แสงสว่างกลางโควิด เมื่อคนคลองเตยลุกขึ้นมาช่วยกันเอง
เวลา 5 เดือนกับความวิกฤตของโควิด 19 ระลอกล่าสุด เป็นเหมือนคลื่นมหาสมุทรขนาดใหญ่ที่พัดกระแทกชีวิตอันเปราะบางของคนจำนวนมากของคนในสังคมไทย
.
จนเกิดการสูญเสียมหาศาลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความโศกเศร้าลึกของการพลัดพรากจากคนที่รัก สูญเสียงาน และหมดหนทางพึ่งตัวเอง คนจำนวนมากยากจนและเปราะบางรุนแรงขึ้นฉับพลัน และดูเหมือนจะฟื้นตัวได้ยาก คู่ชีวิต “แตน” วงศ์จันทร์ จันทร์ยิ้ม และ “อ้อน” สันติ ร่วมพุ่ม และกลุ่มเพื่อน ซึ่งเคยเป็น “เด็กคลองเตย” มาเล่าถึงการลุกขึ้นมาช่วยตนเองและช่วยกันเองของคนเล็กคนน้อยในคลองเตยและชุมชนต่อเนื่อง ที่กลายมาเป็นทางรอดเดียวของพวกเขา
.
“เราไม่อยากให้ใครสูญเสียเหมือนเรา”
.
“คลองเตยต้องรอด”
คลองเตย ชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่ในที่ดินราว 2,000 ไร่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีผู้อาศัยมากกว่า 100,000 คน ซึ่งทำหน้าที่มดงานให้เมืองหลวง ทั้งแรงงานรับจ้าง ขายอาหาร หาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดโควิดรายแรกของคลองเตยในระลอกล่าสุดทำงานเป็นบริกรในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นสถานที่เริ่มต้นของการระบาดครั้งนี้จากกลุ่มลูกค้าระดับรัฐมนตรี
.
ด้วยความเป็นอยู่ที่แออัด ทั้งยังขาดเงินและโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันการระบาดของโรค การติดเชื้อจึงขยายตัวรวดเร็ว เมื่อเป็นผู้ติดเชื้อก็จะถูกเลิกจ้างฉับพลัน ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่ออีกหลายชีวิตในครอบครัวที่ยากลำบากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
.
แตนเล่าว่า “เราได้ข่าวคนติดเชื้อคนแรกเมื่อ 20 เมษายน เขาออกมากักตัวอยู่ในรถยนต์ของตัวเองสองวันสองคืน กับอีกคนที่กางเต็นท์ลูกเสือนอนในบ้านที่อยู่กันแออัด เราได้ข่าวจากพี่ในชุมชน ก็คุยกันว่า เฮ้ย อยู่ในรถได้ยังไงสองวันสองคืน วันรุ่งขึ้นเราก็โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องคนนอนในรถกับกางเต็นท์นอนในบ้าน น้องนักข่าวคนหนึ่งก็ติดต่อมา พอดีเรากำลังจะเอาแอลกอฮอล์เข้าไปให้ที่คลองเตย วันที่ 22 เมษาก็เลยพานักข่าวไปด้วยกัน
.
“เด็กคลองเตยที่โตมาด้วยกันยังคุยกันอยู่ในกลุ่มไลน์ เพื่อนๆและรุ่นพี่บางคนยังอยู่คลองเตย บางคนก็ไปอยู่ที่อื่นแล้ว แบบเราสองคนที่ออกมาอยู่คลองสามวา พวกเราปรึกษากันว่า คลองเตยน่าจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ช่วงปลายเดือนเมษาจึงเกิดกลุ่มไลน์ ‘ลูกหลานคนคลองเตย รวมตัวเฉพาะกิจ สู้โควิด19’ มีพี่ๆเพื่อนๆอดีตสหพันธ์เยาวชนคลองเตย พี่ที่เป็นเลขาครูประทีป อึ้งทรงธรรม พี่ใจที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป้าหมายแรกที่เห็นตรงกันคือ ทำอย่างไรไม่ให้คลองเตยกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ พวกเราประสานสื่อมวลชนที่รู้จักให้มาทำข่าว โดยมีมูลนิธิดวงประทีปเป็นแม่งานหลักประสานความสนับสนุนจากส่วนต่างๆให้ลงมาที่คลองเตย”
.
