น้ำใจในไฟสงคราม
เรื่องและภาพ : อุไรวรรณ เทิดบารมี
ย้อนกลับไปประมาณร้อยกว่าปี เป็นช่วงเวลาที่คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงคราม ส่งผลให้ข้าวยากหมากแพง แก่งแย่งแข่งขัน ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
.
.
คุณตาคุณยายของผู้เขียนก็อยู่ในช่วงเหตุการณ์นั้น ท่านทั้งสองเป็นคนเวียดนาม ประชาชนเวียดนามล้วนอดอยาก ลำบากแสนสาหัส ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อประทังชีวิต คุณตาคุณยายต้องย้ายที่ทำกินหลายเมืองแต่ความเป็นอยู่ก็ไม่ดีขึ้น ยังคงอดมื้อกินมื้อ จึงตัดสินใจจากแผ่นดินเกิดเพื่อแสวงหาแหล่งทำกินที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เดินทางไปเรื่อยๆ ค่ำไหนก็นอนนั่น ด้วยอาชีพเร่ขายขนมปัง เนื่องจากคุณตาเคยเป็นลูกจ้างร้านขนมปังและทำอาหารให้ทหารฝรั่งเศสอยู่หลายปี จึงมีวิชาทำอาหารติดตัว การทำขนมปังขายกลายเป็นอาชีพหลักในการดำรงชีวิต
.
ร่อนเร่ รอนแรม มาถึงประเทศลาว การขายขนมไม่ง่ายดายเลย ยังต้องย้ายที่ทำกินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม้วน ประเทศลาว การค้าขายเริ่มไปได้สวยและสามารถลืมตาอ้าปากได้ จึงตั้งใจว่าจะปักหลักอยู่ที่นี่ถาวร เป็นเวลาหลายปีกว่าคุณตคุณยายจะเปิดร้านขนมได้ มีบ้านเป็นของตัวเอง มีเงินซื้ออุปกรณ์และเครื่องทำขนมอย่างดี ตอนนั้นคุณตาคุณยายมีลูกสี่คน คนโตเป็นผู้หญิงอายุ 6 ขวบ ทุกคนมีชีวิตสุขสบาย ได้เรียนในโรงเรียนดีๆ มีคนคอยรับคอยส่ง
.
ชีวิตสุขสบายได้เพียง 2-3 ปี เพราะในปี 2489 เมืองท่าแขกถูกวางระเบิดอย่างหนัก ทุกคนอยู่อย่างหวาดระแวง เป้าหมายในการโจมตีคือคนเชื้อสายเวียดนาม ทุกคนต่างดิ้นรนหาทางหนีเอาตัวรอด หนทางเดียวที่จะหนีได้คือข้ามแม่น้ำโขงไปให้ถึงแผ่นดินไทย นับวันสงครามมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น เช้าตรู่วันหนึ่งคุณตาจึงวางแผนให้คุณยายและลูกๆ ทั้งสี่คนนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปขึ้นที่ท่าด่านของจังหวัดนครพนม คุณตาให้ทุกคนล่วงหน้าไปก่อนโดยจะตามไปทีหลังเพราะยังหวังว่าสถานการณ์อาจดีขึ้น แต่เหตุผลสำคัญคือห่วงเครื่องมือทำมาหากินที่หามาได้อย่างยากลำบาก และตั้งใจจะขุดเอาเงินที่ฝังดินไว้มาด้วย
.
แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากส่งคุณยายและลูกๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เมืองท่าแขกถูกโจมตีหนัก คุณตาเอาอะไรมาไม่ได้เลย ชีวิตก็แทบไม่รอด เสียงระเบิดดังสนั่น เสียงปืนดังลั่น มีเพียงความวุ่นวายโกลาหล ทุกคนหนีระเบิด หนีลูกกระสุน ใครที่มีเชื้อสายเวียดนาม ต่างหนีตายกระโดดลงแม่น้ำโขงไม่ว่าจะว่ายน้ำเป็นหรือไม่เป็น เพราะเป็นหนทางเดียว ถ้าข้ามไปยังแผ่นดินไทยได้จึงจะมีชีวิตรอด
.
คุณยายและลูกๆ มาถึงท่าด่านอย่างปลอดภัย ทุกคนรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เมืองท่าแขก แม่น้ำโขงเป็นสีแดง สีแดงของเลือด บางคนตาย บางคนบาดเจ็บ ศพเกลื่อนไปหมด คุณยายและลูกๆ ร้องไห้คิดว่าคุณตาคงไม่รอดเพราะว่ายน้ำไม่เป็น แต่ก็ยังรอ รอจนมืดค่ำด้วยความหวังริบหรี่
.
ระหว่างการรอคอยที่แทบจะเป็นศูนย์ ทันใดนั้นทุกคนก็ได้ยินเสียงประกาศตามหาญาติของผู้บาดเจ็บที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงแม้ความหวังจะน้อยเหลือเกิน แต่ทุกคนก็เดินไปดู แล้วปาฎิหาริย์ก็เกิดขึ้น ผู้บาดเจ็บคนหนึ่งคือคุณตา คุณตานอนอยู่ในสภาพหมดเรี่ยวแรง ถูกยิงที่หัวเข่า เคราะห์ดีที่รอดชีวิตและลูกกระสุนเพียงแค่เฉียดๆ ไม่ทะลุถึงกระดูก
.
