“แค็กตัส” กระบองเพชรจิ๋ว ผู้หอบหิ้วความสุขมหาศาลมาให้
เรื่องและภาพ : อารีย์ เลิกนอก
คงเพราะนิสัย “จะรู้อะไรต้องรู้ให้สุด” ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก จึงผลักดันให้ฉันศึกษาหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้ว่าทุกๆ ต้นที่เลี้ยงไว้คือสายพันธุ์ใดบ้าง มีวิธีเลี้ยงต่างกันอย่างไร
การเลี้ยงแค็กตัสไม่ต่างกับเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้นไม้พูดไม่ได้ก็จริง แต่แสดงอาการออกมาให้เราเห็นได้ว่าพวกมันต้องการอะไร
.
“นี่เลี้ยงตัวเองยังไม่รอดเลย จะให้ไปเลี้ยงอย่างอื่นก็ไม่น่าไหวหรอก”
ฉันคิดในขณะที่กำลังเลื่อนดูรูปภาพแค็กตัสของเพื่อนๆ ที่เอามาประชันความน่ารักในแอปฯ อินสตาแกรม
.
.
.
เคยได้ยินมาว่าสรรพคุณของแค็กตัส (cactus) คือช่วยดูดกลืนรังสีจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แถมยังช่วยบำบัดจิตใจที่บอบช้ำด้วย แต่ต้องรอนานแค่ไหนล่ะกว่ามันจะออกดอกให้เราได้ดูได้ชม ฉันว่าตัวเองไม่เหมาะกับมันสักเท่าไรเลย เพราะคนใจร้อนเวลาต้องทำอะไรนานๆ มักไปไม่รอด เพราะฉะนั้นเลือกไม่ทำเลยน่าจะดีที่สุด
.
แล้วความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นเมื่อเที่ยงวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ปกติฉันต้องค้นหาคลิปวิดีโอใน YouTube เพื่อเพิ่มอรรถรสระหว่างการรับประทานอาหารเที่ยง แต่คิดอยู่นานว่าจะดูอะไรดี จนกระทั่ง…
.
“การรดน้ำแค็กตัสหรือกระบองเพชร ควรรดเมื่อดินแห้ง หรืออาทิตย์ละครั้งนะคะ…ที่สำคัญเลยคือไม้จิ้มฟันค่ะ ขาดไม่ได้เลย เวลาจะรดน้ำก็ให้เอาไม้จิ้มฟันจิ้มลงไปในดิน เมื่อเอาขึ้นมาแล้ว ถ้ามีดินติดอยู่ ก็ยังไม่ต้องรด แต่ถ้าไม่มีเลย ให้รดได้แล้วค่ะ…เวลารดน้ำ ต้องรดให้น้ำไหลออกมาตรงก้นกระถางด้านล่างนะคะ เอาให้ชุ่มเลย” (จากคลิป “รดน้ำแคคตัสหรือกระบองเพชร เมื่อไหร่ ยังไง ทำไม?” | Cactus Journey EP.4)
–แค่รดน้ำ ทำไมรายละเอียดมันเยอะขนาดนี้เนี่ย…ดีนะที่ไม่ได้เลี้ยง ไม่งั้นตายคามือแน่ๆ–ฉันคิด
………………………………………………………………………….
.
.
“อารีย์ๆ ใกล้วันเกิดแกแล้วใช่ป่าว เรามีของขวัญจะให้น่ะ”
“ฮะ!? จะให้เลยเหรอ แล้วมันคืออะไรล่ะ”
เพื่อนคู่สนทนาค่อยๆ หยิบของขวัญที่เตรียมมา เธอใช้สองมือประคองแล้วยื่นให้ฉัน เมื่อแกะกระดาษห่อออก คิ้วบนหน้าฉันเริ่มขมวดเป็นปม สายตาจับจ้องที่ของขวัญในมือ
.
“เห็นแกเคยพูดว่าอยากได้ เราเลยซื้อมาให้น่ะ ฝากดูแลน้องด้วยนะ”
.
และแน่นอน ของขวัญวันเกิดชิ้นนี้มันจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากกระบองเพชรจิ๋วที่ฉันจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยไปอยากได้ตอนไหน
ถึงคราวต้องตกกระไดพลอยโจน เมื่อกลับถึงบ้านก็พบว่า กระถางแค็กตัสที่นำใส่กระเป๋านักเรียนมาด้วยนั้นล้มคว่ำคะมำหงาย เศษดินเศษหินกระจายอยู่เต็ม ฉันจึงต้องนำ “น้อง” มาปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการปัดฝุ่นตามลำต้น และนำดินที่หกเละเทะใส่กลับเข้ากระถางตามเดิม แต่ด้วยความไม่รู้ทำให้ต้องไปร้านต้นไม้ในวันถัดมา
.
“พี่คะ เวลาใส่ดินให้แค็กตัส มันต้องใส่ยังไงคะ” ฉันเปิดบทสนทนากับเจ้าของร้านต้นไม้
“ก็ใส่เหมือนใส่ต้นไม้ปกตินี่แหละครับ น้องแค่เอาดินในถุงนี่ใส่ลงไปในกระถาง แล้วก็เหลือที่เอาไว้หย่อนรากมันด้วยนะ”
“แล้วต้องใส่กาบมะพร้าวสับด้วยมั้ยคะ พอดีหนูเห็นใน YouTube เขาใส่กัน”
“ไม่จำเป็นครับ เพราะบางคนก็ใช้หินภูเขาไฟแทน หรือไม่ใส่เลยก็มี”
.
