ภูมิคุ้มใจ, เครื่องช่วยมอง

เจอโควิด แต่จิตไม่ตก โดย พระไพศาล วิสาโล

มีคนเป็นจำนวนมากตื่นตกใจเมื่อโรคโควิดแพร่ระบาดไปทั้งโลก เพราะดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เคยนึกฝันมาก่อน แต่อันที่จริง พูดไม่ได้เต็มปากว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ทั้งนี้เพราะผู้รู้ในวงการระบาดวิทยาทั่วโลกล้วนคาดการณ์ล่วงหน้ามาหลายปีแล้วว่า โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกคือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่เท่านั้น อันที่จริงภาพยนตร์เรื่อง Contagion ซึ่งมีคนดูนับร้อยล้านคนทั่วโลก ก็ได้เตือนถึงอันตรายดังกล่าวตั้งแต่ ๙ ปีที่แล้ว

.

หลายปีที่ผ่านมามีการเฝ้าระวังในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ขณะเดียวกันก็มีคำเตือนไปยังรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาว่า ให้เตรียมการรับมือโรคระบาดให้ดี อันที่จริง ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีโรคระบาดเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ซาส์ หวัดนก อีโบลา ซิกา เมอส์ แต่มีการระงับยับยั้งไว้ได้ทัน ไม่แพร่กระจายอย่างครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะโชคด้วย คือ ไวรัสหรือเชื้อเหล่านั้นควบคุมได้ง่าย ไม่เหมือนโคโรนาไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 ซึ่งสามารถแพร่กระจายแก่คนอื่นได้โดยที่พาหะยังไม่แสดงอาการ

.

จะว่าไปแล้วการที่โรคโควิดแพร่กระจายไปทั้งโลกอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ รวมทั้งประชาชนทั้งโลกก็ได้ชะล่าใจ ไม่ตระหนักว่าโรคระบาดแบบนี้พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา จึงไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างจริงจัง พอเกิดเหตุขึ้นจึงตกใจ ทำอะไรไม่ถูก กว่าจะมีมาตรการออกมาโรคก็ระบาดไปมากแล้ว ซ้ำต่างคนต่างทำ ไม่มีการประสานหรือร่วมมือกันโดยเฉพาะในระดับนานาชาติ ผลจึงเป็นอย่างที่เห็น

.

ทำใจอย่างไรเมื่อเผชิญภัยโควิด

ภัยพิบัติส่วนใหญ่เมื่อเกิดขึ้น เช่น น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ทุพพิกขภัย ความอดอยากหิวโหย มนุษย์เราอยู่เฉยไม่ได้ ต้องลบลี้หนีภัยกันอย่างอลหม่าน รวมทั้งพลัดที่นาคาที่อยู่ แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ เราไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นเลย สิ่งที่ควรทำคือการอยู่บ้าน เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด มองในแง่นี้นับว่าพวกเราโชคดีมาก ที่ไม่ต้องเป็นผู้ลี้ภัย เรายังกินอิ่มนอนอุ่นเหมือนเดิม ทุกคนในครอบครัวก็ยังอยู่กับเราพร้อมหน้า หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องกระจัดพลัดพราย ถ้ามองในมุมนี้บ้าง เราจะไม่เป็นทุกข์ หรือบ่นก่นด่าชะตากรรม และเราจะอยู่บ้านอย่างมีความสุขมากขึ้น

.

สิ่งสำคัญตอนนี้คือ เราจะปลอดภัยได้ ไม่ใช่เพราะตัวอยู่บ้านเท่านั้น แต่ใจก็ควรอยู่กับปัจจุบันด้วย ไม่เช่นนั้น แม้ตัวจะปลอดเชื้อ แต่ใจจะไม่ปลอดทุกข์เลย จะถูกความกลัว ความวิตก ความเครียด ความเหงาเล่นงาน ในทัศนะของอาตมา อารมณ์อย่างหลังน่ากลัวกว่าเชื้อโคโรนาไวรัสเสียอีก เพราะมันไม่เพียงบั่นทอนจิตใจเรา จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ยังบั่นทอนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น ระบายอารมณ์โกรธใส่เขา หรือทำร้ายกันและกัน

.

คนโบราณว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา” แม้กายจะปลอดภัย แต่ใจไม่ปลอดทุกข์ก็เพราะความคิดฟุ้งซ่าน ที่ชอบพะวงถึงอนาคต สร้างภาพอนาคตในทางลบทางร้าย จนเกิดความวิตกกังวล ทั้งๆ ที่ภาพที่ปรุงแต่งอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ พยายามกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว ขอบคุณที่เรายังกินอิ่มนอนอุ่นและมีชีวิตที่สะดวกสบายในบ้านของตน ขณะเดียวกันก็ควรหาอะไรทำ อย่าให้ว่างเกินไป แทนที่จะใช้เวลามากมายในการเสพข้อมูลข่าวสารที่ทำให้กังวลมากขึ้น ควรทำสิ่งดีๆ ที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์ เห็นผลชัดเจน เช่น จัดบ้าน สะสางข้าวของที่รกบ้าน วาดรูป ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย หรือช่วยเหลือคนที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน ไม่ว่าในละแวกบ้านหรือที่อื่นๆ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มพลังบวกให้แก่จิตใจ ทำให้ใจหายห่อเหี่ยว สิ้นเรี่ยวแรง หรือเหงาหงอย

.

ในยามนี้เราไม่ควรประมาทกับโรคโควิด อย่าคิดว่าแค่ไปสังสรรค์กับเพื่อน ฉลองวันเกิดกับเขาสักหน่อย จะเป็นไรไป ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง คนที่คิดแบบนี้ติดเชื้อกลับมาแพร่ให้คนในครอบครัวมานักต่อนักแล้ว บางคนก็ถึงกับเสียชีวิต หรือทำให้คนรักตายเพราะโรคนี้ เวลามีความคิดแบบนี้ก็ให้ตั้งสติเอาไว้ ขณะเดียวกันก็อย่าปล่อยให้ความกลัวตื่นตระหนกครอบงำใจจนประสาท ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือมองเห็นคนแปลกหน้าเป็นเชื้อโรค หรือเป็นภัยคุกคามตนเอง ให้มีสติรู้ทันความกลัว ความตื่นตระหนกและความเครียด อย่าปล่อยให้มันบงการความคิด คำพูดและการกระทำของเรา จนเป็นทุกข์ และสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น

.

หากพบว่าตนเองติดเชื้อโคโรนาไวรัส อย่างแรกที่ควรทำคือตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก ป่วยกายแล้ว อย่าปล่อยให้ใจป่วยด้วย ป่วยกายยังไม่เท่าไหร่ แต่ป่วยใจเมื่อใจจะเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น เหมือนทุกข์คูณสาม พึงตระหนักว่าผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ๘๐ เปอร์เซ็นต์ มีอาการไม่มากนัก แค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ที่ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และ ๕ เปอร์เซ็นต์ต้องไปเยียวยาในห้องไอซียู

.

เมื่อป่วยก็ควรรักษาตัวด้วยยาหรือไปหาหมอ ขณะเดียวกันก็ดูแลจิตใจด้วย ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าผลักไส หรือตีโพยตีพาย น้อมใจให้เป็นสมาธิ จิตจะได้ไม่ว้าวุ่น จะสวดมนต์ด้วยก็ได้ น้อมนึกถึงพระพุทธองค์ ศรัทธาที่เกิดขึ้นจะช่วยให้จิตเกิดปีติปราโมทย์และความผ่อนคลาย จิตที่สบายจะช่วยกายให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

.

ไม่นานมันก็จะผ่านไป แต่….

วิกฤตครั้งนี้ไม่นานก็จะผ่านไป แต่เราไม่ควรปล่อยให้มันผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ หากเรารู้จักสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็จะตระหนักว่าระบบสุขภาพของทุกประเทศทั้งโลก จะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับโรคระบาดครั้งใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งจะมาถี่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำลายป่าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อขยายที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ทำให้มนุษย์ทุกวันนี้มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น สัตว์ป่าเหล่านี้เป็นแหล่งรวมไวรัสและแบคทีเรียนานาชนิดที่มนุษย์ไม่เคยรู้จัก ดังนั้นจึงไม่มีภูมิต้านทานเลย วิกฤตครั้งนี้จะไม่สูญเปล่าหากทุกประเทศยอมทุ่มเงินเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปทุ่มเทกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว

.

แน่นอนว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจากวิกฤตครั้งนี้จะยังคงปรากฏต่อเนื่องนานนับสิบปี มันจะลงเอยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเผชิญกับผลกระทบเหล่านั้นอย่างไร ใช้สติปัญญามากน้อยเพียงใด ดังที่ทราบกันดี ในวิกฤตมีโอกาส วิกฤตครั้งนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้นก็ได้ หรือไม่ก็อาจกระตุ้นด้านมืดของมนุษย์ออกมา จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แทนที่จะเกิดโอกาสดีๆ ก็กลับกลายเป็นวิกฤตอีกครั้งที่หนักกว่าเดิม

.

อย่าลืมว่านอกจากโรคระบาดครั้งใหม่แล้ว ภัยธรรมชาติอีกอย่างที่มนุษย์ทั้งโลกจะต้องเจออย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว ก็คือ วิกฤตโลกร้อน ซึ่งแสดงตัวในหลายรูปลักษณ์ ไม่ว่า น้ำท่วม ฝนแล้ง น้ำขาดแคลน มลพิษท่วมท้น ฯลฯ จะว่าไปโรคโควิด เป็นสัญญาณเตือนว่าเราจะต้องเจอภัยที่ใหญ่กว่าเดิม หากเรายังไม่ตื่นตัว ยังคิดเอาตัวรอดเฉพาะตัว หรือแก่งแย่งแข่งดีกัน หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ว่าภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศ ความทุกข์ยากครั้งหน้าจะสาหัสยิ่งกว่านี้หลายเท่า

.

ติดตามเนื้อหา คำแนะนำ ข่าวสาร เพื่อสร้าง #ภูมิคุ้มใจในสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่เว็บไซต์ความสุขประเทศไทย HappinessisThailand.com

ที่มา: บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน คอลัมน์จิตวิวัฒน์ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save