ยอมรับได้ ใจคลายทุกข์
มีเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกใจเราเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ใครที่อยู่ในเมืองก็ต้องเจอรถติด สังเกตไหมว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นขณะรถติด เกิดจากอะไร เป็นความทุกข์ชนิดใด มันไม่ใช่ทุกข์กายแต่เป็นทุกข์ใจ
ทั้งๆ ที่อยู่ในรถติดแอร์ เปิดเพลง มีขนมกินด้วยซ้ำ ไม่มีความทุกข์กาย แต่ทำไมคนจึงไม่ชอบรถติด นั่นเพราะมีความทุกข์ใจ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า ทุกข์ใจไม่ได้เกิดจากรถติด แต่เกิดจากการไม่ยอมรับรถติด จิตจึงบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย แต่ทันทีที่เรายอมรับได้ ใจสงบเลย
.
ชายคนหนึ่งเรียกรถแท็กซี่ไปวัดพระแก้วเพื่อจะไปทำบุญ เช้าวันนั้นรถติดมาก เขาต้องโทรศัพท์บอกพี่สาวหลายครั้งว่าจะไปสาย เขาหงุดหงิดรุ่มร้อน แต่สังเกตเห็นว่าคนขับรถแท็กซี่ไม่มีอาการรุ่มร้อนเลย เปิดวิทยุแถมฮัมเพลงไปด้วยอย่างมีความสุข เขาจึงถามคนขับรถว่าพี่ไม่หงุดหงิดเหรอ คนขับรถตอบดี เขาตอบว่าผมไม่รู้จะหงุดหงิดไปทำไมครับ หงุดหงิดแล้วมันก็ติดเท่าเดิม
.
เขายังพูดต่ออีกว่า แต่ก่อนเขาทำงานบริษัท ตอนหลังเบื่อเลยลาออกมาขับแท็กซี่ มันอิสระดี ที่น่าสนใจคือเขาพูดว่า “ผมรู้ว่าผมเลือกทำอาชีพอะไร แล้วจะต้องเจอกับอะไร ถ้าเลือกขับแท็กซี่ก็ต้องยอมรับได้ว่าต้องเจอรถติด”
.
คนขับแท็กซี่ไม่หงุดหงิดเวลารถติดเพราะเขายอมรับมันได้ ส่วนคนที่ทุกข์ใจก็เพราะยอมรับมันไม่ได้ แถมยังคิดปรุงแต่งต่อไปว่าถ้ารถติดหนักกว่านี้จะไปทำงานสาย จะไปส่งลูกไม่ทัน จะตกเครื่องบิน ก็เลยกระสับกระส่าย
.
ไม่ว่าเจอทุกข์อะไรก็ตาม ถ้าเรายอมรับไม่ได้ ใจจะเป็นทุกข์มาก เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความทุกข์อันแรกที่เจอ
.
หญิงสาวผู้หนึ่งพูดได้น่าสนใจมากว่า “มะเร็งไม่ได้ทำให้ยิ้มคุณหายไป ทุกข์ในใจต่างหากเป็นตัวทำ” ถามว่าทุกข์ใจเพราะอะไร คำตอบคือยอมรับความจริงไม่ได้ สิ่งที่เธอพูดนั้นเป็นสัจธรรมมาก เธอพูดว่า
“ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นโหดร้ายกว่า เพราะมันเปรียบเหมือนคุกที่ขังใจเราไว้”
.
ประโยคข้างต้นเธอพูดจากประสบการณ์ของตัวเอง เธอเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะตอนอายุ 30 ปี ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ หมอเองทีแรกก็ยังไม่เชื่อ เพราะมะเร็งที่เกิดกับเธอนั้นมักเกิดขึ้นผู้สูงอายุหรือสูบบุหรี่จัด แต่เธอไม่เคยสูบบุหรี่ ตอนที่เธอรู้ว่าเป็นมะเร็ง เธอรู้สึกทุกข์มาก ทุกข์กายไม่เท่าไหร่แต่ทุกข์ใจมากเธอเอาแต่คร่ำครวญว่า ว่าทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องเป็นมะเร็งชนิดนี้ มันไม่น่าจะเกิดกับฉัน ฉันอายุแค่ 30 ปีเท่านั้น พอเธอไม่ยอมรับความจริงนี้ ก็เครียด จนเหวี่ยงวีนใส่หมอ เหวี่ยงวีนแม้กระทั่งกับคนที่บ้าน
.
ภายหลังเธอหันมาสนใจการปฏิบัติธรรม เจริญสติ เมื่อสังเกตจิตใจของตนก็พบว่า สาเหตุของความทุกข์ใจคือการไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับโรคมะเร็ง แต่พอเธอยอมรับมันได้ ใจก็สงบ แม้ว่ามะเร็งจะลามไปเยอะแล้ว
.