ฉันกลับบ้านมาพร้อมกับดินสำเร็จรูปสำหรับปลูกแค็กตัสและหินโรยหน้ากระถางสีส้มอิฐอย่างละหนึ่งถุง แวะขโมยช้อนสเตนเลสด้ามยาวจากในครัว ได้อุปกรณ์แล้วก็นั่งลงกับพื้นห้องและไม่ลืมที่จะเปิดคลิปของช่อง “Cactus Journey” ไปด้วย เป็นคลิปเรื่องการใส่ดินลงกระถาง…
.
.
.
ในขั้นแรกให้ใส่กาบมะพร้าวสับหรือหินภูเขาไฟลงไปให้สูงราว 1 ใน 4 ของกระถาง แล้วใส่ดินลงไปอีก 2 ส่วน ตามด้วยปุ๋ยออสโมโค้ทหรือปุ๋ยละลายช้ากับสตาร์เกิลจี (ผงกันแมลง) จากนั้นทำหลุมตื้นๆ ตรงจุดศูนย์กลางของกระถาง ใส่แค็กตัสแล้วโรยหน้าด้วยหินสีเพื่อความสวยงาม ใช้ช้อนเคาะข้างๆ กระถางเล็กน้อยให้ดินเข้าที่ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
.
ฉันทำตามขั้นตอนในคลิป เว้นบางอย่างที่ไม่ได้ซื้อติดมา
–ทำเป็นเล่นไป ออกมาดูดีอยู่นะเว้ย–นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันเผลอเปิดใจให้เจ้ากระบองเพชรจิ๋ว แถมอมยิ้มให้กับความน่ารักและรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่สามารถใจเย็นกับมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ
.
ด้วยความใจดีของอาก๋ง เมื่อท่านรู้ว่าฉันเริ่มเลี้ยงแค็กตัส ก็ส่งกองทัพกระบองเพชรและไม้อวบน้ำมาให้เป็นของขวัญวันเกิด โดยฝากมาทางคุณพ่อคุณแม่ที่แวะไปฮันนีมูนแถวๆ บ้านท่าน
.
กระบองเพชรแต่ละต้นมีรูปร่างหน้าตาต่างกันโดยสิ้นเชิง หลังจากรดน้ำไปได้ 1 วัน จู่ๆ ฉันกับคุณแม่ก็สังเกตเห็นใบของต้นหนึ่งที่หน้าตาคล้ายต้นมะพร้าวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วหลุดร่วง คุณแม่จึงสอบถามไปทางอาก๋ง ได้ความว่า มันคือ “มะพร้าวทะเลทราย” เป็นไม้อวบน้ำชนิดหนึ่งที่อ่อนไหวต่อแสงและความชื้นมาก ถ้าให้น้ำมากไปจะเกิดอาการใบเหลือง และถ้าได้รับแสงไม่เพียงพอจะทำให้ใบร่วงได้ หรือถ้าเคยพรางแสงแล้วเปลี่ยนไปวางไว้ในที่ที่มีแดดจัด มันก็จะผลัดใบเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมะพร้าวทะเลทรายก็ทนทานมาก เลี้ยงง่ายตายยาก แถมปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
.
คงเพราะนิสัย “จะรู้อะไรต้องรู้ให้สุด” ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก จึงผลักดันให้ฉันศึกษาหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้ว่าทุกๆ ต้นที่เลี้ยงไว้คือสายพันธุ์ใดบ้าง มีวิธีเลี้ยงต่างกันอย่างไร การเลี้ยงแค็กตัสไม่ต่างกับเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้นไม้พูดไม่ได้ก็จริง แต่แสดงอาการออกมาให้เราเห็นได้ว่าพวกมันต้องการอะไร
…………………………………………………………………………
หลังจากปรึกษาปัญหาชีวิตวัยรุ่นกับเพื่อนเสร็จสิ้น ฉันไม่พลาดที่จะหยิบยกความภาคภูมิใจของตนขึ้นมาพูดคุย
“นี่ๆ ไหนๆ ก็ได้คอลกันแล้ว เราจะมาอัปเดตให้ฟังว่า ตอนนี้น้องๆ แค็กตัสเป็นยังไงกันบ้าง”
“โอ้…กำลังอยากรู้อยู่พอดี งั้นว่ามาเลยๆ”
.
“เราจะบอกว่า…ตอนแรกที่แกให้มา เราโคตรสับสนเลยว่าจะทำยังไงดี เพราะตัวเองไม่เคยเลี้ยงต้นไม้เลย แต่แกเชื่อป่ะ เราโดนตกแบบไม่รู้ตัวเลย เราหาข้อมูลทุกช่องทางเลยว่ามันต้องเลี้ยงยังไง ให้น้ำยังไง ต่างๆ นานา จนมันค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ…แล้วมันก็ทำให้เราเป็นคนใจเย็นขึ้นด้วยนะ”
.
“เราดีใจนะที่อารีย์ชอบ ขอบคุณมากๆ นะ”
.
“อื้ม…พอรู้ตัวอีกทีเราก็อยากเห็นเขาโตขึ้น ออกดอก แล้วก็ไม่อยากเห็นเขาตายแล้วละ บางวันกลับจากโรงเรียนมาเหนื่อยๆ แค่เห็นพวกเขาก็รู้สึกเหมือนได้บำบัดเลย”
.
“เห็นคนอื่นเลี้ยงก็ไม่ดีเท่าเราเลี้ยงเองเนอะ”
.
“สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นจริงๆ นั่นแหละ ขอบคุณสำหรับของขวัญวันเกิดนะ” ฉันขอบคุณเพื่อนยกใหญ่ ก่อนจะบ๊ายบายและวางสายโทรศัพท์ลง
.
–เห็นคนอื่นเลี้ยงก็ไม่ดีเท่าเราเลี้ยงเองจริงๆ–
ฉันทวนคำของเพื่อนอย่างสุขใจ.