8 วิธีชวนคุยกับคนที่บ้าน ช่วงอยู่ด้วยกันในสถานการณ์โควิด
8 วิธีชวนคุยกับคนที่บ้าน ช่วงอยู่ด้วยกันในสถานการณ์โควิด
ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้หลายคนมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกันมากขึ้น ไม่ว่าจะกลับมาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด กลับมาจากต่างประเทศ ฯ ซึ่งหลายคนก็ต้องปรับตัวกันมาก เพราะความใกล้ชิดกันมากเกินไป จนบางครั้งอาจทำให้ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตและพูดคุยสื่อสารกัน
แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากให้โอกาสที่อยู่ด้วยกันนี้กับคนที่บ้าน เป็นช่วงเวลาที่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ลองดู 8 วิธีที่จะช่วยคุณวางตัว วางใจ สำหรับการเปิดบทสนทนาใด ๆ กับคนที่บ้าน ให้ความรู้สึกที่ได้คุยกับคนที่บ้านไม่ต่างกับการได้คุยกับเพื่อนที่พร้อมจะรับฟังและแบ่งปันสุขทุกข์ให้กันได้
.
1. ดูจังหวะเวลา
อย่างแรกก็คือ การรู้จังหวะเวลา และสถานการณ์ของคู่สนทนาว่าเขาพร้อมจะคุยกับเราหรือไม่ เขายุ่งอยู่หรือเปล่า เขาหงุดหงิดโมโหอยู่หรือไม่ เช่น การหาจังหวะเหมาะสมที่จะชวนคุย อาจเป็นช่วงทานมื้อเย็น ตอนที่พักจากทำงาน หรือกำลังดูข่าวอยู่พร้อมกัน ฯลฯ
.
2. ชวน “เช็กอิน”
ลองเปิดบทสนทนาด้วยวิธีเช็กอินเพื่อช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น ด้วยการแชร์กันว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม รู้สึกหรือคิดอะไรอยู่ อาจเริ่มจากการบอกเล่าความคิด ความรู้สึกของตัวเราเองก่อน
.
3. ฟังความรู้สึก
ให้เวลากับการรับฟังความรู้สึกของคนพูด ไม่ว่าจะเป็นความกลัว กังวล ตื่นตระหนก โดยไม่ขัดหรือแสดงท่าทีรำคาญ ถ้าเขาไม่ได้บอกความรู้สึกตรง ๆ แต่เรารับรู้ได้ อาจลองถามว่า รู้สึกยังไงบ้าง
.
4. ฟังอย่างไม่ตัดสิน
รับฟังด้วยใจอย่างไม่ตัดสิน เพราะบางครั้งอาจจะมีความคิดที่ไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ เข้ามาในหัวเรา เช่น คำบ่น เสียงตวาดของผู้ใหญ่ในบ้าน หรือสำหรับผู้ใหญ่อาจจะเจอท่าทีหงุดหงิดรำคาญของคนวัยรุ่น ก็ให้ลองสังเกตเสียงความคิด สังเกตความรู้สึกของเรา ถ้ามันมีปฏิกิริยาต่อต้าน ขุ่นมัว ก็ให้รับรู้ แล้วก็ปล่อยมันไป
.
5. สังเกตท่าทาง นํ้าเสียง
สังเกตท่าทาง นํ้าเสียงคนพูด บางครั้งเขามีความกังวล แม้ไม่ได้พูด แต่จะอยู่ในนํ้าเสียง สีหน้า ท่าทาง อากัปกิริยา หากเราสังเกตเห็น เราจะเข้าอกเข้าใจเขา และช่วยประคับประคองความรู้สึกเขาได้มากขึ้น
.
6. กล้าแสดงความห่วงใย
ถ้าเรารู้สึกอยากแสดงความห่วงใย บอกรัก หรือให้กำลังใจ อย่าลังเล ให้บอกเขาตรง ๆ เพราะเขาอาจจะกำลังต้องการสิ่งนี้มากที่สุด
.
7. ถามสิ่งที่เขาต้องการจากเรา
ถามคนในบ้านว่า ช่วงเวลานี้อยากให้เราปฏิบัติตัวกับเขาอย่างไร? อยากให้อยู่ห่าง ๆ กัน หรืออยากทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง ฯลฯ
.
8. ขอบคุณที่มาพูดคุยและรับฟังกัน
ถ้าไม่เคอะเขินจนเกินไป ลองเอ่ยปากขอบคุณคนที่เราพูดคุย และมาแบ่งปันเรื่องราวให้เราฟัง ขอให้ทำด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากใจ นอกจากเขาจะรู้สึกดีที่ได้ยินคำขอบคุณแล้ว การได้กล่าวขอบคุณก็ยังช่วยเติมพลังบวกขึ้นในใจของเราเองด้วย
.
หวังว่า 8 วิธีชวนคุยกับคนที่บ้าน จะช่วยคุณเปิดใจ พร้อมรับฟัง และแบ่งปันสุขทุกข์กับคนที่บ้าน เพื่อทำให้บ้านเป็นพื้นที่ที่ทุกคน จะได้มองเห็นความรักและวางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น