อ้อนเสริมว่า “พอข่าวออกไปก็เริ่มมีความช่วยเหลือเข้ามา เริ่มมีหน่วยงานต่างๆมาตรวจเชิงรุก กั้นพื้นที่ ตั้งเต็นท์แยกคนป่วยออกจากบ้าน พวกเราก็ระดมความคิดและตั้งเป้าหมายว่า ‘คลองเตยต้องรอด’ นอกจากการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ทำที่พักคอย ส่งต่อการรักษา ก็ประสานงานและผลักดันให้คนในชุมชนได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุด
.
“ช่วงนั้นเราสองคนเป็นหลังบ้านคอยทำข้อมูล และมีเพื่อนอีกคนชื่อวิทย์ ซึ่งทำงานสหพันธ์เยาวชนคลองเตยมาด้วยกัน ตอนนี้เขามีบริษัทชิปปิ้ง ทุกปีเขาจะทำ CSR โดยบริจาคสิ่งของไปยังชุมชนที่ขาดแคลน วิทย์นำของต่างๆ ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ของกินของใช้ คิดเป็นเงินกว่า 700,000 บาทมาให้คนในชุมชนคลองเตย และชุมชนรอบนอกแถวหัวหมาก รามคำแหง สมุทรปราการ และที่อื่นๆด้วย เราก็ทำหน้าที่ส่งของบริจาคไปยังชุมชนต่างๆ พร้อมกับทำแผ่นพับ ป้าย และให้ข้อมูลความรู้กระจายไปในชุมชน ว่าจะอยู่กันอย่างไร จะดูแลป้องกันตัวเองอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ”
.
เมื่อข่าวโควิดที่คลองเตยอยู่ในความสนใจของสังคม และหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เริ่มเข้ามาร่วมทำงานกับแกนนำชุมชน ทำให้การจัดการสถานการณ์เริ่มเป็นระบบมากขึ้น โควิดก็เริ่มแพร่ระบาดรุนแรงไปยังย่านตลาดและชุมชุมแออัดต่างๆในกรุงเทพฯ รวมถึงการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในครอบครัว แล้วก็มาถึงชุมชนเคหะคลองเก้า ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบของกรุงเทพฯ บ้านของแตนและอ้อน
.
ประสบการณ์จาก “คลองเตย” สู่ “คลองสามวา”
ถ้าเทียบชุมชนคลองเตยเป็นอำเภอขนาดใหญ่ ชุมชนเคหะคลองเก้า เขตคลองสามวาตะวันออก ก็มีสเกลเล็กจิ๋วเท่าหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง มีคนในชุมชนราว 3,500 คน ซึ่งเป็นคนรายได้น้อยที่ได้สิทธิผ่อนซื้อที่ดินเปล่าจากการเคหะแห่งชาติเพี่อปลูกบ้าน คนส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัดเพื่อทำงานเป็นแรงงานรับจ้างอิสระ ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างสี ขับรถรับจ้าง ขายอาหารตามสั่ง และขายของต่างๆ แตนและอ้อนย้ายจากคลองเตยมาที่นี่ได้สามปีกว่า ทั้งคู่มีลูกสาวสองคน คนโตกำลังเรียนมหาวิทยาลัย คนเล็กอยู่มัธยมปลาย
.
“ช่วงแรกเราไปๆมาๆระหว่างที่นี่กับคลองเตย เราบอกลูกว่า ที่คลองเตยไม่ใช่ที่ดินของเรา แต่ที่นี่คือความมั่นคงของครอบครัว บ้านและที่ดินมาจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่ เราผ่อนซื้อที่ดินมาเรื่อยๆจนปลูกบ้านหลังเล็กๆได้ เด็กๆชอบที่นี่เพราะมีความเป็นชุมชน และไม่แออัดเหมือนคลองเตย หลังๆเราอยู่ที่นี่เป็นหลัก แต่ก็ยังไปคลองเตยอยู่ เพราะญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น ทิ้งกันไม่ได้”
.
ชาวเคหะคลองเก้าก็เหมือนคนในชุมชนแออัดอื่นๆ ที่เผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจสาหัสมาตั้งแต่โควิดระลอกแรก แตน อ้อน และลูกๆทั้งสอง อาสาเป็นคนนำของบริจาคจากเพื่อนกลุ่มคลองเตยมาช่วยคนที่นี่ด้วย
.