ผู้อ่านคงสงสัยว่า ในเมื่อคุณตาว่ายน้ำไม่เป็นแล้วข้ามแม่น้ำโขงมาได้อย่างไร หลังจากคุณตาฟื้น ท่านเล่าว่า ที่รอดมาได้เพราะเกาะต้นกล้วย เกาะแน่นมากไม่ยอมปล่อย แล้วก็ลอยตามน้ำมาจนถึงฝั่ง (สมัยนั้นแม่น้ำโขงไม่ได้กว้างใหญ่เหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน)
.
หลังจากข้ามมาถึงแผ่นดินไทย ทุกคนไม่สามารถกลับประเทศลาวหรือเวียดนามได้อีก คุณตา คุณยาย และลูกๆ ได้รับความช่วยเหลือจากคนไทย โดยให้อาศัยอยู่ใต้ถุนบ้านแล้วช่วยเขาทำมาหากิน อยู่ไปได้สักพักก็ขอย้ายออกเพราะจะอยู่กับเขาตลอดเลยก็ไม่ได้ พอออกมาอยู่กันเองคุณตาก็หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานรับจ้างไปเรื่อยๆ พร้อมหัดพูดภาษาไทย เริ่มมีทุนก็ทำขนมขาย ร่อนเร่ตลอดจากนครพนมไปอุดรธานี และสุดท้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดสกลนคร คุณตาคุณยายมีลูกทั้งหมด 10 คน ในบั้นปลายชีวิตของคุณตาอาการปวดหัวเข่าที่ถูกยิงในครั้งนั้นก็ยังคงอยู่ และยังทำขนมขายแต่ทำแค่ขนมถั่วตัด กระทั่งร่างกายเริ่มชราลงจนไม่มีแรงทำขนมท่านจึงหยุดพัก คุณตาจากโลกนี้ไปอย่างสงบในปี 2546 ด้วยอายุ 96 ปี
.
.
.
.
ปัจจุบันคนที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นและยังมีชีวิตอยู่คือคุณป้าแท้ๆ ของผู้เขียน คุณป้าเป็นลูกสาวคนโต ตอนหนีข้ามมาฝั่งไทยท่านอายุประมาณ 9 ขวบ ช่วงเวลานั้นมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่ควรจดจำและไม่ควรจดจำ
.
“วันที่หนีมาถึงไทย ตอนเช้าเรายังเห็นเขามีชีวิตอยู่เลย แต่พอเที่ยงๆ เขาก็ตาย เพราะไม่มีญาติ”
.
“ตอนนั้นเงินก็ไม่มี อะไรก็ไม่มีเลย แต่ได้คนไทยที่นั่นช่วย เขาให้อาศัยอยู่ใต้ถุนบ้าน หาข้าว หาน้ำ มาให้
.
“แล้วก็มีโรคท้องร่วงระบาด คนส่วนใหญ่กินและใช้น้ำจากแม่น้ำโขง ยายก็ท้องร่วงด้วย กินยาอะไรก็ไม่หาย ก็มีคนไทยมาบอกป้าว่า ‘หนูๆ ให้เอาว่านหางจระเข้ใส่น้ำตาลให้แม่กินนะ’ พอทำแบบนั้นยายก็หายดี
.
“อยู่เมืองไทยก็ร่อนเร่ทำมาหากินไปเรื่อยๆ ยายก็ท้องลูกคนที่ 5 ตอนนั้นยังไม่มีบ้าน ยายบอกว่าจะคลอดใต้ต้นไม้ ก็มีคนไทยมาเห็น เขาบอกว่าไปคลอดใต้ถุนบ้านเขาก็ได้”
.
.
.
ในความทุกข์ยาก ความโหดร้าย วันที่หมดสิ้นหนทาง ยังมีหยดน้ำเล็กๆ มาประพรมชีวิตให้เราเดินต่อไปได้ หยดน้ำเล็กๆ หรือหยดน้ำทิพย์ที่คุณตา คุณยาย และคุณป้า ได้รับนั้นก็คือน้ำใจจากคนไทยที่ไม่อาจหาได้จากที่ใดในโลก เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญความสิ้นหวัง แม้เราจะเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน
.
คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้าและอาจดูไม่น่าไว้ใจ แต่ก็ยังช่วยเหลือให้ที่พักพิง
.
คนแปลกหน้าที่อาจจะไม่สามารถตอบแทนบุญคุณได้เลย แต่ยังเอื้ออาทรดูแลรักษา ให้น้ำ ให้อาหาร
.
คนแปลกหน้าที่อาจนำความลำบากมาให้ แต่ก็ยังช่วยเหลือรับไว้ให้ช่วยทำงาน
.
เป็นน้ำใจที่ไม่รู้ว่าจะตอบแทนได้หรือเปล่า มันเป็นสิ่งที่เขาให้เราเปล่าๆ โดยไม่หวังสิ่งใด ผู้ให้อาจคิดว่าเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แต่ในฐานะผู้รับมันคือสิ่งดีๆ ที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่า และน่าจดจำเสมอ
.
ตลอดช่วงชีวิตของคนเรา สิ่งที่เรามักจำได้และจดจำได้แม่นยำ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเวลาที่เราลำบาก ในวันที่ไม่เหลืออะไร แม้จะไม่อยากจำ แต่มันก็ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจจนไม่อาจลืมได้ ในความทรงจำโหดร้าย เมื่อเราผ่านมันมาได้ วันนี้มันก็กลายเป็นแค่อดีต แต่เหตุใดพวกเขาจึงยังพูดถึงเหตุการณ์นั้นได้ และมีรอยยิ้มในบางช่วงที่เอ่ยถึง คงเป็นเพราะในความโหดร้ายก็ยังมีสิ่งดีๆ ที่ควรค่าให้จดจำ