เมื่อเม็ดฝนเต้นระบำ ทำให้รู้ว่าฉันกลัวฝนตอนโต
เรื่องและภาพ : จริยา ชูช่วย
“เม็ดฝนเต้นระบำได้บนใบไม้หลายชนิดไม่เฉพาะบนใบบอน”
ฉันกลับบ้านแล้วนั่งลงบนม้าหินตัวเดิมตรงระเบียง จดจ่อรอสายฝนค่อยๆ เทลงมา แน่นอนว่าฝนใต้เดือนอ้ายเดือนยี่ไม่เคยปรานีใคร ไม่หยุดไว้แค่ความชุ่มพอฉ่ำ แต่ใจดีสุดๆ จัดให้แบบท่วมทะลัก
.
ณ วินาทีที่ฝนโปรย ต้นไม้ชูคอยิ้มให้เม็ดฝน ชี้ชวนทำหน้ายวนยีเหมือนจะตะโกนว่า แน่จริงตกลงมาเยอะๆ เลยสิ เราจะได้เล่นสนุกด้วยกัน ไม่ทันขาดคำ ฝนก็เทลงมาอย่างสาสม ฉันนั่งพิจารณาดูเขาทั้งสองผ่านจินตนาการของตัวเอง แล้วความจริงที่ว่าเม็ดฝนไม่ได้เต้นระบำเฉพาะกับใบบัวก็ปรากฏตรงหน้า
.
ใบกล้วย ใบขิง ใบตะลิงปลิง ใบคะน้า ใบกุหลาบ ต่างสนุกสนานเหมือนๆ กันเมื่อได้เป็นเวทีให้เม็ดฝนเต้นระบำ
ฉันยิ้มให้กับฝนห่านั้น 🙂
“มรสุมเข้าภาคใต้ฝั่งตะวันออก 25-28 พฤศจิกายน..”
.
.
ฉันกลับบ้านมาในช่วงมรสุมพอดี หลังจากห่างหายบ้านหลังนี้ช่วงหน้าฝนไปร่วม 17 ปี กรมอุตุฯ พยากรณ์แม่นยำขึ้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวบ้านตระเตรียมของกิน ของใช้ รอไว้แล้ว ข้าวสารอาหารแห้งพร้อมสรรพ หากออกจากบ้านไม่ได้ 1 เดือน ฉันเชื่อว่าพวกเขาจะยังมีกับข้าวอร่อยกินทุกมื้อ
.
ตั้งแต่จำความได้พวกเขาไม่เคยตื่นตกใจกับคำว่า “น้ำท่วม มรสุม น้ำป่าไหลหลาก” เพราะตระหนักดีว่านี่คือฤดูกาล และมันเกิดแบบนี้มาชั่วชีวิต เพียงพอที่มนุษย์จะเรียนรู้ ปรับตัว เตรียมตัว และเอาตัวรอด
.
ฤดูฝนจึงเป็นฤดูที่พวกเรารอคอย เพราะต้นไม้กลับมามีชีวิต เขียวชอุ่ม สบายตา หากน้ำท่วมต้นไหนไม่ชอบน้ำก็ตายไป ต้นไหนรอดก็อยู่ต่อ เป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เป็นฤดูที่ปลาเยอะที่สุด เรารอคอยปลาน้ำแรกเมื่อเข้าหน้าฝนเสมอ เพราะรู้ว่าทันทีที่ฝนลงและน้ำเริ่มท่วม เจ้าปลาจะออกเดินทาง หนทางหนึ่งที่ปลาไม่ได้คาดคิดก็คือปากท้องของพวกเรา
.
ยิ่งพวกเด็กๆ ไม่ต้องพูดถึงว่าเขาดีใจขนาดไหนที่ฝนตก ทุกคนลุ้นให้น้ำสูงขึ้นอีกๆ เพื่อโรงเรียนจะได้ประกาศหยุดเรียน และนั่นเป็นช่วงเวลาที่เขาใช้วิชาทักษะชีวิตเต็มที่ เริ่มจากเล่นน้ำบนถนน ซึ่งสนุกยิ่งกว่าเล่นในสระน้ำที่โรงเรียนเสียอีก เพราะน้ำในฤดูน้ำหลากมีกระแสกึ่งเชี่ยว มีหลุมบ่อ ให้พวกเขาท้าทายและระวังตัว ต่อด้วยวิชาหาปลา แต่ละคนงัดอุปกรณ์หาปลาจากกรุในบ้านออกมาปัดฝุ่น เบ็ดเอย เบ็ดธงเอย กัด ไซ ฯลฯ แล้วแต่บ้านใครมีแบบไหน
.
แม้แต่ความสัมพันธ์เล็กๆ ของสรรพสิ่งที่เรามองข้ามก็เกิดขึ้นในหน้าฝน เช่น “ไส้เดือน” ที่ช่วยเราพรวนดิน พอน้ำเริ่มท่วมจะออกมาบนผิวดินเพื่อหาที่ปลอดภัย ในช่วงนี้เด็กๆ จะจดจ้องจับเจ้าไส้เดือนใส่ขวดไปเกี่ยวเบ็ดเป็นเหยื่อปลา
.
