ชดเชยให้ตัวเอง
เรื่องและภาพ : ลิตา ศรีพัฒนาสกุล
ท่ามกลางความวุ่นวายใจกลางย่านธุรกิจ ณ ซอยสุขุมวิท 23 สิ่งดีๆ ในชีวิตของเราเกิดขึ้นทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11 นาฬิกา ภายในสตูดิโอสอนเต้นเล็กๆ แห่งหนึ่งบนดาดฟ้าของ Community Mall รุ่นบุกเบิก
เราชอบเต้นมาตั้งแต่เด็ก หากย้อนกลับไปสมัยประถมฯ แล้วถามถึงคนเต้นเก่งที่สุดในชั้น ชื่อของเรามักจะถูกเอ่ยถึงเป็นอันดับต้นๆ เสมอ เนื่องจากเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เรื่องการเต้น การแสดง ความสวยงาม มักเป็นสิ่งที่สังคมในโรงเรียนให้คุณค่า ทุกกิจกรรมจึงมีการเต้นเป็นหนึ่งในงานแสดงหลัก ไม่ว่างานไหว้ครู งานคริสต์มาส งานปีใหม่ ค่ายเนตรนารี งานกีฬาสี หรือกระทั่งวิชาพละ
.
เราไม่ได้เริ่มต้นจากการถูกคัดเลือกให้เต้นในงานใหญ่ๆ ระดับโรงเรียน เช่นงานไหว้ครู หรืองานคริสต์มาส แต่เราเริ่มจากงานที่นักเรียนทุกคนจะต้องเต้น คือค่ายเนตรนารี ซึ่งจะต้องมีการแสดงประจำห้อง โดยมีรุ่นพี่มัธยมฯ มาคิดท่าและฝึกซ้อมให้น้องๆ เพราะทางโรงเรียนมีระบบว่า พี่ห้อง ม. 1/1 จะต้องมาดูแลน้องห้อง ป. 1/1 พี่ห้อง ม. 1/2 จะต้องมาดูแลน้องห้อง ป. 1/2 เป็นต้น แล้วทางโรงเรียนจะคละห้องใหม่ทุก 3 ปี เพราะฉะนั้นตอนเราอยู่ ป. 1/2 ก็จะขึ้นไป ป. 2/2 และ ป. 3/2 จึงได้เต้นกับเพื่อนหน้าเดิมๆ
.
โดยปรกติการจัดแถวการเต้นจะเริ่มจากเรียงตามส่วนสูง ระหว่างฝึกซ้อม พี่ๆ จะคัดเลือกน้องที่เต้นสวย เต้นเก่ง มายืนแถวหน้า ซึ่งการเต้นของเราค่อยๆ พัฒนาอย่างช้าๆ ในช่วงประถมฯ ต้น จากคนที่ยืนตามตำแหน่งส่วนสูงตอน ป. 1 มาเป็น “นักเต้นแถวหน้า” อย่างภาคภูมิใจตอน ป. 3
.
จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนประถมฯ ปลายหลังจากการถูกคละห้อง เราต้องย้ายมาอยู่ห้อง 5 ซึ่งความพิเศษของห้องนี้คือ มีแค่ชั้นเราชั้นเดียวที่มีนักเรียนถึงห้าห้อง สาเหตุที่เล่าต่อๆ กันมาคือเนื่องจากปีนั้นเป็นปี “มังกรทอง” จึงมีพ่อแม่มากมายที่วางแผน “ทำการบ้าน” เพื่อให้ได้มังกรทองมาเป็นสมาชิกครอบครัว
.
ปัญหาคือชั้นอื่นๆ มีเพียงแค่สี่ห้อง เพราะฉะนั้นจะไม่มีพี่ห้อง 5 มาคิดและสอนท่าให้เด็กมังกรทองห้องนี้ “นักเต้นแถวหน้า” อย่างเรากับเพื่อนสนิทนักเต้นในกลุ่มจึงอาสาออกแบบท่าเต้น และฝึกซ้อมเพื่อนคนอื่นๆ ในห้องเอง ทำให้ค่ายเนตรนารีตอน ป. 4 เป็นการเปิดตัวเบาๆ ของนักเต้นหน้าใหม่อย่างเรา
.
.
.