“ตอนนั้นเคหะคลองเก้ายังไม่มีคนติดโควิด เราได้ไข่มา 100 แผง ก็เอามาใส่ถุง ถุงละ 15 ฟอง จัดเป็นชุดๆกับข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง ปรากฏว่าเพื่อนๆในชุมชนมาต่อแถวรับของกันยาวเหยียด เราก็เห็นแล้วว่ามีความขัดสนกันมาก พอเริ่มมีคนติดเชื้อที่นี่ ก็มีคนมาคุยกับเราว่า จะทำยังไงดี เขาคงเห็นเราไปๆมาๆที่คลองเตย และมีของมาแบ่งให้ชุมชนต่างๆ
.
“เรามีประสบการณ์จากคลองเตย รู้ว่าคนติดเชื้อต้องอยู่บ้านทันที สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการส่งอาหารและของใช้จำเป็นให้เขา เมื่อมีผู้ติดเชื้อรายแรก เราก็เดินเอาของไปให้ที่บ้าน ให้เบอร์โทรศัพท์ไว้กับญาติ บอกว่าเราเป็นกลุ่มคนทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิดที่คลองเตย เรามีของกินของใช้ที่ได้รับการแบ่งปันมา และพร้อมจะนำมาให้ผู้ติดเชื้อและครอบครัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการกักตัว 14 วัน
.
“พอมีรายแรก หลังจากนั้นก็เริ่มติดเชื้อกันเป็นกลุ่มก้อน เพราะเขาทำงานด้วยกัน ต่อมาก็ติดกันยกซอย เราทั้งคู่ก็เข้าไปดูแล ทุกสามวันก็เข้าไปเยี่ยม เอาของไปให้”
.
.
คนคลองสามวาไม่ทิ้งกัน
ความตระหนกตกใจระบาดไปทั่วชุมชนตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งคู่ตั้งกลุ่ม “อาสาสมัครเฉพาะกิจสู้โควิดคลองสามวา” ขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยประสานกับประธานชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เพื่อขอใช้เสียงตามสายประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้คนไม่ตื่นตระหนก ไม่รังเกียจผู้ติดเชื้อ ควบคู่กับการป้องกันตนเอง ช่วยเหลือกัน และเน้นว่า “ทุกคนต้องรอดไปด้วยกัน”
.
“เรานำความลำบากของคนที่ติดเชื้อมาเล่าออกเสียงตามสาย บางบ้านขับแท็กซี่คนเดียว หากินวันต่อวัน พอต้องกักตัว 14 วัน ครอบครัวก็ไม่มีรายได้แต่รายจ่ายเท่าเดิม ทั้งค่าอาหาร น้ำ ไฟ ค่าเช่าบ้าน พอเล่าจบไม่ถึงสองชั่วโมงก็เริ่มมีการระดมทุนช่วยเหลือกันเองในชุมชน มีเด็กๆแคะกระปุกหิ้วเงินเหรียญเป็นถุงๆมายื่นให้ด้วย วันนั้นระดมเงินในชุมชนได้ 7,000 กว่าบาท และเริ่มเกิดการระดมทุนช่วยเหลือกันในชุมชนตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา”
.
เมื่อยอดผู้ติดเชื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย ความวิกฤตของระบบที่มีผู้ป่วยล้น ได้สร้างโอกาสของการช่วยเหลือกันมากขึ้นในชุมชน
“น้องคนที่ป่วยคนแรก บ้านเขาขายไข่ พอหาย เขาก็ขนไข่จากบ้านมาให้ บางคนเอาน้ำมัน ยาฆ่าเชื้อ น้ำอัดลม น้ำดื่มเป็นแพ็คๆมาให้ ใครมีของกินของใช้อะไรก็เอามาแบ่งให้ผู้ป่วยและครอบครัวอื่นๆ บางคนถือถุงข้าวสาร ปลากระป๋อง ของกลุ่มเพื่อนคลองเตยที่เราให้ไปในช่วงแรกๆมาคืน บอกว่าให้เอาไปให้คนที่ติดเชื้อดีกว่า เพราะเขาลำบากกว่า
.
“เมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก เราก็ประสานไปยังกลุ่มจิตอาสา ‘ผีเสื้อเพื่อลมหายใจ’ ซึ่งเป็นเพื่อนของวิทย์ กลุ่มนี้ทำงานจิตอาสามาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมปี 2554 และทำต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เขาช่วยนำของหายากมาให้ เช่น อุปกรณ์วัดไข้ วัดออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร”
.
.