หลังเล่นน้ำจนเหนื่อย ถึงเวลากลับบ้าน เขารู้ว่าถ้ามีปลาเล็กปลาน้อยติดมือ อย่างแรกละจะไม่โดนพ่อแม่ด่าที่หนีมาเล่นน้ำทั้งวัน อีกอย่างพวกเขาภูมิใจกับความสำเร็จเล็กๆ ระหว่างวันนี้มาก ความตื่นเต้น เสียงโห่ร้อง และรอยยิ้มเมื่อได้ปลาไม่ต่างจากตอนเรียนได้เกรดดีเลย
.
ฉันยิ้มให้กับฝนห่านั้น 🙂
.
.
.
“ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่…..ต้องการสิ่งของดังนี้….”
พวกเราคือผู้ประสบภัย
.
เอาจริงๆ ฉันก็คุ้นเคยกับคำนี้ไม่นาน และเพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ประสบภัยก็เมื่อเพื่อน พี่น้องจากต่างภาค ต่างจังหวัดโทรศัพท์มา ไลน์มาบ้างว่า “เป็นยังไงบ้าง เห็นในข่าว น้ำท่วมหนักเลย ต้องการอะไรไหม?” ถึงขั้นต้องไปเปิดโทรทัศน์ดูเลยว่า เอ๊ะ! ในข่าวบอกว่าพวกเราเป็นอะไร ทำไมถึงมีคนห่วงใยถามไถ่ไม่ขาดสาย
.
“ผู้ประสบภัยน้ำท่วม”
เขาบอกว่าเราคือคนนี้
.
ไม่เฉพาะฉัน ชาวประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำทะเลสาบก็คงงงไม่แพ้กัน วันน้ำหลากคือวันที่พวกเขาดีใจ เร่งทำมาหากิน ได้ปลาเป็นกอบเป็นกำ เป็นวันเดียวกับที่มีคนนำถุงยังชีพใส่บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง และข้าวสาร นั่งเรือท้องแบนมามอบให้ถึงบ้าน
.
“เราควรให้ปลาเขาตอบแทน หรือควรทำตัวให้น่าสงสาร เพื่อไม่ให้เขาเสียน้ำใจ?”
.
ที่เห็นน้าๆ ลุงๆ เกร็งๆ ตอนรับ ไม่ใช่อะไร เขาก็ทำตัวไม่ถูกเหมือนฉันนี่แหละ ตามบทบาทของผู้ประสบภัยเราจะยิ้มแย้มอย่างไรได้ ให้คนมีน้ำจิตน้ำใจเขาเสียขวัญ
.
ฉันยิ้มให้กับฝนห่านั้น 🙂
.
“ฝนตกหนัก น้ำเจิ่ง รถติดยาว ไปทำงานไม่ได้”
.
.
.
ฉันได้ยินประโยคแบบนี้บ่อยขึ้นเมื่อมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ สารภาพว่าช่วงแรกก็ปรับตัวยากที่ต้องรังเกียจและกลัวสายฝน อารมณ์เหมือนวันหนึ่งมีใครสักคนเดินมาบอกว่าให้เกลียดกลัวเพื่อนที่เล่น ที่โต ที่หัวเราะมาด้วยกัน ด้วยความผิดที่ว่าเม็ดฝนทำให้เขาไปทำงานไม่ได้ ทำให้เขาเปียก ทำให้เขาเสียเวลาบนถนน ทำให้เขาคันเนื้อคันตัว ฉันเองก็เช่นกัน ทุกครั้งที่โดนเม็ดฝน ต้องรีบกลับไปอาบน้ำ ล้างเนื้อล้างตัวให้สะอาด
.
เมื่อเปลี่ยนสถานที่ เราต้องกลัวเพื่อนเก่าขนาดนี้เลยเหรอ
ฉันร้องไห้ให้กับฝนห่านั้น T T
.
เม็ดฝนทำให้ฉันกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเอง
“ฉันเริ่มเกลียด กลัวเม็ดฝนตอนไหน”
.
ตอนฝนตกหนัก ตอนฝนปรอยๆ ตอนฝนตก 3 วัน 3 คืน ตอนฝนตกในวันทำงาน ตอนฝนตกเมื่อฉันอยู่ในเมืองใหญ่ ฯลฯ และค้นพบคำตอบว่า
.
“ฉันกลัวเม็ดฝนก็เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่นี่แหละ”
.
.
.
เพราะไม่มีเด็กคนไหนกลัวฝน ฝนลงคราใดเหมือนเปิดม่านการแสดง อยากออกไปเล่นเสียเดี๋ยวนั้น ร่ม หมวก เสื้อกันฝน รองเท้าบูตไม่เคยต้องการ ขอแค่ได้เล่นกับเพื่อนชื่อเม็ดฝน
.
วันนี้ วันที่เราเป็นผู้ใหญ่ เม็ดฝนยังคงมาชวนเราเล่นและเต้นระบำบนไม้ใบสวยเหมือนเดิม
.
เธออยากเต้นระบำเหมือนเม็ดฝนไหม ลองถอดวิญญาณผู้ใหญ่ออก แล้วทำหน้ายวนยีเหมือนต้นไม้ที่ตะโกนว่า แน่จริงตกลงมาเยอะๆ เลยสิ เราจะได้เล่นสนุกด้วยกัน
.
จากนั้นก็แค่สนุกกับเม็ดฝน เช่นวัยเด็ก
ฉันจะยิ้มให้กับฝนทุกห่า 🙂
.
บันทึกสิ่งดีๆ ในวันน้ำท่วมอยู่กับบ้านวันที่ 3
พัทลุง