จากโครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดีกล่าวถึงแนวทางการใช้คำถามสนทนากับผู้สูญเสีย ดังนี้
ตั้งคำถามที่เปิดโอกาสให้เขาพูดถึงสิ่งที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำ หรือสารภาพสิ่งที่เขายังทำได้ไม่ดีพอ เช่น “ถ้าตอนนี้แม่ยังรับรู้อยู่ อยากบอกอะไรกับแม่” การได้ระบายสิ่งค้างคาใจจะทำให้เขาค่อยๆ ฟื้นคืนและยอมรับความสูญเสียได้
ตั้งคำถามเพื่อให้ผู้สูญเสียได้ใคร่ครวญและค้นพบคำตอบด้วยตัวเองว่าเขาเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตอนนั้นไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ก็จะต้องมีผลกระทบเกิดขึ้น เช่น “อยากให้เรื่องนี้เป็นอย่างไร” “ตอนนั้นอะไรทำให้ตัดสินใจแบบนั้น” “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะทำอะไรที่แตกต่างไปจากนี้บ้าง”
ตั้งคำถามที่ทำให้เขามองไปข้างหน้า เช่น “ถ้ามีคนที่เจอสถานการณ์เดียวกับเรา อยากแนะนำเขาว่าอย่างไร”
นอกจากนี้ผู้สูญเสียส่วนใหญ่ อาจไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง คนใกล้ตัวอาจช่วยสะท้อนว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเรา เช่น “ตอนนี้เห็นว่าน้ำหนักลดลง ผอมลงนะ”
ที่มา : หนังสือ “คุยเป็นยา”
#ดูแลใจผู้สูญเสีย #สูญเสียไม่เสียศูนย์