ช่วงประถมฯ ปลายไม่ได้มีแค่การเต้นเพื่อแสดงในค่ายเนตรนารีเท่านั้น แต่ยังมีการเต้นในวิชาพละอีกด้วย โดยนักเรียนจะต้องจัดกลุ่มประมาณ 10 คน คิดท่าเต้น ฝึกซ้อมกันเอง และแสดงโชว์เพื่อจะได้คะแนนในวิชาพละ นอกจากนี้ครูพละจะคัดเลือกกลุ่มที่เต้นเก่งที่สุดของแต่ละห้องมาหนึ่งกลุ่ม โดยจะได้แสดงในหอประชุม และแข่งขันกับกลุ่มที่ดีที่สุดจากห้องอื่นๆ ซึ่งกลุ่มที่เต้นเก่งที่สุดของชั้นจะได้ตำแหน่งศักดิ์ศรีสำคัญไปครอง
.
เราเลือกเพลง Chirpy Chirpy Cheep Cheep ที่วงแจมป์นำมาร้องใหม่ มาคิดท่าและฝึกซ้อมเพื่อนๆ อีกเก้าคนอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่าจะพักเช้า พักเที่ยง พักบ่าย แม้กระทั่งวันเสาร์ นักเรียน ป. 5 สิบคนฝึกซ้อมเต้นเพลงภาษาอังกฤษที่ไม่เข้าใจความหมายสักคำเป็นร้อยรอบเพื่อตำแหน่งศักดิ์ศรีนี้
.
ตอนแข่งกันเองกับกลุ่มอื่นในห้องก็ว่าน่ากลัวพอตัว เพราะทุกคนฝึกซ้อมมาไม่แพ้กัน แต่กลุ่มเราก็ช่วงชิงชัยชนะมาได้อย่างไม่ยากเย็น แต่การแข่งระดับชั้นกับห้องอื่นๆ นั้นเหมือนหนังคนละม้วน เพราะเราอยู่ห้อง 5 จึงได้แสดงเป็นห้องสุดท้าย และเห็นผลงานอีกสี่ห้องก่อนหน้า ที่เรียกว่าดูไปถอนใจไป เพราะทุกกลุ่มท่าดี เต้นดี ไม่มีหลุด กลุ่มเราขึ้นไปแสดงพร้อมความหวังริบหรี่ แต่ทุกคนก็เต็มที่เท่าที่ยังมีแรงใจเหลือ พอแสดงจบก็เดินลงเวทีคอตกมานั่งกับเพื่อนคนอื่นๆ ในห้องรอคณะกรรมการตัดสิน
.
วินาทีที่ประกาศผลเป็นภาพที่เรายังจำได้ติดตา เพื่อนๆ ทุกคนในห้องชูแขนขึ้นดีใจพร้อมกรี๊ดลั่นหอประชุม
.
เพราะห้อง 5 ชนะ
เพราะกลุ่มเราชนะ
เพราะท่าเต้นที่เราคิด … ชนะ
วันนั้นเป็นวันแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการของเรา
.
แต่ชีวิตนักเต้นอย่างเรากลับล้มไม่เป็นท่าตอนขึ้น ม. 1 เพราะพ่อแม่จับย้ายมาโรงเรียนใหม่ที่มีชื่อเสียงในแง่วิชาการ และสิ่งแรกที่รู้สึกได้คือสังคมในโรงเรียนนี้ให้คุณค่ากับการเรียนเก่ง คะแนน เกรดเฉลี่ย ฉะนั้นคนสอบได้ที่ 1 จึงจัดว่าเท่
.
.
.
ส่วนการเต้นไม่ได้เป็นที่นิยมนัก นอกเหนือจากเชียร์ลีดเดอร์ที่จะได้เต้นในงานกีฬาสีปีละครั้งแล้ว การเต้นในงานอื่นๆ แทบไม่เคยมี มิหนำซ้ำเรารู้สึกว่าผู้หญิงที่เต้นอาจถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากเพื่อนในโรงเรียนด้วยซ้ำ เพื่อนผู้หญิงบางคนก็มองว่าไม่ดี ไม่งาม ไม่สมควรทำ ส่วนเพื่อนผู้ชายบางคนก็จดจ้องและคิดลึกไปไกล
.