ปรับปรุง “ศูนย์กีฬาร้าง” เป็น “ศูนย์พักคอยชุมชนเคหะคลองเก้า”
แม้ชุมชนเคหะคลองเก้าจะไม่แออัดเท่าคลองเตย แต่บ้านหลังเล็กที่อยู่กันหลายคน และบางหลังก็ซอยเป็นห้องเช่าที่มีห้องน้ำห้องเดียว ทำให้การแพร่ระบาดในชุมชนเกิดขึ้นต่อเนื่อง คนในชุมชนเริ่มคุยกันว่า ควรมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อแยกผู้ป่วยไปอยู่ต่างหาก โดยในขณะนั้นภาครัฐยังไม่มีการจัดการ Home Isolation และ Community Isolation อย่างเป็นระบบ ขณะที่คนในชุมชนขาดแคลนทั้งยาและเข้าสู่ระบบการรักษาไม่ได้
.
“เราเห็นตัวอย่างจากคลองเตยที่มีความพยายามแบ่งพื้นที่แบบง่ายๆ เช่น เอาเชือกมากั้น เอาผ้าใบมากาง เขียนป้ายติดว่าเป็นพื้นที่แยกตัว พวกเราก็ช่วยกันไปดูว่าในเคหะคลองเก้ามีพื้นที่ไหนที่เหมาะสม ก็เจอว่ามีศูนย์กีฬาชุมชนที่เริ่มร้างและทรุดโทรมตั้งแต่เกิดโควิด เราทำเรื่องขอใช้พื้นที่ไปที่การเคหะแห่งชาติ เขาให้เราประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อให้ทำหนังสือขอจากหน่วยงานต่อหน่วยงาน แต่ทางสาธารณสุขบอกว่าทุกคนยุ่งมาก ไม่มีเวลาออกจดหมายให้ ขณะที่คนในชุมชนก็ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรี่อยๆ
.
“มีบ้านหนึ่งอยู่กัน 7 คน พอลูกสะใภ้ติด พ่อตาก็มาหาเรา บอกว่าจะทำอะไรก็ยินดีช่วยเต็มที่ จึงปรึกษากันในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีอสส.อยู่ด้วยว่า เราต้องเร่งมือลงแรงช่วยกันเต็มที่ด้วยความเร็วสูงสุด ลุยไปก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยว่าทีหลัง”
ศูนย์กีฬาชุมชนเคหะคลองเก้าเป็นอาคารชั้นเดียวโล่งๆ มีห้องขนาด 3×4 เมตร 1 ห้องเป็นห้องยา และมีลานกีฬาที่ตอนนั้นหญ้าสูงท่วมหัว ตัวอาคารทรุดโทรม หน้าต่างแตก ลูกบิดประตูหลุด หลังคาฝ้าถล่ม ก๊อกน้ำ สายไฟถูกขโมย ห้องน้ำพัง ชาวชุมชนหลายคน ญาติของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งอ้อนและแตน เข้าไปช่วยกันถางหญ้า ทำความสะอาด และปรับปรุงซ่อมแซม โดยขอเงินสนับสนุนจากกลุ่มผีเสื้อเพื่อลมหายใจ ขอเตียงกระดาษ ที่นอน และของใช้ต่างๆจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันแอลกอฮอล์ รวมทั้งเปิดรับบริจาคผ่านเฟซบุ๊กด้วย
.
“เราระดมแรงกันทำเต็มที่ตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงสองทุ่ม ใช้เวลาสิบกว่าวันก็เสร็จ ใช้เงินไป 80,000 กว่าบาท เพื่อติดตั้งประปา ไฟฟ้า เปลี่ยนฝ้า ทาสี ทำมุ้งลวด ทำห้องน้ำใหม่ ซื้อที่นอน ของใช้ โดยคิดว่าถ้าเราต้องอยู่ในห้องหนึ่งห้องที่เป็นบ้านเรา ต้องมีอะไรบ้าง มีการติดอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับระบบการรักษาและส่งต่อด้วย ช่างไม้ ช่างทาสี ช่างก่อสร้างในชุมชนมาช่วยกันโดยไม่คิดค่าแรง ส่วนใหญ่เป็นคนตกงานไม่มีรายได้ เราช่วยเขาเป็นการตอบแทนน้ำใจวันละ 100-200 บาท เป็นค่ากับข้าวค่าขนมให้ลูกหลานเขา”
ในที่สุดศูนย์พักคอยชุมชนเคหะคลองเก้าก็สำเร็จและเปิดใช้ได้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม มีเตียงรองรับผู้ป่วยแบ่งเป็นสองฝั่ง หญิงและชาย รวม 14 เตียง สำหรับให้ผู้ติดเชื้อในชุมชนเข้ามากักตัวและส่งต่อไปรักษาตามระบบ
.
.
ตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน
งานเร่งด่วนสำคัญอีกด้านในการยืนหยัดสู้โควิด ท่ามกลางสถานการณ์ที่เริ่มมีผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ตายคาบ้านกันมากขึ้น คือการมีทีมแพทย์เข้าตรวจเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อ แยกตัว และให้การรักษาได้ทันเวลา แตนเชื่อมประสานกับองค์กรพัฒนาเอกชน คือมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนชุมชนเคหะคลองเก้าได้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ชมรมแพทย์ชนบทเข้ามาตรวจเชิงรุกสองครั้ง ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคม ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับยา และถูกส่งต่อเข้าระบบติดตามดูแล
.
“ทีมแพทย์ชนบททำงานหนักมาก มุ่งมั่น และมีจิตใจเสียสละ แววตาของพวกเขามีพลังและความมุ่งมั่น สิ่งที่พวกเขาทำช่วยเหลือพวกเราชาวชุมชนได้เกือบ 100 % หลังจากที่คนในชุมชนได้รับการตรวจคัดกรองและผู้ป่วยได้รับยาแล้ว เราก็ประสานให้ชุมชนอื่นๆได้รับความช่วยเหลือเหมือนที่พวกเราได้รับ”
.
.
ผลลัพธ์ของความเปราะบาง ป่วยและตายมากกว่า และนานกว่า
เกือบ 5 เดือนของโควิดระลอกล่าสุดที่ทุกฝ่ายวิ่งวุ่นไม่ได้หยุดเพื่อช่วยเหลือกันให้รอดจากวิกฤต แม้สถานการณ์ในภาพรวมจะดีขึ้นบ้าง แต่งานอาสาสมัครของคนในชุมชน ทั้งอสส. แกนนำชุมชน รวมทั้งแตนกับอ้อนยังไม่น้อยลงเลย ทั้งการจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อสีเขียวที่ศูนย์พักคอยและที่บ้านร่วมกับคลินิกเอกชนของสปสช. ส่วนรายที่อาการหนักก็ประสานส่งกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลตามภูมิลำเนา และตรวจคัดกรองด้วย ATK อย่างต่อเนื่องให้กับคนในชุมชนที่มีความเสี่ยง
.
จนถึงปัจจุบัน (กลางเดือนกันยายน) ชาวชุมชนเคหะคลองเก้าได้รับการตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุกไปแล้วพันกว่าคน พบผู้ติดเชื้อสะสม 217 ราย หายป่วย 184 คน เสียชีวิต 5 คน อยู่ในศูนย์พักคอย 30 คน ที่เหลือรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
.
ที่น่าสังเกตคือ ในชุมชนเล็กๆแห่งนี้ มีอัตราการติดเชื้อสูง มียอดผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ติดเชื้อมากกว่า 2% ซึ่งมากกว่าภาพรวมของประเทศเป็นเท่าตัว และยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในชุมชน โดยติดทั้งซอย เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะลงทะเบียนจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่นไม่เป็น หรือลงแล้วถูกเลื่อน รวมทั้งพบปัญหาใหม่คือ อาการลองโควิด ที่ทำให้ผู้เคยติดเชื้อยังไม่สามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ปกติเหมือนเดิม
.
“ปัญหาสำคัญที่พบตอนนี้คือ ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน เมื่อกักตัวเลย 14-18 วัน ไปแล้ว พบว่ามีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยได้ เราจึงพยายามให้แต่ละคนเข้าระบบตามสิทธิของตนเพื่อให้สถานพยาบาลเอ็กซเรย์ปอด จะได้รักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ก็พบว่าปอดเสียหายจากการติดเชื้อ”
.
“เราไม่อยากให้ใครสูญเสียเหมือนเรา”
ท่ามกลางมรสุมใหญ่ ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจอย่างแข็งขันของคนในชุมชน ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของคนที่นี่ จากตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจกัน กลายมาเป็นความใส่ใจทุกข์สุขของกันและกัน มองเห็นความทุกข์ของผู้อื่น และช่วยเหลือกันตามกำลังเท่าที่จะทำได้
.
แตนและอ้อนทำงานหนักทุกวันจนดึกดื่น ทั้งเยี่ยมผู้ป่วย ทำศูนย์พักคอย และเชื่อมประสานความช่วยเหลือจากภายนอก แตนเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า “กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มแรกๆที่ติดเชื้อในชุมชนด้วยความคึกคะนองตามช่วงวัย พอหายแล้ว เขาก็มาบอกว่า พี่มีอะไรให้พวกผมช่วยก็บอกมาเลยนะ วันก่อนอ้อนโทรให้พวกเขามาช่วยยกถังออกซิเจนไปบ้านคนป่วยที่ต้องการออกซิเจนเร่งด่วน เขาก็มาช่วย เอาของ เอาอาหารไปแจกจ่าย จากเดิมที่เคยเบิ้ลมอเตอร์ไซค์เสียงดังมากๆตอนกลางคืน เดี๋ยวนี้ก็ผ่อนเสียงลงเมื่อเข้ามาในชุมชน เขาบอกว่า หลังจากที่ป่วยและได้รับความช่วยเหลือ เขาก็มองคนในชุมชนเปลี่ยนไป จากเดิมที่ไม่รู้สึกอะไรกับใคร เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าหลายคนเหมือนพี่ป้าน้าอา เหมือนญาติ ถ้าทำอะไรเพื่อช่วยกันได้ ก็ยินดีช่วยเหลือชาวชุมชนเต็มที่
.
“ทุกวันนี้เรากับอ้อนแทบไม่กล้าไปซื้อของชำข้างบ้านเลย เวลาให้ลูกไปซื้อ ลูกก็จะกลับมาบอกว่า ป้าเขาไม่เอาเงิน แล้วยังแถมน้ำอัดลมมาให้อีกแพ็ค บอกเอาไว้กินเวลาเหนื่อยจากทำงาน วันก่อนอ้อนกำลังจะไปศูนย์พักคอย ก็มีน้องที่น่าจะเป็นคนพม่า ยื่นกระป๋องกาแฟและขนมถุงใหญ่ให้ บอกว่าให้พี่เอาไว้กินจะได้มีแรงช่วยคน ตัวเขายังออกไปทำงานทุกวัน พอมีเงิน ก็อยากช่วยพี่บ้าง ซื้อของมาให้เล็กๆน้อยๆเท่าที่ทำได้ เราก็ซึ้งใจ”
.
เมื่อถามว่า อะไรคือพลังขับเคลื่อนให้ออกไปทำงานเป็นอาสาสมัครของชุมชนเพื่อช่วยเหลือคนจากสถานการณ์โควิดอย่างไม่ลดละ แตนบอกด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยความรักและคิดถึงคนอื่นๆว่า
“ตั้งแต่เริ่มมีโควิด แต่ละวันเราเหนื่อยมาก แต่ก็รู้สึกว่าทุกวันยังมีคนทุกข์ คนที่ติดเชื้อ ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่เราจะทิ้งให้เขาเป็นไปตามชะตาหรือยถากรรมไม่ได้ เราทำทุกทาง ทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ทุกคนในชุมชนรอดไปด้วยกัน เหนื่อยเราก็นอน ตื่นมาก็เริ่มวันใหม่ด้วยการทำงานต่อ
.
“อ้อนเสียน้องชายที่อยู่คลองเตยเพราะโควิด ตอนนั้นพวกเรายุ่งกับหน้างานในชุมชนของเรามาก ก็คุยเฟซบุ๊กกับน้องบ้าง บางวันอ้อนเข็นถังออกซิเจนไปบ้านคนติดเชื้อ กลับมาก็หมดแรง เราขอให้พี่พยาบาลที่มาช่วยจ่ายยาให้คนในชุมชนขับรถเอายาไปให้น้องที่คลองเตย แต่อาการก็ยังทรุดลง และไม่มีเตียง เราประสานทุกทางจนได้เตียง พอถึงวันที่ได้เข้าโรงพยาบาล น้องก็ไปเสียชีวิตที่นั่น
.
“เราเห็นอ้อนทำงานหนักมากทุกวัน และอ้อนก็บอกเราทุกวันว่า แตน เราไม่อยากให้ใครต้องสูญเสียเหมือนที่เราเสียน้องไป มันเป็นพลังให้เราออกไปทำงานต่อในแต่ละวัน และเราจะไม่ปล่อยหรือทิ้งให้ใครต้องเผชิญกับสถานการณ์อย่างไม่รู้ชะตา ในขณะที่เรายังช่วยเหลือกันและกันได้”
.
.
โดย ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา
เรื่อง: ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ ภาพ:สันติ ร่วมพุ่ม
บรรณาธิการ: จารุปภา วะสี – ธำรงรัตน์ บุญประยูร
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)