คนเรามักจะมองข้ามความจริงว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราไม่ร้ายเท่ากับการไม่ยอมรับความทุกข์นั้น สิ่งที่เรากลัวเราเกลียด ไม่ร้ายเท่ากับความกลัวความเกลียดสิ่งนั้น ลองพิจารณาดูให้ดีว่า คนที่เป็นปัญหากับเรา ยังไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับความรู้สึกเกลียดชังหรือโกรธคนนั้น มะเร็งก็เหมือนกัน มันไม่ร้ายเท่ากับความกลัวความเกลียดและการไม่ยอมรับมะเร็ง
เมื่อเจอเหตุร้ายหรือสิ่งที่ไม่ปรารถนา ประการแรกที่เราควรทำคือ ยอมรับเพราะมันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถปฏิเสธ ผลักไสไปได้
.
ประการที่สอง ให้ตระหนักว่า ยิ่งผลักไสก็ยิ่งทุกข์ เป็นการซ้ำเติมตัวเอง อย่างที่คนขับแท็กซี่พูด “ผมไม่รู้จะหงุดหงิดไปทำไม หงุดหงิดแล้วรถมันก็ติดเท่าเดิม” ความหงุดหงิดทำให้จิตใจรุ่มร้อน ส่วนปัญหาหรือความทุกข์เดิมก็ไม่ได้หายไปไหน
.
มีคนเปรียบเทียบชีวิตไว้ดีว่า เหมือนกับการเล่นไพ่ บางครั้งเราก็จั่วได้ไพ่ที่ไม่ดี แต่ป่วยการที่จะบ่น ตีโพยตีพายว่า ทำไมได้ไพ่ใบนี้ คนที่เล่นไพ่เก่งเขาไม่บ่นโวยวายอย่างนั้น แต่เขาจะพยายามใช้ปัญญาเพื่อเล่นให้ดีที่สุด บางครั้งเขาก็ชนะทั้งที่ไพ่ในมือเขาไม่ดีเลย ถ้าเขาโวยวาย ก็หัวเสีย ปัญญาก็ไม่เกิด สู้ตั้งสติให้ดีว่าจะใช้ไพ่ที่มีในมือให้เกิดประโยชน์อย่างไร
.
แม่ครัวซึ่งได้เครื่องเคราไม่ครบ เขาไม่มัวหัวเสียบ่นปอดแปดว่าว่าทำไมเครื่องไม่ครบ เขาจะคิดเพียงว่าทำอย่างไรจะปรุงอาหารให้อร่อยหรือดีที่สุดเท่าที่อุปกรณ์มีอยู่ ไม่มีเนื้อ มีแต่ผักก็ไม่เป็นไร ไม่มีน้ำตาล เอาอย่างอื่นแทนได้ไหม ในขณะที่แม่ครัวที่มีเครื่องครบแต่อาจปรุงอาหารไม่อร่อยก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าในมือมีอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้ของที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์แค่ไหน แต่เราไม่สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์ได้ดีที่สุดหากเรายังหัวเสียหงุดหงิด ไม่ยอมรับกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น
.
ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งกล่าวถึง พอทำใจยอมรับได้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว นอกจากเธอจะยิ้มได้แล้ว เธอยังมีสติปัญญาที่จะเยียวยาตัวเองต่อไป แต่ถ้าหัวเสียหงุดหงิด ก็คิดอะไรไม่ออก แทนที่จะทุกข์จะบรรเทาทุกข์กลายเป็นทุกข์หนักขึ้น ป่วยการที่จะบ่นโวยวายว่า ทำไมต้องเป็นฉัน มันไม่ยุติธรรม ฉันอายุแค่ 30 ปี เอง ไม่เคยสูบบุหรี่ ทำไมฉันต้องเป็นมะเร็งปอด ฉันทำดีตลอดชีวิต ทำไมฉันต้องมาป่วย ทำไมต้องเสียลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ หรือฉันออกกำลังกายเป็นปีทำไมต้องมาป่วย คิดแบบนี้เป็นการทำร้ายตัวเอง
.
ในเมื่อป่วยกายแล้ว ก็อย่าปล่อยให้ใจป่วยด้วย เมื่อมีความสูญเสียเกิดขึ้น ควรจำกัดความสูญเสียไม่ให้บานปลาย คือเสียแต่ทรัพย์ ส่วนใจไม่เสีย เพราะถ้าใจเสีย เครียด กลัดกลุ้ม ไม่นานก็จะเสียสุขภาพ และเสียงานเสียการ รวมทั้งเสียความสัมพันธ์ เพราะทะเลาะวิวาทกับใครต่อใครเนื่องจากอารมณ์ไม่ดี
.
ความสูญเสียจะไม่บานปลาย หากเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ผลักไส โอดครวญ หรือตีโพยตีพาย ส่วนจะทำอย่างไรต่อไป จะผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เป็นเรื่องที่ควรตามมาทีหลัง
.
โดย พระไพศาล วิสาโล
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
ตีพิมพ์ใน มติชนรายวันวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๓