ด้วยความที่เราเป็นคนที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเป็นที่ยอมรับในสังคมและสายตาคนรอบข้าง เทปเพลงจึงค่อยๆ ถูกหนังสือเรียนดันเข้าไปสู่ส่วนลึกสุดในลิ้นชัก เราหันมาทุ่มเทพลังงานและความสามารถที่พอจะมีทั้งหมดเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง จากเด็กกิจกรรม เราค่อยๆ ผันตัวมาเป็นเด็กเรียนอย่างช้าๆ แต่มันกลับไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร เพราะเราพบว่าความสำเร็จในการศึกษานั้นเป็นที่ยอมรับอย่างง่ายดายในสังคม
.
โรงเรียนให้ทั้งใบประกาศฯ ทั้งทุนการศึกษา เพื่อนๆ ต่างมองด้วยสายตาชื่นชม และพ่อแม่ก็มักจะแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักลูกสาวคนนี้พร้อมห้อยท้ายด้วยชื่อสถาบันการศึกษาอย่างภาคภูมิใจ
.
เราเองก็ภูมิใจกับทุกสิ่งที่ได้รับ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยลืมว่าเรารักการเต้น และมีหลายๆ ครั้งที่เรามักแอบเต้นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าในงานปาร์ตี้ที่คนไม่ค่อยสนใจ ในร้านมืดๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่มีสติหลงเหลืออยู่แล้ว หรือกระทั่งการแอบเต้นในหัวเวลาวิ่งออกกำลังกายในฟิตเนส
.
แต่การเต้นอย่างจริงจังนั้น เราเลือกที่จะเก็บมันไว้ทำใน “วันที่เหมาะสม”
แต่วันไหนล่ะคือวันที่เหมาะสม?
หลังจากจบมัธยมฯ ก็ยังไม่เหมาะสมเพราะต้องเรียนต่อปริญญาตรี
หลังจากได้ปริญญาตรีก็ยังไม่เหมาะสมเพราะต้องเรียนต่อปริญญาโท
หลังจากได้ปริญญาโทก็ยังไม่เหมาะสมเพราะต้องหางานทำ
หลังจากได้จากงานทำก็ยังไม่เหมาะสมเพราะต้องทำหน้าที่การงานให้มั่นคง
หลังจากหน้าที่การงานมั่นคงก็ยังไม่เหมาะสมเพราะต้องเริ่มสร้างครอบครัว
.
เราใช้เวลาเกือบ 20 ปีกว่าจะคิดได้ว่าเราเองคือตัวถ่วงเวลาความสุขของตัวเอง เพราะมัวแต่ทำในสิ่งที่คนอื่นยอมรับ ทำตามแบบแผนในชีวิตที่คนส่วนใหญ่มองว่าถูก ว่าควร และที่สำคัญสุดคือ เพราะเราลืมให้ความสำคัญกับหัวใจตัวเอง
.
.
พอคิดได้อย่างนี้ เรารีบพุ่งตัวออกจากบ้านไปยังสตูดิโอสอนเต้น เพราะรู้ว่ามีเด็กประถมฯ นักเต้นดาวรุ่งคนหนึ่งนั่งกำเทปวงแจมป์รออย่างใจจดใจจ่ออยู่ในส่วนลึกสุดของลิ้นชักโต๊ะทำงานมาหลายปี ถึงเวลาที่เราต้องชดเชยให้เด็กคนนี้
.
ต้องยอมรับว่าพอกลับมาเต้นใหม่ก็พบว่าตัวเองยังห่างไกลจากคำว่านักเต้นแถวหน้าอยู่มาก ความจำก็ไม่ดี แถมครูสอนเต้นยังเรียก “พี่” อีก ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน คนหน้าบางอย่างเราที่มักให้ความสำคัญกับความเห็นของคนแปลกหน้าคงรับไม่ได้ แต่ตอนนี้เราพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “มีความสุขทุกนาที” ที่ได้กลับไปเต้นอีกครั้ง
.
ท่ามกลางความวุ่นวายใจกลางย่านธุรกิจ ณ ซอยสุขุมวิท 23 สิ่งดีๆ ในชีวิตของเราเกิดขึ้นทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11 นาฬิกา ภายในสตูดิโอสอนเต้นเล็กๆ แห่งหนึ่งบนดาดฟ้าของ Community Mall รุ่นบุกเบิก
.
ที่ที่เราได้เรียนรู้ที่จะทำเพื่อตัวเอง…ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร